ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

การลอยตัวค่าเงินบาท

ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ประเทศไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบตะกร้าเงิน ที่ผูกกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมาก โดยมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 24 – 26 บาทเท่านั้น ความมีเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนของไทยบวกกับการเปิดเสรีทางการเงิน และการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมหาศาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ แต่เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามานั้นอยู่ในลักษณะของเงินกู้ยืมระยะสั้นซึ่งไหลเข้ามาเพื่อเติมช่องว่างระหว่างปริมาณเงินออมในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อการลงทุน การที่หนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการโจมตีค่าเงินบาท (ตามเอกสารเลขที่ DAC019-000-001 บันทึกสรุปประเด็นการประชุมเรื่องแนวนโยบายการเงินในระยะต่อไป เอกสารเลขที่ DAC019-000-002 วงเงินเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ เอกสารเลขที่ DAC019-000-002 วงเงินเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ เอกสารเลขที่ DAC019-000-004 ธุรกรรม Interbank ของกองทุนฟื้นฟูฯ เอกสารเลขที่ DAC019-000-005 แถลงการณ์กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ) คลื่นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทระลอกแรกเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2539 โดยเฉพาะหลังจากการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยของบริษัทมูดีส์ฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นผลให้มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แรงกดดันต่อค่าเงินบาทมีมากยิ่งขึ้นในเดือนธันวาคม 2539 เนื่องจากเป็นการถอนเงินลงทุนออกไปก่อนปิดบัญชีสิ้นปี ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเงินสกุลสำคัญมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อที่จะลดแรงกดดันและรักษาค่าเงินบาทไม่ให้เบี่ยงเบนจากระบบตะกร้าเงินมากเกินไป ธปท. จึงเข้าไปขายดอลลาร์ สรอ. ในตลาดโดยตรงผ่านการดำเนินงานของทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การแทรกแซงในครั้งนี้เป็นการแทรกแซงในตลาดทันที อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้สภาพคล่องในระบบการเงินลดลงไปมากจนอาจซ้ำเติมฐานะของสถาบันการเงินที่อ่อนแออยู่แล้ว ธปท. จึงลดผลกระทบต่อตลาดเงินและต่อตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศด้วยการทำธุรกรรมสวอปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารสภาพคล่องในระบบ โดยสิ้นปี 2539 ธปท. มีพันธะที่ต้องขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในปี 2540 เป็นจำนวน 4.75 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 38.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ตาม แรงกดดันต่อค่าเงินบาทในเดือนธันวาคมเกิดขึ้นมาจากการถอนเงินลงทุนของต่างชาติ และการซื้อเงินตราต่างประเทศของบริษัทเอกชนในประเทศที่เริ่มขาดความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยน มิได้เกิดจากการโจมตีค่าเงินบาทของนักเก็งกำไร ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2540 แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาลงทุน แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมจนถึงสามสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ มีข่าวลือการลดค่าเงินบาทแพร่กระจายในตลาด และมีนักเก็งกำไรต่างชาติเข้ามาไล่ซื้อเงินดอลลาร์ สรอ. และขายเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ธปท. จึงได้เข้าแทรกแซงตลาดพร้อมกับปฏิเสธข่าวลือ ในช่วงเวลานี้ ธปท. ต้องใช้เงินสำรองระหว่างประเทศในการปกป้องค่าเงินบาทเป็นจำนวนสุทธิทั้งสิ้น 7.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงเหลือ 38.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพิ่มสูงเป็น 12.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. การโจมตีในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของนักเก็งกำไรอย่างชัดเจนซึ่งแตกต่างจากช่วงเดือนธันวาคม 2539 ภาวะเงินตราต่างประเทศในเดือนมีนาคม - เมษายน 2540 ถือได้ว่าค่อนข้างสงบ แม้ว่าค่าเงินบาทจะได้รับแรงกดดันเป็นระยะ ๆ คลื่นการโจมตีค่าเงินบาทระลอกที่สามเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของเดือน และในครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีค่าเงินบาทที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน ธปท. จึงดำเนินการปกป้องค่าเงินบาทซึ่งส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ลดลงเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 24.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. แรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการไหลออกของเงินบาทของนักลงทุนในไทยเอง และในที่สุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 กระทรวงการคลังและ ธปท. จึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (ตามเอกสารเลขที่ DAC019-000-006 แถลงการณ์ร่วมกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา) และในปลายเดือนกรกฎาคมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงสปิริตหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และกดดัน (ตามเอกสารเลขที่ DAC019-000-007 คำแถลงการณ์ในการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้มีกระบวนการฟื้นตัวและให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเศรษฐกิจของประเทศสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติ (DAC019-000-008 การประชุมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น DAC019-000-009 การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทยเพิ่มเติม DAC019-000-010 การดำเนินงานของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2540 DAC019-000-011 ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญในปี 2540 DAC019-000-012 การชี้แจงเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ) ไทม์ไลน์ การลอยตัวค่าเงินบาท • ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ประเทศไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบตะกร้าเงิน ความมีเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนของไทยบวกกับการเปิดเสรีทางการเงิน และการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว o เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล แต่อยู่ในลักษณะของเงินกู้ยืมระยะสั้น o การที่หนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการโจมตีค่าเงินบาท DAC019-000-001 บันทึกสรุปประเด็นการประชุมเรื่องแนวนโยบายการเงินในระยะต่อไป DAC019-000-002 วงเงินเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ เอกสารเลขที่ DAC019-000-002 วงเงินเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ DAC019-000-004 ธุรกรรม Interbank ของกองทุนฟื้นฟูฯ DAC019-000-005 แถลงการณ์กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย • ธันวาคม 2539 เกิดคลื่นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทระลอกแรกขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยของบริษัทมูดีส์ฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นผลให้มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง o แรงกดดันต่อค่าเงินบาทในเดือนธันวาคมเกิดขึ้นมาจาก การถอนเงินลงทุนของต่างชาติ การซื้อเงินตราต่างประเทศของบริษัทเอกชนในประเทศที่เริ่มขาดความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยน • มกราคม - กุมภาพันธ์ 2540 เกิดคลื่นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทระลอกที่สองขึ้น o มีข่าวลือการลดค่าเงินบาทแพร่กระจายในตลาด o มีนักเก็งกำไรต่างชาติเข้ามาไล่ซื้อเงินดอลลาร์ สรอ. และขายเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ธปท. • พฤษภาคม 2540 เกิดคลื่นโจมตีค่าเงินบาทระลอกที่สามขึ้น เป็นการโจมตีค่าเงินบาทที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย • เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน ธปท. จึงดำเนินการปกป้องค่าเงินบาทซึ่งส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ลดลงเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 24.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. • มิถุนายน 2540 แรงกดดันต่อค่าเงินบาทเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเกิดขึ้นจากการไหลออกของเงินบาทของนักลงทุนในไทย • 2 กรกฎาคม 2540 กระทรวงการคลังและ ธปท. จึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาท**สำคัญสุดของบทนี้*** o DAC019-000-006 แถลงการณ์ร่วมกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา • ปลายเดือน กรกฎาคม 2540 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลาออกหลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันต่อเนื่อง o DAC019-000-007 คำแถลงการณ์ในการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย • กระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ o ความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากต่างประเทศต่างประเทศ DAC019-000-008 การประชุมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น DAC019-000-009 การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทยเพิ่มเติม o การดำเนินการภายในประเทศโดยทางการ DAC019-000-010 การดำเนินงานของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2540 DAC019-000-011 ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญในปี 2540 DAC019-000-012 การชี้แจงเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ

เลขชุดเอกสาร
DAC019
ชื่อชุดเอกสาร
การลอยตัวค่าเงินบาท
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1995 1999
จำนวนแผ่นเอกสาร
3
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้