ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

ปัญหาสถาบันการเงินและการจัดตั้ง"กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"

วิกฤตการณ์ทางการเงิน ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2521 จนถึงปี 2522 เริ่มต้นจากการที่บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่เป็นอันดับสองที่ประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ให้กู้แก่บริษัทในเครือและลูกค้าเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทเอง ขณะเดียวกันก็มีการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์จนทำให้ราคาสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ราคาหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน นับตั้งแต่เข้าทำการซื้อขายในเดือนกันยายน 2520 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2521 ราคาได้เพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 9 เท่า ในช่วงแรกบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ได้ให้กู้ยืมเพื่อซื้อหุ้นในบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ (ระบบมาร์จิน) ต่อมากลายเป็นการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทตนเอง และเมื่อราคาหุ้นลดต่ำลง ระบบการเงินอยู่ในภาวะตึงตัว อันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูง ประกอบกับการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ บริษัทราชาเงินทุนจึงประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2522 บริษัทตกอยู่ในสภาพไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 ธปท. จึงได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายเข้าควบคุมในสองวันถัดมา และถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนในเดือนสิงหาคม 2522 และแจ้งความจับผู้กระทำผิด (ตามเอกสารเลขที่ DAC015-000-002 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราชาเงินทุน ประกาศ แถลงการณ์กระทรวงการคลัง เอกสารเลขที่ DAC015-000-003 ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมบริษัทราชาเงินทุน เอกสารเลขที่ DAC015-000-004 บันทึกธนาคารกรุงไทยทำความตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือบริษัทราชาเงินทุน เอกสารเลขที่ DAC015-000-005 การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด) วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบหลายด้าน ได้แก่ ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินได้รับความเสียหายหลายพันราย และทำให้เกิดการแห่ถอนเงินจากบริษัทเงินทุนเป็นจำนวนมากจนเป็นผลให้ฐานะของบริษัทเงินทุนหลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่มีธนาคารพาณิชย์หนุนหลัง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งราคาและปริมาณการซื้อขาย สถานการณ์นี้ทำให้ทางการออกมาตรการหลายมาตรการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องและเสถียรภาพให้ระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเข้าไปฟื้นฟูความมั่นใจของผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เข้าไปปรับสภาพคล่องในตลาดซื้อคืนพันธบัตรได้ การลดอัตราส่วน เงินที่ลูกค้าต้องนำมาวางกับบริษัทหลักทรัพย์ในกรณีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (ระบบมาร์จิน) เพื่อช่วยให้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์กระเตื้องขึ้น การจัดตั้งกองทุนพัฒนาตลาดทุน ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็ได้ปรับปรุงข้อกำหนดต่าง ๆ ด้านสถาบันการเงิน เช่น การปรับปรุงอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเริ่มมีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก เป็นต้น (ตามเอกสารเลขที่ DAC015-000-001 หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝาก เอกสารเลขที่ เอกสารเลขที่ DAC015-000-006 สำนักงานเตรียมการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก เอกสารเลขที่ DAC015-000-007 รายงานสรุปผลเตรียมการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก) วิกฤตการณ์บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ในปี 2526 นั้น เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ในปี 2522 แม้จะเกิดวิกฤตการณ์บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ในปี 2522 ก็ตาม บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ยังคงแสวงหาผลประโยชน์นอกเหนือบทกฎหมาย เช่น มีการให้กู้ยืมแก่กรรมการบริษัทในเครือเป็นจำนวนมากโดยไม่มีหลักประกัน มีการทุจริตโดยผู้บริหารของบริษัทเองโดยมีการสร้างลูกหนี้ปลอม และให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินไม่มั่นคงจนทำให้บริษัทต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น บริษัทจึงประสบปัญหาสภาพคล่องเมื่อครบกำหนดในการชำระคืนหนี้ หลายบริษัทที่ได้รับผลกระทบและยังมีฐานะอ่อนแอจากวิกฤตการณ์ ปี 2522 พยายามฟื้นฟูฐานะการดำเนินการด้วยการจัดหาเงินกู้ยืมโดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อเป็นการจูงใจ จึงทำให้ภาระหนี้ที่จำต้องจ่ายคืนเพิ่มขึ้น และถึงแม้ว่าจะมีการเรียกคืนเงินจากลูกหนี้ระยะสั้นเพื่อป้องกันการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน การไถ่ถอนเงินจึงมีอย่างต่อเนื่องจนทำให้บางบริษัทจัดหาเงินทุนหมุนเวียนไม่ทัน จนบางบริษัทถึงขั้นปฏิเสธการจ่ายเงินหรือขอผัดผ่อนการชำระคืนเงินฝากไป นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจไทยในเวลานั้นไม่อำนวยให้บริษัทเงินทุนฯ เหล่านี้เพิ่มทุนและแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่แข็งแรงพอต่อเนื่องมาตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1 และ 2 และความผันผวนในตลาดเงินตราต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน (บริษัทตึกดำ) เป็นบริษัทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์ปี 2522 แต่ยังมีการดำเนินงานและการให้เงินกู้ยืมที่ผิดกฎหมาย และเป็นเหตุในการจุดฉนวนวิกฤตการณ์บริษัทเงินทุนฯ ในปี 2526 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าไปตรวจสอบและเข้าควบคุมในเดือนตุลาคม 2526 เพื่อการแก้ไขปัญหา และกระทรวงการคลังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2526 ปัญหานี้ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนสั่นคลอนมากขึ้นจนลุกลามออกไปกระทบบริษัทที่เกี่ยวข้องถึง 40 บริษัท สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์บริษัทเงินทุนในปี 2522 และปี 2526 ที่ผ่านมา แม้ว่า ธปท. ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่มีฐานะอ่อนแอ ผ่านการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และการช่วยเหลือการเงินเพื่อฟื้นฟูฐานะของบริษัทแล้ว แต่วิกฤตการณ์ในบริษัทเงินทุนยังปรากฏต่อเนื่องมาถึงปี 2527 โดยมีบริษัทเงินทุนที่ประสบปัญหาการดำเนินงานจนมีเงินกองทุนลดลงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และถูกถอดถอนใบอนุญาต การไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวิกฤติการณ์ครั้งนี้มีแนวโน้มจะขยายต่อไปถึงระบบธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ริเริ่ม “โครงการ 4 เมษายน 2527” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาให้เข้ามาอยู่ในความดูแลของทางการ หลักการคือทางการจะช่วยเพิ่มทุนโดยเข้าไปถือหุ้นของบริษัทและรับผิดชอบในการจัดการบริหารสถาบันการเงิน ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของเจ้าของสถาบันการเงิน เมื่อคัดเลือกบริษัทเงินทุนที่มีโอกาสจะฟื้นฟูได้ให้เข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ปรากฏว่ามีทั้งสิ้น 25 บริษัท ในด้านของการให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินนั้น ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนเหล่านั้นสามารถแลกตั๋วกับสถาบันการเงินที่ทางการใช้เป็นตัวกลางในการช่วยเหลือ ตั๋วสัญญาที่แลกใหม่จะทยอยชำระเงินในระยะเวลา 10 ปี ผลจากการดำเนินงานปรากฏว่า ทางการสามารถฟื้นฟูฐานะการเงินของบริษัทให้ดีขึ้น จนสามารถขายกลับคืนให้ผู้บริหารเดิมและผู้ร่วมลงทุนใหม่ รวมถึงผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการกันเอง (ตามเอกสารเลขที่ DAC015-000-008 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน เอกสารเลขที่ DAC015-000-009 วิกฤตการณ์ครั้งแรก ปี 2522 และครั้งที่ 2 ปี2526 เอกสารเลขที่ DAC015-000-010 แถลงการณ์กระทรวงการคลัง เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอกสารเลขที่ DAC015-000-011 บันทึก เรื่อง โครงการ 4 เมษายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-012 คำชี้แจงเกี่ยวกับโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-013 แนวทางแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-014 ประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-015 การรับบริษัทเข้า "โครงการ 4 เมษายน 2527" เอกสารเลขที่ DAC015-000-017 สรุปผลการดำเนินงานและความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-018 การโอนกิจการของบริษัทในโครงการ 4 เมษายน 2527 คืนผู้ถือหุ้นเดิม เอกสารเลขที่ DAC015-000-019 แนวทางในการแก้ไขปัญหาของโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-020 คำชี้แจงข่าวหนังสือพิมพ์ โครงการ 4 เมษา 2527 เอกสารเลขที่ DAC015-000-024 รายงานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน) ในระหว่างที่เกิดวิกฤติในบริษัทเงินทุนและธนาคารพาณิชย์ในปี 2527 อยู่นั้น ได้มีปัญหาในส่วนของการเงินนอกระบบเกิดขึ้น คือ เกิดวงแชร์ที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน เช่น แชร์น้ำมัน แชร์ลูกโซ่ โดยแต่ละรายเสนอผลตอบแทนที่สูงเป็นเครื่องล่อใจ เจ้ามือแชร์จะรับเงินมาจากสมาชิกแล้วนำเงินนั้นไปฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ จากนั้นทยอยเบิกมาชำระดอกเบี้ยให้แก่ลูกแชร์ในลักษณะรับรายใหม่มาจ่ายรายเก่า โดยมิได้นำไปลงทุนในกิจการใด ๆ ทางการสังเกตเห็นความผิดปกติในธนาคารพาณิชย์และพบว่าเป็นการลงทุนในลักษณะที่ผิด ใช้อุบายล่อลวงให้ส่งทรัพย์โดยเจตนาทุจริต เพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหาและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคารของประเทศ ทางการจึงได้ตรากฎหมาย พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ปี 2527 เพื่อป้องกันและปราบปรามการกู้ยืมเงินดังกล่าว พร้อมทั้งวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในปี 2526 หลังจากที่ทางการได้ออกมาตรการแก้ไขหลายรูปแบบ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง “โครงการ 4 เมษายน 2527” การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ปรากฏว่าการออกมาตรการต่าง ๆ ทำได้ลำบากและไม่คล่องตัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเริ่มการจัดตั้งองค์กรที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยทำงานร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง และภาคสถาบันการเงิน ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 พร้อมๆ กันนั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย และเพิ่มเติมเนื้อหาหมวด ๕ ทวิ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ตามเอกสารเลขที่ DAC015-000-016 คำสั่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เอกสารเลขที่ DAC015-000-022 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ. 2528) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถูกจัดตั้งเป็นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เพื่อให้ทางการสามารถสั่งการการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ผ่านทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สถาบันการเงินในที่นี้หมายถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และรัฐบาลให้จัดตั้งคณะกรรมการของกองทุนโดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน และกรรมการอื่นควบคุมการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ คณะกรรมการฯ แต่งตั้งผู้จัดการกองทุนให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และตามนโยบายหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีอำนาจ ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เข้าซื้อหรือถือหุ้น รับซื้อสินทรัพย์เสียหายอันเนื่องมาจากหนี้เสีย ให้ความช่วยเหลือโดยการค้ำประกันการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน รับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ฝากเงินไว้ในสถาบันการเงิน การเข้าไปแก้ไขและฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงินต่าง ๆ นั้น ต้องให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ควบคู่กัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาในแต่ละสถาบันการเงิน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีบทบาทอย่างมากภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 (ตามเอกสารเลขที่ DAC015-000-021 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เอกสารเลขที่ DAC015-000-023 แถลงข่าวกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย "เรื่อง การแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินอย่างครบวงจร") ไทม์ไลน์ • วิกฤตการณ์ทางการเงิน ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2521 จนถึงปี 2522 เริ่มต้นจากบริษัทราชาเงินทุน จำกัด o DAC015-000-002 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราชาเงินทุน o DAC015-000-003 ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมบริษัทราชาเงินทุน o DAC015-000-004 บันทึกธนาคารกรุงไทยทำความตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือบริษัทราชาเงินทุน o DAC015-000-005 การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด • ปี 2522 เริ่มมีการพิจารณาจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก หลังได้บทเรียนจากบริษัทราชาเงินทุน จำกัด o DAC015-000-001 หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝาก o DAC015-000-006 สำนักงานเตรียมการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก o DAC015-000-007 รายงานสรุปผลเตรียมการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก • วิกฤตการณ์บริษัทเงินทุนฯ ในปี 2526 มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน (บริษัทตึกดำ) เป็นชนวนของเหตุการณ์ • แม้ว่า ธปท. ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่มีฐานะอ่อนแอ ผ่านการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และการช่วยเหลือการเงินเพื่อฟื้นฟูฐานะของบริษัทแล้ว แต่วิกฤตการณ์ในบริษัทเงินทุนยังปรากฏต่อเนื่องมาถึงปี 2527 • จึงเกิด โครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-008 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน o DAC015-000-009 วิกฤตการณ์ครั้งแรก ปี 2522 และครั้งที่ 2 ปี2526 o DAC015-000-010 แถลงการณ์กระทรวงการคลัง เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ o DAC015-000-011 บันทึก เรื่อง โครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-012 คำชี้แจงเกี่ยวกับโครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-013 แนวทางแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในโครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-014 ประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการโครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-015 การรับบริษัทเข้า "โครงการ 4 เมษายน 2527" o DAC015-000-017 สรุปผลการดำเนินงานและความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-018 การโอนกิจการของบริษัทในโครงการ 4 เมษายน 2527 คืนผู้ถือหุ้นเดิม o DAC015-000-019 แนวทางในการแก้ไขปัญหาของโครงการ 4 เมษายน 2527 o DAC015-000-020 คำชี้แจงข่าวหนังสือพิมพ์ โครงการ 4 เมษา 2527 o DAC015-000-024 รายงานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน • ปีเดียวกัน เกิดวงแชร์ที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน เช่น แชร์น้ำมัน แชร์ลูกโซ่ ฯลฯ มีการออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 • มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อแก้วิกฤติสถาบันการเงินทำได้ลำบากและไม่คล่องตัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเริ่มแนวคิดการจัดตั้งองค์กรที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที o ปี 2528 จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน DAC015-000-016 คำสั่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน DAC015-000-022 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ. 2528 DAC015-000-021 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน DAC015-000-023 แถลงข่าวกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย "เรื่อง การแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินอย่างครบวงจร"

เลขชุดเอกสาร
DAC015
ชื่อชุดเอกสาร
ปัญหาสถาบันการเงินและการจัดตั้ง"กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1979 1997
จำนวนแผ่นเอกสาร
3
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้