ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ที่ผมรู้จัก โดยพิสุทธิ์ นิมมานเหมินทร์
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งขึ้นระหว่างสงคราม ตามความจำเป็นของสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เมื่อกองทัพญี่ปุ่น ได้ยาตราเข้ามา และใช้ประเทศไทยเป็นฐานส่งกำลังบำรุงให้แก่กองทัพของตนซึ่งกำลังสู้รบกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในภาคนี้ของโลก เพื่อให้การจัดหาเสบียงอาหารและวัสดุที่ใช้ในการสงครามของตนสะดวกเรียบร้อยโดยไม่มีอุปสรรค รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอต่อรัฐบาลไทยให้ตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยมีที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น แต่เป็นโชคดีของประเทศไทยที่รัฐบาลได้ตกลงที่จะตั้งธนาคารกลางของประเทศขึ้นและได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2483 ฉะนั้น เมื่อถูกฝ่ายมหามิตรเร่งเร้ารัฐบาลก็สามารถให้คำตอบได้ทันทีว่า ทางรัฐบาลก็ได้ดำริเรื่องนี้อยู่แล้วเหมือนกันและพร้อมจะตั้งธนาคารกลางโดยมีเจ้าหน้าที่บริหารที่เป็นคนไทยได้ โดยมิชักช้ารัฐบาลจึงได้มอบให้หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ (ต่อมาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการคลังของรัฐบาล ดำเนินการออกกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย และรับเอากิจการและพนักงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยมา ธนาคารกลางของประเทศไทยจึงได้เกิดขึ้น และเริ่มกิจการตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นต้นมา
ในระหว่าง 10 ธันวาคม 2485 ถึง 3 สิงหาคม 2492 ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างสงครามและเสร็จสงครามใหม่ ๆ การเมืองและการเศรษฐกิจของประเทศผันผวนมาก ในช่วง 6 ปีเศษ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีผู้ว่าการถึง 3 ท่านและผลัดกันเข้าออกถึง 5 สมัย ในวันที่ 4 สิงหาคม 2492 เราก็มีผู้ว่าการท่านที่ 4 คือ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ และท่านได้ดำรงตำแหน่ง อยู่จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2495 รวมระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในธนาคารประมาณ 2 ปี กับเกือบ 7 เดือน
ม.ล. เดช สนิทวงศ์ เป็นผู้ว่าการที่มีอาวุโสมาก ท่านเป็นผู้ก่อการชั้นระดับหัวหน้าคนหนึ่งในคณะกรรมการราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารประเทศภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการที่สำคัญ ๆ มามาก หลายยุคหลายสมัย ฉะนั้น การที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นการให้ความสำคัญแก่สถาบันการเงินอันสำคัญของชาติแห่งนี้ นอกจากท่านจะเป็นบุคคลสำคัญและเพียบพร้อมไปด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิและตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการดังกล่าวมาแล้ว สิ่งที่ผมและพวกเราทุกคนในธนาคารประทับใจมากก็คือ ท่านเป็นสุภาพบุรุษอย่างที่จะหาใครเปรียบได้ยาก ท่านมาจากตระกูลผู้ดีอันเก่าแก่ที่ได้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแต่โบราณ ท่านมีกิริยามารยาทละม่อมและวาจาอันนุ่มนวลอ่อนหวาน ท่านเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (โดยเฉพาะผู้น้อย) ท่านเป็นคนที่มี Sincerity กับทุกคน ท่านเป็นคนขยัน ท่านทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบเสมอ ท่านเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต สรุปแล้วท่านเป็นคนดีทุกอย่างไม่ว่าในเรื่องใดๆ ดังนั้นพวกเราทุกคนที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านจะเกิดความศรัทธา เคารพรักท่านเป็นอย่างมากโดยไม่รู้เสื่อมคลาย
ผมใคร่ขอยกตัวอย่างคุณธรรมต่าง ๆ ของท่านที่ผมได้ประสบมาด้วยตนเองสักสองสามเรือง ดังนี้
ตอนที่ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าการใหม่ ๆ ผมตรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการคลัง ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนงานของธนาคารที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลในเรื่องการออกและจัดการเงินกู้ และการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ห้องทำงานของผมอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของพระตำหนักใหญ่ ซึ่งเวลานี้เข้าใจว่าเป็นห้องทำงานของผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชี วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังมีแขกอยู่ในห้อง เลขานุการของผมได้วิ่งเข้ามาบอกว่าผู้ว่าการมาหาและกำลังคอยอยู่หน้าห้อง ผมจึงรีบออกมาขอโทษและเชิญท่านเข้ามา หลังจากนั้นท่านก็มาหาผมบ่อย ๆ มิไยที่ผมจะขอร้องให้เรียกตัวผมไปพบ ท่านยังคงมาหาผมที่ห้องอยู่เสมอ
ใครก็ตามที่เคยไปประชุมกับส่วนราชการอื่น ๆ กับท่าน จะต้องรีบทำบันทึกรายงานเรื่องที่ไปประชุมมาโดยเร็วที่สุด เพราะมิฉะนั้นแล้วจะรู้สึกละอายอย่างที่สุดอย่างที่ผมเคยประสบมา วันหนึ่งผมไปประชุมกับท่าน จะเป็นที่ไหนเรื่องอะไรจำไม่ได้เสียแล้ว ในวันรุ่งขึ้นแต่เช้าท่านก็เดินมาหาผมที่ห้อง แล้วส่งบันทึกรายงานการประชุมซึ่งท่านเขียนเองด้วยลายมืออันสวย อ่านง่ายของท่านให้ผมพร้อมทั้งสั่งว่าให้ตรวจดูด้วยว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องบ้างผมอายแทบแทรกแผ่นดินหนี เพราะผมยังไม่ได้ยกร่างรายงานการประชุมที่กล่าวเลย หลังจากนั้น เมื่อไปประชุมที่ไหนกับท่านอีก ผมจะรีบกลับมาทำรายงานทันที
หลังจากที่ท่านได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารไปแล้ว ท่านก็มาที่ธนาคารบ่อย ๆ บางครั้งก็มาติดต่อในราชการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการมาเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบของพนักงานที่ท่านรู้จัก ท่านไม่เคยเลยที่จะโทรศัพท์ติดต่อขอให้พวกเราทำอะไรให้ ซึ่งโดยที่จริงแล้วพวกเราทุกคนพร้อมที่จะรับใช้ท่านทุกโอกาสอยู่เสมอ
เมื่อผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (คนที่ 8 สมัยที่ 11) ท่านก็มาแสดงความยินดีต่อผมด้วยตนเอง และตลอดเวลาเมื่อมีวิกฤติการณ์ใด ๆ (สมัยผมมีมากเสียด้วย เริ่มต้นด้วย Nixon's shock 15 ส.ค. 14) ท่านก็จะไม่ลืมมาถามข่าวคราวและให้กำลังใจอยู่เสมอ ในตอนปลายสมัยของผมในฐานะผู้ว่าการก็มีเรื่องการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ที่พวก "บริษัทไทยฮั้ว" ทั้งหลายร่วมกับสมาคมอาชีพผู้เสียประโยชน์ และด้วยการสนับสนุนของ "มิตรเก่า" ของผมท่านก็มาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจว่า เมื่อเราเชื่อว่าเราทำถูกแล้วก็ไม่ต้องเอาใจใส่อะไรกับเรื่องปลีกย่อยทั้งหลายเพราะเป็นของธรรมดา ที่ผู้เสียประโยชน์จะต้องมีปฏิกิริยา ผมจึงตัดใจได้ว่าเราได้ทำอย่างดีที่สุดเพื่อรักษาประโยชน์ของสถาบันของเราซึ่งในที่สุดก็คือของชาตินั่นเอง ดังนั้นเมื่อเกิดอุปสรรคขึ้นเช่นนี้ก็ช่วยไม่ได้เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้วโดยบริสุทธิ์ใจ
ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย งานส่วนใหญ่ก็เป็นไปโดยราบรื่นเรียบร้อยไม่สู้มีปัญหาอะไร เรื่องทองคำของเราที่ฝากไว้ ณ ประเทศญี่ปุ่น ทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็คืนมาให้ การค้ากับประเทศญี่ปุ่นแบบบัญชีเงินเชื่อ (Open account) ก็ดำเนินไปด้วยดี เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ การค้ากับต่างประเทศก็ไม่มีปัญหาอะไร ประเทศไทยคงมีรายรับเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย เงินสำรองระหว่างประเทศจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การขายเงินตราต่างประเทศ (เงินปอนด์สเตอร์ลิง) ให้แก่ตลาดเสรีในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราตลาด ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเสรีมีเสถียรภาพดีขึ้น และเป็นทางช่วยดึงเงินที่หมุนเวียนในท้องตลาดให้กลับเข้ามายังธนาคารกลาง อันเป็นการช่วยชะลอความกดดันของภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในขอบเขตที่พอควบคุมได้
อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ของการเศรษฐกิจและการเงินของบ้านเมืองราบรื่นกระมัง ผู้ปกครองประเทศในขณะนั้น จึงเกิดชะล่าใจและรีบเร่งจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดนโยบายการเงินใหม่ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในหนังสือที่ระลึกวันครบรอบปีที่ยี่สิบของธนาคารแห่งประเทศไทย (10 ธันวาคม 2505 ) ได้เขียน สรุปเหตุการณ์ในระยะนี้ไว้เป็นอย่างดี ผมจึงขอลอกมาลงไว้ทั้งหมด
"สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในระยะนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในนโยบายการเงินต่างประเทศเมื่อต้นปี 2495 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นดำริและคำสั่งของรัฐบาลในสมัยนั้น ดังปรากฏในบันทึกฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2495 ของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง อันมีข้อความท้าวถึงความประสงค์ของรัฐบาลว่า
1. ในการปรึกษาหารือกันเรื่องการปริวรรตเงิน ปรากฏว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์ที่เป็นข้อใหญ่ ๆ 4 ประการคือ
ก. จะให้ค่าของเงินต่างประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเงินไทย
ข. จะให้ค่าครองชีพลดลง
ค. จะไม่ให้มีการเอาเงินต่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้รับมานั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศอื่น
ง. ไม่จำเป็นต้องสะสมเงินต่างประเทศเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นอีก
ความประสงค์ข้างต้นเมื่อประมวลเข้ากับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในระยะนั้นก็ไม่อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่ารัฐบาลในสมัยนั้น มั่นใจในความมั่นคงในค่าของเงินบาทว่าจะสามารถกลับไปสู่สภาพก่อนสงครามได้ จึงคิดที่จะปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยน ข้อนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้นไม่เห็นด้วยและเสนอรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติอยู่ในเรื่องการขายเงินตราต่างประเทศต่อไป กล่าวคือปล่อย ให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในตลาดเสรีเป็นไปตามภาวะการค้าต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยจะค่อย ๆ โน้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินในตลาดเสรีให้ต่ำลงเท่าที่จะทำได้ตามอุปทานแห่งเงินตราต่างประเทศ นอกจากนั้นยังไม่เห็นพ้องกับดำริของรัฐบาลที่จะกลับทำการควบคุมการจ่ายเงินตราต่างประเทศอีก เพราะขัดแย้งกับฐานะดุลการชำระเงินที่เป็นอยู่ในระยะนั้น ความเห็นแตกต่างกันทั้งในเรื่องการเพิ่มค่าของเงินบาททันทีและการควบคุมสินค้าเข้าได้เป็นเหตุให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพ้นจากตำแหน่งไป"
ม.ล. เดช สนิทวงศ์ ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 กุมภาพัน 2495 หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ปรากฏว่าผลของการดำเนินนโยบายการเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มค่าของเงินบาทเกินกว่าอัตราที่สมควรไม่ได้ผล ซ้ำกลับทำให้การค้ากับต่างประเทศได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก การส่งสินค้าออกได้รับการกีดกันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เสียเปรียบ ส่วนการส่งสินค้าเข้ากลับได้รับการส่งเสริมให้นำเข้ามาโดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูก ดังนั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ทรุดโทรมลงตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน 2496 รัฐบาลจึงต้องใช้นโยบายจำกัดสินค้าเข้าอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในที่สุดผลที่ได้รับก็คือ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ประเทศไทยได้สูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศไปอย่างมหาศาล เพราะดุลการค้าเสียเปรียบ และมีการลักลอบส่งเงินทุนออกนอกประเทศอีกด้วย
ประวัติศาสตร์การเงินของประเทศใน ระยะที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งที่ไม่ควรทำ! ผมขอสดุดี ม.ล. เดช สนิทวงศ์ ผู้ว่าการคนที่ 4 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ชี้แจงแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายเสี่ยงโชคของผู้มีอำนาจในเวลานั้น
อ่านจากบทความต้นฉบับ : พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์. (2518, ธันวาคม). ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ที่ผมรู้จัก. ธปท. ปริทรรศน์, 5 (3), 22 – 26