ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

ปัญหาธนบัตรขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

นับตั้งแต่สยามเริ่มใช้ธนบัตรเมื่อปี 2445 โดยสั่งพิมพ์มาจากบริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด (Thomas de la Rue & company, limited) แห่งสหราชอาณาจักรมาโดยตลอด กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากบริษัทจะได้รับความเสียหายจากสงครามแล้ว เส้นทางการขนส่ง ตลอดจนการที่ไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับฝ่ายอักษะ ทำให้ไม่สามารถสั่งพิมพ์ธนบัตรมาได้อีกต่อไป นำไปสู่ภาวการณ์ขาดแคลนธนบัตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเผชิญทันทีที่ก่อตั้งขึ้น การขาดแคลนธนบัตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเกิดขึ้นอีกปัจจัยหนึ่ง คือ มีความต้องการใช้ธนบัตรจำนวนมากสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยตลอดช่วงสงคราม (ตามเอกสารเลขที่ DAC003-000-001 เรื่อง ญี่ปุ่นขอเบิกเงินเกินบัญชีเพื่อราชการทหารญี่ปุ่น เอกสารเลขที่ DAC003-000-002 เรื่อง ข้อตกลงเงินค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่น เอกสารเลขที่ DAC003-001-003 เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่นและการสร้างรถไฟ ราคาทองคำ การขนทองคำ เอกสารเลขที่ DAC003-001-009 เรื่อง เงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น และการขอซื้อน้ำมันจากกองทัพญี่ปุ่นสำหรับพิมพ์ธนบัตรรัฐบาล รวมทั้งรายละเอียดทองคำญี่ปุ่น และเอกสารเลขที่ DAC003-001-008 เรื่อง เงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าทางฝ่ายไทยได้ตระหนักถึงปัญหานี้และมีความต้องการที่จะเจรจากับญี่ปุ่นให้ช่วยเหลือ) ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ต้องรีบแก้ปัญหานี้โดยเร็ว สำหรับการแก้ปัญหาธนบัตรขาดแคลน มีทั้งการสั่งพิมพ์ธนบัตรจากประเทศญี่ปุ่น (ตามเอกสารเลขที่ DAC003-000-004 เรื่อง ข้อวิตกกรณีธนบัตรจะไม่พอจำหน่าย จึงต้องมีการทำจดหมายเพื่อให้เร่งสั่งพิมพ์ธนบัตรจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีจดหมายฉบับต่อมีที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการจัดส่งธนบัตรจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความล่าช้า) การพิมพ์ธนบัตรใช้เองภายในประเทศ ซึ่งได้มีความพยายามพิมพ์ให้รวดเร็วขึ้น โดยการลดสี หรือนำธนบัตรที่พิมพ์แล้วแต่ยังไม่ได้นำออกใช้มาดัดแปลงเป็นธนบัตรชนิดราคาอื่น โดยใช้เป็นกรณีสำรองหากธนบัตรจากญี่ปุ่นเกิดการล่าช้า (ตามเอกสารเลขที่ DAC003-000-006 เรื่อง ความเป็นมาของการจัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองในประเทศเป็นครั้งแรก และเอกสารเลขที่ DAC003-000-007 เรื่อง แผนการพิมพ์ธนบัตรที่กรมแผนที่ทหารบกและกรมอุทกศาสตร์) นอกจากนี้ ยังมีการลดการใช้ธนบัตรด้วยการนำสิ่งของส่งกองทัพญี่ปุ่นแทน หรือการใช้เช็คและการออกเงินกู้ยืมในระยะสั้น (ตามเอกสารเลขที่ DAC003-000-005 เรื่อง ภาวะธนบัตรขาดแคลนและการออกเงินกู้ชนิดที่มีกำหนดเวลาสั้น ซึ่งยังไม่เคยมีในประเทศไทย) และปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อไม่สามารถขนส่งธนบัตรจากญี่ปุ่นมาได้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งระดมให้มีการพิมพ์ธนบัตรภายในประเทศกันทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันหยุดทั้งโรงพิมพ์ของราชการโดยกรมแผนที่ทหารบกและกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ และเอกชน ปัญหาธนบัตรขาดแคลนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 • สาเหตุ o ไม่สามารถสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด แห่งสหราชอาณาจักร o มีความต้องการใช้ธนบัตรจำนวนมากสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยตลอดช่วงสงคราม DAC003-000-001 เรื่อง ญี่ปุ่นขอเบิกเงินเกินบัญชีเพื่อราชการทหารญี่ปุ่น DAC003-000-002 เรื่อง ข้อตกลงเงินค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่น DAC003-001-003 เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่นและการสร้างรถไฟ ราคาทองคำ การขนทองคำ DAC003-001-009 เรื่อง เงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น และการขอซื้อน้ำมันจากกองทัพญี่ปุ่นสำหรับพิมพ์ธนบัตรรัฐบาล รวมทั้งรายละเอียดทองคำญี่ปุ่น DAC003-001-008 เรื่อง เงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น • การแก้ปัญหา o การสั่งพิมพ์ธนบัตรจากประเทศญี่ปุ่น DAC003-000-004 เรื่อง ข้อวิตกกรณีธนบัตรจะไม่พอจำหน่าย o การพิมพ์ธนบัตรใช้เองภายในประเทศ พิมพ์ให้รวดเร็วขึ้น โดยการลดสี หรือนำธนบัตรที่พิมพ์แล้วแต่ยังไม่ได้นำออกใช้มาดัดแปลงเป็นธนบัตรชนิดราคาอื่น DAC003-000-006 เรื่อง ความเป็นมาของการจัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองในประเทศเป็นครั้งแรก DAC003-000-007 เรื่อง แผนการพิมพ์ธนบัตรที่กรมแผนที่ทหารบกและกรมอุทกศาสตร์ o การลดการใช้ธนบัตรด้วยการนำสิ่งของส่งกองทัพญี่ปุ่นแทน หรือการใช้เช็กและการออกเงินกู้ยืมในระยะสั้น DAC003-000-005 เรื่อง ภาวะธนบัตรขาดแคลนและการออกเงินกู้ชนิดที่มีกำหนดเวลาสั้น ซึ่งยังไม่เคยมีในประเทศไทย

เลขชุดเอกสาร
DAC003
ชื่อชุดเอกสาร
ปัญหาธนบัตรขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1941 1945
จำนวนแผ่นเอกสาร
1
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้