เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกำเนิดมาจากแนวความคิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502 - 2514) เปิดดำเนินการครั้งแรกในนาม "พิพิธภัณฑ์เงินตรา" ณ สำนักงานสุรวงศ์ ใน พ.ศ. 2512 ต่อมาพิพิธภัณฑ์เงินตราได้ปิดตัวลงในห้วงเวลาที่มีการวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานใหญ่ บางขุนพรหม (หลังแรก) ในปี 2520 และมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของธนาคาร ในปี 2521 โดยจะใช้วังบางขุนพรหม ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ทำการซ่อมแซมปรับปรุงเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์เงินตราและแสดงประวัติวังบางขุนพรหม
เมื่อวังบางขุนพรหมอนุรักษ์แล้วเสร็จและจัดตั้งเป็น "พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย" เพื่อจัดแสดงประวัติธนาคารแห่งประเทศไทยในวาระครบ 50 ปี นิทรรศการเงินตรา และประวัติวังบางขุนพรหม ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2536
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกาลสมัยมาโดยตลอด ตราบจนปี 2561 เป็นต้นไป ได้มีการจัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
- วังบางขุนพรหม
- วังเทวะเวสม์
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561 พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีนิทรรศการถาวรคือ
นิทรรศการเงินตรา เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศที่เชื่อมโยงกับเงินตรามาทุกยุคทุกสมัย จัดแสดงวิวัฒนาการเงินตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนบัตรไทยได้รวบรวมธนบัตรซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้อย่างสมบูรณ์ โดยมีธนบัตรแบบต่าง ๆ ที่ได้เชิญภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญมาจารึกไว้เป็นความภาคภูมิใจของธนาคารแห่งประเทศไทย
นิทรรศการประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร จัดแสดงประวัติการพิมพ์ธนบัตรตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 แสดงขั้นตอนการพิมพ์ธนบัตรผ่านแท่นพิมพ์ที่เคยใช้งานอยู่จริง ซึ่งเป็นการจัดแสดงในนิทรรศการที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
วังบางขุนพรหม
สถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหมงดงามด้วยการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบบาโรก และโรโกโก เห็นได้จาก หน้าบัน เส้นโค้งของชายคา หอกลมทางทิศใต้ที่มีลักษณะกลมโค้ง และผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่โค้งเว้าเข้าออกและนูนต่อเนื่องกัน การตกแต่งภายนอกและภายในวังด้วยปูนปั้นที่วิจิตรตระการตากลมกลืนกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทำให้ตำหนักใหญ่มีความโดดเด่นกว่าวังในยุคเดียวกัน อีกทั้งความงามภายในตำหนักใหญ่ยังเกิดขึ้นจากโถงบันไดขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของอาคาร บันไดกลางออกแบบให้มีขนาดใหญ่และสง่างาม ลวดลายประดับเพดานเหนือบันได บานหน้าต่างที่งดงามทั้งมองจากภายนอกและภายในตำหนัก ช่องแสงเหนือประตูปิดด้วยแผ่นไม้ฉลุลาย รวมไปถึงพื้นไม้สักตามห้องต่าง ๆ ปูเข้าลิ้นและขัดมัน ปัจจุบันวังบางขุนพรหมมีห้องที่น่าสนใจ อาทิ
ห้องบริพัตร สมัยเป็นวังบางขุนพรหมห้องนี้เป็นห้องรับรองแขกและตั้งเครื่องลายครามของทูนกระหม่อมบริพัตร (เป็นการเขียนพระนามโดยเฉพาะ) ปัจจุบันจัดแสดงพระประวัติทูนกระหม่อมบริพัตรรวมทั้งวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในพระองค์ เช่น สิ่งของที่ระลึก พัดรองงานขึ้นตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหม ไม้เท้าทรง โน้ตเพลงลายพระหัตถ์ ฯลฯ
ห้องสีชมพู อดีตเคยเป็นท้องพระโรงของวังบางขุนพรหมและประกอบพิธีทางศาสนา ปัจจุบันใช้สำหรับรับรองบุคคลสำคัญที่มาเยือนวังบางขุนพรหม ตลอดจนใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระและพิธีการต่าง ๆ ฝาผนังแต่เดิมทาด้วยสีชมพูอ่อน ผ้าม่านและพรมเดิมมีส่วนที่เป็นสีชมพูเช่นกัน จึงเรียกว่าห้องสีชมพู มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งที่ผนัง กรอบของช่องเปิด และฝ้าเพดานมากกว่าห้องอื่น ๆ ลายปูนปั้นปิดทอง และลวดลายสีทองแกะสลักบนบานประตู
ห้องสีน้ำเงิน เดิมใช้เป็นห้องรับรองอาคันตุกะของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายา ปัจจุบันห้องนี้ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่พระราชทานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2489
ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ ตั้งชื่อห้องเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ว่าการพระองค์แรกของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ห้องนี้เคยใช้เป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม และเคยเป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่พระองค์แรก จนถึงนายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการคนที่ ๑๐
ห้องประชุมเล็ก เมื่อครั้งทูนกระหม่อมบริพัตรยังประทับที่วังบางขุนพรหม ห้องนี้ใช้เป็นห้องเก็บเครื่องดนตรี และธนาคารแห่งประเทศไทยเคยใช้เป็นที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ
วังเทวะเวสม์
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดง ห้องประชุม และห้องรับรอง ทายาทราชสกุลเทวกุลเป็นผู้ตั้งนามห้องต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย เช่น ห้องเทพสถิตสถาพร เป็นห้องจัดแสดงพระประวัติและพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ห้องบุราณสถานบูรณะ เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวการอนุรักษ์วังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ รวมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ด้านหน้าตำหนักใหญ่มีรูปปั้นช้างตั้งอยู่ที่ด้านหน้า รูปปั้นช้างนี้ย้ายมาจากวังสะพานถ่านที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเคยประทับอยู่ รูปปั้นช้างนี้สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสนาบดีว่าการต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยแรกที่แยกกรมท่าออกจากกรมคลังในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
นอกจากตำหนักใหญ่แล้วในบริเวณวังเทวะเวสม์มีอาคารบริวารที่มีมาแต่ครั้งเป็นวังเทวะเวสม์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงและนำมาใช้ประโยชน์อีก ๓ อาคาร คือ ตึกหม่อมลม้าย ตึกหม่อมจันทร์ และเรือนแพ