ตราธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่23 มี.ค. 2025

          การดำเนินงานด้านการคลังและการต่างประเทศของประเทศไทยนั้นเป็นงานที่ปฏิบัติร่วมกันมาช้านาน ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ แยกงานด้านการคลังและการต่างประเทศออกจากกัน จนกระทั่งต่อมามีการจัดตั้งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านการคลังโดยเฉพาะ อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติใช้ตราพระสุริยมณฑลเป็นตราประจำตำแหน่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ส่วนตราปักษาวายุภักษ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นตราประจำตัวของ พระยาราชภักดี เจ้ากรมพระจำนวน ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากรอันเป็นงานด้านการคลัง ให้ยกเลิกไป ต่อมาเมื่อได้จัดตั้งกระทรวงการคลังแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องมีตราประจำกระทรวงการคลัง โดยในที่ประชุมเสนาบดีนั้นมีการตกลงกันว่ากระทรวงใดจะใช้ตราอย่างไร หรือให้นำตราเดิมมาใช้ที่เป็นกระทรวงใหม่ หรือถ้าไม่มีตรามาแต่เดิมก็ให้คิดตราขึ้นใหม่ เฉพาะกระทรวงการคลังนั้น ได้กำหนดไว้ให้ยึดถือตรานกวายุภักษ์ตามรูปที่ปรากฏในตราตำแหน่งพระยาราชภักดี ผู้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าการคลังมาแต่ก่อน

          การออกแบบตราประจำกระทรวงในครั้งนั้น ที่ประชุมเสนาบดีได้มอบหมายให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ซึ่งพระองค์ได้ทรงเล่าถึงความลำบากในการออกแบบในหนังสือ "บันทึกความรู้ต่างๆ" ความว่า เพื่อให้ทราบได้ถึงลักษณะของนกวายุภักษ์ ทรงพบในหมายท้ายหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เรียกขนนกการเวกที่ใช้เสียบพระมาลานั้นว่า ขนนกวายุภักษ์ ทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงได้นกการเวกมาตัวหนึ่ง เป็นนกยัดไส้แบบเทกซิเดอร์มี่ ( TAXIDERMY - การรักษาซากสัตว์ให้คงรูปเหมือนมีชีวิต ) เป็นนกที่เรียกว่า Paradise Bird นั้นเอง ทรงจัดเอาขึ้นคอน มีด้ามให้เด็กถือในงานสมเด็จเจ้าฟ้าโสกันต์ ในที่สุดสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงได้ทรงเขียนนกวายุภักษ์ขึ้นตามรูปนกการเวก เมื่อได้รับอนุญาตจากคณะเสนาบดีแล้วก็ได้ใช้กันสืบต่อมา

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะรัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์การพิเศษขึ้นมาเพื่อดำเนินการด้านการกู้เงิน ตลอดจนการจัดการเงินกู้ การชำระดอกเบี้ย การไถ่ถอนหนี้สาธารณะและในที่สุดได้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้น โดยที่ก่อนสำนักงานธนาคารชาติไทยจะเปิดดำเนินงานนั้น คณะรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ กำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งประสงค์จะกำหนดเครื่องหมายขึ้นไว้ใช้เองในราชการ ให้แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น โดยที่สำนักงานธนาคารชาติไทยก็จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องหมายประจำสำนักงานเพื่อใช้เป็นตราดุนประทับเอกสาร โดยที่ตามพระราชบัญญัติสำนักงานธนาคารชาติไทย พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้น สำนักงานมีฐานะเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงการคลัง ดังนั้นจึงออกแบบโดยถือเอาตรานกวายุภักษ์ ตราของกระทรวงการคลังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงเขียนขึ้นไว้ เป็นแนวทาง

          การใช้รูปนกวายุภักษ์เป็นตราเครื่องหมายของสำนักงานธนาคารชาติไทยนั้น ได้เริ่มใช้มาตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นต้นมา จนเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดำเนินงานแทนสำนักงานธนาคารชาติไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๕ แล้วจึงได้เลิกใช้ กล่าวคือได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน ๒๔๘๕ และประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๕ แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เริ่มเปิดดำเนินงานในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

          ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีลักษณะเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นส่วนราชการมีการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีดวงตราไว้ใช้ เพื่อเป็นการจัดเตรียมการจัดทำดวงตราของธนาคารไว้ให้พร้อมก่อนที่จะเปิดดำเนินงาน หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้มีหนังสือถึงพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๕ ให้ช่วยออกแบบตราของธนาคาร

 

          ตราปักษาวายุภักษ์ (เก่า) กล่าวไว้ในพระธรรมนูญใช้ตราว่าเป็นตราของพระยาราชภักดี ปรากฏว่าตราที่ใช้ประทับนั้นสูญหายไปเหลือแต่รูปตราที่ประทับไว้ในเอกสารเท่านั้น สันนิษฐานได้ว่าตรานี้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คงเป็นผู้คิดทำขึ้นเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

          ตราปักษาวายุภักษ์ (ใหม่) ปักษาวายุภักษ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนขึ้น เป็นรูปนกขนาดกะทัดรัด มีหัวและเท้าเหมือนนกอินทรี ปากอ้างุ้มลง เท้างอขึ้นแนบตัว ปีกใหญ่ขึ้น หางเป็นพวงแบ่งเป็น ๓ ชั้น ชั้นในสุดมีขน ๖ เส้น เป็นขนหางยาวที่สุด ๒ เส้น ส่วนขนชั้นนอกและชั้นกลางเป็นขนแพนหางของนกทั่วไป

 
          ตราสำนักงานธนาคารชาติไทย ถือเอาตรานกวายุภักษ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงเขียนขึ้นไว้เป็นแนวทาง เป็นนกวายุภักษ์ที่มีปีกยาวขึ้น ส่วนหางยังคงแยกเป็น ๓ ปอย ขนหางส่วนที่ยาวนั้นห้อยอยู่ ๒ ข้างของแพนหาง บรรจุอยู่ในวงกลมรูปไข่ตัด โดยรูปนกวายุภักษ์ในรุ่นหลังมีปีกยาว มีหัวเหมือนนกพิราบ และปากสั้นเหมือนปากนกทั่วไป


        ตราธนาคารแห่งประเทศไทย พระพรหมพิจิตรได้ออกแบบตราธนาคารแห่งประเทศไทยโดยใช้รูปพระสยามเทวาธิราชในเหรียญเสี้ยว อัฐ และ โสฬส ที่ออกใช้ในรัชกาลที่ ๕ มาดัดแปลง และเพิ่มถุงเงินไว้ในพระหัตถ์เบื้องขวาเพื่อเป็นเครื่องหมายถึง ผู้คุมถุงเงินอันเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย


        เรื่องราวของตราธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เราเป็นแต่ได้ยินได้ฟังจากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในธนาคารทั้งโดยตรงและโดยปริยายแต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นเอกสารดั้งเดิม (primary sources) ยืนยันแน่ชัด เมื่อผู้ช่วยผู้ว่าการ คุณสุพงศ์ เพ็ญจันทร์ มามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายธุรการได้ให้ส่วนการเลขานุการ สอบค้นเรื่องราวในเอกสารเก่าซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความดูแลของส่วนการเลขานุการ ด้วยประสงค์ จะให้รวบรวมไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของธนาคารสืบไป แต่ก็หาหลักฐานไม่พบ ต่อมาราว ต้นปี ๒๕๒๐ ธนาคารได้ย้ายงานเก็บรักษาเอกสารมีค่าจากส่วนการเลขานุการ มาไว้กับห้องสมุดฯ ผู้ช่วยผู้ว่าการจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการสอบค้นต่อ โดยได้ดำริให้ไปหาหลักฐานทางกรมศิลปากรเพิ่มเติมเนื่องจากท่านจำได้ว่าเคยเห็นหนังสือของพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ส่งแบบตราธนาคารแห่งประเทศไทยมาถวายตาม พระประสงค์ของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ก่อนที่จะเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปลาย ปี ๒๔๘๕

          การสอบค้นในชั้นต้น อาจารย์ตรี อมาตยกุล ได้กรุณาให้ความกระจ่างเป็นอันมาก ท่านเล่าว่า "จำได้เงา ๆ ว่าเมื่อครั้งเป็นหัวหน้าแผนกสารบรรณอยู่กรมศิลปากร ท่านเคยได้ยินได้เห็นเรื่องนี้ เท่าที่นึกออกพระยาอนุมานราชธนซึ่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นเป็นผู้คิดแบบและคงจะมอบให้พระพรหมพิจิตร ช่างศิลปเอกของกรมศิลปากรรับงานเขียนไป แต่ท่านเจ้าคุณจะมีคำสั่งด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นจำไม่ได้แม่น ขณะนี้พระพรหมพิจิตรก็ถึงแก่กรรมไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีคุณสนิท ดิษฐพันธ์ ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของกรมศิลปากรและทำงานในกองหัตถศิลปมานานได้มีความเห็นคล้องจองกับอาจารย์ตรีว่า พระพรหมพิจิตรอาจจะให้คุณปรุง เปรมโรจน์ หรือคุณปลิว จั่นแก้ว คนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นช่างเขียนฝีมือดีของกรมศิลปากรในขณะนั้น เป็นผู้เขียนร่างตามแบบตราธนาคารก็เป็นได้ ขณะนี้คุณปลิวถึงแก่กรรมไปแล้ว ส่วนคุณปรุงซึ่งยังเป็นข้าราชการบำนาญนั้นบอก ว่านึกไม่ออก แต่ตัวคุณปรุงเองไม่ได้เป็นคนเขียน ส่วนคุณปลิวจะเป็นคนเขียนหรือไม่นั้นจำไม่ได้

          บังเอิญอย่างน่าอัศจรรย์คือพบเอกสาร ๔ หน้า เป็นลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ถึงพระยาอนุมานราชธน ทรงหารือให้ช่วยออกแบบตราสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย มีต้นร่างและสำเนาหนังสือตอบของพระยาอนุมานฯ ส่งตัวอย่างร่างแบบตราซึ่งทำเป็นรูป "พระไทยเทวาธิราชคุมถุงเงินของชาติ" และลายพระหัตถ์ตอบขอบคุณเจ้าคุณ กับทรงแจ้งว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับแบบตราแล้ว หนังสือโต้ตอบดังกล่าวอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๖ ตุลาคม ถึง ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๕


อ่านบทความต้นฉบับ : ตราธนาคารแห่งประเทศไทย. (2539, ตุลาคม-พฤศจิกายน). พระสยาม,12-15  

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้