คุณสมหมายกับการจัดตั้งสาขาธนาคาร โดย วรเทพ ไวทยาวิโรจน์

เผยแพร่24 เม.ย. 2024

นับจากปี ๒๔๘๕ เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินธุรกิจในฐานะของธนาคารกลางของประเทศตลอดมาโดยมิได้มีสาขาจัดตั้งไปให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นภูมิภาค จวบจนประมาณ ๑๖ ปีต่อมาหลังจากการสถาปนาธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ความดำริในการที่จะจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคจึงได้เป็นรูปธรรมขึ้นอย่างจริงจัง โดยคุณสมหมาย ฮุนตระกูล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในขณะนั้น ได้เสนอบันทึก เรื่องการจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยในต่างจังหวัดซึ่งเป็นงานพิเศษของโครงการค้นคว้าปี ๒๕๐๑ จากจุดเริ่มของการศึกษาเรื่องการจัดตั้งสาขาในต่างจังหวัดได้นำมาสู่เรื่องที่เสนอคณะกรรมการธนาคารพิจารณาถึงความจำเป็น ความเหมาะสมในประการต่าง ๆ ในที่สุดคณะกรรมการธนาคารได้มีมติให้ธนาคารดำเนินการในเรื่องการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัดในการประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๕๐๑ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ ดังนั้น ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีเดียวกัน ธนาคารจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งประกอบด้วย

ผู้อำนวยการช่วยผู้ว่าการ
ผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงานฯ
ผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชี
ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ
ผู้อำนวยการฝ่ายออกบัตรธนาคาร
และ นายสุพงศ์ เพ็ญจันทร์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

ธนาคารได้กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาจังหวัดที่ควรจัดตั้งสาขาธนาคาร กำหนดแผนงาน การควบคุมบังคับบัญชา ธุรกิจที่พึงปฏิบัติแต่ละสาขา อัตรากำลังพนักงาน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสาขาธนาคาร

เหตุใดจึงดำริจะจัดตั้งสาขาธนาคารขึ้นที่ต่างจังหวัด

การจัดตั้งสาขาในต่างจังหวัดของธนาคารแห่งประเทศไทยมีเหตุผลและความจำเป็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการจัดตั้งสาขาของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป เพราะการตั้งสาขาของธนาคารแห่งประเทศไทยในต่างจังหวัดมิได้มุ่งหวังผลในเชิงพาณิชย์ แต่เป็นเหตุผลในเชิงหลักการของการเป็นธนาคารกลางและทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของรัฐบาลเพื่อรักษาดุลยภาพที่ดีทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาในเรื่องเงินโอนและสภาพคล่องของธนาคาร ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีการโอนเงินมาจากต่างจังหวัด ทำให้เงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คลังจังหวัดเพิ่มขึ้นทุกปี และในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้รับโอนทางกรุงเทพฯ ทำให้กระทบกระเทือนสภาพคล่องของธนาคาร โดยเหตุที่เงินฝากของธนาคารที่คลังจังหวัดมีจำนวนมากเกินความจำเป็นและธนาคารไม่อาจนำไปใช้ตามความจำเป็น จึงมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรจึงจะเรียกเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอยู่ตามคลังจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาได้โดยไม่มีอุปสรรค และธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะเป็นนายธนาคารของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับส่วนภูมิภาคด้วย มิใช่เพียงแต่เป็นนายธนาคารของรัฐบาลเฉพาะในส่วนกลางเช่นในขณะนั้น ๆ

หลักการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัด

คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ และเป็นกรรมการท่านหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงานการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัด ได้วางหลักการในเบื้องต้นว่า "ควรตั้งสาขาแต่เฉพาะภาคและจังหวัดที่สำคัญ" ในการนี้คณะกรรมการดำเนินงานการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัดได้มีความเห็นว่า "ปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบันคือการเรียกเงินฝากที่คลังจังหวัดเข้ากรุงเทพไม่สะดวก เนื่องจากกระทรวงการคลังมีเงินทางส่วนกลางไม่พอให้หักบัญชี ดังนั้นจึงถือเกณฑ์ว่า ..จังหวัดใดที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ด้วยการใช้ธนาคารพาณิชย์เป็นตัวแทนก็ถือหลักตั้งสาขาของธนาคารเอง

มุ่งสู่ภูธรที่หาดใหญ่

เมื่อธนาคารเห็นความจำเป็นในการจัดสร้างสาขาธนาคารในต่างจังหวัดตามแนวการศึกษาของฝ่ายวิชาการ ที่คุณสมหมาย ฮุนตระกูล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการนำเสนอแล้ว คณะกรรมการธนาคารก็ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการจัดสร้างสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยในต่างจังหวัดได้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งธนาคารก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเรื่องนี้ขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีคุณสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นกรรมการท่านหนึ่งด้วย จากการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้มีข้อสรุปว่า

"...เห็นสมควรดำเนินการจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในภาคใต้ก่อน เพราะว่ามีการโอนเงินออกไปทางภาคใต้มากกว่าโอนเข้ามา ซึ่งจะมีแต่การจ่ายเงินด้านเดียว เป็นเหตุให้มีความต้องการตัวเงินสูงมาก และธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้มีสภาพเก่ามากที่เป็นเช่นนี้เนื่องมา จากผู้ส่งออกซึ่งยางและแร่ดีบุกมีความจำเป็นต้องโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ไปจ่ายเป็นค่ารับซื้อยางและแร่ดีบุก กับค่าจ้างแรงงาน แต่รายได้เงินตราต่างประเทศจากยางและแร่ดีบุกที่ส่งออกนำเข้าทางกรุงเทพฯ อนึ่ง การตั้งสำนักงานสาขาในภาคนี้เพื่อทำหน้าที่จำหน่ายธนบัตรใหม่ออกไป และรับแลกธนบัตรเก่า ย่อมสามารถแก้ปัญหาสภาพธนบัตรที่หมุนเวียนให้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้แล้ว ยังจะทำให้วงการธนาคารพาณิชย์ได้รับความสะดวกในการโอนเงิน สามารถสนองความต้องการตัวเงินของจังหวัดภาคใต้ได้ดียิ่งขึ้น และกระทรวงการคลังก็หมดความจำเป็นที่จะต้องมีเงินจำนวนมากอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคนี้ เหตุผลที่ควรตั้งสำนักงานสาขาที่อำเภอหาดใหญ่ ไม่ใช่ที่ตัวจังหวัดสงขลาก็คือ ที่อำเภอหาดใหญ่มีสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่า และเป็นชุมนุมการค้าใหญ่กว่าที่ตัวจังหวัดสงขลา ทั้งเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทางภาคใต้อีกด้วย"

ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๐๒ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ในฐานะกรรมการดำเนินงานการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัด ได้มีบันทึกเสนอท่านรองผู้ว่าการ มีความสังเขป ๘ ประการ อันเป็นบรรทัดฐานของการดำเนินการของสาขาธนาคารในระยะแรกเริ่ม และในบางประการก็กลายเป็นหลักการพื้นฐานของการดำเนินงานการจัดตั้งสาขาธนาคารเพิ่มขึ้นในสมัยต่อ ๆ มา ข้อกำหนดทั้ง ๘ ประการ ได้ครอบคลุมถึงการจัดตั้งสาขา ฐานะของสาขา วิธีดำเนินงาน ตลอดจนนโยบายการบริหารงานของสาขาอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ

๑. สาขาของธนาคารควรตั้งในภาคใต้ก่อน และสถานที่ตั้งควรเป็นที่อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา
๒. ธุรกิจที่สาขาจะประกอบ ได้แก่ การรับฝากและโอนเงิน การให้กู้ยืมและซื้อลด การจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การรับจ่ายและเก็บรักษาเงินสด และงานธุรการ
๓. สาขาควรมีฐานะเป็นส่วนงานขึ้นตรงต่อรองผู้ว่าการหรือผู้ว่าการ
๔. เกี่ยวกับธนบัตร ควรเปลี่ยนรูปการออกธนบัตรเสียใหม่ ไม่แยกโดยเด็ดขาดเช่นในปัจจุบัน เพราะจะทำให้นำสต๊อกธนบัตรที่ยังไม่ออกใช้ไปเก็บไว้ทางสาขาได้มาก ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาฐานะเงินสดของธนาคาร
๕. ที่ดินสำหรับก่อสร้างที่ทำการและบ้านพักพนักงานควรให้แยกจากกัน และใช้วิธีซื้อโดยพิจารณาที่ดินของทางราชการก่อน
๖. แบบแปลนที่ทำการ ควรออกแบบโดยคำนึงถึงให้ใช้ประโยชน์ในเวลา ๕๐ ปีข้างหน้าด้วย
๗. เครื่องมือติดต่อระหว่างสาขากับสำนักงานใหญ่ ควรใช้เครื่อง Teletype บังคับด้วยวิทยุให้แจ้งรายการต่าง ๆ ให้สำนักงานใหญ่ทราบเป็นประจำวันได้เช่นเดียวกับวิธีปฏิบัติงานของฝ่ายและส่วนต่าง ๆ
๘. งานที่ควรดำเนินการขั้นแรก คือ การจัดหาที่ดินซึ่งจะเป็นที่ตั้งที่ทำการและบ้านพักพนักงานก่อน

การใฝ่ใจ
แม้จะได้มีการพิจารณาเป็นข้อยุติแล้วว่าธนาคารจะจัดตั้งสาขาแห่งแรกในต่างจังหวัดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็ตาม แต่คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ก็หาได้พึงพอใจต่อภารกิจเบื้องต้นที่เสร็จสิ้นลงไปไม่ ในทางตรงกันข้ามกลับยังมีความใฝ่ใจอย่างจดจ่อต่อการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัดให้มีแบบฉบับที่ดี ดังจะเห็นได้จากการที่ได้รับเชิญจาก Thai Airways International ให้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๓ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ก็หาได้ละเลยความเอาใจใส่ต่องานธนาคาร โดยเฉพาะการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัดไม่ กลับฉวยโอกาสนั้นทำงานให้แก่ธนาคารอีกหลายเรื่อง ซึ่งแน่นอนที่สุดหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือการศึกษาถึงงานเกี่ยวกับการดำเนินการของสาขาธนาคารกลางในประเทศญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้จากบันทึกของคุณสมหมาย ฮุนตระกูล ที่เสนอต่อรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ความว่า
 
งานเกี่ยวกับสาขาธนาคาร
(๑)  เมื่อได้ศึกษาจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร แห่งประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับสาขาที่พอจะเทียบเคียงกับสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะตั้งขึ้นที่หาดใหญ่แล้ว ฝ่ายเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเห็นว่า ควรจะได้ไปดูสาขาธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นในเมือง Niigata ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของเกาะญี่ปุ่น ติดทะเลญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียว ๓๕๐ กิโลเมตรเพราะเป็นสาขาที่ไม่ใหญ่โต ขณะนี้มีพนักงานรวมทั้งนักการด้วย ๑๒๐ คน ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดสาขาของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะตั้งขึ้น ทั้งที่เมืองดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นกำลังสร้างตึกสำนักงานใหญ่ หากไปดูที่ดังกล่าวก็จะได้เห็น ทั้งตึกเดิมและตึกใหม่พร้อมกัน กระผมจึงได้เดินทางไปเมือง Niigata เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ และเดินทางกลับในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๐๓ โดยมีนายอุ่น อุณห์ศิริ และนายประจิตร ยศสุนทร ร่วมเดินทางไปด้วย

(๒) ตึกทำการสาขาปัจจุบันของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเมื่อ ๔๖ ปีมาแล้ว ปัจจุบันนับว่าคับแคบสำหรับพนักงานและนักการที่มีอยู่ทั้งสิ้นจำนวนจำนวน ๑๒๐ คน ตัวอาคารเป็นตึก ๒ ชั้น มีชั้นใต้ดินอีก ๑ ชั้น แต่ลักษณะพิเศษของตึกสำนักงานนี้อยู่ที่ห้องมั่นคงซึ่งมิได้สร้างอยู่ใต้ดินเช่นเดียวกับสำนักงานอื่น ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นเมืองติดทะเล เมื่อสร้างเกรงว่าจะมีน้ำซึมเข้ามาหรือทำความชื้นให้เกิดขึ้นแก่ห้องมั่นคง จึงได้สร้างบนพื้นดิน ห้องมั่นคงมีอยู่ ๓ ห้องด้วยกัน และนอกจากนี้มีห้องเก็บเอกสาร ๑ ห้อง ชั้นล่างนอกจากห้องมั่นคงแล้วใช้เป็นที่ทำงานของคนงานต่าง ๆ กล่าวคือ ส่วนธุรกิจ ส่วนการคลัง ส่วนออกบัตร และส่วนธุรการ โดยอยู่รวมกันในห้องโถงด้านหน้า ชั้น ๒ นั้นใช้เป็นห้องผู้อำนวยการสาขา ห้องประชุม และห้องรับประทานอาหาร (ทางธนาคารจัดอาหารกลางวันให้พนักงานด้วยโดยไม่คิดมูลค่า) ทั้งนี้รายละเอียดปรากฏตามแผนผังที่แนบมาพร้อมนี้

สำหรับเคาน์เตอร์นั้น สาขาธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นทำเป็นแบบเดียวกันทั้งสิ้น คือตอนที่เป็นเคาน์เตอร์ของส่วนออกบัตรนั้น มีห้องพิเศษซึ่งปิดมิดชิด สำหรับผู้ที่นำส่งเงินรายใหญ่หรือรับเงินรายใหญ่เข้าไปทำการส่งเงินหรือรับเงินที่ห้องนั้น โดยห้องดังกล่าวจะมีทางออกไปยังที่ที่รถบรรทุกจะมาจอดรับหรือส่งได้

(๓) ตึกสำนักงานสาขาที่สร้างขึ้นใหม่นั้นมีขนาดใหญ่กว่าตึกสำนักงานเดิม โดยกะให้พอเพียงสำหรับจำนวนพนักงาน ๒ เท่าของที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนสำหรับ lay-out นั้น โดยทั่ว ๆ ไปก็ไม่ค่อยต่างกันกับสำนักงานเดิม ผิดแต่ว่าห้องมั่นคง ไปสร้างไว้ใต้ดินและมีขนาดใหญ่มาก คือ เกือบเป็นรูป ๒๐ เมตรสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้งนี้เนื่องด้วย เทคนิคสมัยปัจจุบันสามารถสร้างให้ป้องกันน้ำได้ และโดยรอบห้องมั่นคงนั้นเพื่อความปลอดภัยได้ สร้างให้เป็นทางเดินได้โดยรอบ โดยแต่ละมุมมีกระจกตั้งไว้เพื่อให้มองเห็นได้ทั่วจากมุมใดมุมหนึ่ง นอกจากนั้น มีห้องมั่นคงสำหรับเก็บสำรองไว้เพื่อใช้เป็นห้องมั่นคงเก็บธนบัตรอีก ๒ ห้อง รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น ๙ คูณ ๒๓ เมตร ตัวอาคารเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ นั้น เป็นที่ที่ประกอบธุรกิจของธนาคาร โดยทำเป็นห้องโถงและมีที่รับส่งเงินไว้ สำหรับรายใหญ่ๆ เช่นเดียวกัน ส่วนชั้นที่ ๒ นั้น เป็นห้องประชุม ห้องสมุด ห้องโถงใหญ่ และห้องรับประทานอาหาร ตัวอาคารนี้ได้เตรียมไว้สำหรับต่อได้อีก ๑ ชั้น เพื่อกิจการในภายหน้า

ค่าสร้างตึกสำนักงานใหม่นี้ รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องทำความเย็น-ทำความร้อน ประตูห้องมั่นคง เครื่องควบคุมความชื้นสำหรับห้องมั่นคง เครื่องส่งเอกสารด้วยท่อลม ตลอดจนอุปกรณ์การไฟฟ้าต่าง ๆ แล้ว เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๑๓ ล้านบาทเศษ แบบแปลนของตึกสำนักงานใหม่นี้ได้แนบมาพร้อมนี้แล้ว (แบบแปลนนี้ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นลับ)

(๔) นอกจากตึกที่ทำการแล้ว กระผมกับคณะได้ไปดูบ้านพักพนักงานของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นในเมือง Niigata ด้วย บ้านผู้อำนวยการสาขาได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๒๘ ปีมาแล้วเช่นเดียวกัน ตั้งอยู่ต่างหากจากบ้านพนักงานอื่น ๆ และได้สร้างตามความจำเป็นในสมัยนั้น คือ ให้มีทั้งที่เลี้ยงรับรองแขกได้ประมาณ ๓๐ คน และที่พักสำหรับแขก ๒ ห้อง รวมทั้งห้องน้ำสำหรับแขกที่มาพัก รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้นบนพื้นดินถึง ๑๐๐ ตารางวา และบ้านผู้อำนวยการสาขานี้ถือว่าเป็น Official Residence โดยทางธนาคารเป็นผู้จัดผู้รับใช้ คนทำสวนให้ประจำบ้าน และที่สร้างไว้ใหญ่โตนั้นได้ทราบว่า เพื่อใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวหากสำนักงาน ถูกไฟไหม้ด้วย

ส่วนบ้านพนักงานชั้นหัวหน้าส่วนหรือรองลงมานั้น สร้างให้เป็นหลัง ๆ เป็นบ้านขนาดกลาง โดยแยกเป็นบ้านหัวหน้าส่วนละแวกหนึ่ง หรือผู้ที่มีตำแหน่งรองลงไปอีกละแวกหนึ่ง นอกจากนั้นมีที่พักสำหรับพนักงานที่เป็นโสด ซึ่งสร้างคล้าย ๆ Apartment มีห้องพัก ๒๔ ห้อง

พนักงานที่ไปประจำสาขานั้น ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นถือหลักส่งไปแต่เฉพาะพนักงานที่เป็นชาย ส่วนพนักงานซึ่งเป็นหญิงที่ทำงานเสมียนนั้น ใช้จ้างคนในท้องถิ่น ฉะนั้นสำหรับที่พักปัญหาเรื่องเพศจึงไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้อำนวยการสาขานั้นทางธนาคารบังคับว่าจะต้องอยู่บ้านที่ธนาคารจัดให้ ส่วนพนักงานอื่น ๆ นั้นให้แล้วแต่ใจสมัครและในการพักที่บ้านของธนาคารนั้น ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นคิดค่าเช่าจากพนักงานด้วย แต่ค่าเช่านั้นเป็นเพียง nominal เช่นตัวอย่างบ้านพักของหัวหน้าส่วนคิด ๑,๕๐๐ เยน เทียบกับค่าเช่าบ้านขนาดเดียวกัน ๕,๐๐๐ เยน ส่วนบ้านพักพนักงานโสดนั้น ทางธนาคารจัดอาหารให้เสร็จ ซึ่งรวมทั้งที่พักแล้วคิดประมาณ ๒,๒๐๐ เยน เทียบกับรายได้ของพนักงานต่ำสุดซึ่งได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ เยน สำหรับบ้านผู้อำนวยการสาขาธนาคารนั้นคิดค่าเช่า ๓,๐๐๐ เยน ซึ่งจัดว่าเป็น nominal เช่นเดียวกัน

(๕) ที่ทำการสาขาของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นไม่มีที่เผาธนบัตร เพราะธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นถือวิธีปฏิบัติที่จะส่งธนบัตรที่จะทำลายมาตรวจสอบที่สำนักงานใหญ่ และได้ทำลายที่สำนักงานใหญ่แต่แห่งเดียว การทำลายธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นขณะนี้ทำเป็น ๒ วิธี คือ ธนบัตรชนิดราคาต่ำ เมื่อทำการเจาะแล้วก็ขายให้แก่บริษัททำกระดาษเอกชนเพื่อไปละลายทำ Pulp ต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารไปควบคุมการละลาย ส่วนธนบัตรชนิดราคาสูงนั้น ใช้วิธีเผา ณ เตาเผาในที่ทำการสำนักงานใหญ่ เหตุที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นใช้วิธีส่งธนบัตรมาทำลายสำนักงานใหญ่นี้ ได้ทราบว่า เพื่อจะให้เป็นการสอบซึ่งกันและกันไปในตัว และทางสำนักงานใหญ่มีเครื่องมือในการทำลายธนบัตรดีกว่าสาขา สำหรับการตั้งสาขาหาดใหญ่นั้น ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัดได้วินิจฉัยในประเด็นนี้แล้วเห็นว่า ควรจะให้มีเตาเผา ณ ที่ทำการสาขา ทั้งนี้เพราะที่สำนักงานใหญ่ไม่มีเตาเผาที่เหมาะสม และการส่งธนบัตรมาอาจจะเป็นการเสี่ยงภัยมาก แต่เพื่อความรอบคอบ ก็จะได้ให้ผู้แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบในทำนองเดียวกับที่ปฏิบัติอยู่ใน กรุงเทพฯ ด้วยเหตุดังกล่าวกระผมจึงได้ไปดูเตาเผาธนบัตรที่สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นด้วย และได้รับแบบแปลนเตาเผามาตามที่แนบเสนอมาพร้อมนี้ เตาที่กล่าวนี้มิได้ใช้เชื้อเพลิงช่วย และเผาได้ครั้งละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ ฉบับ การเผาครั้งหนึ่ง ๆ ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งเห็นว่าอาจจะใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างที่สาขาหาดใหญ่ โดยย่อส่วนลงมา

(๖) การสื่อสารระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขาธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยปกติใช้โทรเลขและโทรศัพท์ แต่ก็มีบางสาขาที่ติดต่อกับสำนักงานใหญ่โดยใช้เครื่องโทรพิมพ์และเครื่องส่งภาพ (Teletype and Facsimile Communication System) แต่การสื่อสารที่กล่าว ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นใช้อาศัยสายโทรศัพท์ของรถไฟหรือบริษัทสื่อสาร โดยเสียค่าป่วยการค่าสายให้ ทั้งนี้เพราะการสื่อสารโดยใช้สายมีทางที่จะได้รับการรบกวนน้อยกว่าทางวิทยุ สำหรับการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับหาดใหญ่นั้น เดิมได้คิดจะใช้เครื่องโทรพิมพ์และเครื่องส่งภาพทางวิทยุ ซึ่งกระผมได้สอบถามบริษัท Nippon Electric Co., Ltd. และบริษัทได้ส่งรายการละเอียดเกี่ยวกับเรื่องสื่อสารที่กล่าวมาตามที่แนบมาพร้อมนี้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะได้รับการพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีทางอาศัยสายโทรศัพท์ของการรถไฟได้หรือไม่ หากอาศัยได้ก็น่าจะใช้ระบบที่มีสายมากกว่าระบบวิทยุ เพราะระยะทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่โดยเส้นตรงมีระยะทางไม่น้อยกว่า ๘๐๐ กิโลเมตร ถ้าใช้ระบบวิทยุจะต้องใช้เครื่องที่มีกำลังมาก"

ข้อมูลจากเอกสารอันมีค่าชิ้นนี้ได้รับการหยิบยกเป็นประเด็นพิจารณาปรุงแต่งการจัดบ้านพัก การบริหารสาขา ตลอดจนการแบ่งส่วนงานให้มีความสมบูรณ์ดียิ่งขึ้น จวบจนธนาคารสามารถจัดตั้งสาขาหาดใหญ่ขึ้นสำเร็จในกาลต่อมา

เปิดสาขา


สาขาภาคใต้นับเป็นสาขาแห่งแรกของธนาคารแห่งประเทศไทยในต่างจังหวัด ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดดำเนินการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๗ มีพนักงานแรกเริ่ม ๗๖ คน โดยย้ายมาจากสำนักงานใหญ่ ๒๗ คน เป็นพนักงานท้องถิ่น ๔๙ คน สำหรับการจัดรูปองค์กรนั้น โดยที่สาขาแห่งนี้มีเขตปฏิบัติการถึง ๑๑ จังหวัด การจัดรูปองค์กรจึงต้องเอื้อต่อการรองรับปริมาณงานและมีขอบเขตการให้บริการอย่างทั่วถึงต่อผู้มาติดต่องาน รูปการจัดองค์การในชั้นต้นจึงประกอบด้วยส่วน ๒ ส่วน คือ ส่วนเงินตรา และส่วนธุรกิจ กับหน่วยกลางซึ่งเป็นหน่วยบริการทั่วไปอีก ๑ หน่วย

 

ผู้อำนวยการสาขาคนแรก

การจัดตั้งสำนักงานสาขาธนาคารแม้จะมีภาระอันยุ่งเหยิง แต่ก็ยังไม่ยุ่งยากเทียมเท่าการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถไปบริหารงานสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่เพิ่งบุกเบิกไปสู่ท้องถิ่นภูมิภาค เพราะนอกจากจะต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว ยังต้องสถาปนาความเชื่อมั่นตลอดจนความเชื่อถือทั้งทางภาควิชาการและปฏิบัติการให้แก่ท้องถิ่นภูมิภาคนั้น ๆ ด้วย การวางตำแหน่งบุคลากรที่สาขาภาคใต้ในชั้นแรกนี้จึงต้องสรรหาจากผู้มีความรู้ ความสามารถ และยังต้องเป็นผู้มีอำนาจ บารมีเป็นที่เลื่อมใสแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นด้วย การสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวธนาคารจึงต้องพิจารณาด้วยความละเอียด รอบคอบ และในที่สุดธนาคารก็เห็นว่าภารกิจการบุกเบิกสาขาในภูมิภาคอันหนักอึ้งนี้ไม่มีบุคคลใดที่จะเหมาะสมดีไปกว่า "คุณสมหมาย ฮุนตระกูล" ดังนั้น ธนาคารจึงได้แต่งตั้งให้คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสาขาหาดใหญ่เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๗


การวางรากฐานงานสาขา

แม้คุณสมหมาย ฮุนตระกูล จะเป็นแต่เพียงผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสาขาหาดใหญ่เท่านั้นก็ตาม แต่ความที่เป็นสาขาแรกตั้งที่จะต้องบุกเบิกฟันฝ่าภาระอุปสรรคทั้งมวลประการหนึ่ง กับทั้งยังจะต้องสร้างศรัทธาให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการปฏิบัติงานของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตระหนักและสัมผัสถึงบริการที่จะอำนวยความสะดวก กับทั้งคลี่คลายปัญหาทางการเงินต่าง ๆ ให้บรรเทาเบาบางลงเพื่อจะให้เกิดการยอมรับขึ้นมา งานที่สำคัญอันถือได้ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นบรรทัดฐานในการจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคต่อมาในภายหลังก็คือ

ก. การยุติงานผู้แทนธนาคารของคลังจังหวัดในท้องถิ่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไปตั้งสาขาอยู่ เนื่องจากธนาคารจะสามารถให้บริการด้านการเงินให้แก่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม กรณีสาขาหาดใหญ่นั้น เนื่องจากมิได้ตั้งสาขาที่สงขลา ประเด็นจึงมีอยู่ว่าจะให้คลังจังหวัดสงขลายังคงทำหน้าที่ผู้แทนธนาคารต่อไปหรือไม่ ในชั้นต้นทางราชการเห็นว่าน่าจะดำรงคลังจังหวัดสงขลาในฐานะผู้แทนธนาคารต่อไป เพราะระยะห่างจากสงขลามาหาดใหญ่ไกลกันถึง ๒๖ กิโลเมตร เกรงว่าธนาคารพาณิชย์กับสหกรณ์ต่าง ๆ จะไม่ได้รับความสะดวก ในด้านการบริการทางการเงิน

ปัญหาประการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้เหตุผลและความพยายามเป็นอย่างมากในการทำความเข้าใจโน้มน้าวให้ผู้เกี่ยวข้องยอมรับและเข้าใจ กับทั้งมีความมั่นใจในบริการของธนาคารสาขาหาดใหญ่ แต่อุปสรรคปัญหาเหล่านี้ก็หาได้เหลือบ่ากว่าแรงเกินกว่าที่คุณสมหมาย ฮุนตระกูล จะคลี่คลายได้ จนสามารถยุติงานของคลังจังหวัดสงขลาในฐานะผู้แทนธนาคารได้ ดังปรากฏเหตุผลในบันทึกที่คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ในฐานะผู้อำนวยการช่วยผู้ว่าการในขณะนั้น ได้ทำบันทึกเสนอเหตุผลต่อธนาคาร จนเป็นที่ยอมรับและธนาคารก็ได้หยิบยกเหตุผลเหล่านั้นชี้แจงกับกระทรวงการคลัง จนเป็นที่เข้าใจกันด้วยดี เหตุผลที่หยิบยกมาอ้างอิงนั้นปรากฏในบันทึกถึงรองผู้ว่าการ ความว่า

"...เมื่อได้พิจารณาโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งแล้ว เห็นว่า
๑. ในการเปิดสาขาของธนาคารขึ้นที่หาดใหญ่ ก็ได้คำนึงถึงการติดต่อกับสถาบันการเงินและหน่วยราชการต่าง ๆ แล้ว ที่หาดใหญ่มีสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่าที่สงขลา คือมีถึง ๑๐ ธนาคาร ส่วนที่สงขลามีเพียง ๕ ธนาคาร และทั้ง ๕ ธนาคาร มีสำนักงานที่หาดใหญ่ทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะหาดใหญ่เป็นที่ชุมนุมการค้าและศูนย์กลางคมนาคม ธุรกิจทางการเงิน

๒. การรับ-จ่ายเงินของธนาคารพาณิชย์ในสงขลากับผู้แทนธนาคารที่สงขลาในเดือนหนึ่ง ๆ มีน้อยครั้งกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ที่หาดใหญ่ ส่วนจำนวนเงินเมื่อถัวเฉลี่ยแต่ละครั้งแล้วเป็นเงินไม่มากนัก และเมื่อมีการเปิดสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยที่หาดใหญ่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่มีสาขาทั้งที่สาขาที่หาดใหญ่เป็น main office ส่วนสหกรณ์ต่าง ๆ ก็มิได้รวมกลุ่มอยู่เฉพาะในสงขลาเท่านั้น หากแต่กระจายอยู่ทั่วไป นอกจากนั้น เท่าที่ได้สอบถามถึงการเลิกผู้แทนที่สงขลาจากสำนักงานใหญ่ ของธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาที่สงขลา ก็ไม่ปรากฎว่ามีธนาคารใดติดใจในเรื่องนี้ ทั้งนี้เพราะในแง่ธนาคารพาณิชย์นั้น จะได้รับความสะดวกมากกว่าเดิมที่สาขาหาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินมาก เบิกและฝากกับสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ที่หาดใหญ่ และการขนเงินไปให้สาขาสงขลาและทางตรงกันข้ามต่อไปก็คงจะเป็นในรูปขนระหว่างสำนักงานที่หาดใหญ่และสงขลามากกว่าที่จะโอนเงินจากกรุงเทพฯ ไปให้สาขาสงขลา

โดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่าเมื่อได้ตั้งสาขาของธนาคารขึ้นที่หาดใหญ่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้แทนธนาคารจังหวัดสงขลาอีกต่อไป

ข. การหักบัญชีในท้องถิ่น (Local Clearing) ระหว่างธนาคารได้หันมาใช้จุดศูนย์รวมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แทนการใช้บุคคลจากธนาคารเดินทางไปแลกเปลี่ยนเช็คระหว่างธนาคารด้วยกันเอง ซึ่งนอกจากจะไม่สะดวกไม่ปลอดภัยแล้ว ยังทำให้เปลืองค่าใช้จ่าย สิ้นเปลืองเวลาไปเป็นอันมาก เรื่องนี้ในชั้นต้นธนาคารพาณิชย์ต่างก็ไม่สู้จะเห็นด้วยกับวิธีการที่จะต้องส่งพนักงานของธนาคารมาดำเนินการหักบัญชีระหว่างธนาคารที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะต่างก็คุ้นเคยกับวิธีการทำงานแบบเดิมมาเป็นเวลานานจนเกิดความเคยชินและรู้สึกว่าไม่เป็นการเสียเวลา คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ต้องเปิดการเจรจาทำความเข้าใจตลอดจนชี้ถึงคุณประโยชน์ให้กับเหล่าธนาคารพาณิชย์ได้เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจากับสำนักงานใหญ่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่มีสาขาอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จึงได้มีการหักบัญชีระหว่างสาขาธนาคารพาณิชย์ขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาหาดใหญ่

ค. ฐานะของสาขาควรให้เทียบเท่าฝ่ายขึ้นตรงต่อรองผู้ว่าการ หรือผู้ว่าการในประเด็นนี้ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล คงจะมองว่าสาขาธนาคารนอกจากจะมีขอบเขตการปฏิบัติงานและปริมาณงานมากแล้ว งานของสาขาธนาคารยังประกอบด้วยลักษณะงานอันหลากหลายมากด้านต่างลักษณะ คล้ายเป็นการจำลองภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยไปย่อส่วนในภูมิภาค นอกจากนี้ผู้บริหารของสาขาธนาคารก็ยังจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนในนามของธนาคารติดต่อราชการกับหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมตลอดจนถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ ผู้พิพากษา แม่ทัพภาค ผู้บังคับการตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัด ฯลฯ เป็นต้น การดำรงฐานะของผู้อำนวยการสาขาให้เทียบเท่าในระดับฝ่ายจึงน่าจะเป็นการเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้กำหนดในเบื้องต้น ให้ผู้อำนวยการสาขามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากับรองผู้อำนวยการฝ่ายก่อน เพราะในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการสาขายังมีปริมาณงานน้อย ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งจะยกฐานะของสาขาให้เทียบเท่ากับฝ่าย (ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินงานการจัดตั้งสาขาธนาคารในต่างจังหวัด ซึ่งคุณสมหมาย ฮุนตระกูล ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย) เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๒ โดยยกฐานะผู้บริหารสูงสุดของสาขาให้อยู่ในระดับ ๙ เทียบเท่ากับผู้อำนวยการฝ่ายด้วย

ง. การเตรียมสาขาให้มีขีดความสามารถในการรองรับงานเป็นระยะเวลายาวนานโดยที่ตระหนักว่า การก่อตั้งสาขาธนาคารแต่ละแห่งมิใช่จะสามารถดำเนินการจัดตั้งได้โดยง่าย และก็มิใช่จะใช้เวลาดำเนินการสั้น ๆ อีกทั้งยังต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูง นอกเหนือจากภาระในการตระเตรียมการด้านบุคลากรด้วย ดังนั้นเมื่อตกลงใจในการที่จะจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแล้ว ความตั้งใจมั่นในการมองไปข้างหน้าเป็นระยะเวลาอันยาวไกล ก็คือการใช้ความพยายามอย่างสูงในการที่จะให้สาขาธนาคารทุกแห่งที่ตั้งขึ้นสามารถรองรับงานหรือ ภารกิจของธนาคารต่อไปได้เป็นระยะเวลานานที่สุดถึงกับกำหนดว่า "...แบบแปลนที่ทำการ ควรออกแบบโดยคำนึงถึงให้ใช้ประโยชน์ได้ในเวลา ๕๐ ปีข้างหน้าด้วย..."

การกำหนดเงื่อนเวลาในการก่อสร้างสาขาธนาคารให้สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาอันยาวนาน ได้กลายเป็นพื้นฐานการประกอบข้อวินิจฉัยในความคิดที่จะก่อสร้างอาคารสาขาในภูมิภาคตลอดมา แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ตาม ก็ได้วางเกณฑ์ไว้ว่าอาคารสาขาธนาคารแห่งใหม่ที่จะจัดสร้างขึ้นมานั้นจะต้อง สามารถรองรับงานของสาขาเพื่อรอการขยายตัวในอนาคตอย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ ๑๐-๒๐ ปี

จ. หลักเกณฑ์ในการกำหนดแนวทางเพื่อการจัดตั้งสาขาธนาคารในส่วนภูมิภาคที่จะต้องจัดตั้งขึ้นนั้น ก็ได้มีบรรทัดฐานใน ๒ รูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ

จ.๑ การจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อการ "ติดตาม-แต่งเติม" สภาพเศรษฐกิจ การเงินของภูมิภาคให้มีความก้าวหน้าที่รวดเร็วขึ้น ในกรณีนี้ธนาคารจะติดตามตั้งสาขาในจังหวัดที่มีขีดความเจริญเกิดขึ้นแล้ว การตั้งสาขาจึงเป็นรูปแบบของการให้บริการด้านการเงินและสนับสนุนความเจริญของภูมิภาคให้รุดหน้ายิ่งขึ้น เช่น สาขาหาดใหญ่ สาขาขอนแก่น เป็นต้น

จ.๒ การจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อการ "กระตุ้น-ต่อเติม" สภาพเศรษฐกิจการเงินที่กำลังจะพัฒนาขึ้นมา หรือในภูมิภาคที่มีลู่ทางในการที่จะผลักดันให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในทางเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม โดยมีศูนย์กลางการเงินทางหน่วยราชการเป็นเครื่องรองรับอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังขาดความสะดวกในการบริการทางการเงินของธนาคารเข้าไปเสริมให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น กรณีนี้มักจะเป็นจังหวัดที่ความเจริญทางเศรษฐกิจยังไม่เด่นชัดแต่มีแววแห่งศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองในอนาคตได้ ทั้งในด้านอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เงื่อนไขเช่นนี้ธนาคารก็จะพิจารณาไปจัดตั้งสาขาขึ้น เช่น ในกรณีของสาขาลำปาง เป็นต้น

เวลา-วาระการดำรงตำแหน่งทางสาขาธนาคาร


ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า การพิจารณาแต่งตั้งคุณสมหมาย ฮุนตระกูล ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสาขาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ นั้น เป็นการพิจารณาในแง่ความเหมาะสมที่จะให้ไปแผ้วทางสู่อนาคตของสาขาแห่งนี้ เพราะการบุกเบิกงานสาขาต้องเจรจากับหน่วยงานทางราชการโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีประเด็นปัญหาต้องหารือกันหลายด้านหลายประการเพื่อให้เกิดการกลมกลืนในด้านการปฏิบัติงานที่เห็นชอบสอดคล้องต้องกันในทุกฝ่าย จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยภูมิรู้ ความสามารถ และเกียรติคุณของคุณสมหมาย ฮุนตระกูล โดยตรง เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งจะถากถางไปสู่เป้าหมายของการบริหารงานสาขาให้สัมฤทธิ์ผลต่อภารกิจของธนาคารได้

อย่างไรก็ดี เมื่อได้วางรากฐานและแนวทางในการดำเนินงานให้แก่สาขาจนสามารถปรับทิศทางในการปฏิบัติงานได้อย่างดีแล้ว คุณสมหมาย ฮุน ตระกูล ก็ได้พ้นภาระจากการรักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสาขาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๘ กระนั้นก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานนัก คือ ระหว่างวันที่ ๒๐-๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๘ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ก็ต้องหวนกลับไปรับภาระในการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสาขาหาดใหญ่อีกคำรบหนึ่ง เนื่องจากเป็นช่วงว่างที่เกิดจากการสับเปลี่ยนตำแหน่ง และสรรหาผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน ในช่วงหลังนี้ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล จึงปฏิบัติงานอยู่ในช่วงสั้น ๆ เพียง ๑๐ วันเท่านั้น

ยังเยี่ยม-ยังเยือน

แม้เมื่อได้พ้นจากการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสาขาหาดใหญ่ และพ้นจากการเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ความผูกพันที่มีต่อธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะสาขาหาดใหญ่ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสาขาภาคใต้ ก็หาได้ลดน้อยลงไปแต่ประการใดไม่ ดังจะเห็นได้จากหากมีโอกาสไปจังหวัดสงขลาแล้วก็จะแวะเยี่ยมและพักอยู่กับสาขาธนาคารแห่งนี้อยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากการที่คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ได้มีบันทึกความชื่นชมที่มีต่อสาขาที่ท่านได้มีบทบาทอย่างมากต่อการก่อกำเนิด ความว่า

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ "ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนที่นี่อีกครั้ง โดยได้มาค้างแรม ๒ คืน ณ บ้านรับรอง ขอขอบคุณในการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่งเช่นเคย ยินดีที่ได้เห็นสาขาแห่งนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป ๒๓ ปีกว่าแล้ว"  

และบันทึกจากการเยี่ยมเยียนอีกครั้งหนึ่ง ความว่า

๒๘ มีนาคม ๒๕๓๒ "นับแต่ได้ตั้งสาขานี้มา กาลเวลาได้ผ่านมาเกือบ ๒๕ ปีแล้ว และคงจะครบ ๒๕ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๒ นี้ เมื่อหวนระลึกย้อนหลังไป รู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ในโอกาสที่ได้มาเยี่ยมเยียนสาขานี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ได้มีโอกาสคุยกับพนักงานชุดปัจจุบันหลายท่านด้วยกัน มีความยินดีที่ได้ทราบว่า สาขาหาดใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจอันเป็นเจตนาเมื่อจัดตั้งครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง"

การก่อกำเนิดสาขาหาดใหญ่อันเป็นสาขาภูมิแห่งแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งประกายจุดประทุให้เกิดการแผ่ขยาย ในส่วนภูมิภาคออกไปอีก ๒ แห่ง คือสาขาตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น และสาขาภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง จากฐานรากอันแข็งแกร่งและแนวทางการทำงานอันเรียบง่ายแต่เป็นระบบ ได้กลายเป็นแนวทางในการดำเนินงานสาขาต่าง ๆ สืบเนื่องเนิ่นนานต่อมาอย่างยืนยง จนก่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อการพัฒนาการของสาขาจนมีความเจริญรุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน ผลแห่งความสำเร็จอันน่าพึงพอใจนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ง่ายและราบรื่นเช่นนี้หากเราปราศจากบุรุษผู้หนึ่งนามว่า "สมหมาย ฮุนตระกูล

อ่านจากบทความต้นฉบับ : วรเทพ ไวทยาวิโรจน์. (2536, พฤศจิกายน). คุณสมหมายกับการจัดตั้งสาขาธนาคาร. พระสยาม, 16 (11), 24 – 35

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้