ดร.ป๋วย ที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดย ดร.เสนาะ อูนากูล

เผยแพร่20 เม.ย. 2024

วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมมาพูดมาอภิปรายในที่สาธารณะหลังจาก stroke หยุดไป ๙ ปี วันนี้เป็นครั้งแรก เพราะมาพูดเกี่ยวกับคุณป๋วยที่รักและเคารพ ผมต้องขอโทษที่ผมใช้คำว่าคุณป๋วย เพราะพวกเราใช้กันจนติดปาก พวกเราที่ตามมาติด ๆ ก็เรียกชื่อคุณป๋วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่การพยายามตีเสมอหรือคิดเป็นอย่างอื่น ท่านก็ไม่ว่าอะไรที่เรียกว่าอาจารย์ป๋วยคงมาที่หลัง ผมรู้จักคุณป๋วยมาเมื่อต้นปี ๒๔๙๘  เรียนจบแล้วและกำลังฝึกงานที่ธนาคารชาติออสเตรเลีย ตอนนั้นได้ยินกิตติศัพท์ว่าคุณป๋วยมีคุณลักษณะพิเศษ เรียนเก่งได้ top of honor เป็นเสรีไทยเรียนจบกลับมาและเป็นผู้นำในการปฏิรูปปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเป็นที่เคารพนับถือกันทั่วไป ผมเองก็คิดว่าคบคนดีเป็นศรีแก่ตัวผมจึงมีหนังสือมาขอสมัครงานกับคุณป๋วยที่กระทรวงการคลัง ต่อมาก็ได้รับจดหมายตอบจากคุณป๋วย ดีใจมากที่ผู้ใหญ่ของเมืองไทยกรุณาตอบจดหมายเด็กที่อยู่เมืองนอกและในจดหมายนั้นแสดงความเมตตาอย่างเห็นได้ชัด เริ่มต้นจดหมายว่าคุณเสนาะที่รักแล้วก็เลยรักกันเรื่อยมา


          คุณป๋วยเขียนบอกว่ายินดีที่จะมาร่วมงานกันเพราะเวลานี้เมืองไทยกำลังต้องการคนที่มีการศึกษามาช่วยกันมาก ๆ กำลังมีการปรับปรุงกันหลายแห่ง แต่ว่าที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเวลานี้มีมาอยู่กันหลายคนแล้ว เช่น คุณชาญชัย ลี้ถาวร คุณนุกูล ประจวบเหมาะ คุณจำลอง โต๊ะทอง คุณป๋วยจึงแนะนำว่าน่าจะไปอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ตอนแรกผมรู้สึกว่าเพราะ background ของเราเป็นบัญชีธรรมศาสตร์มาหรือเปล่า ถึงให้ไปอยู่กรมบัญชีกลาง จะมีอะไรทำ คุณป๋วยได้ทำคำชี้แจงตอบไปว่า กรมบัญชีกลางสำคัญ ไม่เฉพาะงานบัญชี ยังมีงานงบประมาณ งานเงินกู้ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เมื่อก่อนนั้นรวมกันอยู่ที่กรมบัญชีกลางหมด ผมก็น้อมรับและได้มาทำงานที่กรมบัญชีกลาง เมื่อมาถึงได้ดูงานแล้ว ท่านสั่งให้ผมพยายามทำเฉพาะเรื่องการปรับปรุงงบประมาณแผ่นดิน ท่านบอกว่างบประมาณแผ่นดินของเราตอนนั้นมีปัญหามาก ทั้ง ๆ ที่งบประมาณแผ่นดินถือว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจบ้านเมือง ตอนนั้นหัวใจรู้สึกจะรั่วเพราะว่าระบบงบประมาณของเราตอนนั้นมันแย่จริง ๆ ล้าสมัยมาก งบประมาณไทยมีอยู่ ๓ รายการ คืองบเงินเดือน งบค่าใช้สอยและงบประมาณจร อะไรที่ไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าใช้สอยก็เป็นงบประมาณจร ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ วินัยทางการคลังแทบจะไม่รู้จักกันเลย เพราะฉะนั้นในการทำงบประมาณในแต่ละปีจึงเป็นการต่อรองหรือเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองในที่สุดก็เป็นอันว่างบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นทุกปี ตัวแดงเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนั้นที่ร้ายคือการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งจ่ายเงินนอกงบประมาณได้ นับเป็นรูรั่วที่ใหญ่ เพราะนายกรัฐมนตรีก็ขยันสั่งจริง ๆ เงินนอกงบประมาณ ปรากฎว่างบบัญชีของไทยมีแต่งบตัวแดง เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ปิดบัญชีไม่ลงเป็นเวลาหลายปีติดต่อ กัน สตง. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่ยอมรับ ไม่ยอมที่จะเซ็นรับรองบัญชีจนเกิดเป็นวิกฤติอย่างรุนแรง ความเชื่อถือต่าง ๆ ได้รับผลกระทบกระเทือน   ๔๐ กว่าปีมาแล้ว เกือบจะล้มละลายเหมือนกัน ฐานะตอนนั้นแทบล้มละลาย และถ้าไม่รีบแก้ไขต้องล้มละลายแน่ ที่ผมรู้ดีเพราะว่าทำงานที่กรมบัญชีกลางงานอยู่ชิ้นหนึ่งคือ คืนค่าจองเครื่องบินที่ไปจองไว้ แต่ไม่มีสตางค์จะใช้ก็ต้องขายคิวไป นับเป็นภาระการคลังตอนนั้น การที่คุณป๋วยได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถระดมพวกเราให้ช่วยกันจริงจัง โดยเริ่มดำเนินการปรับปรุงวิธีการพิจารณางบประมาณ จนในที่สุดนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน และมีการจัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้นสำเร็จ โดยเฉพาะได้มีการห้ามไม่ให้มีการสั่งจ่ายเงินนอกงบประมาณอีกต่อไป หลังจากนั้นมาฐานะงบประมาณซึ่งมีลักษณะของหัวใจรั่วก็พออยู่ได้ ที่เล่าให้ฟังเพราะอยากจะให้พวกเรารู้ว่าผลงานชิ้นหนึ่งของคุณป๋วย ที่เป็นงานสำคัญคือ แก้ไขปัญหาของชาติไม่ให้ล้มละลายเมื่อ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว ที่สำคัญคืองานเรื่องการปรับปรุงงบประมาณ

การที่ได้ทำงานร่วมกับคุณป๋วยทำให้ได้เห็นอัจฉริยะของคุณป๋วยหลายอย่าง ไม่เฉพาะความสามารถที่จะเจรจาหรืออธิบายให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคลัง หรือคณะรัฐบาลต้องยอมรับ หรือการแก้ไขปัญหางบประมาณตามที่ได้กล่าวไว้เท่านั้น ในระดับล่างลงมาคือในระดับเป็นผู้ช่วยทำงานกับคุณป๋วย คุณป๋วยก็แสดงความเมตตา ความรัก และทำให้พวกเรามีความรู้สึกรักและเคารพในตัวคุณป๋วยอย่างจริงจังจริงใจ ในกรณีผมเอง เข้ามาได้ไม่กี่เดือนตอนไปประชุมต่างประเทศทางฝรั่งเขาก็คงแนะนำว่า My colleague from Ministry of Finance หรืออาจจะเป็น My staff แต่ท่านใช้ My friend ทำให้ผมรู้สึกว่าท่านเป็นกำลังใจ เราต้องพยายามทำงานให้ได้ดี บางเรื่องที่ทำงานข้างนอกเป็นพิเศษ คือตำราเศรษฐศาสตร์เรื่องวิชาการคลังที่ใช้เป็นตำราสอนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นตำรามาตรฐาน ที่ตอนนั้นต้องการจะปรับปรุงโดยเหตุที่ผมทำงานทางด้านงบประมาณ ท่านจึงมอบหมายหน้าที่ให้ปรับปรุงหนังสือทั้งเล่ม โดยท่านคอยดูแลใกล้ชิด มีโอกาสได้ใกล้ชิดท่านมากขึ้นตอนปรับปรุงหนังสือ ปรากฏว่าเมื่อปรับปรุงเสร็จพิมพ์ออกมา ท่านได้ยืนยันว่าให้ชื่อผมขึ้นหน้าปกในฐานะช่วย ปรับปรุงหนังสือด้วย เป็นการแสดงความเมตตาของคุณป๋วยที่ให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่งที่ประทับใจผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก


ผมทำงานกรมบัญชีกลางได้ไม่นานก็ไปต่างประเทศอีก ๕ ปีกว่า จนกระทั่งถูกคนล้อว่าจะเป็น Professional student เป็นนักเรียนอาชีพ เป็นนักศึกษาอาชีพ ตอนที่เรียนอยู่ก็มีจดหมายมาเรียนให้คุณป๋วยได้ทราบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ และทุกครั้งจะไม่พลาด คุณป๋วยจะตอบกลับมาเขียนด้วยลายมือทุกครั้ง ผมไม่เคยเห็นว่าผู้ใหญ่ที่ไหนจะมีเวลาตอบจดหมาย แต่ท่านไม่เคยพลาด ตอบกลับทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเพียงแต่บอกว่าได้มีการตั้งสำนักงานใหม่คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ทำหน้าที่วางแผนและประสานงานเศรษฐกิจของชาติ ท่านต้องการให้ผมย้ายจากกรมบัญชีกลางมาอยู่ที่นั้น กรมบัญชีกลางตอนนั้นมีคนใหม่ ๆ เข้ามาอีกมาก ดร.อำนวย วีรวรรณ ดร.พนัส สิมะเสถียร และอีกหลายท่านด้วยกัน ผมน่าจะไปช่วยงานที่ใหม่ ซึ่งผมก็ยินดีน้อมรับและเห็นว่าช่วยหักเหชีวิตของผม เมื่อผมกลับมาทำงานที่สภาพัฒนา ได้รับมอบหมายงานด้านสาขาการเงินการคลัง และการวางแผน มีหน้าที่ติดต่อกับแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ

พรสวรรค์ของคุณป๋วยที่สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ทำเรื่องหนักให้เป็นเรื่องเบา ในการประชุมคณะกรรมการบริหารที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติทุกวันจันทร์ ถ้า ดร.ป๋วยมาจะสั่งให้รอ ถ้ายังไม่มาต้องรอ เมื่อมาแล้วคุณป๋วย สามารถที่จะสรุปประเด็นต่าง ๆ ในการพิจารณาออกมาเป็นข้อเสนอที่แยบคาย และเป็นข้อเสนอที่รัฐบาลยอมรับทุกครั้ง ความคิด ความเสียสละ ความสามารถหรือพรสวรรค์ เช่นการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเข้าใจง่ายตรงประเด็น และมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นบรรยากาศในการประชุมที่คุณป๋วยมาแต่ละครั้งจะหัวเราะกันครืน เพราะอารมณ์ขันของ ดร.ป๋วย จนรู้สึกว่าบรรยากาศชื่นมื่นจริง ๆ  ในที่ประชุมวันไหนที่คุณป๋วยมาประชุม จะมีเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์มานั่งเต็มกันทางด้านหลังเหมือนเข้ามาดูหนัง หรือมาดูดารา วันไหนที่ได้ข่าวว่าคุณป๋วยไม่มา ห้องว่างหายหมด ไม่มีใครมาเลย นี่เป็นพรสวรรค์ที่สามารถสร้างบรรยากาศที่รู้สึกว่าทำงานแล้วได้ผล ในขณะเดียวกันก็สนุกสนาน


คุณป๋วยมีความเป็นอัจฉริยะ มีวิสัยทัศน์ที่ กว้างไกล และไม่เคยเก็บวิสัยทัศน์ไว้ลอย ๆ  ทุกวันนี้คนมีวิสัยทัศน์แต่ก็ลอย ไม่รู้ว่าจะลงดินอย่างไร แต่คุณป๋วยนอกจากจะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ลึกซึ้ง ยังสามารถที่จะลงมือด้วยตนเอง ปฏิบัติให้วิสัยทัศน์นั้นเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้หลายเรื่องด้วยกัน อย่างปัญหาทางเศรษฐกิจแก้ยากและมักจะทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนที่หนักมาก ฉะนั้นวิสัยทัศน์ของท่านที่มองคือความเฉลียวฉลาด ท่านสร้างแนวป้องกันเพื่อแก้ปัญหาก่อนที่ปัญหาจะลุกลามมาจนถึงแบงก์ชาติ โดยได้สร้าง ๔ หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงิน คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเสนาธิการเรื่องการคลัง สำนักงบประมาณอย่างที่ผมเรียนไปในตอนต้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจที่แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นประธาน แต่ว่าท่านไปดูวิธีการของสภาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่ง รับผิดชอบทางด้านการเงิน ในสี่หน่วยงานนี้ได้แสดงถึงความเป็นผู้นำของ ดร.ป๋วย ที่สร้างระบบผนึกกำลังสี่หน่วยงานเป็นครั้งแรกในเมืองไทย สี่หน่วยงานนี้จะปรึกษาหารือกันทุกปีก่อนที่จะเริ่มทำงบประมาณ เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะตั้งงบประมาณรายจ่ายเท่าไร โดยดูว่าในปีนี้ผลผลิตจะเพิ่มเท่าไร เงินเฟ้อควรจะมีไม่เกินเท่าไร และรายได้จากภาษีอากรเป็นเท่าไร รายจ่ายที่กำหนดไม่ให้มีการขาดดุลเกินสมควร เป็นการจำกัดวงเงินให้รัฐบาลเข้ามากู้เงินกับธนาคารชาติ จุดสำคัญที่ว่าจะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจกระทบกระเทือนหรือไม่อยู่ที่วงเงินที่รัฐบาลเข้ามากู้ธนาคารชาติ การจัดระบบผนึกกำลังสี่หน่วยงานสามารถทำให้ธนาคาร มีบทบาทในการกำหนดว่าจะให้กู้ได้ไม่เกินเท่าไร ไม่มีใครที่จะเข้ามาแทรกแซงได้เพราะว่าทำพร้อมกันสี่หน่วยงาน นี้เป็นวิสัยทัศน์และเป็นความชาญฉลาดของคุณป๋วยที่สามารถสร้างแนวป้องกันก่อนที่ภัยจะมาถึงธนาคารชาติ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่คุณป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติจึงเห็นว่าประเทศไทยสามารถที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้ตลอดมา จนเป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั้นเป็นผลงานที่สำคัญของ ดร.ป๋วย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวก เราได้มานั่งอยู่ ณ ที่นี่

วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและลึกซึ้งของคุณป๋วย โดยการสร้างแนวป้องกันเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะป้องกันธนาคารชาติ การสร้างแนวป้องกันไม่ใช่เฉพาะสี่หน่วยงานที่ป้องกันเรื่องงบประมาณแผ่นดินของประเทศเท่านั้น แต่ว่าสร้างแนวป้องกันจากต่างประเทศด้วย โครงสร้างคณะอนุกรรมการที่เรียกว่า อนุกรรมการพิจารณาการก่อหนี้จากต่างประเทศ (อกน.) เพราะการก่อหนี้ต่างประเทศ โดยไม่มีกำหนดและไม่มีขอบเขตมีผลที่จะทำให้ประเทศล้มละลายได้ พูดอย่างนี้สมัยก่อนก็คงเฉย ๆ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้กันแล้วว่าอะไรเกิดขึ้นเมื่อไม่มีมาตรการป้องกัน สมัยก่อนนี้จึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการก่อหนี้ต่างประเทศ คอยดูแลตลอดเวลาว่าวงเงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่กู้มานั้นจะต้องไม่เกินจำนวนเท่าไรของงบประมาณ และที่สำคัญคือว่าระยะเวลาชำระหนี้ในแต่ละปีเมื่อคิดแล้วจะต้องไม่เกินเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น กำหนดไว้ ๙ เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างมากไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ และผ่อนที่สุดแล้วไม่เกิน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ พอใกล้เคียงก็ต้องเตือนแล้ว ถ้าเกินกว่านั้นจะไม่ได้ และรัฐบาลจะมาว่าอะไรก็ไม่ได้ นี่เป็นระบบการป้องกันที่ชาญฉลาดของคุณป๋วย สามารถที่จะรู้ตลอดเวลาว่ากู้มาเท่าไร ลักษณะสภาพหนี้ที่จะต้องใช้แต่ละปีเป็นอย่างไร ต้องพยายามกู้ระยะยาว ไม่ให้กู้ระยะสั้น เพราะกู้ระยะสั้นแล้วจะเกิดปัญหา เกิดเป็นหนี้ก้อนโต ที่ต้องใช้ชำระคืนไปในคราวเดียว คุณป๋วยได้สร้างแนวป้องกันนี้โดยใช้ระบบที่เรียกว่า อกน. ต่อมา เปลี่ยนเป็น คพน. คือ คณะกรรมการพัฒนาการก่อหนี้กับต่างประเทศ และกระทรวงการคลังรับไปจากสภาพัฒน์ฯ เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าหลังจากที่คุณป๋วยไม่ได้อยู่แล้ว และหลังจากที่ผมเองก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว ปรากฏว่าเมื่อประสบปัญหาในเรื่องหนี้ที่การก่อหนี้ส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากหนี้รัฐบาลเป็นหนี้เอกชน และหนี้เอกชนเพิ่มขึ้น ๆ แม้ผมจะมาที่ธนาคารชาติก็ได้เตรียมระบบแบบของ อกน. ซึ่งไม่ดูเฉพาะรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ให้ดูหนี้ของเอกชนด้วย แล้วรวมเป็นหนี้ทั้งหมด ภาระหนี้ทั้งหมดของประเทศ และภาระที่ต้องชำระหนี้แต่ละปีว่าเป็นเงินเท่าไร ต้องไม่เกินเท่าไร เราไม่มีระบบที่จะห้ามเอกชนก่อหนี้ แต่เรามีระบบ Monitor ว่าเอกชนไปกู้หนี้มาเท่าไร และจะส่งให้เกิดผลกระทบกระเทือนเสียหายต่อส่วนรวมหรือไม่ ถ้าเรารักษาระบบนี้ไว้ผมเชื่อว่าเราจะทันกับเหตุการณ์ไม่ใช่ว่าเกิดเรื่องขึ้นแล้วถามว่า อกน. ไปไหน ผู้ที่รับผิดชอบก็ถามว่ายังมีอยู่หรือไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ลืมไปแล้ว ถามว่ามีหนี้ทั้งหมดเท่าไร หนี้สั้น หนี้ยาวเท่าไร ไม่รู้อีก กว่าจะรู้ก็เกินแก้ ตัวอย่างนี้จะเห็นว่าคุณป๋วยได้สร้างระบบไว้ให้เราป้องกันตัวอย่างดีแล้ว แต่เพราะว่าพวกเราละเลย พวกเราไม่คิดจะพัฒนา ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่คุณป๋วยสร้างแล้วมันจะต้องอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันควรมีการวิวัฒนาการ มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การเคลื่อนไหวในด้านเอกชนก็สามารถจะรู้ได้และวัดได้ รู้ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนั้น หนักเกินไปหรือไม่ และควรที่จะเตือนตั้งแต่แรก สมัยที่ผมเป็นผู้ว่าการก็ต้องไปต่อสู้กับผู้ที่ต้องการกู้หนี้มาซื้ออาวุธ ๒ หมื่นล้านบาทในสงครามเวียดนาม ผมก็ได้อาศัยระบบ อกน. เข้าไปประชุมในที่ประชุมกลาโหม สีเขียวเต็มไปหมดเพราะจะกู้เงินให้ได้ ตอนนั้นอเมริกันถอนไปแล้ว ไม่มีอะไรเหลืออยู่นอกจากจะต้องกู้เงินใหม่มา ๒ หมื่นล้าน เพื่อจะซื้ออาวุธให้ได้ภายในปีนี้ และจะกู้เงินแบบที่เป็นระยะสั้นมาก ผมอาศัยแนวทางของคุณป๋วยเข้าไปชี้แจงว่าเรามีระบบนี้ ท่านมีระบบป้องกันประเทศทางด้านทหาร ท่านมีอาวุธ แต่เรามีระบบป้องกันประเทศในระบบ อกน. ซึ่งมีการกำหนดไว้เลยว่า ถ้ากู้เกินกว่าร้อยละ ๙ ไฟจะขึ้น ถ้าเกินว่าร้อยละ ๑๑ ไฟแดงจะขึ้น แต่ถ้าจะมากู้กันคราวนี้มันจะเกินอีกตั้งมากมาย ไม่ใช่ไฟแดงจะขึ้น แต่ว่ากระดิ่งจะดังไปทั้งโลกและจะป้องกันประเทศได้อย่างไร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะพัง ความมั่นคงทางกองทัพย่อมไม่สามารถอยู่ได้ ผมได้ใช้วิชาของคุณ ป๋วยไปต่อสู้ในเรื่องนี้และสามารถที่จะทำให้ความพยายามที่จะออกกฎหมายที่จะกู้เงินเพื่อซื้ออาวุธเป็น พิเศษหลังสงครามเวียดนามต้องระงับไป ผมได้รู้สึกถึงบุญคุณของคุณป๋วยที่มีต่อประเทศชาติและผมได้อาศัยไปปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาตลอด

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าคุณป๋วยมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและลึกซึ้ง คือการที่คุณป๋วยมองเห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในอัตราที่สูงแต่ว่ามีเสถียรภาพเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไปไม่เป็นการเพียงพอ ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะตีความออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความเป็นธรรมในสังคม ปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ฐานะของผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะปัญหาการพัฒนาชนบทและการศึกษา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลกระทบ มีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา คุณป๋วยได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มาก บางครั้งที่คนอื่นจะดูเฉพาะในเรื่องการพัฒนาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภูมิใจเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่คุณป๋วยบอกว่า ไม่พอ เราต้องมาดูในเรื่องเหล่านี้ และไม่ใช่ว่าจะมาดูกันทีหลังหลังจากที่การขยายตัวไปมากแล้ว ท่านเริ่มเรื่องเหล่านี้พร้อม ๆ กับการตั้งสภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่แรก เรื่องเหล่านี้คงจะมีคนได้พูดถึงในเรื่องพัฒนาชนบท

ผมจะพูดบางด้านที่อาจไม่ค่อยมีคนพูดกัน คือ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในเมือง เข้าใจกันว่าคุณป๋วยมีแต่เรื่องพัฒนาชนบท แต่ความจริงคุณป๋วยคิดถึงทุกคน คิดถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนเมือง มีสายตาไกลที่มองเห็นว่ายิ่งพัฒนาเท่าไรปัญหาจะไหลเข้าสู่เมืองมากขึ้นกว่าเดิม คนชนบทจะน้อยลง แต่คนในเมืองจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัญหาในเมืองจะเพิ่มพูนทวีคูณรวดเร็วกว่าชนบทด้วยซ้ำ ด้วยการนี้คุณป๋วยจึงได้เริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพมหานคร ๓ โครงการด้วยกัน คือโครงการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และจำกัดน้ำเสีย คนแปลกใจที่คุณป๋วยพยายามผลักดันโครงการน้ำเน่าเพราะถือว่าโครงการประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิต ไม่ถือว่าเป็นโครงการพัฒนา ไม่น่าให้การสนับสนุนแต่คุณป๋วยยืนยันว่า โครงการที่เป็นเรื่องของการแก้ไขผลกระทบจากการพัฒนาเป็นโครงการพัฒนา และเป็นประธานดำเนินการตามโครงการในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ผมต้องพูดไว้เพราะคนมักจะไปคิดถึงคุณป๋วยในเรื่องชนบท แต่ว่าคุณป๋วยมองชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในเมืองด้วย คุณป๋วยสามารถสร้างอุโมงค์ใหญ่ระบายน้ำแห่งแรกของเมืองไทยที่ไปออกช่องนนทรี  โครงการที่สองคือ การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน เป็นเรื่องตั้ง ๓๐-๔๐ ปีมาแล้ว คุณป๋วยยังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง ทางด่วนระยะแรกเริ่มจากท่าเรือคลองเตยวิ่งไปเหนือ ไปตะวันออก ไปใต้ เริ่มจากคุณป๋วย  โครงการที่สาม คือ โครงการเคหะแห่งชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตในแหล่งเสื่อมโทรม ที่ต่อมาเรียกว่าชุมชนหนาแน่น ทั้งสามโครงการนี้เป็นโครงการในกรุงเทพฯ แต่ว่าจะเป็นโชคหรือเป็นกรรมของคนในกรุงเทพก็ไม่ทราบที่บังเอิญมีการแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองในยุคนั้น ระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดูแลการพัฒนาทั่วประเทศ ในทางทฤษฎีจะมีอำนาจควบคุมในกรุงเทพฯ แต่ขณะเดียวกันจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยควบคุมทุกโครงการในกรุงเทพมหานคร หลายครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ ไม่กล้าที่จะเข้ามาล่วงเกิน และเป็นจริงตามที่เราได้ทราบ เช่น โครงการพัฒนาทางหลวง ๘ ปี ทั่วประเทศ สร้างถนนมุ่งเข้ามากรุงเทพหลายสาย แต่พอเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็จอดพอดีเข้ามาในเขต กทม. ไม่เกี่ยวเป็นเรื่องของ กทม. แต่ กทม. ก็ไม่มีโครงการออกไปรับ แผนการจราจรในกรุงเทพระบบขนส่งมวลชนและระบบถนนต่าง ๆ ซึ่งควรจะเป็นแผนเดียวกันกับที่มีโครงการพัฒนาถนน ๘ ปี ก็ไม่เกิดขึ้น โครงการต่าง ๆ เพิ่งจะมาเสร็จ ๓๐ กว่าปีหลังจากที่คุณป๋วยได้เริ่มไว้ เป็นตัวอย่างประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องถูกกระทบกระเทือนจากการแบ่งขั้วอำนาจ ต่อมาเกิดความคิดในเรื่องที่ว่ากรุงเทพฯ โตเร็วเกินไป โครงการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะถือว่าการที่ลงทุนในกรุงเทพฯ มากเท่าไร กรุงเทพฯ ก็โตขึ้นเท่านั้น ปรากฏว่ากรุงเทพฯ ที่โตขึ้นมานั้นเป็นเพราะการลงทุนของเอกชน การสร้าง ตึกใหญ่โตสูงมากมายก่ายกอง ขณะเดียวกันการจัดการระบบไม่ทัน ทำให้ขาดความสมดุลในการพัฒนาประเทศ ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของคุณป๋วยในเรื่องนี้ ไม่ใช่แคบ มองกว้างและมองทั่วถึง มองถึงความเป็นจริงว่าทั้งประเทศเป็นประเทศเดียวกัน และทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันหมด หัวใจกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับงบประมาณ ที่ว่าหัวใจมีรูรั่วในที่สุดมันอยู่ไม่ได้ กรุงเทพฯ จะเป็นง่อย จะเป็นอัมพาต และในที่สุดความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ จะเสื่อมลง ๆ แม้จนเราเองก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่คุณป๋วยเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทั้งชนบทและในเมือง เพราะทุกอย่างสัมพันธ์กันต่อเนื่องกัน ถ้าไม่มีการพัฒนาที่เป็นระบบ มันจะเกิดรอยตะเข็บรอยต่อที่จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นในที่สุด

ในภายหลังที่คุณป๋วยออกจากธนาคารชาติเพื่อไปเป็นคณบดีเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดี พวกผมยังพบคุณป๋วยอยู่เสมอแม้กระทั้งทานอาหารเย็น ที่พวกเราชอบไปที่ร้านยิ้ม ๆ ทานอึ้งแซ ทานเบียร์ ร้านนี้คุณป๋วยชอบมาก ครั้งหนึ่งระหว่างทานข้าวคุณป๋วยเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมาคราวนี้อาการไม่ค่อยดี รู้สึกเวียนหัว หน้ามืดเป็นลม ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีปัญหาเรื่องโรคโลหิตตีบอย่างที่ผมเป็น แต่ว่าพวกเราห่วงใยมาก คุณป๋วยทำงานหนักขนาดนี้มีภาระนอกบ้านขนาดนี้ อันตรายต่อสุขภาพต่อชีวิตของคุณป๋วย พวกผมเองได้ไปขอพบท่านที่โรงแรมดุสิตธานี ผมในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปเสนอกับท่านว่า มีตำแหน่ง Executive Director ของธนาคารโลกว่าง ขอเชิญท่านไปรับตำแหน่งนี้ชั่วคราว ด้วยความประสงค์ว่าเพื่อให้ท่านได้มีโอกาสพัก ได้มีโอกาสเปลี่ยนบรรยากาศชั่วคราว คงจะช่วยเรื่องสุขภาพและชีวิตของท่าน แต่คุณป๋วยปฏิเสธเด็ดขาดว่า ผมไม่สามารถจะทำได้เพราะมีภาระหน้าที่ ผมทิ้งทุกคนไปไม่ได้ ผมได้แต่น้อมรับ ขณะเดียวกันความรู้สึกส่วนตัวรู้สึกเสียดายว่าไม่มีโอกาสได้รับใช้คุณป๋วย จากนั้นไม่กี่วันผมเดินทางไปประชุมที่ธนาคารพัฒนาเอเชียที่ฟิลิปปินส์ ผมเป็นหัวหน้าคณะไปเพราะ รัฐมนตรีคลังป๋วยไปไม่ได้ ระหว่างนั้นวิกฤติยังไม่มาก แต่พอไปเริ่มนัดประชุมก็มีข่าวเมืองไทยฆ่ากัน มีคนตายจำนวนมาก เกิดมีปัญหาใหญ่ ผมจึงประชุมคณะที่เดินทางเห็นควรเดินทางกลับ เมื่อมาถึงสนามบินดอนเมือง วันนั้นวันที่ ๗ หรือ ๘ เดือนตุลาคม สนามบินเงียบหมดเหมือนไม่มีชีวิต ตอนนั้นปิดสนามบิน มีคนมารายงานว่าคุณป๋วยถูกจับออกไปอีกทางหนึ่ง จะส่งไปอังกฤษ ผมพยายามที่จะไปพบแต่ว่าคุณป๋วยได้ออกจากสนามบินไปแล้ว เสียดายที่ไม่พบวันนั้น อย่างไรก็ตามขณะท่านอยู่ที่อังกฤษได้มีโอกาสพบกับท่านบ้าง

พบกันครั้งสุดท้ายเมื่อท่านมาเยี่ยมเมืองไทยเมื่อปี ๒๕๔๐ ได้เกิดอุบัติเหตุหกล้มกระดูกสะโพกเคลื่อนเรียกว่าเดินไม่ได้เลย ผมมีโอกาสไปเยี่ยมที่บ้าน ได้เห็นคุณป๋วยยังเหมือนเดิม ไม่ดูว่ามีอาการบาดเจ็บจากการล้ม นั่งยิ้มอยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิม โบกไม้โบกมือให้เหมือนเดิม ผมยังประทับใจอยู่จนบัดนี้ วันนั้นได้คุยกับคุณจอน ผมถามว่าจะกลับมาเมืองไทยอีกครั้งต่อไปเมื่อไร คุณจอนบอกว่าคราวนี้คงไม่ได้กลับมาอีกแล้ว เพราะมีความลำบากในการเดินทาง ผมใจหายวูบ และคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้พบหน้ากัน และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ มาได้ข่าวว่าคุณป๋วยถึงแก่อนิจกรรมแล้ว คิดว่าอย่างมากก็คงจะนึกถึงความดีต่าง ๆ ที่คุณป๋วยได้ทำไว้ ส่วนเรื่องที่จะเป็นตัวอย่างของคนรุ่นหลังเท่าที่ผมได้พูดมานั้น คุณป๋วยมีทั้งความดี ความเก่ง มีจริยธรรม คุณธรรม ความกล้าหาญ เรียกว่าเสียสละทุกอย่างเพื่อส่วนรวม เป็นตัวอย่างที่หาได้ยากหรืออาจจะหาไม่ได้ เป็นปูชนียบุคคลของประเทศ ถ้าพวกเราได้มีโอกาสได้ทำตาม อย่างน้อยคงอาจจะแก้ปัญหาของประเทศชาติก่อนที่จะลุกลามใหญ่โตได้เหมือนอย่างสมัย ดร.ป๋วย หรืออย่างน้อยเราอาจจะช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

อ่านบทความต้นฉบับ : เสนาะ อูนากูล. (2542, พฤศจิกายน-ธันวาคม). ดร.ป๋วย ที่ข้าพเจ้ารู้จัก. พระสยาม, 19-24

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้