การวางพื้นฐานระบบเงินตราไทย : พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
การออกธนบัตรครั้งแรกของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากสยามมีความต้องการใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศซึ่งเติบโตขึ้น ประกอบกับต้องการความสะดวก ทั้งเรื่องการทอน การลงบัญชี การขนส่ง ฯลฯ ซึ่งการใช้เหรียญกษาปณ์ หรือโลหะต่าง ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ อีกทั้งเกิดปัญหาเหรียญไม่พอใช้ ตั้งแต่ปี 2432 จึงมีการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติพิมพ์ “บัตรธนาคาร” ขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกขึ้น แต่รัฐบาลไม่ได้รับรองว่าสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ต่อมาในปี 2443 รัฐบาลสนใจที่จะพิมพ์ธนบัตรเอง และในปี 2445 ได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 ขึ้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออกธนบัตรของไทย (ตามเอกสารเลขที่ DAC008-000-001 เรื่อง พระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) เอกสารเลขที่ DAC008-000-002 เรื่อง พระราชบัญญัติเงินตรา ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) เอกสารเลขที่ DAC008-000-004 เรื่อง พระราชบัญญัติกรมธนบัตร์ เพิ่มเติม ร.ศ. 125 และเอกสารเลขที่ DAC008-000-003 เรื่อง กฎเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติว่าด้วยการจำหน่ายธนบัตร) การเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งในการวางรากฐานระบบการเงินไทยในช่วงหลังสงคราม คือ การประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 โดยก่อนหน้านั้นระบบการเงินของประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสงคราม และกฎหมายช่วงระหว่างสงครามที่ใช้จนถึงภายหลังสงคราม คือ พระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พุทธศักราช 2484 และพระราชบัญญัติเงินตราชั่วคราว พุทธศักราช 2489 ซึ่งแต่ละฉบับยังได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินในขณะนั้นอีกหลายครั้ง และต้องต่ออายุทุก ๆ 2 ปี ทำให้ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติ ดังนั้น จึงได้มีการประมวลและปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์และตราขึ้นเป็นกฎหมายถาวรในฉบับเดียวกัน (ตามเอกสารเลขที่ DAC008-000-005 เรื่อง พระราชบัญญัติเงินตราฉบับร่างและฉบับสมบูรณ์ พระราชบัญญัติในภาวะฉุกเฉิน กฎกระทรวงการคลัง พระราชบัญญัติเงินตราชั่วคราว เอกสารเลขที่ DAC008-000-006 เรื่อง พระราชบัญญัติเงินตรา แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2473-2475 และคำแถลงการณ์ เอกสารเลขที่ DAC008-000-007 เรื่อง ธนบัตรที่ไม่ต้องมีทุนสำรองกับธนบัตรที่ต้องมีทุนสำรอง เอกสารเลขที่ DAC008-001-008 เรื่อง การบูรณะเงินตราภายหลังสงคราม เอกสารเลขที่ DAC008-001-009 เรื่อง ระบบเงินตรา เอกสารเลขที่ DAC008-000-010 เรื่อง การสถาปนาระบบการเงินใหม่ภายหลังสงคราม เอกสารเลขที่ DAC008-001-011 เรื่อง ฐานะเงินตรา และเอกสารเลขที่ DAC008-000-012 เรื่อง พระราชบัญญัติจัดสรรทุนสำรองเงินตราเพื่อบูรณะประเทศ พ.ศ. 2489) ในปี 2499 พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ขอให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก ทรงช่วยร่างพระราชบัญญัติเงินตราฉบับถาวรขึ้นใหม่ (ตามเอกสารเลขที่ DAC008-000-013 เรื่อง บันทึกคำชี้แจงทั่วไปในร่างพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ........ และเอกสารเลขที่ DAC008-000-014 เรื่อง บันทึกคำชี้แจงบางมาตราในร่างพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ......... และเอกสารเลขที่ DAC008-000-015 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเงินตรา ร่างกฎกระทรวง การปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายว่าด้วยระบบเงินตราในภาวะฉุกเฉิน และระบบเงินตราชั่วคราว) การพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติเงินตราใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในที่สุดมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2501 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 คือ 1) ข้อปฏิบัติเรื่องการกำหนดค่าเสมอภาคของเงินบาท (Bretton Woods System) ซึ่งเป็นพันธะที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติในฐานะสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 2) เรื่องทุนสำรองเงินตรา ซึ่งหมายถึงวิธีการนำธนบัตรออกใช้ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของค่าเงิน การตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 ถือเป็นการวางรากฐานระบบการเงินของประเทศ และปัจจุบันยังใช้โครงร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ เพียงแต่ปรับปรุงในรายละเอียดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป (ตามเอกสารเลขที่ DAC008-000-016 เรื่อง พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501) ใจความสำคัญ: พัฒนาการของกฎหมายเกี่ยวกับระบบการเงินตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง กระทั่งท้ายที่สุดออกเป็น พ.ร.บ. เงินตา พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางรากฐานระบบการเงินของพระเทศมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ • ร.5 – 2471 • 2471 – สงครามโลก • หลังสงครามโลก – 2501