กว่าจะเห็นโรงพิมพ์ธนบัตร โดย สุรพล เย็นอุรา

เผยแพร่23 มี.ค. 2025
แหล่งผลิตยามศึก

วิธีขจัดปัดเป่าปัญหาความ ขาดแคลนธนบัตรของไทยเราในห้วงเวลาแห่งสงคราม นับได้ว่า ควรแก่ความสนใจไม่น้อย ทั้งคำตอบและคำอธิบายต่อไปนี้ของคุณสุบิน เชื้อสมบูรณ์ จากการย้อนรำลึกกลับไปสู่อดีตแต่สี่สิบกว่าปีก่อน นับได้ว่ามีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้คนในวันนี้มองเห็นสภาพอันถูกต้องเป็นจริงของการผลิตธนบัตรเพื่อบรรเทาความขาดแคลนในยุคนั้นเช่นกัน

"ตอนแรก ๆ กรมแผนที่ทหารบก พิมพ์ให้เฉพาะราคา ๑ บาท เขาใช้ทั้งเครื่องที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับที่ขนหนีภัยระเบิดไปไว้ที่เพชรบูรณ์ แต่ก็ผลิตได้ไม่พอกับความต้องการ ต้องให้กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือช่วยก็ยังไม่ไหวอยู่ดี จึงต้องเอาไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์เอกชนด้วย แต่ที่พิมพ์กับโรงพิมพ์เอกชนนั้น ส่วนใหญ่ให้พิมพ์แต่ชนิดราคาต่ำ ใบละพันใบละร้อยใบละยี่สิบกับใบละสิบ พิมพ์ที่กรมแผนที่ทหารบก ส่วนกรมอุทกศาสตร์ให้พิมพ์ชนิดราคา ๑๐๐ บาทกับ ๒๐ บาท แต่เนื่องจากในระยะหลัง ได้พิจารณาลดการสอดสีเฉพาะลายเฟืองบริเวณคำว่า "รัฐบาลไทย" กับ "ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย"ลง โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคา ๑,๐๐๐ บาทและ ๑๐๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นธนบัตรชนิดราคาสูง จึงได้มีการประทับตราพระสยามเทวาธิราชลงบนด้านหลังของธนบัตรคร่อมบนรอยประระหว่างต้นขั้วกับตัวธนบัตร เพื่อสามารถตรวจสอบกรณีที่สงสัยว่าเป็นธนบัตรของรัฐบาลหรือธนบัตรปลอม โดยนำตัวธนบัตรนั้นมาเทียบกับต้นขั้ว หากรอยต่อเข้ากันได้ ก็หมายความว่าเป็นธนบัตรของรัฐบาล

 

สำหรับธนบัตรชนิดราคา ๑,๐๐๐ บาทนั้น ด้วยเหตุที่เป็นธนบัตรชนิดราคาสูง จึงได้ออกแบบขึ้นใหม่ โดยมอบให้คุณช่วง สเลลานนท์ ช่างศิลป์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่ามีความเป็นเอกผู้หนึ่งในการเขียนลวดลายไทยในยุคนั้นเป็นผู้ออกแบบ ส่วนชนิดราคาอื่นใช้ถ่ายแบบจากของเดิมที่พิมพ์กับบริษัทโทมัสเดอลารู

คุณสุบินฯ บอกว่าโรงพิมพ์ของราชการอีกแห่งที่เคยพิมพ์ธนบัตรให้คือโรงพิมพ์ศาลาลูกขุนใน อยู่ที่ชั้นล่างบริเวณสำนักงาน ก.พ. เดิมในพระบรมมหาราชวัง และอีกแห่งหนึ่งที่เป็นของทางราชการคือโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเคยมีผู้เข้าใจว่าเคยพิมพ์ธนบัตรให้เช่นกันนั้น ความจริงแล้วโรงพิมพ์ดังกล่าวก็ได้ออกแบบและเสนอราคามาให้พิจารณาเช่นกัน แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาแล้ว ก็ตอบปฏิเสธไป สำหรับการพิมพ์ธนบัตรที่โรงพิมพ์เอกชนนั้น ย่อมเป็นทั้งความแปลกใจและน่าสนใจของคนยุคปัจจุบันเช่นกัน คุณสุบินฯ เล่าว่า 

"เราเลือกเอาเฉพาะแต่โรงพิมพ์ที่ผลงานอยู่ในระดับมาตรฐาน โดยให้พิมพ์แต่เฉพาะราคาต่ำอย่าง ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท กับ ๕๐ บาท แบบ ๗ เช่นที่กิมไป้ อยู่ในซอยจุฬาฯ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ จันกวงอยู่ถนนเสือป่า จันหว่าอยู่ที่พาหุรัด อักษรนิตอยู่บางขุนพรหม คณะช่างอยู่ถนนอุนากรรณ กับอีกแห่งคือกรุงเทพวานิช อยู่ซ้ายมือท่าน้ำราชวงศ์ สำหรับโรงพิมพ์รายหลังนี้ ผมอยู่ในกรรมการชุดแรกที่ไปควบคุม พอถึงเวลาปิดแท่น เราจะต้องเอากระดาษปิดทับลงไปบนหินแม่แบบแล้วประทับตราทุกด้านเพื่อไม่ให้เขา เอาไปใช้พิมพ์ต่อ แล้วนำเก็บไว้ในตู้มั่นคงประจำตราไว้ พอรุ่งขึ้นก่อนเอามาพิมพ์ ก็จะต้องตรวจเช็คดูความเรียบร้อยก่อนว่าตราที่ประทับกับแม่แบบหินนั้นไม่ได้เคลื่อนที่หรือมีรอยชำรุด สำหรับโรงพิมพ์เอกชนอื่น ๆ ก็ทำด้วยวิธีอย่างเดียวกันนี่"

อย่างไรก็ตาม การใช้โรงพิมพ์เอกชนเป็นแหล่งผลิตธนบัตรดังกล่าวนั้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมอบหมายการพิมพ์ให้กับเจ้าหน้าที่ของแต่ละโรงพิมพ์เพราะเป็นผู้มีความชำนาญในการใช้เครื่องยิ่งกว่าผู้อื่น "ที่พิมพ์กันอย่างชนิดหามรุ่งหามค่ำตลอด ๒๔ ชั่วโมงโดยไม่เว้นวันเสาร์วันอาทิตย์นั่น เฉพาะที่โรงพิมพ์กรมแผนที่แห่งเดียวนะ มีพนักงานของธนาคารไปควบคุมโดยแบ่งกันเป็นกะ ๆ ละ ๘ ชั่วโมง ส่วนแห่งอื่น ๆ นั้น ปกติแล้วจะเริ่มพิมพ์และเลิกตามเวลาทำงานปกติ"

ด้วยเหตุที่ปริมาณธนบัตรที่จัดพิมพ์จากโรงพิมพ์ของกรมแผนที่มีมากยิ่งกว่าโรงพิมพ์แห่งอื่น ๆ จึงมักจะมีผู้กล่าวกันว่า ธนบัตรไทยยุคนั้นพิมพ์จากกรมแผนที่

 

ลูกค้ารายใหญ่

เมื่อเอ่ยชื่อ "หลวงธนาทรพินิศ" (นามเดิม เล็ก จันทโรจวงศ์) ผู้ที่เคยทำงานในแวดวงงานของกระทรวงการคลังแต่ยุคก่อนย่อมรู้จัก เพราะก่อนหน้าที่ท่านผู้นี้จะพ้นจากชีวิตราชการมาทำงานอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทยโดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคาร ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ปัญหาในด้านความขาดแคลนธนบัตรรุนแรงนั้น ท่านเคยผ่านหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบสำคัญ ๆ หลายต่อหลายตำแหน่งทั้งที่กรมสรรพากรและกรมศุลกากร และด้วยเหตุที่เคยผ่านการศึกษาจากสถาบันศึกษาในเมืองอีโปห์ สหพันธรัฐมลายู จึงได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานในฐานะกรรมการผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำพิธีการทั้งด้านสรรพากรและศุลกากรแก่ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทหารซึ่งปกครองดินแดนแดนสี่รัฐมลายู ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นหลังจากยึดครองมลายูได้แล้วก็ส่งมาให้ไทยปกครองอีกครั้งหนึ่ง เป็นการตอบแทนน้ำใจที่ไทยร่วมเป็นพันธมิตรในการทำสงคราม ทั้งนี้นอกไปจากความรอบรู้ดังกล่าวแล้ว คุณหลวงฯ ยังเป็นผู้เดียวในขณะนั้นก็ว่าได้ที่มีความสันทัดในการใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู ตำแหน่งท้ายสุดในชีวิตราชการของท่านคือประจำกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะเข้ามาทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันกล่าวได้ว่าคุณหลวงฯ เป็นอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงผู้เดียวที่มีอายุยืนยาวที่สุดคือ ๙๓ ปี ในปีปัจจุบัน แม้จะอยู่ในวัยสูงถึงเพียงนี้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ความทรงจำในเรื่องราวจากอดีตอันยาวไกลของท่านผู้นี้หาได้เป็นรองผู้ใดไม่

คุณหลวงฯ เล่าถึงภาระหน้าที่ของท่านในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาธนบัตรขาดแคลนว่า "หน้าที่รับผิดชอบของผมมีอยู่เฉพาะในวังหลวง คอยเก็บรักษาเงินกับเบิกจ่ายเงินเท่านั้น ส่วนคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องพิมพ์ธนบัตรและรวบรวมธนบัตรมาส่งให้ผมในแต่ละวันเพื่อพิมพ์ลายเซ็นก็คือหม่อมคึกฤทธิ์ฯ"



คุณหลวงฯ หมายถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยและดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคาร  "ตอนนั้นหม่อมฯ ยังหนุ่มแน่น รอบรู้งานพิมพ์ดีกว่าใคร ๆ และยังรู้จักคนกว้างขวางด้วย ทุกวัน หม่อมฯ จะต้องมีหน้าที่ตระเวนไปควบคุมดูแลการพิมพ์ในทุกแห่งที่เราให้พิมพ์ธนบัตร เหนื่อยทีเดียวแหละครับ เพราะต้องเริ่มกันแต่เช้าและดูแลความเรียบร้อยจนกระทั่งโรงพิมพ์เลิก บางวันก็เลิกจนดึกดื่นเพื่อรวบรวมธนบัตรมาส่งผม ผมก็ต้องอยู่รอจนกว่าจะส่งครบ"

คุณหลวงฯ ถ่ายทอดความทรงจำถึงวิธีการควบคุมดูแลการพิมพ์ธนบัตรของแต่ละโรงพิมพ์ว่า "เวลาเอากระดาษไปส่ง ทุกโรงพิมพ์จะต้องตรวจนับจำนวนให้ถูกต้องก่อน เรียกว่า นับกันเป็นรายแผ่นที่เดียวแหละ พอปิดแท่น หม่อมฯ ก็จะต้องดูแลว่าจำนวนกระดาษที่ใช้ไปแต่ละแห่งแต่ละวันนั้นมันครบถ้วนกับจำนวนที่เหลือหรือเปล่า รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้พิมพ์อย่างหมึกพิมพ์"

หมึกพิมพ์ที่นำมาใช้พิมพ์ธนบัตรในระยะหลัง ๆ นั้น คุณหลวงฯ เล่าว่าเป็นหมึกพิมพ์ที่มิได้ผลิตขึ้นเพื่อพิมพ์ธนบัตรเพราะไม่สามารถแสวงหาได้ ต้องบังคับซื้อหมึกพิมพ์สีต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับงานพิมพ์ปกติธรรมดาเท่าที่พอจะหาได้มาใช้แทน "คิดดูก็แล้วกัน อย่าว่าแต่หมึกพิมพ์หรือกระดาษเลย แม้แต่ผ้าสำลีสำหรับทำความสะอาดแม่พิมพ์ ก็ยังหาซื้อไม่ได้ ต้องซื้อผ้าห่มนอนชนิดสำลีตามท้องตลาดมาใช้แทน แล้วยังหาซื้อได้ยากอีกด้วย"

ต่อคำถามที่ว่าเมื่อธนบัตรขณะนั้นทำกันด้วยกรรมวิธีง่าย ๆ เช่นนั้น มีธนบัตรปลอมระบาดมากน้อยแค่ไหน คำตอบของคุณหลวงฯ ก็คือ  "ก็เป็นโชคดีของเมืองไทยนะที่ยุคนั้นคนทุจริตมีไม่มาก จึงไม่ค่อยมีใครพิมพ์ธนบัตรปลอม แต่ก็คงเป็นเพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับพิมพ์หาได้ยากนั่นแหละ ไปเริ่มระบาดเอาตอนเลิกสงคราม เราถึงได้รีบหาธนบัตรชนิดใหม่มาแทน"

กับอีกคำถามหนึ่งที่ว่า ธนบัตรที่ผลิตได้ในแต่ละวันนั้น ได้นำไปจ่ายให้ผู้ใดบ้าง คุณหลวงฯ ตอบพร้อมกับหัวร่อเสียงลั่นว่า "ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดที่เอารถบรรทุกคันใหญ่มารอตั้งแต่ออฟฟิซยังไม่เปิดก็คือทหารญี่ปุ่นนั่นแหละ ผลิตออกมาได้เท่าไหร่ก็ไม่ค่อยจะพอกับจำนวนที่มาขอเบิก"

หนทางออกหลังสงคราม
ถึงแม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ปัญหาในด้านความขาดแคลนธนบัตรก็ยังหาได้สิ้นสุดลงด้วยไม่ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่บริษัทโทมัสเดอลารูก็ยังไม่พร้อมที่จะผลิตธนบัตรได้ เนื่องจากโรงงานต้องประสบกับความเสียหายในระหว่างสงครามเช่นกัน ในช่วงเวลาเหล่านี้จึงต้องอาศัยธนบัตรซึ่งพิมพ์ไว้แต่เดิมออกใช้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนหนึ่งได้มาจากธนบัตรชนิดหนึ่งดอลลาร์ซึ่งจัดพิมพ์ไว้แต่ช่วงต้นของสงครามเพื่อจะนำไปใช้ในสี่รัฐมลายูคือไทรบุรี ปลิศ กลันตัน และตรังกานู สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยซึ่งถูกส่งเข้าไปปกครองในช่วงเวลาที่กล่าวนั้น แต่ในที่สุดก็มิได้นำออกใช้

ในหนังสือ "ธนบัตรไทย" ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดพิมพ์ในวาระที่มีการประกอบธุรกิจมาครบปีที่สามสิบนั้น ได้นำคำถามคำตอบของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ปัญหาประจำวันมาตีพิมพ์ด้วย ซึ่งเห็นควรคัดลอกมากล่าวอีกครั้งกรณีการนำธนบัตรดอลลาร์ที่คนไทยจัดพิมพ์เพื่อจะนำไปใช้ในสี่รัฐดังกล่าว

คำถามก็คือ "เมื่อไทยได้รับดินแดน ๔ รัฐมาลัยจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เห็นหม่อมเข้าไปที่ บก. ข้าหลวงใหญ่ทหาร หม่อมมีหน้าที่อะไร และได้ทำประโยชน์อย่างไรบ้างให้แก่ประเทศชาติในสมัยนั้นและสืบเนื่องมาในปัจจุบันนี้?"

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้คำตอบว่า "ตอนนั้นผมไปในฐานะผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสังเกตการณ์เกี่ยวกับการเงินและการคลังในรัฐเหล่านั้น เมื่อก่อนจะรับมอบ รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ดำริที่จะพิมพ์ธนบัตรไปใช้ในรัฐต่าง ๆ เหล่านั้น ผมไปดูมาแล้วเห็นท่าไม่ได้การ ก็รีบกลับมารายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (คุณพระบริภัณฑ์ฯ) บอกว่า ถ้าขืนพิมพ์ธนบัตรของไทยเข้าไปใช้ ไทยจะเจ๊งเมื่อเสร็จสงคราม เพราะเมื่อฝรั่งเขากลับมาเขาจะบังคับให้เราถอนธนบัตรคืน และจ่ายเงินตราชนิดอื่นที่มีค่ากว่า เพื่อแลกเปลี่ยนกับธนบัตรเหล่านั้น เราจะไปเอาที่ไหนมาให้เขา และอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเขาก็อาจตั้งในอัตราที่เราเสียเปรียบถึงขนาดล่มจมก็ได้ ผมจึงเสนอว่าเห็นควรให้ใช้ธนบัตรที่ญี่ปุ่นพิมพ์ออกใช้อยู่มากมายก่ายกองเรื่อย ๆ ไป เสร็จสงครามแล้วฝรั่งก็ไปไล่เบี้ยกับญี่ปุ่นเอาเอง ส่วนไทยนั้นเมื่อเขามอบเมืองให้เราก็เข้าไปครอง เสร็จสงครามแล้วเราก็คืนเขาไป ถอนคนของเรากลับ การเงินการทองเราไม่รู้ด้วย รัฐบาลก็เลยเลิกล้มความคิดที่จะใช้ธนบัตรนั้นเสีย ความจริงธนบัตรดอลลาร์ไทยที่จะเอาไปใช้ในมลายูนั้นพิมพ์ไว้มากแล้ว ต่อมาธนบัตรในเมืองไทยเกิดขาดแคลนพิมพ์อย่างไรก็ไม่ทัน ผมอยู่ฝ่ายออกบัตรธนาคารที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เลยเอาธนบัตรเหล่านั้นมาพิมพ์เอาสีดำทับข้อความบางอย่างออก จะพิมพ์เป็นราคากี่บาทก็จำไม่ได้เสียแล้ว จำได้ว่าเรียกกันว่า "ธนบัตรไว้ทุกข์" แล้วด่ากันจมไปเลย ทั้งหมดนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ใครแค่ไหนก็ไม่ทราบครับ"

ธนบัตรดอลลาร์ชนิดที่ดัดแปลงเพื่อนำไปแก้ปัญหาความขาดแคลนธนบัตรดังกล่าวนี้ คือชนิดราคา ๕๐ บาท ซึ่งเรียกกันเป็นการภายใน "แบบพิเศษ" และจากกรณีที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ก็คงพอจะเป็นที่เข้าใจของคนยุคปัจจุบันว่า ธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท ซึ่งออกใช้อยู่ในทุกวันนี้นั้น มิใช่ชนิดราคาใหม่แต่อย่างใด หากได้ใช้กันมาก่อนแล้ว และก่อนหน้านี้ก็ได้เคยออกใช้มาแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๑

กับอีกส่วนหนึ่งที่นำมาแก้ปัญหาความขาดแคลนคือชนิดราคา ๕๐ สตางค์  ธนบัตรที่กล่าวนี้มีแหล่งผลิตจากชวา (ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) เพราะเมื่อญี่ปุ่นยึดครองชวาแล้ว ได้พบว่ามีโรงพิมพ์ธนบัตรที่ฮอลันดาสร้างไว้ จึงตั้งใจว่าจะใช้เป็นที่พิมพ์ธนบัตรไทย โดยจะเริ่มพิมพ์ชนิดราคา ๑๐ บาทก่อน แต่ด้วยเหตุที่เทคนิคในการพิมพ์ต่ำ คุณภาพจึงด้อยกว่าที่เคยพิมพ์จากประเทศของตนทั้งลวดลายและเนื้อกระดาษ ฝ่ายไทยจึงไม่ยอมรับ ครั้นจะทำลายก็เสียดาย จึงเอามาแก้ให้เป็นธนบัตรชนิดราคาต่ำสุดคือ ๕๐ สตางค์ ซึ่งก็มีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องขาดแคลนธนบัตรได้บ้าง

และหนทางออกที่สำคัญหลังสงครามก็ได้แก่การขอร้องไปยังรัฐบาลสหรัฐให้ช่วยจัดพิมพ์ให้ 

ธนบัตรที่จัดพิมพ์จากสหรัฐอเมริกานี้ แม้จะมีคุณภาพของเนื้อกระดาษดี แต่สีที่ใช้เป็นสีอ่อนและพิมพ์ระบบเส้นราบดุจเดียวกับธนบัตรของสหรัฐเอง ทำให้สะดวกแก่การปลอมแปลง จึงเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ บริษัทโทมัสเดอลารูแจ้งว่าพร้อมแล้วที่จะพิมพ์ให้ จึงได้เริ่มสั่งพิมพ์ธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ สำหรับชนิดราคา ๕๐ สตางค์ ซึ่งบริษัทพิมพ์ไว้แต่ก่อนสงครามก็จัดส่งมาให้ด้วย ธนบัตรชนิดราคา ๕๐ สตางค์นี้ ได้จัดพิมพ์ขึ้นหลังจากขุนสมาหารหิตคดีซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลังได้เดินทางไปประเทศจีนเมื่อกลับมาก็เสนอความเห็นว่าควรออกธนบัตรในราคานี้ จึงได้สั่งพิมพ์ไป แต่ก็เกิดสงครามเสียก่อน


ย่างกุ้ง – ที่ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรไทย
ธนบัตรที่ไทยเริ่มสั่งพิมพ์กับบริษัทโทมัสเดอลารูในวาระแรกหลังจากสิ้นสุดสงครามนั้น ได้แก่ ชนิดราคา ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท และ ๑๐๐ บาท

ความต่อไปนี้ได้คัดมาจาก"ธนบัตรไทย" เพราะเห็นว่ามีสาระที่น่าสนใจ 

"ธนาคารไม่ทราบว่าธนบัตรที่สั่งไปชนิดราคา ๑ บาท ๕ บาท และ ๑๐ บาท พิมพ์ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า มาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ปรากฏว่าธนบัตรชนิดราคา ๑ บาท (ชนิดที่สั่งให้บริษัทโทมัสเดอลารูพิมพ์) ๔ ฉบับ ซึ่งยังไม่มีลายมือชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีผู้นำเข้ามาในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ธนาคารได้สอบถามไปยังบริษัทฯ  บริษัทฯได้ชี้แจงมาให้ทราบว่าเป็นธนบัตรเสียจะต้องทำลาย แต่ถูกคนงานในโรงพิมพ์ที่กรุงย่างกุ้งลักเอาไปจำนวนเล็กน้อย การที่บริษัทฯ เปิดสาขาโรงพิมพ์ขึ้นที่กรุงย่างกุ้งนั้น บริษัทฯ อ้างว่าเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว และเพื่อประหยัดค่าขนส่ง ธนาคารจึงทราบว่าบริษัทฯ ได้พิมพ์ธนบัตรของไทยที่ประเทศพม่าด้วย ธนาคารได้ให้หัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคาร (หลวงธนาทรพินิศ) เดินทางไปดูวิธีการควบคุมการพิมพ์ธนบัตรที่กรุงย่างกุ้งเมื่อเดือนมกราคม ๒๔๙๒ ครั้นเมื่อหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารเดินทางไปถึงจึงได้ทราบเพิ่มเติมว่า บริษัทฯได้พิมพ์ธนบัตรราคาสูงคือ ๕ บาทและ ๑๐ บาทที่กรุงย่างกุ้งด้วย โดยสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอนพิมพ์สีพื้น แล้วส่งมาให้สาขาพิมพ์เส้นนูนและหมวดเลขหมายลายเซ็น ธนาคารได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าขณะนั้นไม่ราบรื่น มีการรบพุ่งกับพวกมอญและกะเหรี่ยงใกล้ ๆ กับกรุงย่างกุ้งแทบทุกวัน ประกอบกับกรุงย่างกุ้งก็อยู่ใกล้กับประเทศไทย สะดวกแก่การลักลอบนำธนบัตรเข้ามาในประเทศด้วย นอกจากนั้น ไม่มีเรือเดินตรงจากย่างกุ้งมากรุงเทพฯ ต้องขนถ่ายที่สิงคโปร์ อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ง่าย ธนาคารจึงขอให้บริษัทฯ งดพิมพ์ธนบัตรชนิดราคาสูงที่กรุงย่างกุ้งเสีย ซึ่งบริษัทฯ ก็ยินยอมปฏิบัติตาม สั่งงดพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา ๕ บาทและ ๑๐ บาทที่กรุงย่างกุ้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๔๙๒ และให้สาขาส่งกระดาษหมึกพิมพ์ แม่พิมพ์ และธนบัตรที่พิมพ์แล้วบางส่วนกลับคืนไปยังสำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ ในขณะที่ขนธนบัตรที่พิมพ์แล้วบางส่วนและอุปกรณ์การพิมพ์ลงเรือลำเลียงเพื่อบรรทุกขึ้นเรือใหญ่นั้น เรือลำเลียงเกิดอุบัติเหตุจมลงในแม่น้ำอิรวดี ธนบัตรชนิดราคา ๒๐ บาท หมวดดอกจันหีบหนึ่ง ๕๐,๐๐๐ ฉบับได้จมหายไป ภายหลังมีผู้เก็บขึ้นมาได้นำออกขายในประเทศพม่า แล้วส่งเข้ามาในประเทศไทย ธนาคารจึงได้ทราบอีกว่า นอกจากธนบัตรชนิดราคา ๑ บาท และ ๑๐ บาทแล้ว สาขาบริษัทฯ ที่ย่างกุ้งยังพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา ๒๐ บาท หมวดดอกจันอีกด้วย"
สำหรับธนบัตรที่มีผู้ลักลอบ นำเข้ามาใช้ในประเทศนั้น เมื่อทางเราได้รับแลกไว้เท่าใดบริษัทฯ ก็ยินดีชดใช้ให้ทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลวงธนาทรพินิศ หัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารซึ่งได้รับคำสั่งจากธนาคารให้เดินทางไปกรุงย่างกุ้งได้เล่าว่า




"ตอนนั้นเดินทางไปพม่ายังไม่มีสายการบินอื่นเพราะสงครามพึ่งเลิก มีก็แต่เฉพาะเครื่องบินโดยสารของบริษัท บี.โอ.เอ.ซี. ซึ่งเป็นเครื่องบินน้ำ มีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารสองชั้น ผมไปขึ้นเรือบินที่ท่าเรือคลองเตย และที่เดินทางไปเที่ยวนั้นมีผมเพียงคนเดียวที่เป็นคนไทย พอถึงย่างกุ้งเครื่องบินก็จอดในแม่น้ำอิรวดี แล้วก็เดินทางไปยังที่ตั้งของโรงพิมพ์เป็นเนินอยู่ที่ถนนแคมป์เบลล์ ห่างจากตัวเมืองไม่มากนัก

โรงพิมพ์ที่เขาสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรงทีเดียว บริเวณกว้างขวางยิ่งกว่าโรงพิมพ์ธนบัตรของเราเสียอีก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามาซื้อหรือทางรัฐบาลพม่าจัดให้ มีกำแพงสูงรอบบริเวณ และตัวที่ตั้งโรงพิมพ์เขาก็ยังทำกำแพงกั้นไว้อีกชั้นหนึ่ง เขาต้อนรับขับสู้และอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีแหละ ให้ผมเดินตรวจวิธีการทำงาน สงสัยอะไรก็อธิบายให้ฟังไม่มีปิดบัง ทั้งผู้จัดการ ช่างใหญ่ และช่างคุมเครื่องล้วนเป็นคนอังกฤษ นอกจากลูกจ้างซึ่งเป็นพม่า แต่เขาก็เลือกจ้างเฉพาะคนที่มีความรู้ในงานที่เกี่ยวกับโรงพิมพ์เท่านั้น

หลังจากนั้นผมก็บอกเขาว่าอย่าพิมพ์ธนบัตรของไทยที่นี่เลยเพราะชายแดนไทยกับพม่านั้นติดต่อกัน มันจะเกิดการยั่วยวนใจให้คนพม่าหรือคนงานที่เป็นพม่าซึ่งตามปกติก็เดินทางไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ ให้ทุจริตคิดมิชอบได้ง่าย เขาก็รับฟัง ผมพักอยู่ในโรงแรมที่ย่างกุ้งราว ๆ หนึ่งอาทิตย์

พอกลับมาก็รายงานให้ธนาคารรู้ หลังจากนั้นทางสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ก็มีหนังสือบอกมายังธนาคารว่าจะเลิกพิมพ์ที่พม่า แล้วเขาก็รื้อถอนโรงงานไปจริง ๆ เครื่องพิมพ์ที่ใช้ก็ขนกลับไปไว้ที่บอมเบย์ซึ่งเขามีโรงงานอยู่เดิม เข้าใจว่าคงพิมพ์ธนบัตรให้รัฐบาลอินเดีย

ตอนหลังผมได้พบกับนายเวสตอลล์ประธานบริษัทฯ กับนายเฮาส์แมน ลูกเขยซึ่งเป็นผู้จัดการจึงต่อว่าว่า ทำไมมาตั้งโรงพิมพ์อยู่ในพม่าถึงได้ไม่บอกกล่าวกันก่อน เขาก็แก้ว่าได้บอกให้ผู้ใหญ่ของไทยรู้แล้ว แต่ก็ต้องชมเขานะ เมื่อบอกให้เลิก เขาก็เลิกจริงๆ ทั้งๆ ที่ลงทุนไปแล้วไม่รู้เท่าไร"

ความพยายามครั้งแรก
สงครามโลกครั้งที่สองพึ่งผ่านพ้นไป  ถึงแม้สภาพการณ์ในด้านธนบัตรจะคืนกลับสู่ปกติโดยไทยเราสามารถสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัสเดอลารูดุจกาลก่อนแล้วก็ตาม แต่กรณีอันเกี่ยวเนื่องกับธนบัตรยังคงเป็นกรณีที่ยังจะต้องพิจารณาโดยต่อเนื่องสืบไป

สัมพันธภาพระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามได้กระชับแนบแน่นยิ่งกว่าก่อนหน้านั้น มีการติดต่อระหว่างกันมากขึ้นทั้งทางด้านรัฐบาลและเอกชน และด้วยเหตุที่สหรัฐเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มมหาอำนาจผู้มีชัยในสงคราม ได้มีข้อขัดแย้งในลัทธิการเมืองกับมหาอำนาจบางประเทศซึ่งเคยเป็นพันธมิตรมาก่อน เพราะฉะนั้นในการให้ความช่วยเหลือหรือความร่วมมือใด ๆ ที่ให้กับประเทศต่าง ๆ จึงมักจะเน้นหนักในด้านการต่อต้านกับลัทธิคอมมิวนิสต์ จากนโยบายทางการเมืองดั่งกล่าว จึงเป็นช่องทางให้คนอเมริกันบางคนถือโอกาสเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในประเทศไทยโดยอาศัยเหตุผลที่กล่าวนั้นเป็นเครื่องมือ

เช่นกรณีของนายวิลเลียมพี. ฮั้นท์ ประธานกรรมการบริษัทซีเคียวริตี้พริ้นติ้ง บริษัทเอกชนผู้รับจ้างพิมพ์ธนบัตรแห่งหนึ่งของสหรัฐ ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย

กล่าวกันว่าพ่อค้าอเมริกันผู้นี้กว้างขวางในวงการต่าง ๆ ของสหรัฐทั้งด้านทหารและพลเรือน เมื่อเดินทางเข้ามายังประเทศไทยนั้นก็ได้ติดต่อขอเข้าพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีโดยตรง แจ้งว่าตนมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนายพลโดโนแวน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในภูมิภาคแห่งนี้ และเมื่อได้ติดต่อกับนายพลดังกล่าวซึ่งเข้ามาในประเทศไทยก็ได้รับคำยืนยันว่ามีความชอบพอกันจริง จึงเป็นผลให้เส้นทางในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นไปด้วยความสะดวกยิ่งขึ้น การเข้าพบก็เพื่อเสนอตัวรับพิมพ์ธนบัตรให้กับประเทศไทยด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกก็ได้แก่การแสดงความหวั่นวิตกว่าประเทศคอมมิวนิสต์อาจจะบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยการพิมพ์ธนบัตรปลอมเข้ามาใช้ กับอีกประการหนึ่งคือ เห็นว่าธนบัตรซึ่งไทยสั่งพิมพ์จากบริษัทโทมัสเดอลารูนั้น คุณภาพไม่ดีทั้งกระดาษและหมึกพิมพ์ สะดวกแก่การปลอมแปลง นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการคลัง (พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ) ก็ให้นายฮั้นท์ ไปพบกับหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารคือ หลวงธนาทรพินิศ

การปรากฏตัวของพ่อค้าอเมริกันผู้นี้ กล่าวได้ว่าสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่บรรดาผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นอันมาก คุณหลวงฯลำดับเหตุการณ์ในขณะนั้นให้ฟังว่า

"เขามาหาผมในห้องทำงานอยู่ใต้ถุนกระทรวงการคลังบอกว่าบริษัทฯ เขาพิมพ์ธนบัตรให้แก่รัฐบาลของหลายประเทศมาแล้ว โดยเฉพาะในอินโดจีนอย่างเขมร ลาว กับญวน เขาก็พิมพ์ให้ เรื่องที่เขาบอกนี่ถึงจะจริงแต่เราก็รู้กันอยู่ว่า ตอนนั้นพึ่งเลิกสงคราม ฝรั่งเศสเองก็ยังไม่พร้อมที่จะพิมพ์ธนบัตรให้เมืองขึ้นใช้ เมื่อมีผู้เสนอตัวรับพิมพ์ก็ไม่ขัดข้อง โดยเฉพาะเป็นบริษัทของอเมริกาซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกันระหว่างทำสงคราม เมื่อขอตัวอย่างธนบัตรที่เขาพิมพ์มาทดลองโดยเอาไปแช่น้ำ สีหมึกก็ละลายน้ำ การพิมพ์ก็พิมพ์อย่างเรียบ ไม่มีลายน้ำซึ่งเป็นแบบเดียวกับธนบัตรอเมริกัน ลวดลายก็ไม่มีเส้นนูน ผลเลยบอกไปว่า ธนบัตรที่เขาพิมพ์นี่มันขาดลักษณะที่คนไทยต้องการ ถ้าอยากพิมพ์ก็จะต้องพิมพ์อย่างที่โทมัสพิมพ์เพราะคนไทยนั้นชินกับธนบัตรของโทมัส ถ้าเปลี่ยนไปมันจะกระทบกระเทือนกับประชาชน

เขาแย้งว่า เหตุผลอย่างนั้นไม่พอ เพราะคนอเมริกันเองซึ่งมีจำนวนเป็นร้อย ๆ ล้านยังไม่มีปัญหา เมื่อเห็นผมยืนกรานไม่ยอมตกลงด้วย ก็กลับขึ้นไปบนกระทรวง คุณพระฯ ก็ให้พบกับคุณป๋วยฯฟังข้อขัดข้องอย่างที่ผมบอกไป

คุณป๋วยฯ ก็บอกว่า ถูกอย่างที่ผมว่า ถ้าอยากพิมพ์ก็ต้องพิมพ์ตามที่ผมบอกไปนั่น ไอ้ฝรั่งอเมริกันคนนี้มันกักขละจริง ๆ มันคงโมโหสุดขีดจึงพูดใส่หน้าทั้งคุณพระและคุณป๋วยว่า ที่ตอบกันอย่างนี้มันพวกกินสินบน ข้าราชการพวกนี้ต้องเอาไปยิงเป้าเสียแหละดี

คุณป๋วยโกรธมากทีเดียว ท่านบอกว่าจะไปฟ้องสถานทูตในข้อหาหมิ่นประมาท แต่คุณพระก็ยับยั้งไว้ ที่มันพูดอย่างนี้ผมก็ถือว่ามันรวมผมเข้าไปด้วย ถ้าฟ้องละก็มีหวังแน่ พยานหลักฐานก็ชี้ชัดว่ามันโอหังจริง ๆ หลังจากนั้นมันก็หายหน้าไป"

ความพยายามครั้งที่สอง
มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พ่อค้าอเมริกันผู้เดียวกันนี้ย้อนกลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง 

ในครั้งนี้ก็คงเดินทางมาบนเส้นทางเดิม คือเข้าพบนายกรัฐมนตรีอีก แต่ด้วยข้อเสนอใหม่คือ จะขอตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศไทยให้รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายลงทุนทั้งหมด ตนรับจะเป็นผู้จัดการเฉพาะในเรื่องการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องพิมพ์ รวมทั้งฝึกคนให้พิมพ์ธนบัตรรวมทั้งพิมพ์แสตมป์และพันธบัตรด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าระหว่างที่กำลังจัดตั้งโรงพิมพ์ จะขอรับจ้างพิมพ์ธนบัตร ๓๑๐ ล้านฉบับให้กับไทย ข้อเสนอข้อหลังนี่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมซึ่งไม่ตรงกับมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งข้อเสนอให้ไทยเป็นฝ่ายลงทุนในการจัดสร้างโรงพิมพ์นั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะยอมได้เพราะสภาวะการเงินขณะนั้นยังไม่สู้ดี รัฐบาลเองก็ยังต้องพยายามประหยัดอยู่แล้วในทุกวิถีทาง ในที่สุดจึงตอบปฏิเสธไป

ความพยายามครั้งสุดท้ายสำเร็จและ/หรือล้มเหลว
ยุคสมัยที่บ้านเมืองก้าวเข้าสู่การบริหารบ้านเมือง โดยคณะปฏิวัติซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า แม้โครงการต่าง ๆ ตลอดจนวิถีทางในการบริหารบ้านเมืองจะแตกต่างไปบ้างจากเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือเน้นหนักในรูปแบบของการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ยิ่งกว่าแต่ก่อน ขณะที่นโยบายต่อต้านกับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ปรากฏเป็นที่ชัดเจน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยทั่วไปก็คงดำเนินดุจปกติและพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับผู้บริหารประเทศยุคใหม่นั้น 

ผู้ที่คงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมมิรู้เปลี่ยนแปลงก็ได้แก่นายวิลเลียม พี. ฮั้นท์ พ่อค้าอเมริกันผู้รับจ้างพิมพ์ธนบัตรผู้นั้น

ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นายฮั้นท์ ก็ปรากฏตัวในประเทศไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ในฐานะประธานกรรมการบริษัทรับพิมพ์ธนบัตรชื่อใหม่ซึ่งได้แก่บริษัท Security Columbian Banknote อันเป็นบริษัทซึ่งควบกิจการระหว่างบริษัทเดิมคือ Security Printing กับบริษัท Columbian Banknote ซึ่งก็พอจะนับได้ว่าการดำเนินธุรกิจรับจ้างพิมพ์ธนบัตรของพ่อค้าอเมริกันผู้นี้เจริญรุ่งเรืองไปด้วยดี

และเส้นทางการติดต่อกับประเทศไทยของนายฮั้นท์ครั้งนี้ก็คงเป็นเส้นทางสายเดิม คือติดต่อโดยตรงกับผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารบ้านเมือง การติดต่อดั่งกล่าวถือได้ว่าได้ผล เพราะข้อเสนอของตนในการรับพิมพ์ธนบัตรก็เพื่อต่อต้านกับธนบัตรปลอมซึ่งจะเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับข้ออ้างที่ว่าในช่วงเวลานั้นได้มีธนบัตรปลอมจำนวนมากซึ่งจัดพิมพ์ในชื่อของบริษัทผู้พิมพ์เดิมคือโทมัสเดอลารูทะลักเข้าสู่ประเทศไทยจากฮ่องกง และมีการซื้อขายกันในบางจังหวัดของภาคเหนือในราคาที่ต่ำกว่าราคาอันเป็นจริงของธนบัตรประมาณครึ่งหนึ่ง และประการสำคัญก็คือธนบัตรที่กล่าวว่าปลอมนี้ เมื่อได้พิสูจน์โดยผู้ชำนาญก็พบว่าเป็นธนบัตรดีด้วย ซึ่งข้อกล่าวหาหลังนี้นับได้ว่ารุนแรงและผู้ได้รับความเสียหายดังกล่าวก็ต้องเป็นบริษัทโทมัสเดอลารูอย่างไม่ต้องสงสัย

การพิจารณาข้อเสนอของนายฮันท์ครั้งนี้มิได้ผ่านขั้นตอนของการพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องเยี่ยงเคยปฏิบัติกันมาก่อน แต่ก็ถือได้ว่ามิใช่ความผิดสังเกตมากนักในยุคสมัยที่บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะปฏิวัติ เพราะการตัดสินใจในเรื่องหรือปัญหาที่มีความสำคัญเป็นยิ่งยวดหลายต่อหลายเรื่องนั้น หัวหน้าคณะปฏิวัติได้ประกาศว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียวและดูเหมือนการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องนี้ ไม่มีผู้ใดรวมทั้งสื่อมวลชนได้นำมากล่าวถึงเขียนถึงในเบื้องแรกด้วย จนกระทั่งได้มีการสั่งการจากหัวหน้าคณะปฏิวัติให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ว่าการเพียงผู้เดียวในประวัติศาสตร์ของเมืองไทยและของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการและรัฐมนตรีว่าการคลังในเวลาเดียวกัน ให้พิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัทผู้รับพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัสเดอลารูเป็นบริษัทซีเคียวริตี้โคลัมเบียนแบงค์โน้ตแห่งสหรัฐอเมริกา และไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทดังกล่าว และมีการจ่ายเงินค่าจัดทำแม่พิมพ์ธนบัตรล่วงหน้าให้แก่บริษัทนั้นเป็นจำนวนเงินสูงถึง ๖๖๕,๒๑๕ ดอลล่าร์ สรอ.

เมื่อข่าวการเปลี่ยนบริษัทผู้พิมพ์ธนบัตรเป็นที่ปรากฏ ก็บังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์สยามรัฐซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่าน ในคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวันของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้นำคำถามและคำตอบเกี่ยวกับเงื่อนงำเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องนี้มาเขียนตลอดเวลาหลายวัน ในแนวทางของความเห็นที่เชื่อว่ามีการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือนัยหนึ่งเงินสมนาคุณจากบริษัทผู้รับพิมพ์ธนบัตรรายใหม่โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ขณะเดียวกันบริษัทโทมัสเดอลารู ก็ได้ติดต่อผ่านเอกอัครราชทูตของตนประจำประเทศไทยได้ช่วยสืบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วยเหตุผลว่าเพื่อรักษาเกียรติภูมิของบริษัทตน

ด้วยเหตุที่กรณีดังกล่าวกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในหมู่ประชาชนและวงการทั่วไป โดนเฉพาะอย่ายิ่งข้อกล่าวหาเน้นหนักไปในด้านที่ว่า หัวหน้าคณะปฏิวัติซึ่งเป็นผู้สั่งการมีส่วนได้เสียกับการทำสัญญาดังกล่าว จึงให้ระงับการว่าจ้างบริษัทดังกล่าวพิมพ์ธนบัตรให้ตามสัญญา และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือนัยหนึ่งผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการคลังก็ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง จากนั้นก็ถูกดำเนินคดีร่วมกับเลขานุการรัฐมนตรีว่าการคลัง ซึ่งตามข้อกล่าวหานั้นระบุว่ามีส่วนร่วมด้วยผู้หนึ่งในการติดต่อว่าจ้างพิมพ์ธนบัตรกับบริษัทที่กล่าวและเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะเป็นฉันใด ย่อมยากแก่ความล่วงรู้นอกไปจากตัวผู้จ่ายเงินให้คือบริษัทซีเคียวริตี้โคลัมเบียนแบงค์โน้ตกับผู้รับเงิน ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดมีหลักฐานที่แน่นอนที่จะชี้ชัดได้ว่าคือผู้ใด และเมื่อได้ติดต่อสอบถามเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จากบริษัทฯ ก็ได้รับการปฏิเสธว่ามิได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในการนี้แก่ผู้ใด 

อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการดำเนินคดีในเวลาต่อมา ศาลสถิตยุติธรรมก็ได้พิพากษายกฟ้องผู้เป็นจำเลยทั้งสอง ด้วยเหตุผลว่าการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติขณะนั้นถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติโดยชอบ เพราะการปฏิบัติตามนั้นก็เท่ากับปฏิบัติการอันชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

ความพยายามของนายวิลเลียม พี. ฮั้นท์ ซึ่งดำเนินมาอย่างมิรู้ท้อถอยตลอดเวลาเป็นหลายปี จะถือได้ว่าได้บรรลุถึงเป้าหมายคือความสำเร็จ หรือจะถือว่าเป็นความล้มเหลวก็คงยากที่ผู้ใดสามารถให้คำตอบอันถูกต้องได้


ผู้ที่เสนอแนะธนาคารให้มาติดต่อรวมทั้งขันอาสาเป็นผู้ทาบทามความตกลงใจของคุณเกษมจิตต์ฯ ก็คือ Mr.Charles Aussem ผู้อำนวยการโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารชาติเบลเยี่ยมนั่นเอง โดยขณะนั้นได้ถูกยืมตัวให้มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการพิมพ์ธนบัตร เพราะบุคคลดังกล่าวนี้เป็นที่เชื่อถือของหลายประเทศในยุโรปว่ามีความจัดเจนและรอบรู้งานด้านพิมพ์ธนบัตรเป็นเยี่ยมผู้หนึ่ง

การให้ความตกลงกับการติดต่อทาบทามดังกล่าวได้รวมข้อเสนอมาด้วยว่า ช่างเทคนิคของโรงพิมพ์โรงงานยาสูบจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นทีมงานที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสูงและมีความจัดเจนเป็นอย่างยิ่งในงานพิมพ์จะต้องมาร่วมปฏิบัติงานด้วย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่มีข้อโต้แย้งอันใดกับข้อเสนอดังกล่าวนั้น

เมื่อบรรลุถึงข้อตกลงที่กล่าวแล้ว ช่างเทคนิคซึ่งต่อไปจะต้องมีความรับผิดชอบในงานด้านเทคนิคของโรงพิมพ์ธนบัตรก็ถูกส่งไปศึกษาและฝึกงานด้านพิมพ์ธนบัตรในทุกแขนงงานกับสถาบันต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรปอีกครั้งหนึ่ง

ขณะเดียวกันคุณเกษมจิตต์ฯ กับคุณวานิช จันทรอุไร ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายงานช่างของโรงงานยาสูบ ก็ถูกยืมตัวให้มาทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางเทคนิคในคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับโรงพิมพ์ธนบัตรด้วย

สำหรับเครื่องพิมพ์ธนบัตรซึ่งถูกเก็บรักษาอยู่ที่โรงงานยาสูบโดยปราศจากการใช้ประโยชน์อันใดนั้น โรงงานยาสูบก็เสนอขายแก่ธนาคาร แต่ด้วยเหตุที่เป็นเครื่องที่ผลิตขึ้นมาแล้วนานปีและเป็นเครื่องให้ผลผลิตไม่สูงนัก ธนาคารจึงได้ขอแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า trade-in เพื่อให้ได้เครื่องรุ่นใหม่ที่ใช้งานในลักษณะเดียวกันแต่ให้ผลผลิตสูงกว่ามากมาแทน โดยเพิ่มเงินส่วนต่างให้แก่บริษัทไป

เมื่อถึงวาระที่การตระเตรียมการทุกสิ่งทุกประการเป็นที่พร้อมสรรพ กล่าวคือ งานก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรแล้วเสร็จ การจัดองค์งานทั้งตัวบุคคลและกระบวนการจัดพิมพ์ธนบัตรเป็นไปโดยถูกต้องเยี่ยงเดียวกับหลักปฏิบัติของนานาอารยประเทศซึ่งบริหารงานพิมพ์ธนบัตร และเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่สั่งซื้อจากบริษัท Organisation Giori ได้ส่งมาถึงครบจำนวนที่ต้องการและมีการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พิธีเปิดโรงพิมพ์ก็มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิด

ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มกิจการอันยิ่งใหญ่และมีความสำคัญเป็นยิ่งยวดแก่คนไทยทุกคน 

เป็นการหลีกเลี่ยงจากสภาพการณ์ที่คนไทยต้องประสบคือความขาดแคลนธนบัตรยามเมื่อบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะคับขันเช่นที่เคยประสบในสงครามโลกครั้งที่แล้ว

เป็นการสร้างความสิ้นสุดในการต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งผลิตธนบัตรจากภายนอกประเทศ

เป็นการแปรเปลี่ยนสิ่งที่เคยปรากฎแต่ในความนึกคิดหรือความฝันของคนไทยทั้งมวลให้เป็นความจริง

และเป็นเกียรติภูมิของคนไทยทั้งชาติ สมดั่งคำกล่าวของอดีดผู้บริหารบ้านเมืองผู้ซึ่งเป็นเจ้าของคำกล่าวที่ว่า "ไทยเราเป็นประเทศเอกราช เราจะต้องมีโรงพิมพ์ธนบัตรของเราเอง"
 








ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้