ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

ปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์

การที่เศรษฐกิจของประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักติดต่อกันถึง 3 ปี (2531 - 2533) นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพในระดับประเทศแล้ว ยังเริ่มส่งผลต่อความไม่สมดุลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้มีการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ที่ดินและวัสดุก่อสร้างมีราคาแพงและขาดแคลน ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะการก่อสร้างในปี 2532 ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของงานก่อสร้าง ทั้งโรงงาน อาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอาคารชุด ปริมาณสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเพียงประมาณ 20,000 ล้านบาทในปี 2528 มาเป็นกว่า 100,000 ล้านบาทในปี 2532 ราคาที่ดินที่อยู่ในขาขึ้น สภาพคล่องทางการเงินที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ และความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในยุคทอง ทำให้เกิดโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์มากมายทั้งในเมืองและทั่วทุกภาคของประเทศ (ตามเอกสารเลขที่ DAC018-000-001 บทความ ฝ่ายวิชาการ ธปท. เรื่อง ธุรกิจอาคารชุด) ในช่วงเวลานี้ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนได้ให้สินเชื่อแก่การประกอบธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของบริษัทเงินทุนมีการเปลี่ยนโครงสร้างการให้สินเชื่ออย่างชัดเจน จากที่เคยเน้นการให้สินเชื่อแก่ภาคอุตสาหกรรมมาเป็นเน้นภาคอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสูงในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขยายตัวนั้น ทำให้บริษัทเงินทุนมีบทบาทในการจัดสรรเงินทุนมากขึ้น สินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนก้าวกระโดดโดยเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 26 ต่อปี การปล่อยสินเชื่อของบริษัทเงินทุนส่วนมากตกอยู่ในประเภทอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคส่วนบุคคล (ตามเอกสารเลขที่ DAC018-000-002 การสัมมนา เรื่อง บ้านจัดสรร-คอนโด จะผ่านมรสุมวัสดุก่อสร้างและสินเชื่อได้อย่างไร เอกสารเลขที่ DAC018-000-003 บทความ ฝ่ายวิชาการ ธปท. เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เอกสารเลขที่ DAC018-000-004 การบรรยาย เรื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เอกสารเลขที่ DAC018-000-005 รายงานการประชุม เรื่อง การปรับปรุงมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เอกสารเลขที่ DAC018-000-006 สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2535) การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงมากจนเกินควบคุมทำให้ ธปท. ต้องเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้ภาคการก่อสร้างขยายตัวอย่างชะลอตัวมาเรื่อย ๆ จนในปี 2537 การก่อสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารสำนักงานในเขตกรุงเทพฯ เริ่มมีสินค้าล้นตลาดและมีโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้วแต่ไม่เสร็จตามกำหนด การโอนขายไม่เป็นไปตามกำหนด ทั้งหมดนี้เริ่มส่งผลกระทบไปยังผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้คืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน เมื่อบริษัทต่าง ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถขายสินค้าได้อย่างที่คาดการณ์ จึงส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทเงินทุนได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะให้สินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูง ทำให้ราคาหุ้นของทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และบริษัทเงินทุนลดลงอย่างรุนแรงในปี 2537 ไทม์ไลน์ ปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ • อัตราการขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักติดต่อกันถึง 3 ปี (2531 - 2533) เริ่มส่งผลต่อความไม่สมดุลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากมีการปฏิรูประบบการเงิน o ภาวะการก่อสร้างในปี 2532 ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี o ปริมาณสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเพียงประมาณ 20,000 ล้านบาทในปี 2528 มาเป็นกว่า 100,000 ล้านบาทในปี 2532 o เกิดโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์มากมายทั้งในเมืองและทั่วทุกภาคของประเทศ เนื่องจาก ราคาที่ดินที่อยู่ในขาขึ้น สภาพคล่องทางการเงินที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในยุคทอง DAC018-000-001 บทความ ฝ่ายวิชาการ ธปท. เรื่อง ธุรกิจอาคารชุด • ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนได้ให้สินเชื่อแก่การประกอบธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น (มาก ๆ) โดยเฉพาะในกรณีของบริษัทเงินทุน o จากที่เคยเน้นการให้สินเชื่อแก่ภาคอุตสาหกรรมมาเป็นเน้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคส่วนบุคคล o ทำให้ฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น o DAC018-000-002 การสัมมนา เรื่อง บ้านจัดสรร-คอนโด จะผ่านมรสุมวัสดุก่อสร้างและสินเชื่อได้อย่างไร o DAC018-000-003 บทความ ฝ่ายวิชาการ ธปท. เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ o DAC018-000-004 การบรรยาย เรื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ o DAC018-000-005 รายงานการประชุม เรื่อง การปรับปรุงมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย o DAC018-000-006 สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2535 • หลังจากฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ขยายตัวขึ้นมากเกินความเหมาะสม ธปท. จึงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้ภาคการก่อสร้างขยายตัวอย่างชะลอตัวมาเรื่อย ๆ o ปี 2537 การก่อสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารสำนักงานในเขตกรุงเทพฯ เริ่มมีสินค้าล้นตลาด มีโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้วแต่ไม่เสร็จตามกำหนด การโอนขายไม่เป็นไปตามกำหนด ทั้งหมดนี้เริ่มส่งผลกระทบไปยังผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้คืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน เมื่อบริษัทต่าง ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถขายสินค้าได้อย่างที่คาดการณ์ จึงส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน ทำให้ราคาหุ้นของทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และบริษัทเงินทุนลดลงอย่างรุนแรง

เลขชุดเอกสาร
DAC018
ชื่อชุดเอกสาร
ปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1989 1992
จำนวนแผ่นเอกสาร
3
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้