เกษม ศรีพยัคฆ์ บุรุษในความทรงจำ โดย ศุกรเลิศ

เผยแพร่25 เม.ย. 2024

แต่ละเดือนแต่ละปีในอดีต ย่อมจะมีความหมายหรือความประทับใจในความทรงจำของบุคคลแต่ละคน สำหรับคนในธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อยุคก่อนยี่สิบปีก่อน เดือนกรกฎาคมนับว่าเป็นเดือนหนึ่งที่มีความหมายควรแก่การจดจำอย่างยิ่ง เพราะในเดือนดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสต้อนรับผู้บริหารสูงสุดที่กอปรด้วย คุณธรรม ความรู้ ความสามารถ ความเสียสละ ความกล้าหาญ และความซื่อสัตย์ยิ่งผู้หนึ่ง และในเดือนเดียวกันของอีกสามปีเต็มถัดมา บุคคลผู้นี้ก็ต้องจากธนาคารแห่งประเทศไทยไปด้วยเหตุอันไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเคยคาดคิดมาก่อน ทิ้งไว้แต่ความเคารพรักและความอาลัยให้คงอยู่ในความทรงจำของพวกเราตราบเท่าทุกวันนี้

บุคคลผู้นี้คือ คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลำดับที่แปด อดีตรองอธิบดีกรมรถไฟและกรรมการรถไฟ อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ผู้ซึ่งเกียรติประวัติในการทำงานและชีวิตส่วนตัวเป็นที่กล่าวขวัญและได้รับความยกย่องอย่างสูงในวงการทั่วไป

ในโอกาสที่ ธปท. ปริทรรศน์ เล่มนี้ มีกำหนดออกในช่วงเวลาดังกล่าว จึงใคร่ขอนำชีวประวัติของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ มากล่าวถึงตามควร เป็นการรำลึกถึงบุพการีอีกผู้หนึ่งของสถาบันเราในอดีตเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน และเป็นการแนะนำเพื่อนพนักงานยุคปัจจุบัน และยุคต่อ ๆ ไปให้รู้จักบุคคลอันควรแก่ความภาคภูมิใจของธนาคารแห่งประเทศไทยผู้นี้

ตอนที่ 1 เจ้าหนู 

 

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2446 อันเป็นยุคสมัย ที่ยังไม่มีคนไทยคนใดจะสามารถพยากรณ์ได้ถูกต้องว่า อีก 70 ปีข้างหน้าลูกหลานของตนจะต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพง ในดินแดนอันได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้ มีครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลทหารบกทหารเรือ (ที่รู้จักดีในปัจจุบันคือ ย่านพาหุรัด) ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวชื่อนายแขก ศรีพยัคฆ์ มีอาชีพเป็นทนายความ และเป็นทนายความที่สามารถผู้หนึ่ง มีบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ ในยุคนั้นหลายแห่งมอบหมายให้นายแขก ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายประจำ ภรรยาของนายแขกชื่อนางซ่วน มีบุตรด้วยกันสี่คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน บุตรคนโตเป็นชายมีกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2446 ชื่อ เกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้เป็นบิดามารดาเรียกบุตรคนนี้ว่า "เจ้าหนู"

"เจ้าหนู" เป็นเด็กที่มีร่างกายบอบบางเดินไม่ได้จนอายุย่างเข้า 3 ขวบ แต่เป็นเด็กที่มีมีความเฉลียวฉลาดเหนือเด็กอื่น ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน เริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวรารามที่เสาชิงช้า จบชั้นประโยคประถมปีที่สามหรือที่เรียกว่า ประโยคประถมในยุคนั้น

"เจ้าหนู" มีความพิสมัยในชื่อ "เกษม" มาแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่เมื่อมีการตั้งชื่อก็ขอให้ผู้เป็นบิดามารดาใช้ชื่อว่า "เกษม และใช้ชื่อนี้ตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต และ "เจ้าหนู" มีความภาคภูมิใจเป็นยิ่งนักที่มีโอกาสตั้งชื่อที่ชื่นชอบให้แก่ตัวเองได้

"เจ้าหนู" ถูกส่งตัวเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนหลวงมีชื่อใกล้บ้าน คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบประโยคมัธยมบริบูรณ์เมื่ออายุพึ่งย่างเข้าสิบหกขวบ รักษาคุณภาพเป็นคนเก่งประจำชั้นและประจำโรงเรียนตลอดมา จนชื่อถูกครูนำไปเป็นตัวอย่างที่เด็กนักเรียนอื่น ๆ ควรเลียนแบบทั้งในด้านการเรียนและด้านความประพฤติอยู่เนือง ๆ ปีที่ ด.ช. เกษม ศรีพยัคฆ์ หรือ "เจ้าหนู" จบการศึกษานั้น ตรงกับปี พ.ศ. 2461


ตอนที่ 2 สู่รางเหล็ก

 

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2462 กรมรถไฟหลวง ประกาศสอบแข่งขันส่งนักเรียนไปศึกษาในต่างประเทศ  "เจ้าหนู" ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็น คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ แล้ว และกำลังทำหน้าที่เป็นครูฝึกหัดสอนอยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ไปสมัครสอบด้วย ปรากฏว่าเป็นผู้สอบได้คะแนนสูงเยี่ยมผู้หนึ่งในจำนวนผู้สอบได้จำนวนทั้งสิ้น 13 คน จึงได้รับเลือกให้ไปศึกษาวิชาการพาณิชย์ที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็มิได้ออกเดินทางในปีนั้น เพราะเหตุที่เป็นระยะสงครามโลกครั้งแรกพึ่งเลิก ยังมีความปลอดภัยบนเส้นทางไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องเดินทางโดยทางเรือและผ่านน่านน้ำของยุโรปบางตอนที่ยังกวาดทุ่นระเบิดไม่เสร็จ คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ มาออกเดินทางเอาในปีรุ่งขึ้น คือปี พ.ศ. 2463 โดยเรือฟอลสเตรียของบริษัทอีสทเอเชียติค ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรขนาดเล็กมีระวางขับน้ำเพียง 6000 ตันและความเร็วต่ำ เมื่อถึงอังกฤษแล้วได้เข้าศึกษาที่ไบรตันเทคนิเคิลคอลเลจ สอบได้ประกาศนียบัตรการพาณิชย์ทางการเลขานุการ จากนั้นก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม และในปี พ.ศ. 2468 ก็สอบได้ปริญญาทางการพาณิชย์เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เป็นการสอบได้สามปีซ้อนที่ฝรั่งเรียกว่า Triple First) ความสามารถในการศึกษาตลอดจนความประพฤติอันดีเด่นของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ปรากฏเป็นหลักฐาน อยู่ในรายงานการศึกษาประจำปีของพระยาภรตราชา ผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษยุคนั้น

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย กรมรถไฟหลวงก็บรรจุให้เข้าทำงาน ในกองเดินรถด้วยอัตราเงินเดือนสูงลิ่ว คือได้รับถึงเดือนละ 200 บาท ในปี พ.ศ. 2468


คุณลักษณะดีเด่นทุกประการไม่ว่าจะใน ด้านการทำงานหรืออุปนิสัยส่วนตัว ผลักดันให้ คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ และมีความรับผิดชอบสูงแต่อายุยังน้อย และก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งรองอธิบดีกรมรถไฟและกรรมการรถไฟ ในบั้นปลายของชีวิตการทำงานที่นี่ 

มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ อีกสองคน ที่สอบชิงทุนของกรมรถไฟหลวงได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน คือ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ และคุณโชติ คุณะเกษม สองท่านนี้ต่อมาก็ได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขของกรมรถไฟหลวงหรือการรถไฟแห่งประเทศไทยมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเป็นจำนวนถึง 3 คน ด้วยกัน

ตอนที่ 3 ภาระ – หน้าที่ 

 

แม้เงินเดือน ของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ จะนับว่าสูงมากสำหรับคนหนุ่มในยุคนั้นก็ตาม แต่โดยที่มีฐานะเป็นพี่คนโต และขณะนั้น บิดา มารดาก็ชรามากแล้ว อีกทั้งมารดายังทุพพลภาพด้วย รายได้ส่วนใหญ่จึงต้องนำไปใช้จ่ายจุนเจือความเป็นอยู่ของครอบครัว เหลือไว้จับจ่ายใช้สอยส่วนตัวเพียงเล็กน้อย และโดยที่เป็นผู้มีใจคอกว้างขวาง ประกอบกับมีหน้าที่ความรับผิดชอบทางการงานสูง รายได้ที่พอเหลืออยู่จึงเกือบจะกล่าวได้ว่าชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่เนืองๆ วิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่มีวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมยิ่งไปกว่าการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ง่าย ๆ ไม่มีรถยนต์ไว้ขับขี่เอง ไปไหนมาไหนก็เดินบ้าง นั่งรถรางบ้าง เมื่อใดมีรถประจำตำแหน่งก็ใช้รถประจำตำแหน่ง สภาพของชีวิตคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เป็นอยู่เช่นนี้ตราบจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต

เพราะความรู้ความสามารถของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ที่เป็นผลให้กิจการรถไฟในยุคนั้นเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก จึงทำให้กรมรถไฟ ผู้ปลุกปั้นหวงแหนในตัวบุคคลผู้นี้เป็นยิ่งนัก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบังเกิดความจำเป็นทางราชการ กล่าวคือกระทรวงเศรษฐการได้ติดต่อขอตัวคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ให้ไปช่วยงานเพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็จำเป็นต้องเสียสละให้ไปเป็นหลายครั้งหลายคราว ทำให้คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ต้องสับเปลี่ยนงานและหน้าที่ระหว่างหน่วยราชการสำคัญสองแห่งนี้อยู่เสมอ ๆ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2486 ขณะที่คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมรถไฟ ทางกระทรวงเศรษฐการ ก็ขอตัวให้ไปปฏิบัติงานที่กระทรวงนั้น และในปี พ.ศ. 2490 ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน แต่ต่อมาก็ปรากฏว่าคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ได้ลาออกและกลับไปทำงานกับกรมรถไฟอีก

เหตุผลที่คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน และกลับไปทำงานที่การรถไฟนี้ ปรากฏตามข้อเขียนของคุณหลวงถวิลเศรษฐ์พณิชย์การ อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการว่า

"ใน พ.ศ. 2494 ภาระของกระทรวงพาณิชย์เบาบางลง แต่กิจการด้านรถไฟเพิ่มขึ้น กรมรถไฟ ซึ่งเป็น หน่วยราชการได้เปลี่ยนรูปตามนโยบายของรัฐบาลเป็นรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการอำนวยการ แต่กรรมการรถไฟจะเป็นข้าราชการไม่ได้ การรถไฟจึงอยากได้ท่านเป็นกรรมการเพราะเห็นว่าท่านจะเป็นหลักสำคัญ จึงวิงวอนขอร้องให้ท่านรับตำแหน่งคุณเกษม ศรีพยัคม์ เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ท่านสำนึกอยู่เสมอว่าเป็นคนรถไฟ เพราะกรมรถไฟส่งท่านไปศึกษาในต่างประเทศ เมื่อการรถไฟมีความจำเป็นที่จะต้องได้ตัวท่านไปช่วย ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากราชการไปรับตำแหน่งกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 ระหว่างที่เป็นกรรมการรถไฟ ท่านไปปฏิบัติงานทุกวันคล้ายกับที่เจ้าหน้าที่ประจำ ด้วยความตั้งใจที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ที่สุด และอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2497

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเศรษฐการ และต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย


ตอนที่ 4 สละโสด

 

คนเป็นอันมากประหลาดใจว่า บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสูงถึงขนาดเป็นรองอธิบดีกรมรถไฟเช่นคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เหตุใดจึงมิได้มีสภาพความเป็นอยู่สมกับฐานานุรูป ความจริงข้อนี้สืบเนื่องจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นสำคัญ กล่าวคือ ท่านมีชีวิตอยู่โดยอาศัยเงินเดือนสถานเดียว ซ้ำเงินเดือนที่ได้รับแต่ละเดือนยังต้องนำไปจุนเจือครอบครัวอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ แม้จะดำรงตำแหน่งหน้าที่สูงในกรมรถไฟ คุณเกษมฯ ก็ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ได้อาศัยบ้านพักของเจ้าหน้าที่กรมรถไฟอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาก็ย้ายไปเช่าบ้านอยู่ในตรอกสะพานขาว บางรัก ครั้งเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา มีการทิ้งระเบิดในย่านใกล้เคียง ก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรีซึ่งซื้อจากเจ้าของซึ่งจำต้องอพยพลี้ภัยสงครามไปในราคา 10,000 บาท เป็นบ้านทรงปั้นหยาสภาพปานกลาง บนที่ดินไม่ถึงหนึ่งร้อยตารางวา ว่ากันตามจริงแล้วราคาที่ซื้อนี้จัดว่าแพงไปเล็กน้อยทั้งนี้ เพราะคุณเกษม ๆ ต้องซื้อต่อจากบุคคลอื่นซึ่งพึ่งซื้อมาได้ไม่นานเพียงราคา 8,000 บาท เท่านั้น เงินที่นำมาซื้อก็รวบรวมได้จากเงินอดออมส่วนหนึ่ง สมทบกับเงินปันผลจากหุ้นจำนวนหนึ่งที่มีอยู่กับบริษัทข้าวไทย จากนั้นทุกคนในครอบครัวก็มาอยู่ร่วมกัน ณ บ้านหลังใหม่นี้

การมีโอกาสดำรงตำแหน่งสูงเช่นรองอธิบดีกรมรถไฟ โดยผู้ดำรงตำแหน่งมีอายุย่างเข้าเพียง 41 ปีนี้ มองในแง่การงานก็นับว่าเป็นคนหนุ่มที่มีความเจริญก้าวหน้าในการงานยิ่งผู้หนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาในแง่ครอบครัวแล้วดูจะเป็นเรื่องแปลกที่คนในภาวะเช่นนี้ยังครองความเป็นโสดอยู่ได้ ผู้ใกล้ชิดเปิดเผยว่า ว่ากันตามจริงแล้วใช่ว่าคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ จะรังเกียจชีวิตการมีครอบครัวก็หาไม่ หากติดขัดด้วยภาวะความเป็นอยู่ทางครอบครัวเป็นสำคัญ มีผู้แนะนำหญิงที่เห็นว่าเหมาะสมให้คุณเกษมฯ หลายต่อหลายราย แต่คุณเกษมฯ ก็เพิกเฉย มีอยู่รายหนึ่งเป็นผู้มีมรดกทรัพย์สินมากมาย แต่คุณเกษมฯ ก็ปฏิเสธอีก ท่านให้เหตุผลว่าฝ่ายหญิงมุ่งหมายที่จะได้ตัวท่านไปเพื่อประดับบารมีมากกว่าเหตุอื่น ด้วยเหตุนานาประการเช่นนี้ คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ จึงครองความเป็นโสดอยู่ได้จนอายุล่วงเข้าวัยกลางคน

บ้านหลังที่รั้วติดชิดกันหลังนั้น เจ้าของอยู่มาก่อนมีหญิงสาวใหญ่คนหนึ่งที่อยู่ในสายตาของคุณเกษม ๆ มาแต่ต้น ทุกครั้งที่หญิงผู้นั้นไปไหนมาไหนก็สวมหมวกในยุคมาลานำไทยเป็นมหาอำนาจ นอกจากเป็นการต้องกับวัฒนธรรมอันดีของคนไทยยุคนั้นแล้ว ในทัศนะของคุณเกษมฯ เป็นภาพที่ต้องตาต้องใจเป็นอันมาก และก็แสดงความพึงใจในตัวหญิงผู้นั้นด้วยสายตาตลอดมา

เมื่อไมตรีจิตแสดงออกด้วยสายตาเป็นเบื้องต้น ก็ชักนำไปสู่การแลกเปลี่ยนคำพูด และความคิดเห็นในเบื้องต่อมา และในที่สุดคุณเกษมฯ ก็ได้รับไมตรีจิตตอบ จากนั้นทั้งสองก็พากันไป จดทะเบียนสมรสที่อำเภอคลองสานเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นระยะที่สงครามโลกครั้งที่สองใกล้จะยุติ ไม่มีพิธีรีตรองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะคุณเกษมฯ เห็นว่าตนเองอายุมากแล้ว ไม่สมควรที่จะให้มีพิธีรดน้ำเช่นคนหนุ่มคนสาวทั่ว ๆ ไป  หญิงผู้ไปจดทะเบียนสมรสกับคุณเกษมฯ ผู้นั้นต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีคือ คุณหญิงประมูล ศรีพยัคฆ์ ซึ่งได้อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคุณเกษมฯ ตราบจนกระทั้งคุณเกษมฯ ถึงอนิจกรรม มีบุตรด้วยกันเป็นหญิงทั้งสิ้น

โดยน้ำใสใจจริงแล้ว คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าไม่ประสงค์จะมีบุตร ทั้งนี้โดยเหตุผลที่ว่า นับวันโลกก็จะมืดมนเข้าทุกทีเด็กเกิดมาจะลำบาก เหตุผลของท่านเช่นนี้อาจจะแปลกสำหรับคนทั่วไป แต่ก็มิได้ผิดข้อเท็จจริงเลย ในเมื่อปรากฏว่าอนุชนในยุคปัจจุบันต้องประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตยิ่งกว่ายุคก่อน ๆ เป็นอันมาก

แต่แล้วเจ้าของตำหรับผู้ไม่ประสงค์จะมีบุตรก็มีบุตรจนได้ และเมื่อมีแล้วก็ให้ความรัก ความทนุถนอม ความอบอุ่น และสร้างแบบอย่างแห่งความประพฤติอันดีงามให้แก่บุตรอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

ตอนที่ 5  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลำดับที่แปด

คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ย่างเข้าสู่วังบางขุนพรหมในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ประพฤติปฏิบัติตนเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติกับกรมรถไฟและกระทรวงเศรษฐการ กล่าวคือ ปฏิบัติงานด้วยความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ แม้งานของธนาคารกลางจะเป็นงานใหม่เมื่อเทียบกับประสบการณ์ของท่าน แต่ด้วยเป็นผู้ใฝ่ใจในการแสวงหาความรู้ ประกอบกับเป็นผู้มีความฉลาดเฉลียว ความสุขุมรอบคอบ เพียงชั่วเวลาอันสั้นก็เข้าใจระบบงานของธนาคารกลางและ ลงมือปรับปรุงลักษณะงานเพื่อเพิ่มพูนสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจัดวางระบบงานให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี แม้จะทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถจนทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะนายธนาคารกลางของชาติผู้จัดเจนก็ตาม ในจิตสำนึกของท่านก็ยังฝังแน่นด้วยความรำลึกถึงกรมรถไฟ ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นตนขึ้นมาอยู่เป็นนิจ เรื่องราวที่นำมาสนทนาก็มักจะอดพาดพิงไปถึงบรรยากาศเก่า ๆ ครั้งที่อยู่กับกรมรถไฟไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ในตอนหนึ่งแห่งข้อเขียนของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2508 เพื่อไว้อาลัยคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ จึงได้กล่าวว่า .-

"คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เคยปรารภเสมอว่าท่านมีพื้นอาชีพมาจากการรถไฟ การเดินรถไฟนั้นอาศัยราง เมื่อมีรางก็เดินตามรางและเดินตามกาละและเทศะ เมื่อท่านมาทำงานด้านการธนาคารท่านก็ใช้คุณธรรมของท่านวางเป็นรางสำหรับเดินให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ท่านใช้ความขยันหมั่นเพียรของท่าน สร้างและประกอบความรู้ด้านการธนาคาร เสมือนสร้างหัวรถจักรให้มีกำลังแรงท่านใช้ความเมตตากรุณาของท่าน สร้างรถโดยสารและรถบรรทุกให้ผู้ร่วมงานกับท่านได้ดำเนินไปสู่ความเจริญและความมีประโยชน์ พวกเราทุกคนในธนาคารแห่งประเทศไทยรู้สึกเป็นบุญวาสนายิ่งนักที่ได้มีโอกาสรับใช้ท่าน และร่วมงานกับท่านตลอดมา"

และจากข้อเขียนของคุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ รองผู้ว่าการเมื่อปี พ..ศ. 2508 ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงคุณลักษณะอันน่านิยมยิ่งของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์

"ท่านผู้ว่าการเกษม ศรีพยัคฆ์ เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต เคารพยึดมั่นในหลักการ มีความกล้าหาญเด็ดเดียวที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นอย่างสูง ข้าพเจ้าบังเอิญมีโชคดีได้รับใช้ใกล้ชิดท่าน ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงบังเกิดความเคารพเลื่อมใสในตัวท่านมาก"

"ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งอยู่ ท่านได้อุทิศเวลาทำงานให้แก่ประเทศชาติและธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตลอด ท่านไม่มีธุรกิจส่วนตัวสัมพันธ์กับกลุ่มที่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านปฏิบัติงาน ด้วยความซื่อตรง เที่ยงธรรม ด้วยหลักการและเหตุผลที่ท่านเห็นว่าถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ท่านถือตัวว่าท่านเป็นทรัสตีสมบัติของชาติ ท่านจึงได้พยายามกระทำทุกอย่างที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่ประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ และเป็นที่รับรองของชาวต่างประเทศ ในสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าการ จึงได้มีการปรับปรุงจัดระบบและระเบียบการต่าง ๆ ของ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการใหญ่ให้ทันสมัยและเหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน ระเบียบต่างๆ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขครั้งนั้น ยังใช้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้"

ท่านรองผู้ว่าการคนเดียวกันได้เน้นให้เห็นความกล้าหาญและความซื่อสัตย์อันน่าสรรเสริญของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ด้วยการเปิดเผยเรื่อง ดังปรากฏตามข้อเขียนตอนหนึ่งว่า

"หลังจากที่ท่านได้เข้ารับตำแหน่งไม่นาน ท่านก็ถูกเชิญให้ไปพบนักการเมืองผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่และเป็นที่เกรงขามของคนทั่ว ๆ ไปท่านหนึ่ง ณ ที่ทำงานของท่านผู้นั้น เรื่องที่ไปพบในวันนั้นมีอยู่ว่า รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง มีความต้องการเงินเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท เพื่อชำระหนี้ที่มีกับบริษัทต่างประเทศ จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการบางประการเพื่อให้รัฐวิสาหกิจนั้นได้เงินมา ท่านผู้ว่าการเกษมฯ ได้ให้ความเห็นว่า การปฏิบัติเช่นนั้นไม่ถูกและเข้าใจว่าขัดต่อกฎหมาย บังเอิญ ณ ที่นั้นมีนักกฎหมายนั่งอยู่ด้วย ท่านผู้มีอำนาจผู้นั้นจึงหันไปขอความเห็น ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นดังที่ท่านผู้ว่าการเกษมฯ ชี้แจง เรื่องจึงเป็นอันระงับไป หลังจากนั้น ท่านผู้ว่าการเกษมฯ ได้เคยปรารภกับข้าพเจ้าว่า ท่านคงจะอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการได้อีกไม่นาน แต่การณ์ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านกลับเป็นผู้หนึ่งที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน ยิ่งกว่านั้น ต่อมาไม่ช้าท่านก็ได้รับซองบุหรี่ทองคำจากนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีคำจารึกที่ซาบซึ้งมากว่า "มอบให้คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ไว้เป็นที่ระลึกในการบริหารราชการ ในหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อชาติอย่างยิ่ง" 


ตอนที่ 6 วัฏจักรแห่งชีวิต


และแล้วเมื่อบ่ายวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 เหตุการณ์อันไม่เคยมีผู้ใดคาดฝันมาก่อนก็อุบัติขึ้น ม.จ. วรวีรากร วรวรรณ ผู้อำนวยการประจำฝ่ายการบัญชีของการรถไฟฯ ได้มาพบคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ขณะเมื่อท่านเดินกลับจากห้องรับแขกเข้าสู่ห้องทำงานนั้น ดวงหน้าของท่านหมองคล้ำเต็มไปด้วยความครุ่นคิดอย่างหนัก ลักษณะท่าทางเดินของท่านแปลกกว่าที่เคยเห็น ไม่นานหลังจากนั้นก็เป็นที่เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบรายการเงินฝากและถอน ในบัญชีเงินฝากของการรถไฟแห่งประเทศไทยงวดเดือนเมษายน ปรากฏว่ามีเช็คเลขที่ซ้ำกัน 15 ฉบับ ทำให้จำนวนเงินคลาดเคลื่อนไป 8,870,730.50 บาท และหลังจากได้ตรวจรายการเงินฝากและถอนเงินในบัญชีการรถไฟฯ ต่อไป ในงวดเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่ามีเช็คเลขที่ซ้ำกันอีก 3 ฉบับ เป็นเงิน 1,172,751.75 บาท รวม 2 คราว เป็นเช็คเลขที่ซ้ำ 18 ฉบับ เงิน 10,143,482.25 บาท เช็คที่ออกซ้ำเลขที่กันนี้ตลอดทั้งลายเซ็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายมีลักษณะคล้ายคลึงของจริงอย่างยิ่งสุดจะพิสูจน์ได้ด้วยตาเปล่า

ผลของการสอบสวนของทางการตำรวจในเวลาต่อมาได้ความว่า มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของธนาคารบางคนได้ร่วมมือกับผู้ทุจริตซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแก้ไขเลขที่เช็คของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ตรงกับเลขที่เช็คซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายให้แก่การรถไฟฯ ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของการรถไฟฯ แล้วนำเช็คปลอมเหล่านั้นเข้าบัญชีที่เปิดเตรียมไว้ในนามห้างร้านที่ไม่มีตัวตนตามสาขาธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในพระนคร ทางการตำรวจได้ทำการจับกุมตัวผู้อยู่ในข่ายสงสัยว่าทุจริต ได้หลายคนรวมทั้งพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย 5 คน

หลังจากเหตุร้ายเกิดขึ้น คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ก็คงปฏิบัติงานอยู่เป็นปกติจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 จึงได้ยื่นหนังสือขอลาออก และก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ พ้นจากตำแหน่ง ตามที่ขอลาออกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 เหตุผลที่ท่านให้ในการขอลาออกก็คือ "ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าขององค์การนี้ และไม่สามารถในการปกครองให้พนักงานมีคุณธรรมอันดี สมกับเป็นพนักงานของสถาบันการเงินอันสูงของประเทศถึงกับบุคคลภายนอกแทรกซึมเข้ามาชักชวนให้ประกอบการทุจริตได้"

เหตุที่มิได้ยื่นใบลาออกในทันทีก็เพราะท่านเห็นว่า หากท่านพ้นจากหน้าที่ผู้ว่าการแล้วก็จะไม่เป็นการสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการสอบสวนปากคำและดำเนินการอันจำเป็นเกี่ยวกับตัวท่าน และยื่นหนังสือลาออกต่อเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหมดความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการสอบสวนทางด้านธนาคาร และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้อัยการแผ่นดินดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำผิดแล้ว

จดหมายฉบับหนึ่งถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นฉบับเดียวในยุคนั้น มีข้อความว่า "ขณะที่เหล่าร้ายกำลังถอนเงินด้วยเช็คปลอมจำนวนหลายล้านบาทจากธนาคารชาตินั้น ผู้ว่าการคงกำลังดื่มและสนุกสนานอยู่ในสโมสร" เจ้าของจดหมายฉบับนั้นใช้นามแฝงว่า"แอกเนส"

ข้อความในจดหมายฉบับนี้แหละที่สร้างความขมขื่นและความปวดร้าวอย่างสุดประมาณแก่คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ท่านได้เอ่ยถึงจดหมายฉบับนี้บ่อยครั้งแม้จนกระทั่งเมื่อไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการแล้ว

อนิจจา คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้บริสุทธิ์ คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขของกรมรถไฟหลวง แม้จะล่วงพ้นหน้าที่ความรับผิดชอบจากงานของกรมรถไฟตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะเหตุแห่งเช็กปลอมที่เหล่าร้ายนำไปขึ้นเงินจากบัญชีเงินฝากของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นแหล่งที่ปลุกปั้นท่านขึ้นมาจนประสบความสำเร็จในชีวิตการทํางานนั่นเอง

ภาษิตที่ว่า "คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" ยังเป็นความจริงอยู่ และเห็นได้ชัดเจนยิ่งในกรณีของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เพราะหลังจากที่พ้นจากความรับผิดชอบทางธนาคารแห่งประเทศไทยไปไม่นาน คณะปฏิวัติซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ก็ได้เชิญท่านให้เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาเศรษฐกิจ แม้จะเป็นงานกิตติมศักดิ์ไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือนตอบแทนก็จริงอยู่ แต่อย่างน้อยก็พิสูจน์ให้เห็นว่า นอกจากคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมยกย่องในด้านความซื่อสัตย์โดยไม่มีเสื่อมคลาย เมื่อมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมปีเดียวกันนั้น และคงอยู่ในตำแหน่งนี้ตราบจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิตมาถึงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ 2508 ด้วยโรคมะเร็งที่ขั้วกระเพาะอาหาร


ตอนที่ 7 คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้ซื่อสัตย์


สำหรับคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ความซื่อสัตย์ ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญยิ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ชีวิตของบุคคลผู้นี้เป็นที่ยอมรับอย่างปราศจากข้อกังขาใด ๆ ว่าเป็นผู้มี "ใจสะอาด และมือสะอาด" อย่างหาได้ยากยิ่งผู้หนึ่ง เป็นผู้ไร้ซึ่งความทะเยอทะยาน ประพฤติปฏิบัติตนเป็นสมถะโดยสม่ำเสมอ จึงไม่เคยปรากฏแม้แต่ ครั้งเดียวในชีวิตท่าน ที่จะมีผู้ใดกล่าวพาดพิงถึงส่อให้เห็นว่าท่านมีมลทินด่างพร้อยไม่ว่าในกรณีใด จึงไม่เป็นของแปลกเลยที่จะเห็นฐานานุรูป และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลผู้นี้คงเส้นคงวาตลอดชั่วชีวิต จากข้อเขียนตอนหนึ่งของคุณหลวงถวิลเศรษฐ์พณิชย์การกล่าวว่า "ท่านไม่ใช่คนรวย ถ้าจะพูดกันตามมาตรฐานของข้าราชการผู้ใหญ่แล้ว ต้องว่าท่านจน บำนาญที่ได้รับอยู่เพียงเล็กน้อย ทำให้ท่านต้องประหยัด ครอบครัวของท่านเข้าใจท่านดีจึงร่วมมือในการประหยัด ท่านพูดว่าได้น้อยต้องใช้น้อย และด้วยหลักการนี้ท่านและครอบครัวจึงอยู่กันได้ด้วยความสุขกายสบายใจ"

เป็นระยะเวลาหลายวันระหว่างที่ท่านถึงอนิจกรรม หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับต่างได้เขียนข่าวและบทความไว้อาลัย คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ และสดุดี ความดีงามต่างๆ ของท่าน เป็นที่สอดคล้องต้องกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงจะได้นำตอนหนึ่งแห่งข้อเขียนในหนังสือพิมพ์มีชื่อฉบับหนึ่งในยุคนั้นมาตีพิมพ์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

"ต่อมาชีวิตของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ก็เริ่มขึ้นที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่กล่าวขวัญกันนักหนาว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่เช่นท่านย่อมจะสามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเองได้อย่างมหาศาล แต่คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ กลับปิดประตูแห่งความร่ำรวย ในแนวทางดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ท่านห้ามมิให้มีการรับรองแขกที่ไปติดต่อทางบ้านในเรื่องที่เกี่ยวกับงานของกระทรวงโดยเด็ดขาด เพราะไม่ประสงค์จะให้เกิดข้อครหานินทา เหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดท่านจึงคงพำนักอยู่ในบ้านเก่า ๆ บน ผืนดินไม่เกิน 100 ตารางวา ตราบจนกระทั่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บ้านหลังใหม่จึงอุบัติขึ้นด้วยเงินที่อุตส่าห์อดออมจากเงินเดือน เงินโบนัส และเงินกู้บางส่วน สิ้นค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างไม่ถึงสองแสน บนพื้นดินผืนเดิมนั้นเอง"

ข้อเขียน อันเดียวกันนั้นจบลงที่ว่า "อันความซื่อสัตย์ของคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ นั้น สามารถพบเห็นโดยไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรที่ท่านขีดเขียนขึ้นเองหรือโดยผู้อื่น ไม่ว่าจากปากคำของผู้มีโอกาสคุ้นเคยกับท่านหรือผู้ที่ไม่คุ้ยเคย แต่เป็นผู้ที่ตระหนักถึงคุณค่าแห่งความซื่อสัตย์ ทุกคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เป็นมนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากธาตุแห่งความซื่อสัตย์โดยแท้" 


ตอนที่ 8 หน้าที่สุดท้าย


คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ เป็นผู้เคารพในระเบียบแบบแผนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะสังกัดสถาบันใดก็ตาม จะปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบ และเป็นตัวอย่าง ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาเสมอ เป็นผู้ตรงต่อเวลาการทำงาน ท่านถือว่าระเบียบใด ๆ ก็ตาม ที่จัดวางขึ้นนั้น ย่อมปฏิบัติได้ตามเจตนารมย์ของผู้วาง หากไม่มีการปฏิบัติตามระเบียบนั้น ๆ ก็ย่อมไร้ความหมาย และความสับสนไม่เป็นระเบียบก็จะมาสู่ส่วนรวมในที่สุด ด้วยเหตุนี้แม้กระทั่งอีกไม่นานก่อน ที่จะถึงอนิจกรรม ขณะที่สภาพแห่งร่างกายของท่านทรุดโทรมถึงระดับสุดและแพทย์หมดทางที่จะเยียวยาเพื่อให้ชีวิตคงอยู่ต่อไปได้ ขณะที่สมองของท่านปั่นป่วนสับสนจนเกือบจะเรียกได้ว่าสูญสิ้นสัมปชัญญะใด ๆ ท่านก็ยังอุตส่าห์รำลึกได้ว่าเป็นประเพณีของผู้เป็นเสนาบดี ก่อนที่จะตายหรือรู้ตัวว่าชีวิตตนจะหาไม่ จะต้องมีหนังสือกราบบังคมทูลขออนุญาตลาตาย ประเพณีที่ว่านี้เชื่อว่าน้อยคนจะปฏิบัติได้ เพราะผู้ใกล้จะตายนั้นส่วนใหญ่ย่อมไร้ซึ่งสัมปชัญญะ หรือแม้แต่ญาติมิตร ผู้เกี่ยวข้องก็คงไม่พะวงที่จะให้ผู้นั้นกระทำการให้เป็นไปตามระเบียบหรือประเพณี เช่นนั้นเป็นแน่นอน แต่คุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ก็ยังพยายามรวบรวมสติและกำลัง เขียนสั่งให้คุณหญิงประมูล ศรีพยัคฆ์ ผู้เป็นภริยาซึ่งเฝ้าอยู่หน้าเตียงไข้ตลอดเวลาให้ดำเนินการให้ รวมทั้งได้ฝากฝั่งบุตรซึ่งขณะนั้นยังเล็กอยู่ให้แก่มิตรสหายผู้ใกล้ชิด ให้ช่วย ให้คำปรึกษาหารือ ผู้รวบรวมเรื่องนี้ จึงใคร่ขอถือโอกาส นำลายมือครั้งสุดท้าย ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลผู้มีความสำนึก ในหน้าที่ของผู้เป็นข้าราชการ ที่ดีและบิดาที่ดีก่อนจะอำลาไปจากโลกมาตีพิมพ์ให้ปรากฏ ณ ที่นี้.-
“ประมูล (คุณหญิงประมูล ศรีพยัคฆ์) 
1. ให้ช่วยทำหนังสือกราบบังคมทูลให้เพื่อขออนุญาตลาตาย 
2. ให้ขอคำปรึกษาหารือเกี่ยวกับอนาคตของบุตรกับคุณหลวงถวิลเศรษฐ์พณิชย์การ, คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ และคุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ตามกำลังเงินที่มีอยู่ (ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นทั้งผู้เคยร่วมงานและสหายสนิท)”
นี้แหละคือคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ บุรุษผู้จะอยู่ในความทรงจำของคนไม่ว่ายุคใดสมัยใดตราบชั่วเวลาอันนานแสนนาน.


ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้