ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

การลดค่าเงินบาทและเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นแบบตะกร้าเงิน

ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2527 ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 35.9% ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีกว่าประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่น นักลงทุนมีความเชื่อมั่นจึงสนใจที่จะถือเงินดอลลาร์ สรอ. เงินบาทซึ่งในทางปฏิบัติยังผูกโยงไว้กับดอลลาร์ สรอ. จึงเพิ่มค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน การแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบถึงการส่งออกซึ่งเป็นภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตร และส่งผลให้ฐานะดุลการชำระเงินของประเทศมีแนวโน้มเสื่อมลง เงินทุนเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศและทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ต้องเข้าแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินบาท ทางการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์ สรอ. ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินสกุลอื่น ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้ค่าเงินบาทโดยแท้จริงไม่มีเสถียรภาพ เพื่อปรับสมดุลทางการและธปท. จึงได้ประกาศปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 โดยมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา 2 ประการ คือ 1) การผูกค่าเงินบาทไว้กับกลุ่มเงินตราต่างประเทศของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยแทนการผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ สรอ. สกุลเดียว โดยให้ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นผู้กำหนดอัตรากลางสำหรับการซื้อขาย และ 2) ปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น โดยลดค่าเงินบาทลงประมาณ 15% มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 อัตราแลกเปลี่ยนจึงเปลี่ยนแปลงจาก 23 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ สรอ. มาเป็น 27 บาทต่อ ดอลลาร์ สรอ. (ตามเอกสารเลขที่ DAC016-000-001 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 เอกสารเลขที่ DAC016-000-002 คำชี้แจงเรื่อง การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราและค่าเงินบาท เอกสารเลขที่ DAC016-000-004 ข่าวหนังสือพิมพ์ สัมภาษณ์พิเศษ นายชวลิต ธนะชานันท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการลดค่าเงินบาท) ตามระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราที่ปรับปรุงใหม่นี้ ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของเงินบาท จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ สรอ. เป็นประจำทุกวัน การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนจะคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ 1. ดัชนีค่าเงินบาท ซึ่งคำนวณจากค่าเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่ม “ตะกร้า” (Basket) ได้แก่ ดอลลาร์ สรอ. ปอนด์สเตอร์ลิง มาร์คเยอรมนี เยน และริงกิต 2. ปริมาณการซื้อขายเงินดอลลาร์ สรอ. ในตลาดในแต่ละวันในระยะที่ผ่านมา 3. ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและนำเข้า รวมถึงระดับราคาสินค้าภายในประเทศ ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทในระบบใหม่นี้ จะมีค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามความเหมาะสม ไม่ได้ยึดตายตัวกับการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ สรอ. มีการนำสกุลเงินต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศมาพิจารณา รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านอัตราแลกเปลี่ยน การปรับลดค่าเงินบาทกว่า 15% ในครั้งนั้นถือว่าส่งผลกระทบรุนแรงมาก (ตามเอกสารเลขที่ DAC016-000-006 ผลกระทบจากการลดค่าเงินบาทต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม เอกสารเลขที่ DAC016-000-007 ผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันจากการปรับราคาน้ำมันตามการลดค่าเงินบาท เอกสารเลขที่ DAC016-000-005 ข่าวหนังสือพิมพ์ การสัมมนา เรื่อง วิกฤติการณ์เศรษฐกิจ หลังลดค่าเงินบาทไทย) และยังมีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาอันเกิดจากการปรับปรุงระบบการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ (ตามเอกสารเลขที่ DAC016-000-003 ประกาศคณะกรรมการแก้ปัญหาอันเกิดจากการปรับปรุงระบบการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (ข่าวหนังสือพิมพ์)) และก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อมา เพราะมาตรการนี้ช่วยให้สินค้าออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทอุตสาหกรรมที่แข่งขันสู้ประเภทอื่น ๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจไทยระหว่างปี 2530 - 2533 รุ่งเรืองขึ้นมาก อีกทั้งยังทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรามีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศของโลกได้ ไทม์ไลน์ การลดค่าเงินบาทและเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นแบบตะกร้าเงิน • ตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2527 ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 35.9% o ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีกว่าประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่น • เงินบาทซึ่งในทางปฏิบัติยังผูกโยงไว้กับดอลลาร์ สรอ. จึงเพิ่มค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน o การแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบถึงการส่งออกซึ่งเป็นภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญของประเทศ • จึงได้ประกาศปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 o DAC016-000-001 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 o DAC016-000-002 คำชี้แจงเรื่อง การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราและค่าเงินบาท o DAC016-000-004 ข่าวหนังสือพิมพ์ สัมภาษณ์พิเศษ นายชวลิต ธนะชานันท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการลดค่าเงินบาท o 1) การผูกค่าเงินบาทไว้กับกลุ่มเงินตราต่างประเทศของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยแทนการผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ สรอ. สกุลเดียว โดยให้ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นผู้กำหนดอัตรากลางสำหรับการซื้อขาย และ o 2) ปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น โดยลดค่าเงินบาทลงประมาณ 14.81 % อัตราแลกเปลี่ยนจึงเปลี่ยนแปลงจาก 23 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ สรอ. มาเป็น 27 บาทต่อ ดอลลาร์ สรอ. • ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของเงินบาท จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นประจำทุกวัน โดยคำนึงถึง ดัชนีค่าเงินบาท ซึ่งคำนวณจากค่าเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่ม “ตะกร้า” (Basket) ได้แก่ ดอลลาร์ สรอ. ปอนด์สเตอร์ลิง มาร์คเยอรมนี เยน และริงกิต ปริมาณการซื้อขายเงินดอลลาร์ สรอ. ในตลาดในแต่ละวันในระยะที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและนำเข้า รวมถึงระดับราคาสินค้าภายในประเทศ o อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทในระบบใหม่นี้ จะมีค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามความเหมาะสม ไม่ได้ยึดตายตัวกับการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ สรอ. o การปรับลดค่าเงินบาทในครั้งนั้นถือว่าส่งผลกระทบรุนแรงมาก DAC016-000-005 ข่าวหนังสือพิมพ์ การสัมมนา เรื่อง วิกฤติการณ์เศรษฐกิจ หลังลดค่าเงินบาทไทย DAC016-000-006 ผลกระทบจากการลดค่าเงินบาทต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม DAC016-000-007 ผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันจากการปรับราคาน้ำมันตามการลดค่าเงินบาท มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาอันเกิดจากการปรับปรุงระบบการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ • DAC016-000-003 ประกาศคณะกรรมการแก้ปัญหาอันเกิดจากการปรับปรุงระบบการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (ข่าวหนังสือพิมพ์) • การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบตะกร้า เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อมา เพราะมาตรการนี้ช่วยให้สินค้าออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทอุตสาหกรรมที่แข่งขันสู้ประเภทอื่น ๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก • ทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรามีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศของโลกได้

เลขชุดเอกสาร
DAC016
ชื่อชุดเอกสาร
การลดค่าเงินบาทและเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นแบบตะกร้าเงิน
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1984
จำนวนแผ่นเอกสาร
3
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้