กิจกรรม

บันทึกBOOKTALK: หนังสือฉลาดทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน

วันที่จัดงาน
31 ก.ค. 2018
สถานที่จัดงาน
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

บันทึก BOOKTALK: หนังสือฉลาดทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน

สรุปเนื้อหากิจกรรม BOOKTALK บรรยายโดยหมอนัท คลินิกกองทุน
21 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

 

ได้เวลาของกิจกรรม Booktalk FES the series ที่เดือนกรกฎาคมนี้ชวนมาตุนความรู้เรื่องการเงินให้ตุงกระเป๋าก่อนถึงวันหยุดยาว โดยครั้งนี้เป็นคิวของ "หมอนัท คลินิกกองทุน" หรือคุณ "ธนัฐ ศิริวรางกูร" กูรูการเงินที่มาเล่าเรื่องหนังสือ "ฉลาดทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน" หยิบเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเงินมาชวนทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง


แต่เอ๊ะ!?! ทำไมประหยัดแล้วยังไม่รวยสักที

 

หมอนัท บอกว่า อยากมีความมั่งคั่งในระยะยาว ต้องออมเงินทุกเดือน ซึ่งถ้าอยากมีเงินออมเยอะๆ อาจทำได้ด้วยการ

   'ลดรายจ่าย' หรือไม่ก็

   'เพิ่มรายได้'

การลดรายจ่ายทำง่ายกว่า แต่ไม่ยั่งยืนเท่ากับการหารายได้เพิ่ม ซึ่งต่อไปการมีรายได้ทางเดียวจากงานประจำไม่พอ เราต้องหารายได้เสริมจากทางอื่นด้วย

และยังต้องมองเรื่องเงินเฟ้อ...ค่าของเงินที่เปลี่ยนไปตามเวลา ของที่เคยซื้อได้ในราคา 30,000 บาทวันนี้ อาจต้องจ่ายเงินถึง 72,000 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้นในยุคที่เราไม่สามารถเก็บเงินไว้นิ่งๆในธนาคารเพื่อหวังกินดอกเบี้ยได้ ก็ต้องมองเรื่องการลงทุนเข้ามาช่วยให้มีเงินออมได้ตามเป้าหมาย

 

แล้วต้องลงทุนอย่างไร?

 

ใช้เม็ดเงินไม่ต้องมากแต่อาศัยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพียงลงทุนให้ถูกที่และลงทุนระยะยาวมากพอ ความเสี่ยงจะลดลง ขณะที่เงินก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วยพลังที่น่าอัศจรรย์ของ "ดอกเบี้ยทบต้น" ที่ช่วยให้เงินงอกเงย

หมอนัท ยกตัวอย่างถึง Warren Buffett มหาเศรษฐีระดับโลกที่เริ่มลงทุนตอนอายุ 14 ปี กับคำถามที่ว่าครั้งไหนคือการลงทุนที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิต Warren บอกว่าคือ 'การเริ่มลงทุนช้าไป'

ขนาดเริ่มตอนอายุ 14 ปียังช้าไป... หมอนัทเลยเริ่มลงทุนให้กับลูกชายตั้งแต่วัย 1 ขวบแข่งกับ Warren ไปเลย

 

แบ่งเงินออกเป็นกี่บัญชีดี...? มีหลายสูตร หลายตำรา แต่มีเยอะบัญชีเกินไปก็อาจจะเป็นปัญหามากกว่า โดยเฉพาะตอนขอสินเชื่อที่อาจยุ่งยากรวบรวม statement จากหลายบัญชี

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแบ่งเยอะ แค่แบ่งให้พอจัดการเงินได้ง่าย โดยอาจจะลองแบ่งออกเป็น 4 บัญชีนี้

1.บัญชีเงินออมฉุกเฉินไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย หรือต้องออกจากงานกระทันหัน นี่คือของที่ต้องมี! เป็นบัญชีที่สำคัญมาก ควรจะมี 3 – 6 เท่าของรายได้แต่ละเดือน อาชีพมั่นคงอย่างราชการอาจจะเก็บซัก 3 เท่า พนักงานบริษัทเอกชนเก็บ 6 เท่า แต่ฟรีแลนซ์ควรเก็บ 12 เท่าเพราะมีรายได้ที่ไม่แน่นอน

2.บัญชีรายจ่าย เป็นบัญชีที่กำหนดงบประมาณเงินใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายควบคู่กันไปด้วย

3.บัญชีลงทุน เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนก็ควรเก็บไว้ในบัญชีนี้ เก็บไวหมุนวนใช้ในการลงทุนต่อไป

4.บัญชีกลาง เป็นบัญชีที่เข้าเงินเดือนไว้ แล้วกระจายเงินไปที่ 3 บัญชีแรก เหมาะจะใช้บัญชีนี้ยื่น Statement

 

ว่าด้วยเรื่อง บัญชีรายรับรายจ่าย 

ทำแล้วดีมีเงินเก็บแน่นอน เราจะรู้ว่าเงินหายไปไหน หมดไปกับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้จัดการเรื่องการเงินได้ดีขึ้น แต่ทำแค่ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันไม่พอ ต้องทำล่วงหน้าไปถึงอนาคตโดยควรทำให้เห็นภาพว่าใน 3 – 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น รายรับที่มี พอกับการกู้ซื้อบ้านซื้อรถพร้อมกันหรือเปล่า

หมอนัทย้ำว่าแต่ละคนมีสิ่งที่จำเป็น (need) และต้องการ (want) ต่างกัน แต่ไม่ว่าจะมีความจำเป็นหรือต้องการ ต้องให้อยู่ในรายรับของเราแล้วมีเงินเหลือเก็บออมแล้วก็ลงทุนด้วย

"ทำอย่างไรถึงจะใช้เงินให้ตอบโจทย์ทุกเป้าหมายชีวิต เราต้องจัดไทม์ไลน์ว่าเรื่องไหนควรมาก่อนหลังแล้วรับรายจ่ายนั้นไหวไหม การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก"

 


ในอุดมคติควรออม 30% ใช้จ่าย 70% แต่ถ้าภาระเยอะ ควรออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ เก็บเป็นบัญชีเงินออมฉุกเฉิน เก็บครบแล้วค่อยเก็บเป็นเงินออมระยะยาวอีกกอง

สำหรับคนมีหนี้สิน จะใช้หนี้หรือจะออมก่อนดี จริงๆสามารถออมพร้อมกับมีหนี้สินไปด้วยกันได้ ยิ่งถ้ามีหนี้สินเยอะ ใจกำลังห่อเหี่ยว ถ้าแบ่งส่วนนึงไว้ออมจนเป็นเงินก้อนได้ กำลังใจก็จะเริ่มมา...

ไม่ว่าจะอยู่สภาวะไหนเราก็ไม่ควรหยุดออม เริ่มออมได้ตั้งแต่วันนี้ เพราะออมก่อนรวยกว่า หมอนัทยืนยัน! 

 


การออมหรือการลงทุนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงิน ยังมีเรื่องการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน การวางแผนภาษี การวางแผนเกษียณที่เราต้องนึกถึง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแต่เกี่ยวโยงกัน

การลงทุน ไม่ใช่เรื่องแรกๆที่ต้องทำ สิ่งที่เร่งด่วนกว่าคือบัญชีรายรับรายจ่าย การจัดการความเสี่ยง การวางแผนเกษียณ

 


ภัยที่มีโอกาสเจอในชีวิตมีทั้งภัยที่รุนแรงมาก รุนแรงปานกลาง รุนแรงน้อย การทำประกันคือการโอนความเสี่ยงไปไว้ที่บริษัทประกัน 

ถ้าสนใจซื้อประกันควรพิจารณาจากทุนประกัน เช่น ต้องการซื้อประกันชีวิต ก็ต้องคิดคำนวณว่าทุนประกันที่จะได้ ครอบคลุมค่าเลี้ยงดูคนในครอบครัวในระยะเวลาหนึ่งตลอดจนภาระหนี้สินที่เรามีหรือเปล่า

เลือกซื้อประกันที่มีทุนประกันในระดับที่เหมาะสม เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงเกินความจำเป็น

 


จะฟันธงแบบนั้นเลยก็คงไม่ได้ จะเช่าหรือจะซื้อ ต้องลองคำนวณเปรียบเทียบรายจ่ายและผลประโยชน์ที่ได้กันก่อน เช่น ทำเลที่ตั้งของบ้านก็มีผลกับการเพิ่มของมูลค่าที่ดิน หากคำนวณแล้วเจอว่าการเช่าแพงกว่าต้นทุนการซื้อ...ก็ควรซื้อ หรือบังเอิญเช่าแล้วต้นทุนต่ำกว่า...ก็ควรเช่า

 


อันนี้ก็ฟันธงแบบนั้นไม่ได้เหมือนกัน เพราะมีอีกเรื่องที่อยากชวนคิดว่าการเป็นหนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ หนี้ดีหรือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต และหนี้ที่ไม่ดีหรือหนี้ที่ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต
ดังนั้นหากการผ่อนซื้อรถจะทำให้สามารถต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต ก็ถือเป็นหนี้ดีที่มีไว้ไม่เสียหาย เพราะบางทีรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมา อาจมีปิดยอดหนี้รถได้หมดเกลี้ยง

ขณะที่หนี้ที่หนี้บัตรเครดิต หากคิดจะมี คงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรชำระเงินที่ใช้จ่ายผ่านบัตรแบบเต็มจำนวนดีกว่าการแบ่งจ่ายขั้นต่ำ ที่อาจจะทำให้ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ยิ่งยืดยาวนานมากกว่าที่คิด

 

บอกลาความเข้าใจผิดที่เคยมี มาวางแผนการเงินสร้างความมั่นคง มั่งคั่งไปด้วยกัน        

            

 

 

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้