ทำไมผมจึงทำงานที่ธนาคารชาติ โดย พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์
"...พวกเราที่ถูกยืมตัวมาจากหน่วยราชการต่าง ๆ ถูกถามว่าจะสมัครใจ กลับกรมกองเดิมหรือจะสมัครใจเป็นพนักงานของธนาคารต่อไป ผมและเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่แสดงความจํานงจะอยู่กับธนาคาร ....."
ภายหลังที่ผมสอบมัธยมปีที่ 8 (แผนกกลาง) ที่โรงเรียนสวนกุหลาบในปีการศึกษา พ.ศ. 2476 ได้แล้ว ผมก็ได้ออกเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยทุนส่วนตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2477 ทีแรกก็ตั้งใจว่าจะไปเรียนวิชากฎหมายตามความประสงค์ของบิดามารดา และตามความนิยมในเวลานั้น เพราะคนไทยที่ออกไปเรียนต่างประเทศสมัยนั้น ถ้าไม่ไปเรียนแพทย์ หรือวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ก็มักจะไปเรียนกฎหมาย หรือบัญชี เป็นส่วนใหญ่ ส่วนวิชาอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ ยังมีผู้รู้จักน้อยเต็มที และที่เรียนกันอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น ก็เป็นทาง "ลัทธิเศรษฐกิจ" มากกว่าทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แท้ ๆ
เมื่อไปถึงประเทศอังกฤษแล้วผมก็เข้าเรียนในโรงเรียน สามัญ ของเทศบาลนครลอนดอน (L.C.C. หรือ London County Council) แห่งหนึ่งที่ชานเมือง เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป ในวิชาทีเลือกผมได้เลือกวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเป็นวิชาหนึ่ง เมื่อได้เริ่มศึกษาวิชานี้ผมเกิดความสนใจและชอบวิชานี้มาก จึงได้เขียนจดหมายมาขออนุญาตจากทางบ้าน ขอเปลี่ยนเข็มการเรียนจากกฎหมายมาเป็นเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตด้วยดี ผมจึงยื่นใบสมัครเข้า London School of Economics and Political Science ซึ่งเป็นวิทยาลัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน และกําลังเป็นโรงเรียนชั้นนําแห่งหนึ่งของโลกที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้น
ตอนที่สมัครเข้า London School of Economics ผมมีทางเลือกที่จะเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์แท้ ๆ เพื่อเอาปริญญา B.Sc. (Econ.) ได้หรือจะเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การคลัง การธนาคาร เพื่อเอาปริญญา B.Com. (ในสมัยนั้นที่ L.S.E. ยังมีการแยกปริญญาเศรษฐศาสตร์เป็น 2 แขนง คือถ้าหนักไปทางทฤษฎีก็เลือกเรียน B.Sc. (Econ) ถ้าจะเอาทางภาคปฏิบัติก็เลือกเรียน B.Com. ซึ่งมีให้เลือกหลายแขนง เช่นการขนส่งทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น) ก่อนตัดสินใจผมได้ไตร่ตรองดูว่าผม ควรเลือกแขนงไหน ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกทําปริญญา B.Com. (Group A – Banking and Finance) เพราะเห็นว่าเป็นวิชาใหม่ไม่ค่อยมีผู้เรียน และคิดว่าต่อไปข้างหน้าคงจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและบ้านเมือง นอกจากนี้ ผมเป็นนักอ่านหนังสือประเภทคาวบอย รู้ว่าหมอที่หากินอยู่ตามบ้านนอก หรือบ้านป่าเมืองเถื่อนนั้นจะต้องก็ ขี่ม้าเป็น ยิงปืนเป็น ผ่าตัดเก่ง รักษาโรคได้ทุกอย่าง จะมัวเชียวชาญทางใดทางหนึ่งไม่ได้ เมืองไทยเราในขณะนั้นนับว่าล้าหลังมาก (เรียกตามสมัยใหม่ก็เรียกว่า ประเทศกําลังพัฒนา) ฉะนั้น ปริญญา B.Com. จึงนับว่าเหมาะสมที่สุด เพราะเรียนรู้สิ่งละอันพันละน้อย แม้จะไม่รู้ซึ้ง แต่ก็จะเป็นประโยชน์ในการทํางาน ที่แรกเริ่มเพราะทําเป็นเสียทุกอย่าง
ประมาณเดือนมิถุนายน 2481 (1938) ทางราชการได้ประกาศสอบคัดเลือกนักเรียนทุนส่วนตัวที่กําลังเรียนอยู่ในต่างประเทศเพื่อรับทุนของทางราชการ ผมสอบทุนของกระทรวงการคลังได้ ขณะนั้นผมอยู่ปีสุดท้าย ทางราชการเสียเงินให้ผมเพียงหนึ่งปีการศึกษา ผมก็สอบได้ปริญญาตรี ปัญหาก็มีอยู่ต่อไปว่าทางราชการจะให้ผมทำปริญญาโทหรือวิชาชีพเช่นการบัญชีต่อไปหรือไม่ ผมก็ได้แต่คอยฟังคําสั่งของทางราชการต่อไป ในระหว่างนั้นเป็นระหว่างการหยุดพักเทอมหน้าร้อน ซึ่งเป็นการหยุดที่นานที่สุด ผมกับญาติ ๆ จึงขึ้นไปพักผ่อนอยู่ที่เมือง Keswick ซึ่งอยู่ในถิ่นที่เรียกกันว่า Lake District ใกล้ ๆ กับ Scotland ภูมิประเทศแถบนั้นงดงามมาก มีทั้งทะเลสาบและภูเขา ผู้คนก็อัธยาศัยดี ผิดกับพวกอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ บังเอิญในระหว่างที่ผมพักอยู่ที่นั่นเขามีงานแบบ Village fair พอดี ผมและญาติคนหนึ่ง (คุณวิพัฒน์ ชุติมา) ได้ไปเที่ยวงาน Fair ที่กล่าว เหมือนงานวัดเราดี ๆ คือมีการออกร้าน ยิงเป้า ละคร ม้าหมุน กระเช้าสวรรค์ ฯลฯ แต่สิ่งที่ขาดเสียมิได้คือหมอดูยิบซี ซึ่งดูลายมือและดูเหตุการณ์ในลูกแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา ผมกับญาติจึงแวะเข้าไปดูบ้างเพราะเสียเงินไม่กี่ชิลลิง หมอทายว่า ผมจะต้องเดินทางกลับเมืองไทยในไม่ช้า และเมื่อกลับมาแล้วผมก็จะได้ตําแหน่งหน้าที่การงานที่ดีและถูกใจ ผมจะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่โลดโผนแต่ถ้าเมื่อถึงอายุ 55 ปีแล้ว หากผมยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ผมต้องการก็เป็นความผิดของผมเอง ผมไม่สู้เชื่อนักเพราะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่าผมจะเรียนให้สูงขึ้นต่อไปอีก และถ้าทางราชการไม่ยอม ผมก็จะขอทางบ้านชดใช้เงินที่ทางราชการออกให้เพียงหนึ่งปี เพื่อให้ผมหลดพ้นจากข้อผูกพันและเป็นไทต่อไป
กลับเมืองไทยครั้นแล้วในเดือนกันยายนปีนั้น (ค.ศ. 1939) สงครามในยุโรปก็อุบัติขึ้น ผมได้รับคําสั่งจากทางราชการ ให้เดินทางกลับประเทศไทยทันที ผมคิดดูแล้วเห็นว่าจะ อยู่ต่อไป ก็คงไม่สะดวกเพราะชีวิตระหว่างสงครามย่อมดําเนินไปด้วยเรื่องที่ความยากลําบากและเสี่ยงอันตราย วันแรกที่อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมัน พอประกาศเสร็จก็มีหวอดังสนั่นหวั่นไหว ผู้คนวิ่งลงหลุมหลบภัยกันเจ้าละหวั่น แต่ปรากฏว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ได้ตั้งใจ (False alarm) กลางคืนมีการพรางไฟมืดหมดทั้งเมือง ไปไหนก็ต้องสะพายกล่องหน้ากากกันไอพิษ อาหารการกินเริ่มจะฝืดเคือง ผมจึงตัดสินใจเดินทางกลับและได้ออกเดินทางจาก Southampton ในเดือนตุลาคม 1939 โดยกลับทางอเมริกาและญี่ปุ่น ผมแวะเยี่ยมน้องชายที่อเมริกา และเที่ยวทัศนาจรญี่ปุ่นเสียนาน จึงกลับมาเมืองไทยในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2483 (1940) โดยทางเรือ จากเมือง Kobe เรือเข้าจอดเทียบท่าที่วัดพระยาไกร พอดีในระยะนั้นกรมศุลกากรกําลังเปลี่ยนอธิบดีกันใหม่ ๆ "ไม้กวาด" ใหม่จึงเข้มแข็งมาก ผมเล่นกล้องหนังจึงมีเครื่องอุปกรณ์ครบชุด เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ท่าเรือแจ้งว่าของทั้งหมดนี้อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี และจะต้องส่งไปตีราคาที่กรมเพื่อประเมินภาษี ผมขอร้องเขาว่าผมขอมอบกล้องและอุปกรณ์ให้ไว้แล้วจะมาเสียภาษีวันหลัง เพราะจากบ้านไปหลายปี แล้วอยากกลับบ้านก่อน เจ้าหน้าที่ไม่ยอม ผมต้องนั่งคอยอยู่จนเขาว่าง แล้วเขาจึงนําผมไปที่กรม (ตอนนั้นยังอยู่ที่ข้างสถานทูตฝรั่งเศส) เมื่อได้ผ่านพิธีการอันเยิ่นเย้อยืดยาวต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงขั้นที่จะต้องมีผู้สั่งว่าผมจะต้องเสียภาษีเท่าไร เรื่องก็ไปติดอยู่ที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เข้าใจว่าจะเป็นหัวหน้ากอง เป็นคุณหลวง (ทราบภายหลังว่ามีเมียแหม่ม) คาบกล้องยาสูบอยู่ตลอดเวลา ท่านทํางานไปกล่าวคําผรุสวาทไป โดยเฉพาะท่านด่าไอ้ตี๋ ไอ้เนี้ยว ที่เอาเอกสารออกของไปใส่ในกะบะของท่าน แต่ท่านก็หยิบมาดูแล้วก็เซ็นทุกทีไป ส่วนของผมนั้นยิ่งลงไปอยู่ก้นกะบะลึกลงทุกที ผมคอยจนถึง 15.00 น. หิวก็หิว เห็นวิธีทํางานของราชการไทยแล้วก็อดโมโหไม่ได้ ผมจึงลุกขึ้นไปเตือน ท่านตาเขียวใส่ผม จําไม่ได้ว่าท่านแหวเอาหรือเปล่า แต่ในที่สุด ท่านก็สั่งให้ผมเสียภาษีค่ากล้อง และอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นเงิน 500 บาทเศษ (เทียบสมัยนี้ก็เป็นเงินหมื่นเศษ ๆ) ตั้งแต่บัดนั้นผมก็มีความตั้งใจว่าเมื่อใดผมทํางาน และมีหน้าที่ต้องติดต่อกับประชาชนผมจะให้บริการอย่างสุภาพและสะดวกรวดเร็วแก่ทุกคนที่มาติดต่อ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นตาสีตาสา หรือเจ้าคุณ คุณหลวง
เมื่อได้พักผ่อนสองวันแล้ว ผมก็ไปรายงานตัวที่ ก.พ. ก.พ. ทำหนังสือนําตัวส่ง ผมไปกระทรวงการคลัง ผมจึงได้พบท่านปลัดกระทรวงการคลัง (เจ้าคุณชัยสุรินทร์) และได้ทราบจากท่านว่าผมเป็นนักเรียนทุนของกรมศุลกากร ผมรู้สึกผิดหวังมาก เพราะผมไม่ได้เรียนมาทางนี้ อีกทั้งประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับกรมนี้ก็ไม่สู้ดีตามที่เล่ามาแล้ว เพื่อสั่งการต่อไปท่านปลัดกระทรวงการคลัง จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปเอาแฟ้มเรื่องราวของผมมาให้ท่าน สักครู่หนึ่งเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (คุณบุญล้อม พึ่งสุนทร) ก็นําแพิ่มเรื่องราวของผมมามอบให้ท่านปลัดฯ พร้อมทั้งเรียนกับท่านว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ (หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม) ได้สั่งไว้ว่า ถ้านักเรียนทุนผู้นี้มารายงานตัว ท่านขอพบเพื่อสัมภาษณ์ก่อน เนื่องจากขณะนั้นท่านรัฐมนตรีไม่อยู่ กําลังไปถ่ายทําภาพยนตร์
เรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่เมืองแพร่ (ภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณประดับ ระบิลวงศ์ แสดงเป็นพระเจ้าหงษาวดี ซึ่งเป็นตัวผู้ร้ายในเรื่อง) ท่านปลัดฯ จึงให้ผมกลับไปก่อนแล้วจึงค่อยมาใหม่เมื่อท่านรัฐมนตรีกลับจากแพร่แล้ว
ในวันกําหนดนัด ผมก็ได้ไปพบกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านซักเรื่องการเล่าเรียนของผม ผมเรียนท่านว่า ผมได้ปริญญามาทางการธนาคารและการเงิน ท่านพูดกับผมว่าเหมาะที่เดียว "ผมจะให้คุณไปอยู่กับคุณเล้งเขา เขากําลังจะตั้งแบงค์ชาติ" แล้วท่านก็เรียกเลขา ฯ ให้ พาผมลงไปพบ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ ซึ่งนั่งอยู่ในห้องใหญ่ของมุมตึกกรมบัญชีกลาง ทางด้านตรงข้ามกับวังหน้า ในห้องนั้นมีคุณประยูร วิญญรัตน์ A.C.A คนที่ 4 ของประเทศไทยนั่งอยู่ด้วย ห้องนั้นแหละเป็นที่ก่อกําเนิดของธนาคารกลางของประเทศไทย
ตอนแรกๆ ผมถูกส่งไปดูงานตามแผนกต่าง ๆ ต้องทำงานอย่างเสมียนทั้งหลาย เช่น ที่แผนกบัญชีและคดี กองประมวลบัญชี ก็ต้องตรวจงบวีคงบเดือน แล้วเก็บเข้าแฟ้ม มีแผนกหนึ่งที่หัวหน้าแผนกออกจะเป็นคนเข้มงวดอยู่สักหน่อยท่านพูดว่า "พวกคุณนักเรียนนอกทั้งหลายลายมือไม่สวย" และท่านก็ให้ผมนั่งเขียนเลขไทย ๑ ถึง ๑๐๐ อยู่หลายวัน
ต่อมาวันหนึ่งจะเป็นคุณเล้งหรือคุณประยูร ผมก็จําไม่ได้ เอาแฟ้มมามอบพร้อมทั้งสั่งว่าให้ผมศึกษาเรื่องนี้ไว้ เพราะจะมีการประชุมกันในไม่ช้า เรื่องในแฟ้มดังกล่าวเป็นคําอธิบายวิธีการออกพันธบัตรเงินกู้ ตั้งแต่การทําหนังสือชี้ชวน การรับคําเสนอให้กู้เงิน การกําหนดจํานวนเงินที่จะกู้ (ในกรณีที่มีผู้เสนอให้กู้มากกว่าจํานวนที่นําออกขาย) การออกใบสําคัญชั่วคราวแทนพันธบัตร การออกพันธบัตรตัวจริง การจ่ายดอกเบี้ย การไถ่ถอน ฯลฯ ทั้งหมดเป็นรายละเอียด มีทั้งแบบฟอร์ม แบบทะเบียน และแบบบัญชีต่าง ๆ หนาปึก คําอธิบายนี้เป็นภาษาอังกฤษ เขียนโดย Mr. W.A.N. Doll ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศ ของกระทรวงการคลัง ผู้ซึ่งเคยทํางานอยู่ในบริษัท Rothschild เมอร์แชนท์แบงค์เกอร์ ในลอนดอน ไม่รู้ว่าผู้เขียนจงใจเขียนให้เรื่องง่ายเป็นยาก หรือเพราะผมไม่มีความรู้ทางด้านการออกพันธบัตรเงินกู้ มาก่อน ผมได้พยายามอ่านอยู่หลายวันก็ยังไม่เข้าใจ ยิ่งอ่านยิ่งงง! อย่างไรก็ดี การศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่ผมผ่านมานั้น ดีอยู่อย่างหนึ่งที่สอนให้นักเรียนรู้จักใช้ความคิด และวิธีแก้ปัญหา ฉะนั้น เมื่อผมประสบปัญหาเช่นนี้ผมก็ใช้วิธีเขียนผังการปฏิบัติงานตามที่ Mr. Doll สาธยาย โดยวิธีนี้ผมก็เริ่มเข้าใจหลักการและจับประเด็นของเรื่องได้ ผมจึงได้ลงมือเขียนผังทางเดินของงานเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น ตอบรับคําเสนอให้กู้เงินและการกําหนดวงเงินที่จะกู้ การออกใบสําคัญชั่วคราวแทนพันธบัตร และพันธบัตรตัวจริง เป็นต้น
Mr. Doll ได้นัดประชุมพิจารณาเรื่องการออกพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาล ที่จะมอบให้สํานักงานธนาคารชาติไทยรับไปปฏิบัติเมื่อเปิดทําการแล้ว ในวันนั้นเท่าที่ผมจําได้ ก็มีท่านที่ปรึกษาฝ่ายไทย (ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ ในสมัยนั้น) Mr. Doll ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ คุณประยูร วิญญรัตน์ และผม ฝ่ายไทยทุกท่านมีผังการปฏิบัติงานที่ผมทําขึ้น ในระหว่างการประชุม Mr. Doll ซึ่งนั่งอยู่ข้างท่านวิวัฒน์ ได้ขอดูผังที่ท่านทรงใช้อยู่ในขณะนั้น เมื่อ Mr. Doll ได้เห็นผังที่ผมทําขึ้น ก็แสดงความพอใจ และชมว่าทําได้ถูกต้องและทําให้ เข้าใจเรื่องง่ายเข้า นับแต่บัดนั้นผมคิดว่าอนาคตของผมที่จะต้องทํางานอยู่กับธนาคารชาติ จึงมีความแน่นอนขึ้น เมื่อสํานักงานธนาคาร ชาติไทยเริ่มเปิดทํางาน ซึ่งเป็นประมาณเดือนพฤษภาคม 2483 (การเปิดเป็นทางการได้มีขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2483) ผมก็ได้รับคําสั่งกรมให้ไปปฏิบัติงานทางสํานักงานธนาคารชาติไทย และทางสํานักงานธนาคารชาติไทย ก็ตั้งให้ผมดํารงตําแหน่งหน้ากองกู้เงิน มีหน้าที่ออกและจัดการเงินกู้ของรัฐบาล ซึ่งมีเงินกู้เพื่อการสหกรณ์ พ.ศ. 2483 เงินกู้เพื่อเทศบาล พ.ศ. 2483 และ เงินกู้เพื่อการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2483 ต่อมาเนื่องจากเงินกู้ทั้ง 3 รายที่กล่าวแล้วประสบความสําเร็จอย่างงดงาม จึงมีการออกเงินกู้ทั้ง 3 ราย เป็นครั้งที่ 2 อีกเมื่อเกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีน ผมก็ได้รับมอบหมายให้ออกเงินกู้ช่วยชาติในรูปบัตรช่วยชาติ และพันธบัตรเงินกู้ช่วยชาติ
ในวันแรกที่สํานักงานฯ ประกาศจําหน่ายพันธบัตรเงินกู้เพื่อการสหกรณ์เป็นครั้งแรก เราได้ออกประกาศโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ มีคนบ้านนอกคนหนึ่งเดินเข้ามาในที่ทํางาน พวกเราก็ดีใจที่เห็นแกหิ้วกระเป๋าเสื่อมาด้วย คิดว่าแกคงจะเอาเงินมาให้รัฐบาลกู้ พอมาถึงแกก็ถามเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ว่า ที่นี่ ใช่ไหมที่รัฐบาลประกาศทางวิทยุว่า จะให้เงิน ชาวนาชาวสวนกู้ พวกเราต้องอธิบายเป็นนานว่าที่รัฐบาลประกาศไปนั้นเป็นการขอกู้เงินจากประชาชนเพื่อนําเงินไปใช้ในการส่งเสริม การสหกรณ์ ตาลุงคนนั้นคงผิดหวังมาก และคงคิดในใจว่า รัฐบาลนี้ท่าทางจะแย่มาก ถึงประกาศออกมาทั้งทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ว่า ขอกู้เงินจากราษฎร ช่างไม่รักษาหน้าเสียเลย การออกพันธบัตรเงินกู้ภายในประเทศเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้มีการออกพันธบัตรเงินภายในประเทศเมื่อปี 2476 การกู้ในครั้งนั้นเข้าใจว่าคงไม่ได้โฆษณามากเหมือนคราวนี้ จึงไม่ค่อยมีผู้รู้กันแพร่หลาย
การจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยครั้นแล้วในเดือนธันวาคม 2484 สงครามอาเซียก็ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นยาตราทัพผ่านประเทศไทยไปรบอังกฤษ และฮอลันดา ประเทศไทยต้องโอนอ่อนยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ในประเทศ รัฐบาลในสมัยนั้นได้โยกย้ายบุคคลที่ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อตน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับแต่งตั้งให้ไปดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ ก็ต้องพ้นจากตําแหน่งรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และรองผู้อํานวยการสํานักงานธนาคารชาติไทย ไปดํารงตําแหน่งผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด ส่วนทางสํานักงานธนาคารชาติไทยนั้น ท่านวิวัฒน์ ได้รับแต่งตั้ง ให้มาดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการแทนเจ้าคุณทรงสุรรัชฎ์ (อธิบดีกรมบัญชีกลาง) คุณประยูร วิญญรัตน์ ได้เลื่อนจากหัวหน้ากองวิชาการ ขึ้นเป็นรองผู้อํานวยการเงินกู้เพื่อการสหกรณ์ พ.ศ. 2483 เป็นการออกแทนคุณเล้ง
เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาตั้งมั่น อยู่ในประเทศไทยแล้ว เงินเยนก็เริ่มไหลเข้าสู่ประเทศ รวมทั้งที่ทหารญี่ปุ่นนํามาใช้ และที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ซื้อของเกี่ยวกับการสงคราม ฉะนั้นเพื่อควบคุมการนําเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย รัฐบาลจึงตรากฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินขึ้น และมอบให้สํานักงานธนาคารชาติไทยดําเนินการ กองควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจึงเกิดขึ้นและได้ไปตั้งอยู่ที่ตึกธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ที่ว่างลงเพราะธนาคารฮ่องกง ฯ ถูกควบคุม
ท่านผู้อ่าน ที่ได้อ่านหนังสือวิวัฒนไชยานุสรณ์ (หนังสือที่ธนาคารพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีและเฉลิมพระเกียรติพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ผู้ว่าการคนแรกของธนาคารชาติ เนื่องในวันพระราชทานเพลิงพระศพ) คงจะทราบแล้วว่าเมื่อญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเงิน ในประเทศไทยมากขึ้น ก็ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือด้วย การให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ของญี่ปุ่นมาดํารงตําแหน่งผู้ว่าการ และตําแหน่งสําคัญ ๆ ของธนาคารที่จะตั้งขึ้นใหม่ ทางฝ่ายไทยจึงแจ้งให้ทางฝ่ายญี่ปุ่นทราบว่าเรื่องการตั้งธนาคารกลางขึ้นนั้น ตรงกับความดําริของประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่เมื่อปี 2483 รัฐบาลก็ได้ตั้งสํานักงานธนาคารชาติไทยขึ้น เพื่อเตรียมการและฝึกพนักงานในอันที่จะจัดตั้ง ธนาคารกลางต่อไป เมื่อมีความจําเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงได้เร่งออกพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 และในการนี้ ท่านวิวัฒน์ทรงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ร่างกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นโดยเร็ว ในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปฏิสนธิขึ้น ท่านวิวัฒน์ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้ว่าการ คุณแนบ พหลโยธิน (อธิบดีกรมคลัง) เป็นรองผู้ว่าการ ม.ร.ว. ขจิต เกษมศรี (หัวหน้ากองในกรมสรรพากร ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อํานวยการสํานักงานธนาคารชาติไทย แทนคุณประยูร วิญญรัตน์ ที่สมัครกลับไปทํางานกรมบัญชีกลาง ตอนปลายสมัยสํานักงานฯ) เป็นหัวหน้าฝ่ายบัญชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งขึ้นใหม่ได้รับโอนสํานักงานธนาคารชาติไทยทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน รวมทั้งพนักงานมาทั้งหมด พวกเราจึงย้ายที่ทํางานจาก ณ วังหลวงมาอยู่ที่ตึกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จํากัด
ในตอนแรก ๆ ตําแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ก็ยังคงถือตามสมัยสํานักงานธนาคารชาติไทยไปก่อน ผมยังคงเป็นหัวหน้ากองกู้เงินตามเดิม ต่อมาในต้นปี 2486 เมื่อได้มีการแบ่งส่วนงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ผมจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าส่วนการกู้เงิน ตามที่เรียกใหม่ พวกเราที่ถูกยืมตัวมาจากหน่วย ราชการต่าง ๆ ถูกถามว่าจะสมัครใจกลับกรมกองเดิม หรือจะสมัครใจเป็นพนักงานของธนาคารต่อไป ผมและเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่แสดงความจํานงจะอยู่กับธนาคาร ทางกระทวงการคลัง จึงมีคําสั่งให้ทุกคนพ้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือน และไปทํางานในธนาคารแห่งประเทศไทย จึงนับได้ว่าตั้งแต่วันนั้นผมเป็นลูกจ้างของธนาคาร อย่างเต็มภาคภูมิจนถึงบัดนี้


ธนาคารแห่งประเทศไทย จะฉลองวันครบรอบ 30 ปี ในวันที่ 10 ธันวาคม 2515 นี้ วันเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมเป็นผู้ว่าการคนที่ 8 และสมัยที่ 11 (เพราะผู้ว่าการท่านได้ดํารงตําแหน่ง 2 สมัย) ในระยะตั้งแต่ก่อกําเนิดจนถึงปัจจุบัน ธนาคารได้ผ่านมรสุมทางการเมืองและวิกฤตการณ์ทางการเงินมาหลายครั้ง ผลงานก็มีทั้งชิ้นโบว์แดง และชิ้นโบว์ดำ เนื่องจากโลกของเราแคบเข้า เพราะการสื่อสารคมนาคมสะดวกขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจหรือการเงินจากมุมหนึ่งของโลกก็มักจะส่งผลสะท้อนไปทั่วโลกในทันที การดําเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะหลังๆ นี้จึงกว้างขวาง ยุ่งยาก สลับซับซ้อน และเป็นเรื่องเทคนิคขึ้นทุกวัน เคราะห์ดีที่ผู้ว่าการป่วย ฯ มองเห็นเหตุการณ์ไกล จึงได้เริ่มสร้างบุคคลรุ่นหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถขึ้น โดยการให้ทุนการศึกษาและรับนักเรียนที่มีความรู้ดี เข้า มา มาก ในระหว่างที่ท่านดํารงตําแหน่งผู้ว่าการอยู่เวลานี้ ธนาคารไม่มีปัญหาเรื่องขาดคนดีมีวิชาแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ ที่ธนาคารจะต้องขบให้แตกก็คือว่า ทําอย่างไรเราจึงจะจัดให้บุคคลเหล่านี้ ได้ทํางานให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสถาบัน และต่อประเทศชาติ ให้มากที่สุดที่จะมากได้? ปัญหานี้จะต้องรีบคิดแก้ไขกันให้ลุล่วงไปก่อนที่พนักงานที่ดี มีความรู้จะเกิดความผิดหวัง และหมดความกระตือรือร้นที่จะทํางานก้าวหน้าต่อไป
ระยะแรกเริ่มและ หัวเลี้ยวหัวต่อได้ผ่านมาแล้ว 30 ปี นับว่าธนาคารเราได้ตั้งอยู่บนรากฐาน ที่มั่นคง ต่อไปนี้ก็เป็นวาระที่จะต้องสร้างเสริมพัฒนาให้สถาบันของเรา เจริญก้าวหน้า สามารถตามและแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากอันจะเกิดขึ้น เพราะประเทศเราได้ผ่านจากประเทศกสิกรรมขั้นพื้น ฐานมาเป็นประเทศที่พัฒนาบ้างแล้ว ผมขอยุติเรื่องราวของผมโดยขอร้องพวกเรา ชาว ธ.ป.ท. ทุกคน ได้ผนึกกําลังกัน ช่วยจรรโลงรักษาสถาบันที่รักของเราให้เจริญรุ่งเรือง เป็นของคู่บ้านคู่เมืองไปชั่วกัลปาวสาน
ขอให้ ธ.ป.ท. จงเจริญ ! ภิญโญ ! ภิญโญ ! ภิญโญ
อ่านจากบทความต้นฉบับ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ (2515, ธันวาคม).
ทำไมผมจึงทำงานที่ธนาคารชาติ. ธปท. ปริทรรศน์ : 46 – 53