วัตถุพิพิธภัณฑ์

ธนบัตรแบบเก้า ชนิดราคา 1000 บาท

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จากการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมากให้กองทัพญี่ปุ่นนำออกใช้จ่ายซื้อสินค้าในช่วงสงคราม แม้ว่าจะมีปริมาณธนบัตรจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นธนบัตรที่มีคุณภาพไม่ดีและสามารถปลอมแปลงได้ง่าย ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้สั่งพิมพ์ธนบัตรแบบเก้าจากบริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกฤษ เพื่อออกใช้แทนธนบัตรแบบเก่าที่จัดพิมพ์และออกใช้ในภาวะสงคราม โดยให้ใช้ลวดลายเดิมของธนบัตรแบบสี่ ซึ่งบริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด เป็นผู้จัดพิมพ์ในช่วงก่อนสงคราม เพื่อความรวดเร็วในการจัดพิมพ์ ธนบัตรแบบเก้าที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกนั้น มีเฉพาะชนิดราคา 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท ซึ่งนำออกใช้ใน พ.ศ. 2489 ไม่มีการพิมพ์ชนิดราคา 1000 บาท อาจเนื่องด้วยในขณะนั้น ได้มีการออก พระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 กำหนดว่าธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท ที่ออกใช้อยู่ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ผู้ที่มีธนบัตรต้องส่งมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อจดบัญชีแสดงว่าผู้นั้นมีกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรออมทรัพย์มูลค่าเท่ากับธนบัตรที่ส่งมอบ เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อในขณะนั้น ต่อมา พ.ศ. 2491 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาแล้วว่าการพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบเก้า ชนิดราคา 1000 บาท มิได้ขัดต่อพระราชกำหนดดังกล่าว จึงได้ให้มีการออกแบบธนบัตรแบบเก้า ชนิดราคา 1000 บาท ขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในธนบัตรแบบใดมาก่อน เมื่อธนบัตรแบบเก้า ชนิดราคา 1000 บาท พิมพ์แล้วเสร็จจำนวน 500,000 ฉบับ และส่งมายังประเทศไทยใน พ.ศ. 2495 ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมาก ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน จึงไม่ได้นำออกใช้ และต่อมาให้มีการเผาทำลาย โดยเก็บตัวอย่างไว้ประมาณ 100 ฉบับ ธนบัตรแบบเก้า ชนิดราคา 1000 บาทนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธนบัตรชนิดราคาสูงที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย และความเชื่อของคนในสังคมขณะนั้นที่ว่า การออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น แม้เมื่อครั้งจะมีการออกใช้ธนบัตรแบบสิบสี่ ชนิดราคา 1000 บาท ก็ยังคงมีกระแสคัดค้านอยู่บ้าง แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น จึงมีความจำเป็นในการใช้ธนบัตรชนิดราคาสูงเพิ่มมากขึ้น 1000-Baht Banknote, 9th Series One year after the end of World War II, the Bank of Thailand contacted Thomas de la Rue & Company Limited to print banknotes, the 9th Series. For expeditiousness, the banknote was intended to employ the former tracery of the banknote, 4th Series (devised by Thomas de la Rue & Company Limited). Initially, a quantity of 200,000-300,000 banknotes in 1000-Baht denomination was scheduled to be printed. Nevertheless, in late 1946, the 1000-Baht banknotes were still not printed. Only banknotes in 1-Baht, 5-Baht, 10-Baht, 20-Baht and 100-Baht denominations were printed. In 1948, there was an intention to reprint the 1000-Baht banknote and delivered to Thailand in 1952. The significance of this 1000-Baht banknote laid in the fact that this banknote was printed and ready for circulation, but never launched. The reason for such deterrence was the concern for possible inflation. A remarkable feature of this banknote was the portrait of His Majesty King Bhumibhol Adulyadej (Rama IX) which was different in many aspects from the banknotes, 9th Series in 1-Baht, 5-Baht, 10-Baht, 20-Baht and 100-Baht denominations circulated in late 1946. First, His Majesty’s portrait was of his youth. The design of the banknote was entirely new. The mould was newly created during 1950-1951. More importantly, this royal portrait had never appeared on any previously circulated banknote. Upon request, the information given by Thomas de la Rue & Company Limited revealed that the company had completed the specimen of the banknote on 19 January 1949. However, there was no information about the designer and the mould engraver. This banknote was printed totaling 500,000 notes in number. As they were never launched, they were incinerated. Only a small number of approximately 100 banknotes were left for sample. BOT Museum was handed the 1000-Baht banknotes, 9th Series, as museum objects by the Issue Department at the Bank of Thailand.

คำค้นหา
รายละเอียด
  • ชนิดราคา
    1000 บาท
  • แบบและรุ่น
    แบบ 9
  • ขนาด
    Overall: 8.7 x 15.7 ซม.
  • ยุคสมัย
    รัตนโกสินทร์
  • วัสดุ
    กระดาษ
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้