เรื่องเก่า (ผู้) เล่าใหม่ โดย “อ. เลี่ยมยองใย”

เผยแพร่28 มี.ค. 2024

ณ พระที่นั่งวิมานเมฆในพระบรมมหาราชวัง วันหนึ่งในอดีต พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงบุษบันบัวผัน ได้นำเด็กชายอายุเพียง 2 ขวบเศษ ท่าทางน่ารักและเฉลียวฉลาด เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ในหลวงทรงอุ้มและป้อนขนมให้เด็กน้อยผู้น่ารักด้วยพระเมตตา และทรงรับสั่งด้วยว่า "ข้าเป็นลุงเจ้าจะเรียกว่ากระไร" หนูน้อยผู้ไร้เดียงสาแต่ตอบได้ฉะฉานว่า "เรียกเสด็จลุง" พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยมาก และได้ประทานเสมาพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ประดับเพชรให้แก่พระราชนัดดาของพระองค์ในวันนั้นด้วย หลังจากนั้นอีก 40 ปีต่อมา หนูน้อยผู้นั้นก็คือผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพระองค์แรก


ข้าพเจ้าได้อ่านพระประวัติของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ จากหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญเล่มหนึ่ง ได้ทราบถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ไม่แต่ในทางการเงินการคลังของประเทศเท่านั้น พระองค์ยังทรงเป็นนักการทูตและนักพัฒนาผู้ยิ่งยง ได้ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่คนไทยทั้งชาติ อย่างใหญ่หลวง พระเกียรติคุณของพระองค์ ยังความประทับใจและสำนึกในพระกรุณาธิคุณต่อคนไทยตลอดมา

ครบรอบ

วันที่ 22 สิงหาคม 2516 นี้ก็จะเป็นวันครบรอบปีที่ 13 ที่พระองค์สิ้นพระชนม์ จึงขอนำพระประวัติ โดยสังเขปของพระองค์ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ผู้ก่อกำเนิดสถาบันอันทรงเกียรติและเป็นร่มเงาของมวลหมู่พวกเราชาว ธ.ป.ท. โดยเฉพาะพนักงานรุ่นสาวหนุ่มทั้งหลาย อาจจะช่วยให้รู้จักพระองค์ดีขึ้น และช่วยกันเผยแผ่เกียรติคุณของพระองค์ท่านสืบต่อไป

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงสมภพเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2442 ตรงกับวันเสาร์ ปีกุน พระบิดาคือ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์ มงคล) ต้นสกุล "ไชยันต์ ณ อยุธยา" เสนาบดีกระทรวงคลังในขณะนั้น พระชนนีคือ หม่อมซ่วน ไชยันต์ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ดังนั้น พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจึงทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอ ผู้สืบสายพระโลหิตจากพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ด้วยพระองค์หนึ่ง พี่น้องร่วมพระชนกชนนีของพระบิดาซึ่งเกิดจากเจ้าจอมมารดาห่วง ก็มีพระองค์เจ้าหญิงบุษบันบัวผัน เสด็จป้าของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพระองค์เจ้าหญิงเจริญกมลสุขสวัสดิ์ น้องสาวพระองค์เดียวของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยพระบิดา แต่ได้สิ้นพระชนม์เมื่ออายุได้ 7 พรรษา พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงมีพระเชษฐภคินีต่างพระชนนี อีกพระองค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สมบริพัตร ซึ่งเป็นพระชายาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เมื่อพระองค์วิวัฒน์มีพระชันษาได้ 9 ขวบ พระบิดากรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2450 และอีก 3 ปี ต่อมา "พระเจ้าลุง" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตอีก เมื่อ พ.ศ. 2453  ดังนั้น เมื่อพระองค์ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนราชวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2454 แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระพันปีหลวง ทรงมีพระเมตตาแก่เจ้าชายผู้กำพร้าแต่เยาว์วัย จึงทรงโปรดให้รับเป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระพันปีหลวง ให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เริ่มแต่ พ.ศ. 2454 ทรงสอบไล่ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมชั้น 2 ในวิชาประวัติศาสตร์ ต่อจากนั้น พระองค์ได้เดินทางไป ศึกษาต่อ ณ วิทยาลัย Ecole des Sciences Politiques ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีก 1 ปี และเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2463 พระชนมายุได้ 21 พรรษา
เศกสมรส

เมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา ได้ทรงเศกสมรสกับ ม.ร.ว. หญิง ชวลิต สนิทวงศ์ พระธิดาของพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช มีพระโอรส 2 องค์ คือ ม.ร.ว. ไชยวัฒน์ ไชยันต์ และ ม.ร.ว พัฒนไชย ไชยันต์ ภายหลังที่หม่อมชวลิตถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2472 ได้ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิง พัฒนคณนา กิติยากร พระธิดากรมพระจันทบุรีนฤนาท มีพระธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ ม.ร.ว. หญิง กิติวัฒนา ไชยันต์

เมื่อพระองค์ ทรงจบการศึกษา จากต่างประเทศและได้เสด็จกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เข้ารับราชการมีตำแหน่งเป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งขณะนั้นกรมพระจันทบุรีนฤนาทเป็นเสนาบดี และพระองค์เจ้าศุภโยคเกษมศรี (ขณะนั้น พระนามว่า ม.จ. เณร เกษมศรี) เป็นรองเสนาบดี นับจากนั้น พระองค์ก็ได้เกี่ยวข้องอยู่กับการเงินและการคลังตลอดมา จนได้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงคลัง เมื่อพระชนมายุได้ 28 พรรษา ในรัชสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2473 เมื่อตำแหน่งอธิบดีสรรพากรว่างลง ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอธิบดีสรรพากร นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเรื่องการเก็บภาษีอากรไปสู่ยุคทันสมัยให้เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีอากรยิ่งขึ้น และในระยะนี้ได้มีกรมสรรพสามิตมาขึ้นกับกรมสรรพากรด้วย จึงได้จัดให้มีการเก็บภาษีไม้ขีดไฟขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2475

พ.ศ. 2478 ได้ย้ายไปเป็นอธิบดีศุลกากร พระองค์ทรงปรับปรุงกิจการศุลกากรเข้าสู่แบบที่ทันสมัย โดยวิธีเก็บอากรตามสภาพและราคา ทรงจัดตั้งกองแบบพิธีศุลกากร กองศุลกาธิการ และขยายด่านศุลกากรให้เพิ่มมากขึ้น
ผู้ว่าการธนาคารชาติ

พ.ศ. 2485 เมื่อได้มีการตั้งธนาคารชาติขึ้น พระองค์ก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเป็นพระองค์แรก และขณะเดียวกันนั้นก็รับตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังด้วย นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอันมีเกียรตินี้ ด้วยเคยใช้ฝรั่งมาตั้งแต่สมัยพระบิดาที่เดียว ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พระองค์ได้ ทรงกระทำงานหลายอย่างหลายประการ เพื่อความก้าวหน้าและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ เมื่อพระองค์เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการฯ และที่ปรึกษากระทรวงการคลังนั้น  ได้เกิดสงครามในยุโรปมาแล้ว แต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2482 ทรงเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการค้าข้าวกับอังกฤษได้กำไรอยู่มาก และมีเงินตราผูกพันอยู่ในกลุ่มปอนด์สเตอร์ลิงค์มาช้านาน

แต่การที่จะเก็บเงินทุนสำรองของประเทศไทยเป็นรูปปอนด์ ฯ ไว้ที่ประเทศอังกฤษทั้งหมดจะไม่ปลอดภัยต่อสถานะสงครามที่เป็นอยู่ขณะนั้น รัฐบาลเห็นชอบด้วย จึงได้ย้ายทุนสำรองกลับมาประเทศไทยตามข้อเสนอของพระองค์ 38% ย้ายไปสหรัฐอเมริกา 12% และคงเก็บไว้ในประเทศอังกฤษ 50%

ในเรื่องบทบาทการก่อตั้งธนาคารชาติ นับว่าพระองค์มีส่วนสำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับสงครามญี่ปุ่นที่เข้ายึดประเทศไทย ภายหลังวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ประเทศไทยยอมรับหลักการสำคัญ 3 ประการคือ

1. ให้เงินเยน 1 เยน เท่ากับ 1 บาท ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นเงินเยนต่ำกว่าเงินบาท
2. การชำระเงินระหว่างญี่ปุ่นกับไทยให้ชำระหนี้กันด้วยเงินเยน
3. ให้ตั้งธนาคารกลางเพื่อจัดการเกี่ยวกับเงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สำคัญ เป็นฝ่ายญี่ปุ่น

พระองค์ในฐานะที่ปรึกษากระทรวงการคลังมาแต่ พ.ศ. 2481 ทรงเห็นว่า

ข้อ 1. จำต้องยอมรับตามอำนาจของญี่ปุ่นที่มีเหนือไทยในขณะนั้น
ข้อ 2. ต้องรับโดยปริยาย เพราะขณะนั้น ไม่มีทางค้าขายกับชาติทางยุโรปเลย
ข้อ 3. ทรงเห็นว่ายอมไม่ได้ จะเป็นการทำลายเสถียรภาพทางการเงินของชาติ และหมายถึงเป็นการเสียอิสรภาพของไทยไปในตัว จึงเสนอให้รัฐบาลไทยออกพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นโดยด่วน ทรงรับเป็นผู้ว่าการเอง หาคนไทยทำงานได้เองทุกตำแหน่ง และเปิดดำเนินการทันทีเมื่อ 10 ธันวาคม 2485 ครบรอบปีที่ญี่ปุ่นยึดครองไทย นับแต่นั้นไทยก็ได้จัดตั้งธนาคารกลางได้เป็นครั้งแรกและเรียบร้อยสืบมาจนทุกวันนี้ และต้นปี พ.ศ. 2485  พระองค์ได้เสด็จไปกรุงโตเกียว เพื่อเจรจาการเงินและการค้ากับญี่ปุ่น จึงเห็นได้ว่า ไทยมีอิสระในการเงินไม่ถูกบังคับแบบเดียวกับทุกประเทศที่ญี่ปุ่นยึดครองในระหว่างสงคราม

ในระหว่างสงครามที่แล้วนี้ ธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากประเทศอังกฤษไม่สามารถนำเข้ามาได้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับพิมพ์เองก็พิมพ์ไม่ทัน พระองค์ทรงจัดการแก้ไขให้โรงพิมพ์ในประเทศพิมพ์ธนบัตรใช้เอง โดยไม่เกิดการทุจริตเสียหายแต่ประการใดเลย
พระแก้วมรกต

ภายหลังสงครามพระองค์ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปเจรจาเพื่อเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ อินเดีย และออสเตรเลีย ที่เมืองแคนดี ประเทศลังกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2488 และได้เดินทางไปเจรจาต่อที่สิงคโปร์ จนได้ลงนามในสัญญาสมบูรณ์แบบเสร็จสิ้นเลิกสงครามเมื่อ 1 มกราคม 2489 คือไทยไม่ต้องแพ้สงครามตามสัญญาสมบูรณ์แบบ

คราวที่พระองค์ทรงเป็นหัวหน้าคณะทูตไทยไปเจรจาทำสัญญาเพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างไทยกับประเทศพันธมิตร ในคราวนั้น หากท่านได้ทราบความจริงเบื้องหลัง ชาวไทยทั้งมวลในขณะนั้นจะต้องพากันตื่นเต้นดีใจและอาลัยในคุณความดีของเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีพระองค์นี้เป็นยิ่งนัก ในครั้งนั้นคนไทยทั้งชาติเกือบจะต้องสูญเสียพระแก้วมรกต พระคู่บ้าน คู่เมือง พระผู้เป็นองค์ทรงคุ้มครองปกป้องชาติไทยให้ผ่านพ้นอันตรายและประสบสุขตลอดมา นับแต่สร้างกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 เราจะต้องอยู่อย่างไร้ความหมายและน่าอับอายขายหน้าเป็นที่สุด ถ้าหากไม่สามารถจะรักษาพระคู่บ้านคู่เมืองที่ล้ำค่าของเราไว้ได้ เมื่อพระองค์นั้นได้ถูกอัญเชิญไปนครเวียงจันทน์ ตามคำเรียกร้องแกมบังคับของมหาอำนาจชาติหนึ่ง ในการเจรจาที่เมืองแคนดี ประเทศลังกา ฝ่ายพันธมิตรผู้ยิ่งใหญ่หาว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้สงครามตามประเทศอักษะไปด้วย จึงได้เรียกร้องเช่นนั้น ณ นาทีนั้นเอง

เจ้าชายหนุ่มรูปงามวัย 46 พรรษา ทรงมีขัตติยมานะอย่างแรงกล้า ได้ลุกขึ้นจากที่ประชุมอย่างกระทันหัน ไม่ยอมแม้แต่มองหน้าฝรั่งหรือนั่งเจรจาต่อไป เมื่อทรงเห็นว่าข้อเรียกร้องนั้นเป็นการก้าวร้าวล่วงเกินแก่ประเทศไทย คนไทยทั้งชาติ และราชจักรีวงศ์ด้วย ที่ได้องค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรคืนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2321 หลังจากลาวได้ยึดครองไว้เป็นเวลา 410 ปี ไทยจึงได้คืนมาเมื่อสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพเอกของกรุงธนบุรี ยกทัพไปตีกรุงศรีสัตตนาคณะหุต เมืองลาว พระแก้วนี้อยู่ในเมืองไทยมาช้านาน มีผู้พบในพระสถูปร้างที่เชียงรายเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 1973 ภายหลังพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ไปครองเมืองลาว ได้นำพระแก้วมรกตไปให้ญาติที่เมืองหลวงพระบางชม เมื่อปี พ.ศ. 2095 และย้ายไปเวียงจันทน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2107 จนกระทั่งไทยได้อัญเชิญคืนมาเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง คู่อยู่กับ "พระพุทธสิหิงค์" จนตราบเท่าทุกวันนี้

เจ้าชายผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาให้เกียรติเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อคนไทยทั้งมวลอย่างใหญ่หลวงในครั้งนั้น พระองค์ตรัสว่า "ถ้าหากผู้เสนอไม่ถอนข้อเรียกร้องนั้นจะไม่ยอมเจรจาด้วย"

ร.ม.ต. คลัง

ภายหลังจากนั้นเมื่อพระชนมายุได้ 48 พรรษา ก็ได้ทรงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรก ในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระบิดาของพระองค์ได้ดำรงอยู่เมื่อ 40 ปีมาแล้ว เมื่อรัฐบาลชุดนั้นลาออกไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทูลขอให้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งนี้อีก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และพระองค์ได้ลาออกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2492 เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ขณะที่พระองค์ทรงเดินทางไปเจรจาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แม้กระนั้นพระองค์ก็ทรงช่วยการเงินของชาติอยู่ตลอดเวลา พระองค์ได้พยายามติดต่อวิ่งเต้นให้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกแห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสมาชิกธนาคารโลก ซึ่งชาติต่าง ๆ ภายหลังสงครามได้ประชุม และทำสัญญากันที่เมืองเบร็ตตันวูดส์ (Bretton Woods) ในสหรัฐอเมริกามาแล้ว แต่ พ.ศ. 2487 ด้วยความพยายามและความเลื่อมใสในพระองค์เป็นพิเศษ ทำให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก 2 องค์การนี้ได้ เมื่อ 3 พฤษภาคม 2492 จนกระทั่งธนาคารโลกยอมให้ประเทศไทยกู้เงินเพื่อบูรณะประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2494 เป็นเงิน 25.4 ล้านดอลล่าร์ เพื่อบูรณะการท่าเรือ การชลประทาน และการรถไฟ นี่คือคุณงามความดีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ให้เจริญรุ่งเรือง สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ความเชี่ยวชาญในด้านการเงินและการคลังของพระองค์ที่ได้รับยกย่องไปทั่วโลกครั้งแรก และเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติมากมายเช่นนั้น คือ เลขาธิการสหประชาชาติได้เชิญให้พระองค์เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกับบุคคลอื่น ๆ อีก 2 ท่าน สำหรับให้คำปรึกษาแก่เลขาธิการว่าด้วยรายงานการเศรษฐกิจของโลก พระองค์ได้เสด็จไปประชุมที่สหประชาชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2498

พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเมื่อ พ.ศ. 2493 และเป็นองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2495 ได้ประชวรด้วยโรคพระหฤทัยสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ขณะทรงพระอักษรเมื่อ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสต่างประเทศ ทรงรับข่าวด้วยความเศร้าสลดพระทัยยิ่ง ในวันพระราชทานเพลิงพระศพ ทรงพระราชทานโกศเทียบเท่าชั้นเจ้าต่างกรม

หากจะเกิดการผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง ผู้เล่าขอกราบประทานอภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

สวัสดี


อ่านบทความจากต้นฉบับ : อ. เลี่ยมยองใย. (2516, มิถุนายน). เรื่องเก่า (ผู้) เล่าใหม่. ธปท. ปริทรรศน์, 3 (2), 26 – 31





ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้