วัตถุพิพิธภัณฑ์

เหรียญทองคำ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6-ไอราพต ชนิดราคา 2 สลึง

เหรียญกษาปณ์ คือเงินตราที่ทำด้วยโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน นิกเกิล ทองแดง ฯลฯ สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยระบุชนิดราคาไว้ที่หน้าเหรียญ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้หมุนเวียนอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ซึ่งผลิตออกใช้เนื่องในโอกาสสำคัญ ส่วนเหรียญที่ระลึกเป็นเหรียญซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญโดยไม่มีราคาหน้าเหรียญและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6–ไอราพตนี้ สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นที่ระลึกในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี เมื่อ พ.ศ. 2468 มีด้วยกัน 3 ชนิดราคา คือ หนึ่งบาท สองสลึง และหนึ่งสลึง โดยใช้แม่แบบจากเหรียญกษาปณ์เงิน พระบรมรูปรัชกาลที่ 6–ไอราพต ซึ่งผลิตและออกใช้เป็นเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนตั้งแต่ พ.ศ. 2458-2468 ด้านหน้าเหรียญมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 พระปรมาภิไธยมหาวชิราวุธ และสยามินทร์ ส่วนด้านหลังเป็นรูปไอราพต สันนิษฐานว่าเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำชุดนี้ผลิตขึ้นเพียงชุดเดียวเท่านั้น เหรียญกษาปณ์ทองคำและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำ มีการผลิตมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการผลิตน้อยครั้งและแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มากนัก ได้แก่ พ.ศ. 2399 เหรียญกษาปณ์ทองคำ ตราพระแสงจักร-พระมหามงกุฎ-พระเต้า ชนิดราคา กึ่งเฟื้อง พ.ศ. 2399 เหรียญกษาปณ์ทองคำ ตราพระมหามงกุฎ-กรุงเทพ ชนิดราคา เฟื้อง และสลึง พ.ศ. 2400 เหรียญกษาปณ์ทองคำ ตราพระมหามงกุฎ-พระแสงจักร (เหรียญบรรณาการ) ชนิดราคา พัดดึงส์ พ.ศ. 2406 เหรียญกษาปณ์ทองคำ ตราพระมหามงกุฎ-พระแสงจักร ชนิดราคา กึ่งเฟื้อง เฟื้อง สลึง กึ่งบาท บาท และกึ่งตำลึง พ.ศ. 2406 เหรียญกษาปณ์ทองคำ ทศ พิศ พัดดึงส์ พ.ศ. 2407 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำ ตราพระมหามงกุฎ-พระแสงจักร ชนิดราคา ตำลึง หรือที่นิยมเรียกกันว่า "เหรียญแต้เม้งทองคำ" ซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสเฉลิมพระชนม์ 60 พรรษา และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำ ได้แก่ พ.ศ. 2419 เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระบรมรูป-ตราแผ่นดิน ชนิดราคาเฟื้อง ต่อมามีการผลิตขึ้นอีกจำนวนน้อยมากใน พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2451-2453 พ.ศ. 2437 เหรียญกษาปณ์ทองคำ ทศ พิศ พัดดึงส์ ทั้งนี้ เหรียญกษาปณ์ทองคำและเหรียญกษาปณ์ทองคำที่ระลึกที่ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 นั้น แม้มีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบันก็ยังพบได้มากกว่าชนิดละ 1 เหรียญ ในขณะที่ เหรียญทองคำ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6–ไอราพต พบเพียงชุดเดียวเท่านั้น เดิมอยู่ในความดูแลของกรมเงินตรา กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ภายหลังกรมเงินตราเปลี่ยนฐานะเป็นกองเงินตรา กรมคลัง (กรมธนารักษ์) ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กองเงินตราเดิมได้ปรับเปลี่ยนเป็นฝ่ายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เหรียญทองคำชุดนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองเงินตรา ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2512 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้จ่ายทองคำจำนวนนี้ออกจากทุนสำรองเงินตรา และรับดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเข้าไว้แทน เพื่อนำเหรียญทองคำชุดนี้มาเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดแสดง Gold Coin with the Portrait of King Rama VI – the Airapote Elephant It is primarily assumed that the coin was produced for the purpose of humbly proffering to King Rama VI, not for sample or trial. Only one set of the coins was produced and consisted of 1-Baht, 2-Salung (equivalent to 50 Satang) and 1-Salung (equivalent to 25 Satang) denominations. Probably, these three denominations were produced in 1925 to commemorate the 15th anniversary of the enthronement of King Rama VI. This set of gold coins was identical to the silver coins bearing the portrait of King Rama VI and the Airapote elephant which were produced and circulated during the King’s reign from 1910-1925. They were assumed to use the same mould. The outstanding feature of the gold coins as an exquisite items is that there is only one set found. In particular, this set of gold coins was part of the gold reserve.

คำค้นหา
รายละเอียด
  • ชนิดราคา
    2 สลึง
  • ขนาด
    Overall: 2.53 x 0.16 ซม., 9.994 ก.
  • ยุคสมัย
    รัตนโกสินทร์
  • วัสดุ
    ทองคำ
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้