การดูแลความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505
ประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2431 แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะ จนกระทั่งปี 2480 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 ขึ้น ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ. ฉบับแรกที่กล่าวถึงการควบคุมกิจการธนาคาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความเชื่อถือในความมั่นคงของธนาคาร และเพื่อให้ทราบฐานะการเงินการธนาคารของประเทศด้วยการรวบรวมสถิติของธนาคาร นับตั้งแต่ปี 2480 เป็นต้นมา มีธนาคารพาณิชย์ไทยเกิดขึ้นใหม่หลายธนาคาร โดยได้ขยายตัวขึ้นจาก 3 ธนาคารก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็น 10 ธนาคารภายหลังสงครามสิ้นสุด ธนาคารเหล่านี้เริ่มให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อ เพื่อเกื้อหนุนการทำธุรกิจภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การควบคุมยังไม่สู้กวดขันมากนัก พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ใช้มาถึงปี 2488 จนกระทั่งได้ตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พุทธศักราช 2488 ขึ้นใช้บังคับแทน โดยมีการกำหนดเงินสดสำรองขั้นต่ำเป็นสัดส่วนของเงินฝาก โดยส่วนหนึ่งต้องเป็นเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และให้อำนาจรัฐมนตรีในการสั่งให้มีการตรวจสอบและสามารถเพิกถอนใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ได้ เป็นต้น (ตามเอกสารเลขที่ DAC010-000-001 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488) อย่างไรก็ตาม การจัดระบบธนาคารของประเทศยังไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องด้วยภารกิจเฉพาะหน้าด้านการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศภายหลังสงคราม เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าควรจะปรับปรุงพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์เสียใหม่ให้รัดกุม ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2496 รัฐบาลจึงได้มีมติให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ได้ดำเนินการพิจารณามาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 (ตามเอกสารเลขที่ DAC010-000-002 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และเอกสารเลขที่ DAC010-000-003 การชี้แจงเรื่องกฎหมายพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์) ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ขึ้นใหม่นี้ วางอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1. เพื่อให้มีเครื่องมือควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ให้เป็นไปโดยรอบคอบมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการคุ้มครองผู้ฝากเงิน และส่งเสริมความน่าเชื่อถือในระบบการธนาคาร 2. เพื่อส่งเสริมให้ระบบธนาคารก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยสามารถอำนวยความสะดวกทางการเงินให้แก่ธุรกิจการค้าอย่างมีระเบียบ และช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 3. เพื่อให้มีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการรักษาเสถียรภาพแห่งเงินตรา ดังนั้น การออกพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พุทธศักราช 2505 จึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในด้านระบบการธนาคารของประเทศไทย พัฒนาการของกฎหมายควบคุมธนาคารพาณิชย์ • พ.ร.บ. ควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 o เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความเชื่อถือในความมั่นคงของธนาคาร o เพื่อให้ทราบฐานะการเงินการธนาคารของประเทศด้วยการรวบรวมสถิติของธนาคาร • พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พุทธศักราช 2488 DAC010-000-001 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 o มีการกำหนดเงินสดสำรองขั้นต่ำเป็นสัดส่วนของเงินฝาก o ให้อำนาจรัฐมนตรีในการสั่งให้มีการตรวจสอบและสามารถเพิกถอนใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ได้ • พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พุทธศักราช 2505 DAC010-000-002 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 DAC010-000-003 การชี้แจงเรื่องกฎหมายพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ o เพื่อให้มีเครื่องมือควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ให้เป็นไปโดยรอบคอบมากขึ้น o เพื่อส่งเสริมให้ระบบธนาคารก้าวหน้ายิ่งขึ้น o เพื่อให้มีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการรักษาเสถียรภาพแห่งเงินตรา