ผลงานวิชาการ

มีให้บริการที่ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

วัตถุชิ้นเยี่ยม พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศในแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน ข้อมูลที่นำมาประกอบการศึกษาบางส่วนเป็นข้อมูลจดหมายเหตุของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน ภาพประกอบตลอดทั้งเล่มเป็นภาพที่หาชมได้ยากอีกทั้งภาพวัตถุจำนวนมากยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสวยงามจากการประกวดหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2554

ธนบัตรไทย ระหว่างสงครามโลกคร้ังที่ 2 ในเอเชีย พ.ศ. 2484-2488

การศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ไทยต้องพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองในช่วงที่เกิดภาวะการขาดแคลนธนบัตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพทางการเงินของประเทศ หนังสือแบ่งออกเป็นบท ๆ เริ่มต้นตั้งแต่การมีธนบัตรออกใช้ครั้งแรกในประเทศไทย การออกใช้ธนบัตรก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาวะการขาดแคลนธนบัตร การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนธนบัตร และผลกระทบของการออกใช้ ภายในเล่มมีภาพประกอบสีทั้งภาพธนบัตรที่หาดูได้ยาก ภาพเอกสารจดหมายเหตุ ภาพบุคคลและภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเป็นครั้งแรกที่มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับธนบัตรไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการเฉพาะ


ชีวิตและงานทูนกระหม่อมบริพัตร

ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในวันครบรอบวันประสูติปีที่ 120 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้ภาคภูมิใจในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตหรือทูนกระหม่อมบริพัตร ผู้ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพทรงเป็นผู้ที่มีพระอัจฉริยภาพและคุณธรรมความดีงาม  อีกทั้งทรงเป็นเอกบุรุษของชาติ ควรค่าแก่การสรรเสริญ  เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็นสามภาค ภาคหนึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติ การทรงงาน ตำหนักใหญ่ ตำหนักสมเด็จ วัฒนธรรมในวังบางขุนพรหม การดนตรี กล้วยไม้ เครื่องมุก เครื่องถ้วย เขามอ ไม้ดัด และพระนิพนธ์   ภาคสองเป็นการรวบรวมภาพสรรพสิ่งและสถานที่อันเป็นอนุสรณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยทูนกระหม่อมที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และภาคสามเป็นสิ่งของที่ระลึกอันเปรียบเสมือนสิ่งแทนใจเพื่อรำลึกถึงทูนกระหม่อมและพระประยูรญาติ

 



วังเทวะเวสม์

วังเทวะเวสม์เป็นหนังสือที่ระลึกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นในวาระแห่งการเปิดตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ เนื้อหาที่สำคัญแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกันกล่าวคือส่วนแรกเป็นพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และส่วนที่สองเป็นเรื่องของวังเทวะเวสม์ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ปฐมเหตุแห่งการสร้างวัง สถาปัตยกรรม สถาปนิกผู้ออกแบบ  การขึ้นตำหนักใหญ่ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงบรรยากาศของวังเทวะเวสม์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการยังดำรงพระชนม์ชีพและชีวิตในวังเทวะเวสม์หลังสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ในตอนท้ายกล่าวถึงวังเทวะเวสม์เมื่อครั้งเป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุข และธนาคารแห่งประเทศไทยกับการอนุรักษ์วังเทวะเวสม์ เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดมีภาพประกอบที่สวยงามและมีภาพชุดสำคัญคือภาพชุดงานออกพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการที่ค้นพบในอัลบัมภาพที่ยังไม่ได้ออกให้บริการของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


 



๑๐๐ ปี วังบางขุนพรหม

ในวาระครบรอบปีที่ 100 ของวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาถือได้ว่าเป็นหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวของวังบางขุนพรหมที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง ในการจัดทำได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งห้องสมุดทั่ว ๆ ไปและห้องสมุดที่ยากแก่การเข้าถึง เช่น ห้องสมุดหนังสืองานศพวัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อหากล่าวถึงพระประวัติของเจ้าของวังบางขุนพรหมคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และ ในส่วนของวังบางขุนพรหมกล่าวถึงสถาปัตยกรรม ชีวิตในวัง ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ และวังบางขุนพรหมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ท้ายเล่มมีภาพประกอบสิ่งแทนใจที่สวยงาม ส่วนใหญ่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน พร้อมคำค้นที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงเนื้อหาในเล่มได้อย่างสะดวก หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสือประเภทสวยงาม ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2550


 


150 ปี สมเด็จ ฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดพิมพ์หนังสือ 150 ปี สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขึ้นในวาระครบรอบวันประสูติปีที่ 150 เพื่อเผยแพร่และเทิดทูนพระปรีชาสามารถของพระองค์ หนังสือเล่มนี้นำเสนอส่วนหนึ่งของสำเนาลายพระหัตถ์ของกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (พระยศในเวลานั้น) เกี่ยวกับกรณีพิพาทไทยและฝรั่งเศส ร.ศ.112  จำนวน 6 ฉบับที่จัดเก็บอยู่ในสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ  สำเนาลายพระหัตถ์ดังกล่าวเป็นการกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อรายงานผลเกี่ยวกับการเจรจาครั้งสุดท้ายในช่วงวันที่ 26 กันยายนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2436 กับฝรั่งเศสก่อนที่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการต้องจำพระทัยลงพระนามในหนังสือสัญญาระงับข้อพิพาทกับฝรั่งเศสในวันที่ 3 ตุลาคมและการลงพระนามในสัญญาครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องสละสิทธิ์ทั้งหมดในดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือสำเนาลายพระหัตถ์ที่นำมาจัดพิมพ์นี้  สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติไม่ได้ให้บริการเผยแพร่เป็นการทั่วไป


 



ทูนกระหม่อมบริพัตร : พลอยประดับมงกุฎแห่งกรุงสยาม

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ในวาระครบรอบ 130 ปี วันประสูติของจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยนำเสนอพระกรณียกิจและพระปรีชาสามารถผ่านภาพถ่ายที่หลายภาพได้นำมาพิมพ์เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้เห็นภาพพระประวัติที่ชัดเจนแตกต่างจากหนังสือที่นำเสนอพระประวัติที่ได้เคยมีการจัดทำกันมา นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเรื่องราวของโบราณวัตถุซึ่งส่วนหนึ่งเคยเป็นของใช้และของสะสมส่วนพระองค์ที่ทายาทราชสกุลบริพัตรให้ยืมมาจัดแสดงที่ห้องบริพัตร วังบางขุนพรหม ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือข้อเขียนอันทรงคุณค่าจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ปูชนียบุคคลด้านดนตรีไทย  เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดนำเสนอผ่านเนื้อหาของหนังสือที่แบ่งเป็นสามบทด้วยกันคือ สง่างามนามบริพัตร พระนิพนธ์จรัสประภัสสร และ รฦกตลอดกาลนิรันดร


 

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้