กว่าจะได้วังบางขุนพรหม โดย เลขาฯ กำพร้านาย
เมื่อได้มีพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2485 นั้น พิธีเปิดที่ทำการธนาคารชาติแห่งนี้ มิได้กระทําในอาคารของธนาคารกลาง หรือสถานที่ของทางราชการแห่งอื่นใดยิ่งไปกว่าที่อาคารของธนาคารพาณิชย์ธรรมดา ๆ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จํากัด ซึ่งตั้งอยู่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาปลายถนนสี่พระยานั่นเอง การที่ต้องอาศัยอาคารของธนาคารพาณิชย์ที่กล่าวเป็นที่ทําการนั้น ก็เพราะเหตุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีที่ดินและอาคารเป็นของตัวเองมาก่อน แม้เมื่อครั้งที่ยังมีสภาพเป็นเพียงสำนักงานธนาคารชาติไทยก่อนหน้านั้น ก็ต้องอาศัยเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารกระทรวงการคลังภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ปฏิบัติการ ประกอบกับเป็นความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องเปิดดําเนินการ เนื่องจากเกรงว่า หากมิได้มีธนาคารกลางของประเทศขึ้นในขณะนั้นแล้ว ประเทศไทยก็อาจต้องสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจและการเงินให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ในเมื่อขณะนั้นแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของกองทัพญี่ปุ่นได้แผ่ขยาย และปกคลุมทั่วอาณาบริเวณแห่งนี้ เป็นผลให้ต้องใช้จ่ายเงินและมีความต้องการธนบัตรเป็นจํานวนสูง โดยที่อาคารของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จํากัด ขณะนั้น ตกอยู่ในสภาพถูกยึดครองในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรูอันได้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร และประเทศไทยก็ได้ประกาศตนเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น การเข้าไปใช้สิทธิเหนือสถานที่เพื่อประกอบธุรกิจในขณะนั้นจึงกระทําได้โดยสะดวก อีกทั้งอาคารของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จํากัด ก็เป็นอาคารใหญ่โตกว้างขวางเหมาะแก่ขนาดของธุรกิจธนาคารกลางในระยะนั้น และยังตั้งอยู่ในทําเลที่สะดวกต่อการคมนาคมอีกด้วย
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เป็นความประสงค์ของทางราชการที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปใช้ประโยชน์แห่งสถานที่ของธนาคารพาณิชย์ที่กล่าวก็คือ ในระยะนั้นฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงท่าที่ให้เห็นชัดว่าจะเข้าไปยึดครอง การเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยฝ่ายไทยเองจึงย่อมจะช่วยป้องกันมิให้มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้เป็นเจ้าของเดิมได้
อย่างไรก็ดี ในระยะกลางปี พ.ศ. 2488 อิทธิพลของกองทัพสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยก็ได้หมดสิ้นลง โดยได้ประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งดําเนินมาตลอดเวลาเกือบสี่ปีก็ยุติลง จึงเป็นที่เชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นาน หลังจากนั้นธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จํากัด ผู้เป็นเจ้าของสถานที่คงจะได้กลับเข้ามาประกอบกิจการเช่นปกติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จําต้องตระเตรียมตัวเคลื่อนย้ายเพื่อแสวงหาสถานที่แห่งใหม่ต่อไป
ณ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสได้รู้จักสถานที่อันมีชื่อว่า "วังบางขุนพรหม" และความหมายของคํา ๆ นี้ ในฐานะวังที่ยิ่งใหญ่วังหนึ่งในประเทศ ก็เปลี่ยนสภาพเป็นที่รู้กันในฐานะที่เป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย นับแต่วาระนั้น
ผู้เป็นต้นความคิดที่เสนอให้ใช้ประโยชน์ แห่งวังบางขุนพรหมเป็นที่ประกอบธุรกิจธนาคารกลางของประเทศก็คือหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ผู้ว่าการคนแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทรงเห็นว่าวังแห่งนี้นับแต่ถูกรัฐบาลยึดครองจากเจ้าของเดิมในปี พ.ศ. 2475 อันเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้นมา มิได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ประการสําคัญก็คือขาดผู้เอาใจใส่ดูแลบํารุงรักษา ทําให้อยู่ในสภาพชํารุดทรุดโทรมไปตามลําดับกาลเวลา ในเบื้องแรกได้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาก็เปลี่ยนสภาพเป็นที่ทําการของกรมยุวชน และเบื้องท้ายสุดก่อนหน้า ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเคลื่อนย้ายเข้าไปประกอบกิจการนั้น ก็ใช้เป็นที่ตั้งของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปสู่วังบางขุนพรหมนั้น จึงยังปรากฏว่ามีหน่วยงานของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติบางหน่วยหลงเหลืออยู่ แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายออกไปจนหมดสิ้นในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
เมื่อที่ตั้งของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้จํากัดก็อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานที่แห่งใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยคือวังบางขุนพรหมก็อยู่บนฝั่งลําน้ำเดียวกันเช่นนี้ การขนย้ายพนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงกระทําโดยทางเรือ และแล้วขบวนเคลื่อนย้ายระลอกแรกก็ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 โดยมิได้เป็นไปในลักษณะเอิกเกริกยิ่งไปกว่าการเคลื่อนย้ายของธุรกิจธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปใช้วังบางขุนพรหมเป็นที่ตั้งธนาคารแล้ว ก็มิได้มีการเฉลิมฉลองอื่นใดอีกเนื่องจากพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยอันโอ่อ่าได้เคยกระทําขึ้นแล้วก่อนหน้านั้น แม้จะสามารถใช้ประโยชน์แห่งสถานที่แห่งใหม่ได้โดยเต็มที่แล้ว ตามแต่ในด้านของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็ยังถือว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงสถานที่ใช้ประกอบธุรกิจชั่วคราวเท่านั้น การแสวงหาที่ดินอันจะใช้เป็นที่ตั้งของธนาคารเองยังเป็นความจําเป็นอยู่
เหตุนี้จึงได้พยายามเสาะแสวงหาที่ดินที่เหมาะสมในที่ต่าง ๆ ตลอดมา โดยเน้นหนักในเรื่องทําเลและปริมาณเนื้อที่เป็นสําคัญ มีผู้เสนอขายที่ดินในแหล่งต่าง ๆ เป็นหลายแห่ง ที่สําคัญก็ได้แก่ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวังบูรพาภิรมย์ ซึ่ง ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์ธุรกิจการค้าที่สําคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ที่ดินวังเทเวศร์ ตลอดจนวังเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าราชประสงค์ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม แม้สถานที่เหล่านี้จะมีความเหมาะสมในด้านทําเลและราคา แต่ก็มี อุปสรรคบางสิ่งบางประการที่ทําให้ไม่อาจตกลงซื้อขายกันได้ ถึงกระนั้นธนาคารก็มั่นใจว่าโอกาสที่จะแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมยิ่งกว่านั้น ยังมีอยู่เป็นอันมาก

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2498 กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีพลตํารวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ติดต่อเสนอขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของเรือนจำลหุโทษ คลองเปรม แก่ธนาคาร ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 30 ไร่ ราคาที่เสนอขาย 30 ล้านบาท การที่เสนอขายแก่ธนาคารก็เพราะในระยะนั้น กระทรวงมหาดไทยกําลังมีโครงการที่จะเคลื่อนย้ายเรือนจําดังกล่าวออกไปตั้งอยู่ ณ ตําบลลาดยาว อําเภอบางเขน และงบประมาณที่ได้รับ ก็ไม่พอเพียงแก่การก่อสร้าง
ในขั้นตอนแห่งการพิจารณา ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่จะมีการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยอย่างจริงจัง ในเมื่อพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของวังบางขุนพรหมเองในขณะนั้น ก็กำลังอยู่ในโครงการขององค์การตลาดที่จะปรับปรุงให้เป็นที่ตั้งของตลาด เป็นการผ่อนคลายความหนาแน่นและความไม่เป็นระเบียบของตลาดย่านวัดนรนาถและตลาดริมคลองเทเวศร์ อย่างไรก็ดีก็ไม่ปรากฏว่า โครงการดังกล่าวนี้ได้รับการปฏิบัติให้ลุล่วงหรือเป็นจริงเป็นจังขึ้นแต่อย่างใด ในการเจรจาขั้นต่อมาปรากฏว่าเงื่อนไขการชําระเงินที่กระทรวงมหาดไทยกําหนดขึ้นนั้น ถือได้ว่าไม่ชอบธรรมและยากแก่การปฏิบัติ กล่าวคือ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ชําระเงินค่าที่ดินไปพลางก่อน เมื่อการก่อสร้างเรือนจําแห่งใหม่ลุล่วงไปขั้นหนึ่ง ก็จะทําการเคลื่อนย้าย นักโทษออกไปส่วนหนึ่ง เช่นนี้จนกว่าจะครบถ้วนตามโครงการเคลื่อนย้าย อีกทั้งยังเป็นความประสงค์ของทางราชการในขณะนั้น ที่จะจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ตั้งสภาการค้า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารมณฑลอีกด้วย โดยสถาบันเหล่านี้จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ชําระเงินค่าที่ดินไปก่อนแล้ว จึงจะจ่ายคืนให้ภายหลัง ธนาคารจึงได้ตอบปฏิเสธไป เหตุผลสําคัญอีกประการหนึ่ง ของคณะกรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อที่ดินแปลงนี้ก็คือ เป็นการไม่เหมาะสมยิ่งที่ธนาคารกลางของประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยประกอบธุรกิจอยู่ในวังอันถือได้ว่าเป็นสถานที่สูงส่งด้วยเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี จะไปตั้งเหนือพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นที่ตั้งเรือนจำมาก่อน
และคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สถานที่อันเหมาะสมที่สุด สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้แก่วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประกอบธุรกิจชั่วคราวในขณะนั้นยิ่งกว่าสถานที่อื่นใด
ควรจะได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปประกอบธุรกิจในวังบางขุนพรหมในเบื้องแรกนั้น มิได้มีการกําหนดให้ต้องชําระค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่เจ้าของสถานที่อันได้แก่กรมธนารักษ์ หรือกระทรวงการคลังแต่อย่างใด จนกระทั่งหลายปีต่อมา จึงได้มีการทําสัญญาเช่าระยะยาว ขึ้นระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายปี ในอัตราที่ถือได้ว่าคิดเป็นพิธีก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อให้คงไว้ซึ่งสิทธิของผู้เป็นเจ้าของตามกฎหมาย และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ปฏิบัติเช่นนี้ตลอด มาตราบกระทั่งถึงวันที่ได้รับกรรมสิทธิแห่งที่ดินและวังบางขุนพรหม
ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรรมสิทธิของที่ดินและวังบางขุนพรหมยังมิได้ตกเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ได้เกิด สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของเมืองไทยขึ้นคือ ไทยทีวีช่อง 4 ภายใต้การดําเนินการของกรมประชาสัมพันธ์ สถานีฯ แห่งนี้ได้ทําสัญญาเช่าที่ดินส่วนหนึ่งของวังบางขุนพรหมไป เป็นจํานวนเนื้อที่ที่เข้าครอบครอง ถึง 4 ไร่ 3 งาน กับ 46 ตารางวา อีกไม่นานหลังจากนั้นการก่อสร้างอาคารของสถานีฯ ก็เกิดขึ้น และสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่ซึ่งเกิดขึ้น ณ มุมด้านหน้าของพื้นที่วังบางขุนพรหมชิ้นนี้ ก็มีบทบาทบั่นทอนหรือลิดรอนความสวยสง่างามของอาคารวังบางขุนพรหมตลอดจนอาณาบริเวณให้ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัดนับแต่วาระนั้น
ความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะได้กรรมสิทธิซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของวังบางขุนพรหมยังคงดําเนินต่อไปโดยไม่ลดละ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดต่อกับกระทรวงการคลังเพื่อขอซื้อ แต่ก็ได้รับแจ้งว่ากระทรวงการคลังไม่อยู่ในฐานะจะจําหน่ายหรือโอนกรรมสิทธิทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ธนาคารได้ เว้นแต่ธนาคารจะสามารถแสวงหาที่ดินที่เหมาะสมและมีมูลค่าทัดเทียมกันมาให้แก่กระทรวงการคลังเป็นการแลกเปลี่ยน
ในปี พ.ศ. 2502 ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรม จํากัด ก็ได้มีหนังสือเสนอขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านมนังคศิลาซึ่งรวมทั้งอาคารใหญ่น้อยเหนือพื้นที่ เนื่องจากได้รับกรรมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้มาจากพรรคเสรีมนังคศิลา โดยเหตุขาดจํานอง ที่ดินแปลงนี้ประกอบด้วยโฉนด 4 โฉนดด้วยกัน มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 24 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา ราคาที่เสนอขายรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 34 ล้านบาท โดยที่ที่ดินดังกล่าวนี้ อยู่ในทําเลที่เหมาะสมยิ่ง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของอาคารที่มีความสวยและสง่างาม ยิ่งแห่งหนึ่ง ธนาคารจึงพิจารณาข้อเสนอนี้ ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ และหลังจากที่ได้เปิดการเจรจากันแล้ว ธนาคารแห่งเอเชีย ฯ ผู้เสนอขายก็ตกลงลดราคาลงมาเหลือ 30 ล้านบาท อีกทั้งยังยอมรับเงื่อนไขการชําระเงินตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกําหนด กล่าวคือ รับเป็นเงินสดไปกึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งจะต้องนำไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาล

กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการตีราคาสิ่งปลูกสร้างและที่ดินวังบางขุนพรหมขึ้น ที่ดินแห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 33 ไร่ 2 งานกับ 18 ตารางวา ปรากฏว่าส่วนที่เป็นมูลค่าของที่ดิน 24 ล้านบาทเศษ สําหรับสิ่งปลูกสร้างนั้น คณะกรรมการตีราคาได้ 11 ล้านบาทเศษ รวมเป็นมูลค่าของที่ดินและวังบางขุนพรหมอันเป็นผลจากการตีราคาของคณะกรรมการชุดที่กล่าว 36,431,600 บาท ในการโอนกรรมสิทธิบ้านมนังคศิลาซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อจากธนาคารแห่งเอเชีย ฯ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อแลกเปลี่ยนกับกรรมสิทธิของวังบางขุนพรหมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้รับจากกระทรวงการคลังนั้น ธนาคารต้องรับเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนแทนทั้งสองกรณี คิดเป็นเงิน 650,295 บาท และยังต้องจ่ายมูลค่าส่วนต่างให้แก่กระทรวงการคลังเป็นเงิน 6,431,600 บาท อีกด้วย

กรรมสิทธิเหนือที่ดินวังบางขุนพรหม และอาคารใหญ่น้อยได้ตกเป็นของธนาคาร แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2504
ด้วยประการะฉะนี้สถานีไทยทีวีช่อง 4 ซึ่งเคยทําสัญญาเช่าที่ดินซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของสถานีฯ กับกระทรวงการคลังมาก่อน ก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นคู่สัญญากับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยชําระค่าเช่าให้ในอัตราปีละ 40,000 บาท โดยเป็นที่ตกลงกันว่าสถานีฯ แห่งนั้น จะต้องเคลื่อนย้ายออกไปในเวลาที่กําหนด เนื่องจากธนาคารกําลังดําเนินการให้มีการจัดสร้างอาคารสํานักงานใหญ่ขึ้นและพื้นที่ส่วนนั้น จะถูกใช้เป็นที่ตั้งของอาคารตามโครงการ ด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะได้ทําความตกลงไว้เป็นมั่นเหมาะ แม้จะได้มีการเร่งเร้าให้สถานีฯ ปฏิบัติให้เป็นไปตามความมั่นสัญญาที่ได้กระทํากันแล้วก็ตาม แต่สถานีฯ แห่งนั้นก็มิได้ยอมเคลื่อนย้ายออกไปตลอดเวลาหลายปี โดยอ้างเหตุผลและความไม่สะดวกต่าง ๆ นานา ตราบจนถึงกลางปี พ.ศ. 2517 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยยินยอมจ่ายเงินค่าขนย้ายจํานวน 20 ล้านบาทให้ จึงได้ยอมเคลื่อนย้ายออกไป
ลําดับเรื่องที่นํามาเล่าสู่กันฟังข้างต้นนี้ ผู้อ่านก็คงจะได้ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความอุตสาหะและความยากลําบากที่ผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเผชิญตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา กว่าจะได้ซึ่งกรรมสิทธิ แห่งที่ดินวังบางขุนพรหมและสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ดี ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันกรรมสิทธิเหนือสถานที่แห่งนี้จะได้ตกเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่สิทธิในการดําเนินการก่อสร้างอาคาร สํานักงานแห่งใหม่เหนือที่ดินผืนนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือ และยังไม่มีผู้ใดสามารถพยากรณ์ได้โดยถูกต้องว่ายังจะต้องใช้เวลากันอีกสักกี่ปีกว่าจะได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวนั้น
หมายเหตุ
1) ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในข้อเขียนนี้ย่อมมีอยู่เป็นแน่นอน เพราะความจํากัดแห่งเวลาในการจัดส่งต้นฉบับ
2) ผู้เขียนขอขอบคุณคุณกมล วิญญรัตน์ คุณประวิทย์ สกุลทอง คุณบัว ศจิเสวี และคุณสืบ หงสกุล ในความร่วมมือและความสะดวกที่อํานวยให้ในการแสวงหาข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหลักฐาน อันช่วยผลักดันให้ข้อเขียนนี้ลุล่วงไปได้