ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

หลังจากที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มาโดยตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว โดยให้ค่าเงินของประเทศถูกกำหนดโดยกลไกของตลาด และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจนประเทศไทยกลับมามีดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ไหลออกไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็เริ่มไหลกลับเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงไปมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกลับมาสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่มีความมั่นคง การที่ค่าเงินของประเทศถูกกำหนดโดยกลไกของตลาด ทำให้ทางการสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างอิสระขึ้น หลังจากขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม 2540 ประเทศไทยได้เปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็นนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายปริมาณเงิน (Monetary Targeting) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเป้าหมายฐานเงินรายวันและรายไตรมาส เพื่อควบคุมปริมาณเงินภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งการที่ระบบการเงินภายในประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชน และความสามารถของระบบการเงินในการขยายสินเชื่อในแต่ละช่วงมีความไม่แน่นอน รวมถึงการที่กรอบการดำเนินงานและเป้าหมายของการดำเนินนโยบายแบบกำหนดเป้าหมายปริมาณเงินค่อนข้างเป็นที่เข้าใจยากแก่สาธารณชน ทั้งในแง่ของความโปร่งใส และการสื่อสารถึงทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2543 ประเทศไทยจึงเปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็นนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) (DAC021-000-001 Inflation Targeting นโยบายการเงินใหม่ของไทย DAC021-000-003 พัฒนาการของนโยบายการเงินไทยในทศวรรษที่ผ่านมา) ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา หรือดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ กรอบในการดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อยังเน้นถึงความโปร่งใส รวมถึงการสื่อสารและการสร้างความเข้าในการดำเนินนโยบายการเงินแก่สาธารณชนเป็นสำคัญ (DAC021-000-002 นโยบายอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ DAC021-000-004 Monetary policy and underlying inflation pressures : the essence of monetary policy design) แม้นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ จะให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพของระดับราคาเป็นสำคัญ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพในด้านอื่นประกอบด้วย เช่น การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อยังมีความสอดคล้องกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว โดยอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และไม่ได้ถูกกำหนดโดยเป้าหมายทางนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินจะพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน ในทุก 6 สัปดาห์ คณะกรรมการนโยบายการเงินจะประชุมกันเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หัวหน้าคณะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งได้แก่ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน จะแถลงข่าวให้สาธารณชนทราบผลการประชุม รวมถึงสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณาตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงสมมติฐานที่ใช้ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในรายงานแนวโน้มนโยบายการเงิน (Monetary Policy Report) เป็นประจำในทุก ๆ ไตรมาส พัฒนาการของนโยบายการเงินมาสู่นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ นอกจากจะเป็นการพัฒนากรอบของการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลแก่การดำเนินนโยบายการเงินด้วย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับในอดีต การดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันมีความชัดเจนและโปร่งใสเพิ่มขึ้นในหลายด้าน เช่น 1. มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกจำนวน 4 คนมาร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน ทำให้กระบวนการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลักดังเช่นในอดีต นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจการค้า การอุตสาหกรรม และการคลัง ยังเสมือนเป็นตัวแทนของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ในการเสนอแนวคิดและประสบการณ์ในด้านที่มีความเชี่ยวชาญต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน 2. มีการสื่อสารถึงการดำเนินงานของธนาคารกลางอย่างชัดเจน อาทิ มีกำหนดการที่แน่ชัดสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง และสื่อสารให้สาธารณชนทราบถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น ความโปร่งใสและการสื่อสารแก่สาธารณชนดังกล่าวนี้ถือเป็นแนวทางที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อธนาคารกลาง การสื่อสารถึงทิศทางของนโยบายการเงินที่ชัดเจนยังช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน ทำให้ตลาดการเงินสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ส่วนในด้านความสำเร็จของนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ คือ 1. ธนาคารกลางจะต้องมีอิสระ และผู้บริหารที่ดีจะต้องได้รับเกราะป้องกันที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงิน 2. รัฐบาลจะต้องไม่มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางโดยตรง เพื่อชดเชยปัญหาหนี้และการขาดดุลเป็นจำนวนมากของภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่มีพันธะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด นอกจากการรักษาเสถียรภาพของราคา 3. ธนาคารกลางต้องมีความสามารถในการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อ และสามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ และ 4. ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินและการทำ Open Market Operation เช่น ตลาดรองตราสารหนี้ เป็นต้น สาระสำคัญ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ • เดือนสิงหาคม 2540 ประเทศไทยได้เปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็นนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายปริมาณเงิน (Monetary Targeting) แต่ข้อจำกัดต่าง ๆ คือ o ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ o ระบบการเงินภายในประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชน และความสามารถของระบบการเงินในการขยายสินเชื่อในแต่ละช่วงมีความไม่แน่นอน o กรอบการดำเนินงานและเป้าหมายของการดำเนินนโยบายแบบกำหนดเป้าหมายปริมาณเงินค่อนข้างเป็นที่เข้าใจยากแก่สาธารณชน • ในเดือนพฤษภาคม 2543 ประเทศไทยเปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็นนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) o ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย o DAC021-000-001 Inflation Targeting นโยบายการเงินใหม่ของไทย o DAC021-000-002 นโยบายอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ o DAC021-000-003 พัฒนาการของนโยบายการเงินไทยในทศวรรษที่ผ่านมา o DAC021-000-004 Monetary policy and underlying inflation pressures : the essence of monetary policy design o มีคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยจะพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน ในทุก 6 สัปดาห์ o หัวหน้าคณะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งได้แก่ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน จะแถลงข่าวให้สาธารณชนทราบผลการประชุม รวมถึงสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณาตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงสมมติฐานที่ใช้ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในรายงานแนวโน้มนโยบายการเงิน (Monetary Policy Report) เป็นประจำในทุก ๆ ไตรมาส o ข้อดี สามารถพัฒนากรอบของการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว โดยความสำเร็จของนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ คือ • 1. ธนาคารกลางจะต้องมีอิสระ และผู้บริหารที่ดีจะต้องได้รับเกราะป้องกันที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงิน • 2. รัฐบาลจะต้องไม่มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางโดยตรง เพื่อชดเชยปัญหาหนี้และการขาดดุลเป็นจำนวนมากของภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่มีพันธะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด นอกจากการรักษาเสถียรภาพของราคา • 3. ธนาคารกลางต้องมีความสามารถในการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อ และสามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ • 4. ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินและการทำ Open Market Operation เช่น ตลาดรองตราสารหนี้ เป็นต้น เสริมสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลแก่การดำเนินนโยบายการเงิน ถือเป็นแนวทางที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสำคัญมาก ซึ่งจะทำให้ • ช่วยเพิ่มความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อธนาคารกลาง • การสื่อสารถึงทิศทางของนโยบายการเงินที่ชัดเจนยังช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน ทำให้ตลาดการเงินสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

เลขชุดเอกสาร
DAC021
ชื่อชุดเอกสาร
การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ช่วงปีของชุดเอกสาร
2000 2006
จำนวนแผ่นเอกสาร
3
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้