ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศไทย

แม้ว่า ธปท. จะได้รับมอบหมายหน้าที่ในการออกธนบัตรตั้งแต่ปี 2485 แต่ ธปท. ก็ได้จัดหาธนบัตรด้วยการสั่งพิมพ์จากต่างประเทศ คือ บริษัทโทมัส เดอ ลารู จำกัด ยกเว้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งประเทศไทยได้รับบทเรียนจากการที่ไม่อาจสั่งพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศตามความต้องการได้ ส่งผลให้กิจการด้านต่าง ๆ ของประเทศประสบความยุ่งยาก เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ธปท. จึงสั่งธนบัตรจากโรงพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นและโรงพิมพ์ภายในประเทศ แม้ว่าธนบัตรที่พิมพ์ในประเทศจะมีคุณภาพต่ำและมีการปลอมแปลงมาก แต่ก็ได้ใช้แก้ขัดกันไปตลอดช่วงสงคราม เรียกธนบัตรที่พิมพ์ภายในประเทศนี้ว่า ธนบัตรแบบ 6 และ ธนบัตรแบบ 7 ต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุด ทางการไทยก็ได้เริ่มติดต่อกับ บริษัทโทมัส เดอ ลารู จำกัด เพื่อจัดพิมพ์ธนบัตรให้ประเทศไทยอีก แต่เนื่องจากบริษัทได้รับความเสียหายจากสงคราม จึงไม่สามารถรับพิมพ์ให้ได้ กระทรวงการคลังจึงได้ติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยให้บริษัท The Tudor Press เป็นผู้จัดพิมพ์ และเรียกธนบัตรที่พิมพ์จากสหรัฐอเมริกานี้ว่า ธนบัตรแบบ 8 โดยนำออกใช้ในปี 2489 เนื่องจากลักษณะของธนบัตรพิมพ์เส้นราบ ไม่มีเส้นนูน ไม่มีลายน้ำ ใช้น้อยสี จึงง่ายต่อการปลอมแปลง ประเทศไทยได้หวนกลับมาสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัส เดอ ลารู จำกัด เมื่อทราบว่าบริษัทมีความพร้อมแล้ว และเรียกธนบัตรนี้ว่า ธนบัตรแบบ 9 และได้ให้พิมพ์ ธนบัตรแบบ 10 ในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี 2512 ธปท. สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกเป็นผลสำเร็จและได้เริ่มพิมพ์ ธนบัตรแบบ 11 และแบบอื่น ๆ เป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน สำหรับแนวความคิดในการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร กล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นจนกระทั่งความต้องการใช้เหรียญกษาปณ์เพิ่มจนเกินขีดความสามารถในการผลิต โดยการจัดตั้งโรงพิมพ์เพื่อผลิตเงินกระดาษออกใช้ได้มีมาตั้งแต่ปี 2433 ซึ่งเป็นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้สั่งให้ บริษัท Giesecke & Devrient ผลิตเงินกระดาษหลวง แต่เมื่อเงินกระดาษหลวงส่งมาถึงประเทศไทย เมื่อปี 2435 รัฐบาลไม่พร้อมที่จะนำออกใช้ จึงเป็นผลให้โครงการจัดตั้งโรงพิมพ์ในประเทศต้องระงับไปโดยปริยาย แนวความคิดในครั้งต่อ ๆ มา ล้วนเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง เนื่องจากประเทศไทยมีบทเรียนจากการที่ไม่สามารถสั่งพิมพ์ธนบัตร โดยตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีความพยายามในการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศหลายครั้งหลายคราว ทั้งจากชาวต่างชาติและคนไทยเอง อย่างไรก็ตาม การพิมพ์ธนบัตรต้องอาศัยเทคนิคขั้นสูงและใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ต่อมา ในสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดว่า “ไทยเราเป็นเอกราช เราจะต้องมีโรงพิมพ์ธนบัตรของเราเอง” ท่านจึงได้สั่งการเด็ดขาดถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้รีบจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเพื่อพิมพ์ธนบัตรใช้เอง ในปี 2502 นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นและได้เริ่มประชุมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2502 เพื่อวางหลักการในการก่อตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรไว้ ดังนี้ 1. การจัดตั้งและการดำเนินงานอยู่ในหน้าที่ของ ธปท. 2. ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นให้จ่ายจากผลประโยชน์ของทุนสำรองเงินตรา 3. กำหนดให้โรงพิมพ์ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับ ธปท. และคณะกรรมการได้ลงมติให้ส่งพนักงาน ธปท. และผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ของประเทศไทยไปศึกษาดูงานการพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ เมื่อเสร็จสิ้นการดูงานและเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว คณะผู้ดูงานได้ทำรายงานเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานของคณะกรรมการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร และที่ประชุมได้ทำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ให้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรด้วยทุนริเริ่ม 100 ล้านบาท และสรุปข้อดีของการพิมพ์ธนบัตรใช้เองว่า แม้ในขั้นตอนแรกจะต้องลงทุนมาก และประสบกับปัญหาทางเทคนิคที่ยุ่งยากก็ตาม แต่จะให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศหรือความปลอดภัยของเงินตรา นายพิพรรธน์ ไกรฤกษ์ หนึ่งในคณะผู้ดูงาน เห็นว่าโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารชาติเบลเยี่ยมมีลักษณะเหมาะสมที่ควรจะนำมาเป็นแนวทางในการวางโครงการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรของไทย รัฐบาลไทยจึงได้เชิญ นายชาร์ลส์ ออสเซมส์ (Mr. Charles Aussems) ผู้อำนวยการโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารชาติเบลเยี่ยมมาให้คำปรึกษาหารือ ช่วยแนะนำการวางโครงการและจัดแบ่งหน่วยงานของโรงพิมพ์ธนบัตร ในด้านตัวอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรนั้น ธปท. ได้ซื้อที่บ้านของเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากถนนกับ ธปท. ในปี 2505 หลังจากจัดหาบริษัทก่อสร้างเสร็จสิ้นจึงเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2506 ระหว่างที่การก่อสร้างอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรกำลังดำเนินอยู่นั้น ธปท. ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นควบคู่กันไป เช่น จัดส่งพนักงานไปดูงานและฝึกงานในต่างประเทศ สั่งซื้ออุปกรณ์การพิมพ์ และในที่สุดความพยายามในการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรก็ประสบความสำเร็จในปี 2512 รวมเป็นระยะเวลานานกว่า 8 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นภายในประเทศ (ตามเอกสารเลขที่ DAC012-000-001 ที่มาของการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศไทย และเอกสารเลขที่ DAC012-000-002 คำสั่งนายกรัฐมนตรี เห็นควรให้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร) และมีการวางแผนเกี่ยวกับการใช้โรงพิมพ์ธนบัตรเบลเยียมเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรสำรองในภาวะฉุกเฉิน (ตามเอกสารเลขที่ DAC012-000-005 การให้โรงพิมพ์ธนบัตรเบลเยียมเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรสำรองยามฉุกเฉิน) ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงพิมพ์ธนบัตรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2512 ในพิธีเปิด หลังจากที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงานการก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำรัสตอบมีใจความสำคัญว่า “การที่ทางราชการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นได้สำเร็จ นับเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าขั้นสำคัญของชาติ ทุกคนที่จะดำเนินงานสำคัญนี้ต่อไปควรจะระลึกว่ามีภาระและความรับผิดชอบอย่างหนัก เพราะงานในหน้าที่มีความผูกพันอยู่กับประชาชนทุกคน มีความสำคัญยิ่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศ ความบกพร่องใด ๆ อันจะเกิดขึ้นย่อมกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของบ้านเมืองโดยตรง ดังนั้น จึงต้องสังวรระวังในเรื่องความเสียหายดังกล่าว และพยายามใช้ความรู้ ความสามารถ ความสุขุมรอบคอบ พร้อมทั้งความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ” (ตามเอกสารเลขที่ DAC012-000-003 กระแสพระราชดำรัสและกำหนดพิธีเปิดโรงพิมพ์ธนบัตร และเอกสารเลขที่ DAC012-000-004 ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์) การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ 4 • ปี 2396 เริ่มต้นการใช้ “หมาย” และ “ใบพระราชทานเงินตรา” แทนเงิน เนื่องจากมีปัญหาการปลอมแปลงนำทองแดงและตะกั่วมาผสมในเงินเฟื้อง เงินสลึง เงินบาท แต่ได้รับความนิยมน้อย เพราะเป็นเพียงกระดาษไม่ได้เป็นเงินเป็นก้อนจึงไม่ได้รับความเชื่อถือระหว่างผู้ใช้ อีกทั้งยังเปื่อยผุง่าย สมัยรัชกาลที่ 5 • ปี 2415 – 2416 มีการออกอัฐกระดาษ • ปี 2431 มีการบัตรธนาคาร (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) เริ่มจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากมีจำนวนเหรียญกษาปณ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะมีการสร้างโรงกษาปณ์ใหม่แล้วก็ตาม • ปี 2433 เริ่มมีแนวคิดจัดตั้งโรงพิมพ์เพื่อผลิตเงินกระดาษออกใช้แทนเหรียญกษาปณ์ที่มีไม่เพียงพอ และออกโดยรัฐบาลแทนธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ออกบัตรธนาคาร สั่งให้ บริษัท Giesecke & Devrient ประเทศเยอรมนี ผลิตเงินกระดาษหลวง แต่มีการระงับไป เพราะไม่มีมาตรฐาน อ่านยาก และเก็บรักษาไม่เข้มงวดหากรั่วไหลออกไปจะเกิดปัญหาได้ จึงยังไม่ได้ออกใช้ • ปี 2445 เริ่มสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกฤษ ตามคำแนะนำจากที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติชาวอังกฤษ และธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ สงครามโลกครั้งที่ 2 • ไม่สามารถสั่งธนบัตรที่ผลิตจาก บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกฤษ มาใช้ได้ จึงต้องใช้ธนบัตรที่ผลิตขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และผลิตขึ้นภายในประเทศ (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ ปัญหาธนบัตรขาดแคลนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) • บทเรียนจากการขาดแคลนธนบัตร ทำให้แนวคิดการพิมพ์ธนบัตรใช้เองมีความสำคัญขึ้นมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 o DAC012-000-001 ที่มาของการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศไทย o DAC012-000-002 คำสั่งนายกรัฐมนตรี เห็นควรให้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร • ปี 2489 ใช้ธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากสหรัฐ แต่ประสบปัญหาปลอมแปลงง่าย จึงกลับมาสั่งพิมพ์จาก บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกฤษ (เมื่อบริษัทฟื้นตัวจากสงครามแล้ว) • ปี 2491 มีปัญหาธนบัตรไม่มีลายเซ็นจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อตรวจสอบจึงพบว่า บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกฤษ พิมพ์ธนบัตรในประเทศพม่า แล้วส่งมาไทย จึงมีการลักลอบนำธนบัตรที่พิมพ์เสียแล้วมาใช้ในไทย • รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นความสำคัญในการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศ • ปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดว่า “ไทยเราเป็นเอกราช เราจะต้องมีโรงพิมพ์ธนบัตรของเราเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมทั้งส่งคนไทย 3 คนไปดูงานการพิมพ์ธนบัตรที่ต่างประเทศ เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการ และเห็นว่าโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารชาติเบลเยียม มีความเหมาะสมกับไทย อีกทั้งมีการวางแผนเกี่ยวกับการใช้โรงพิมพ์ธนบัตรเบลเยียมเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรสำรองในภาวะฉุกเฉิน (ตามเอกสารเลขที่ DAC012-000-005 การให้โรงพิมพ์ธนบัตรเบลเยียมเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรสำรองยามฉุกเฉิน) • จนวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2504 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร และให้ ธปท. ดำเนินการเรื่องนี้ โดยเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ กระทั่ง ปี 2512 จึงพร้อมเปิดโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้น • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงพิมพ์ธนบัตรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2512 ในพิธีเปิด หลังจากที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงานการก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตร และทรงมีพระราชดำรัสตอบ o DAC012-000-003 กระแสพระราชดำรัสและกำหนดพิธีเปิดโรงพิมพ์ o DAC012-000-004 ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์

เลขชุดเอกสาร
DAC012
ชื่อชุดเอกสาร
การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศไทย
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1955 1971
จำนวนแผ่นเอกสาร
1
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้