สัมภาษณ์ ท่านผู้ว่าการ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์

เผยแพร่19 เม.ย. 2024

สัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์เราก็ได้แก่ความรักและยึดมั่นในถิ่นที่อยู่ เมื่อได้ตั้งรกรากถิ่นฐานหรือสร้างความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับสภาพแวดล้อม ณ แห่งหนใดก็ตามเป็นเวลายาวนานแล้ว จิตก็ย่อมปฏิพัทธ์ผูกพันกับสถานที่และสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ อยู่ตลอดไป มิไยจะมีผู้ทักท้วงถึงความไม่สะดวกสบายด้วยนานาประการก็ตาม และยามที่จำต้องพ้นไปจากสภาพแวดล้อมนั้นจะโดยเหตุผลใดก็ตามแต่ ความรู้สึกนึกคิดก็ย่อมประหวัดถึงสถานที่และสิ่งแวดล้อมนั้น

ความเป็นจริงข้อนี้ก็อาจเห็นได้จากชีวิตการทำงานของพนักงานเช่นกัน เราได้พบได้เห็นเสมอมาว่า หลายคนสมัครใจอุทิศชีวิตการทำงานให้กับสถาบันที่ตนเคยสังกัดมาเก่าก่อนตลอดเวลานับสิบ ๆ ปี โดยสมัครใจจะอยู่กับสถาบันนั้น ๆ ทั้งที่มิได้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน เหตุผลที่ซ่อนเร้นอยู่ในความเป็นจริงข้อนี้มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกก็ได้แก่ความไม่สมัครใจจะทอดทิ้งงานที่เคยคุ้นเคย และประการต่อมาก็ได้แก่ความผูกพันในสภาพแวดล้อมอันต้องกับความต้องการของชีวิตนั้นเอง เหตุผลประการหลังนี้ย่อมมีน้ำหนักเหนือกว่าประการแรกเนื่องจากเกิดจากส่วนลึกของหัวใจและเป็นไปตามสภาพธรรมชาติดังกล่าวแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการผูกพันตัวเองไว้กับสถาบันได้เริ่มมาแต่วาระแรกที่สถาบันแห่งนั้นก่อตั้ง มีโอกาสหรือมีส่วนได้สร้างสรรค์สิ่งที่ถือว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าด้วยแล้ว ความผูกพันและความห่วงใย ในสถาบันแห่งนั้นย่อมมีอยู่มากขึ้นเป็นพิเศษ

 

ท่านผู้ว่าการพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเหตุที่ครบเกษียณอายุตั้งแต่วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2518 ย่อมเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีชีวิตการทำงานสอดคล้องกับอุปมัยข้างต้น ท่านได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ด้วยการทำงานในธนาคารนี้เป็นเวลายาวนานถึง 35 ปี ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของอายุของท่านในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นพนักงานคนแรกของสถาบันแห่งนี้ที่มีอายุการปฏิบัติงานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ได้มีโอกาสเห็นงานของธนาคารกลางเริ่มขึ้นในวาระแรกสุดและมีโอกาสได้ติดตามดูความเจริญเติบโตของสถาบันนี้จนถึงปัจจุบัน ยามเมื่อวาระแห่งความสิ้นสุดในหน้าที่ความรับผิดชอบมาถึง ความอาลัยอันมีต่อสถาบันและพนักงานที่คุ้นเคยกย่อมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ท่านได้แสดงความรู้สึกอันนี้ให้ปรากฏมาแล้วในหลายต่อหลายโอกาสก่อนหน้านี้ และเบื้องท้ายสุดก่อนที่วันแห่งความสิ้นสุดในชีวิตการทำงานมาถึง ก็ได้ฝากความรู้สึกเช่นนั้นให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งในรูปของคำสัมภาษณ์ ซึ่งเรารู้สึกเป็นเกียรติที่จะนำมาถ่ายทอดแก่ผู้อ่าน ธปท. ปริทรรศน์ ถือว่าเป็นการสนทนากับท่านครั้งสุดท้ายในชีวิตของการเป็นพนักงาน สำหรับผู้ประสงค์จะศึกษาแนวทางแห่งชีวิตการทำงานซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จและความภาคภูมิใจของบุคคล ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากคำสัมภาษณ์ที่กล่าวนี้


เรา : เท่าที่ท่านปฏิบัติงานให้กับธนาคาร ท่านมีความรู้สึกต่อสถาบันนี้อย่างไร

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ผมรู้สึกใจหายบ้างที่ต้องออกจากธนาคาร เพราะได้ทำงานในสถาบันนี้ มาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่ขั้นเตรียมการจนกระทั่งเป็นธนาคารแห่งชาติขึ้นมา ถ้าจะเปรียบกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ก็ตั้งแต่หักร้าง ถางพง ขุดดิน แล้วเริ่มการก่อสร้างจนเสร็จ ตลอดเวลา 35 ปีนี้ ได้ผ่านความยากลำบากมาทุกอย่าง เช่นตอนสงคราม ต้องคอยหลบหลีกลูกระเบิด เตรียมการอพยพ มาในตอนบั้นปลายของชีวิตการทำงาน ก็ต้องประสพกับปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลก ฯลฯ

ผมมีความภาคภูมิใจมากที่ได้มีได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันอันมีเกียรติ และเป็นของคู่ชาติบ้านเมืองนี้ ตัวบุคคลอาจผ่านไปมากมายหลายคน แต่สถาบันนี้จะต้องอยู่ต่อไปตราบใดที่ชาติไทยยังอยู่ ฉะนั้น เราจึงจะต้องวางรากฐานไว้ให้มั่นคงมิให้สถาบันนี้ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราจะต้องทำงานด้วยเหตุผลและตามหลักการที่ถูกต้อง ในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นประชาธิปไตย เป็นธรรมดาที่ธนาคารจะต้องประสพกับการตำหนิติเตียน เราจะต้องทำงานหนักในการรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง ความสามัคคีกลมเกลียวกันเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้สถาบันเราผ่านมรสุมต่าง ๆ ไปได้ เมื่อผมเป็นพนักงานชั้นผู้น้อย ผมภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อเป็นพนักงานบริหาร ผมภูมิใจที่ทำงานให้เกิดผลดีแก่ธนาคารและควบคุมพนักงานในบังคับบัญชาให้ปฏิบัติงานของธนาคารให้เป็นไปด้วยดี ให้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และต่อธนาคาร และเมื่อผมเป็นผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร ผมภูมิใจที่ผมยังผู้ที่สามารถรักษาสถาบันแห่งนี้ให้เป็นสถาบันที่มีเกียรติ วางตนเป็นกลางให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ สุดท้ายผมภูมิใจที่สุดเมื่อผมถูกตำหนิจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ในการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ ในสิ่งที่ผมเห็นว่าผมและเพื่อนร่วมงานทุกคนเห็นว่าเราทำถูก ผมยื่นใบลาออกเพื่อรักษาศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสถาบันนี้

 

เรา : ตอนที่ท่านเข้าทำงานใหม่ ๆ ท่านมองอนาคตของท่านอย่างไร

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ผมโชคดีที่มาเข้าทำงานตามสายงานที่เรียนมา ผมได้ปริญญาทางการธนาคารและการคลังมา ซึ่งเมื่อ ๓๕ ปีมาแล้ว หาผู้เรียนทางนี้ยาก ฉะนั้นเมื่อผมกลับมาจากต่างประเทศในโอกาสที่รัฐบาลกำลังเตรียมการตั้งธนาคารชาติ ผมจึงมีคุณวุฒิที่เหมาะสมกับงาน ทางราชการจึงเอาตัวไว้ทันที ความจริงผมเป็นนักเรียนทุนศุลกากร แต่เมื่อกลับมาได้รับมอบหมายให้เข้าทำงานในส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้เตรียมการก่อตั้งธนาคารกลางขึ้น เมื่อผมมีโชคดีดังที่กล่าวมาแล้ว และทางข้างหน้าปลอดโปร่ง ผมก็คิดอยู่เสมอว่าผมคงมีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้ ดีกว่าที่ผมจะไปอยู่ที่อื่น


เรา : คติการทำงานที่ท่านใช้อย่างได้ผลตลอดชีวิตการทำงานของท่านมีอะไรบ้าง

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ผมถือตัวเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แค่พูด ผมปฏิบัติกับพนักงานและเพื่อนร่วมงานทุกระดับอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ผมไม่ชอบลัทธิเจ้าขุนมูลนาย จึงมีผู้กล่าวหาว่าผมเป็นคนอ่อนแอ ทำให้พนักงานได้ใจ ผมยังเชื่อคติโบราณว่า "ผูกคนด้วยไมตรี จิตปรีดีหฤหรรษ์ รักคุ้งชีวาวัน มรณามิหน่ายแหนง" ผมถือว่าถ้าผมปกครองผู้บังคับ บัญชาด้วยเหตุผลไม่ได้ ผมก็ไม่ควรอยู่เป็นผู้ว่าการ ฉะนั้น ตลอดชีวิตทำงานของผม ผมจึงได้พยายามคลุกคลีกับพนักงานทุกชั้น ทั้งนี้ เพื่อทราบความนึกคิดความรู้สึกของเขา เพื่อจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในด้านพนักงานสัมพันธ์


เรา : ประสบการณ์การงานที่น่าตื่นเต้นที่ท่านพอจะถ่ายทอดให้ฟังได้ มีอะไรบ้าง

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2488 เหมือนมีฟ้าผ่าลงมาจากสวรรค์ คือรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488 ยกเลิกธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้ใดนำธนบัตรชนิดราคาดังกล่าวมามอบต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่รัฐบาลประกาศ ธนาคารก็จะจดบัญชีไว้ว่า ผู้นั้นมีกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรออมทรัพย์เป็นมูลค่าเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ของธนบัตรที่ส่งมอบ การส่งมอบธนบัตรภายในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรีต้องทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน ส่วนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ภายในเดือนครึ่ง มีแม่ฮ่องสอนจังหวัดเดียวที่ให้เวลา 3 เดือน ผมเป็นหัวหน้าส่วนหนี้สาธารณะในขณะนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศออกมา ผมไม่รู้ตัวมาก่อนเลย รู้สึกมืดมนไปหมดไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะการดำเนินการต้องให้สะดวก ง่าย และเสร็จภายในเวลาจำกัด อีกทั้งจะต้องติดต่อกับประชาชนนับหมื่น ๆ คน ขณะที่กำลังคิดหาวิธีอยู่นั้น ผมก็ได้รับคำสั่งว่าท่านผู้ว่าการ (หม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันต์ เวลานั้น) รับสั่งให้ผมไปที่กระทรวงการคลังเป็นการด่วน ผมจึงขึ้นสามล้อจากธนาคารซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกธนาคารฮ่องกงฯ ในระหว่างนั่งสามล้อไปนั้น ผมก็เกิดมีสิ่งดลใจขึ้นมา มองเห็นทางปฏิบัติอย่างทะลุปรุโปร่ง เมื่อเข้าเฝ้าท่านผู้ว่าการ ผมก็สามารถทูลวิธีดำเนินการคร่าว ๆ ท่านก็ทรงเห็นชอบด้วย ในวันรุ่งขึ้นวันที่ 9 ธนาคารก็ประกาศรับจดบัญชีพันธบัตรออมทรัพย์ ในเขตจังหวัดพระนครและธนบุรี และภายในวันที่ 12 ก็สามารถสั่งคลังจังหวัดและอำเภอดำเนินการได้ทั่วราชอาณาจักร ผมจึงภูมิใจมากที่สามารถคิดวิธีการจดทะเบียนพันธบัตรออมทรัพย์ที่สะดวก ง่าย และผลปรากฏว่าวิธีที่ผมคิดขึ้นนั้นปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและรัดกุม เป็นที่พอใจของธนาคารและของรัฐบาลมาก เพื่อนพนักงานในบังคับบัญชาของผมได้รับบำเหน็จความดีความชอบกันอย่างสมใจ แต่ผมเองได้รับคำชมเชยและเงินเดือน 1 ขั้น ฉะนั้น พนักงานที่ได้รับเงินเดือนขึ้นไม่สบอารมณ์ โปรดถือเอาประสบการณ์ของผมนี้เป็นเครื่องปลอบใจ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดจากแรงดลใจ ผมจึงถ่ายทอดเคล็ดให้ไม่ได้ ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนั้นอีก ผมเองก็ยังไม่แน่ว่าจะมีสิ่งดลใจมาช่วยอีกหรือไม่ วันหลังผมว่าง ๆ จะเขียนเล่าให้ละเอียดกว่านี้


เรา : มีงานอะไรที่ท่านกำลังคิดจะปรับปรุงก่อนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในธนาคาร

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : งานที่คิดจะปรับปรุงก็มีอยู่มาก ยิ่งบ้านเมืองเจริญขึ้นเท่าใดปัญหาทางด้านการเศรษฐกิจและสังคมจะต้องมีมากขึ้น ในฐานะที่ธนาคารต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ธนาคารจะต้องมองล่วงหน้าว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นและควรแก้ไขอย่างไร มิใช่รอให้เรื่องเกิดขึ้นแล้ว จึงมาคิดแก้ไขการดำเนินการเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจะต้องเตรียมรับสถานการณ์ และติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ ธนาคารมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรเราจึงจะใช้ความรู้ความสามารถของท่านเหล่านั้นให้ถูกทางและได้ประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ถึงแม้ว่าเราจะมีคนที่มีวิชาความรู้ความสามารถมาก แต่วิชาการนั้นก้าวหน้าอยู่เสมอ ไม่หยุดยั้ง พวกเราก็จะต้องปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ให้เหมาะกับสถานการณ์ ฉะนั้น ธนาคารจึงดำริที่จะตั้งศูนย์การฝึกอบรมพนักงานขึ้น โครงการนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ


เรา : ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับสวัสดิการของธนาคารอย่างไร

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : สำหรับสวัสดิการของพนักงานของธนาคารนั้น ผมมีความเห็นว่าที่ธนาคารให้แก่พนักงานในขณะนี้ก็พอเหมาะแล้ว ดีกว่าที่อื่นเป็นไหน ๆ ผมไม่สบายใจที่เห็นพนักงานของเรายังไม่พอใจ และคิดจะเรียกร้องเอาประโยชน์ต่าง ๆ ต่อไปอีก ผมจึงขอวิงวอนพวกเราทุกคนให้มองไปรอบ ๆ ตัวเราก็จะเห็นว่าเราไม่น้อยหน้าใครที่ไหนเลย ขออย่าคิดเป็นเรื่อง ๆ แต่ขอให้คิดถึงการให้สวัสดิการเป็นส่วนรวม โปรดอย่าโลภนัก ลาภจะหาย! ขณะนี้ทางราชการให้อิสรภาพแก่ธนาคารมากในการบริหารงานของธนาคาร ถ้าเราไม่รู้จักความพอดีอิสรภาพนี้อาจถูกถอนไป ขอให้พนักงานทุกคนให้ความเชื่อถือแก่ฝ่ายบริหารของธนาคารว่าจะคอยดูแลผลประโยชน์ของพนักงานให้ดีอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่ให้กันจนเกินไป


เรา : ในอนาคตธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีบทบาทในวงการเศรษฐกิจและการเงินของประเทศและในระหว่างประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่นี้หรือไม่

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ตราบใดที่ยังมีประเทศไทยอยู่ ผมก็เชื่อว่าความสำคัญและบทบาทของธนาคารจะต้องมีอยู่เสมอ เพราะว่าธนาคารมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพในทางการเงินโดยไม่ให้เป็นการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ฉะนั้นยิ่งการเศรษฐกิจของประเทศเจริญยิ่งขึ้นเท่าใด ความลำบากยุ่งยากก็จะต้องเกิดเป็นเงาตามตัวและธนาคารก็จะต้องมีบทบาท ขอให้พวกเราทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมที่จะต้องเผชิญปัญหายุ่งยากต่าง ๆ เหล่านี้ในอนาคต

 

เรา : ขอทราบความเห็นของท่านเกี่ยวกับการเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างจังหวัด การเปิดธนาคารท้องถิ่น และการปิดสาขาของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมในต่างจังหวัด

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : การเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างจังหวัดนั้น ผมและธนาคารได้สนับสนุนมานานแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทในการพัฒนาชนบทมากขึ้น แต่ผมก็เห็นว่าเนื่องจากภาวะท้องถิ่นของเรายังไม่เจริญเติบโตพอ การที่ธนาคารพาณิชย์ไปเปิดสาขาอาจไม่คุ้มค่าก็ได้ เรื่องนี้ควรศึกษาและหาทางแก้ไขต่อไป สำหรับการเปิดธนาคารท้องถิ่นนั้น ตั้งแต่ต้นมาผมก็เป็นห่วงเรื่องการควบคุมธนาคารเหล่านั้น ว่าเราจะทำได้รัดกุมและดีเพียงใดหรือไม่ บางทีวิธีการ rural banking แบบของฟิลิปปินส์อาจเหมาะที่สุดก็ได้ ควรพิจารณาดู สำหรับการเปิดสาขาของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมในต่างจังหวัดนั้น เมื่อการเศรษฐกิจของประเทศเจริญและขยายตัวออกไปมาก ผมคิดว่าเราควรพิจารณาตั้งสาขาที่พิษณุโลก นครสวรรค์ อุบลราชธานี จันทบุรี นครศรีธรรมราช หรือสุราษฎร์ธานี ต่อไป ทั้งนี้ ควรค่อยทำค่อยไป ตามความจำเป็นของเขตต่าง ๆ เหล่านั้น

 

เรา : มีบางท่านกล่าวว่าธนาคารปฏิบัติต่อพนักงานที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศดีกว่าพนักงานที่สำเร็จการศึกษาในประเทศ ท่านมีความเห็นอย่างไร

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : เรื่องนี้มิใช่เกิดขึ้นแต่ในธนาคารเราเท่านั้น ทุก ๆ แห่งที่มีแห่งที่มีพนักงานที่ได้รับการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ กันย่อมมีคนมีความรู้สึกเช่นนี้อยู่เสมอ ผมคิดว่าในธนาคารเรานั้นมีน้อยมาก เพราะในการพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งเราก็ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศมากนัก โปรดดูว่าในขณะนี้ พนักงานชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารสำเร็จการศึกษาจากไหน ? ที่ในระยะหลัง ๆ จะมีนักเรียนจบจากต่างประเทศได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมาก ก็เพราะนักเรียนที่ธนาคารลงทุนส่งไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียทั้งเงินทองและเวลาไปมากมาย จบกลับมามาก และจบกลับมาไล่ ๆ กัน จึงถึงเวลาที่หลายคนจะได้เลื่อนตำแหน่ง


เรา : ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ของธนาคาร นอกจากที่ท่านได้เคยแสดงไว้อีกหรือไม่

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งมาธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งมา 34 ปีแล้ว ยังไม่มีที่ทำงานอันเหมาะสมเลย ต้องอยู่กระจัดกระจายกัน และแต่ละแห่งก็เบียดเสียดเยียดยัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ประเทศเพื่อนบ้านเราที่พึ่งมีธนาคารกลางต่างก็มีที่ทำการอันเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนเซีย ศรีลังกา เป็นต้น ผมเคยคิดอยู่เสมอว่าในชีวิตการทำงานของผม จะต้องดำเนินการเรื่องการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ให้สำเร็จ อาจจะเป็นเพราะตั้งใจดีจนเกินไปก็ได้ การทำงานแต่ละขั้นตอนจึงล่าช้า เพราะระมัดระวังจนเกินไป จนล้ำเข้ามาในยุคใหม่ เลยทำให้เกิดปัญหาและได้รับการขัดขวางจากผู้เสียประโยชน์ต่าง ๆ ผมขอฝากเรื่องนี้ไว้กับผู้บริหารใหม่และพนักงานทุกคน ที่จะให้การก่อสร้างสำนักงานใหญ่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยเร็ว

 

เรา : อะไรที่ทำให้ท่านภูมิใจที่สุดระหว่างทำงาน

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : การได้ทำงานให้ธนาคารตั้งแต่เริ่มต้นและได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งขึ้นมาจนเป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบัน โดยลำแข้งของตนเอง

 

เรา : เมื่อพ้นจากงานที่ธนาคารแล้ว ท่านมีโครงการจะทำอะไรต่อไป

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ในระยะอันใกล้นี้ก็ยังไม่ได้คิดอะไร แต่ต่อไปคงจะต้องหางานทำ เพื่อหารายได้มาช่วยบำนาญที่จะได้รับจากธนาคาร การทำงานกับสถาบันเช่นธนาคารชาตินี้ ไม่มีทางร่ำรวยได้ถ้าทำอย่างซื่อสัตย์สุจริต เพราะมีรายได้เพียงทางเดียว เมื่อสองสามวันนี้มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่าผู้ว่าการธนาคารซาติเงินเดือน 60,000 บาท ผมก็ได้แต่นึกในใจว่า สาธุ ขอให้สมพรปากเถิด แต่สำหรับผมคงไม่ทันเสียแล้ว ฐานะของผมเวลานี้ก็ไม่ลำบาก เพราะผมโชคดีที่เกิดมาในตระกูลที่พอมีอันจะกิน มิฉะนั้นแล้ว 35 ปีที่ได้ทำงานมานี้ ก็คงไม่สามารถมีบ้านมีช่องอย่างที่มีอยู่ในเวลานี้เป็นแน่

 

เรา : ท่านมีอะไรที่จะฝากไว้กับพนักงานผ่าน ธปท. ปริทรรศน์บ้าง

ท่านผู้ว่าการพิสุทธ์ : ขอให้พนักงานจงมีความสามัคคีกัน ขอให้ทุกคนจงยึดมั่นในหลักการ เหตุผล และเกียรติยศ ขอให้ช่วยกันส่งเสริมและป้องกันสถาบันของเราให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอให้ ธปท. ปริทรรศน์เป็นสะพานเชื่อมระหว่างธนาคารกับพนักงาน ในวาระสุดท้ายนี้ผมขอลาทุก ๆ คนด้วยความอาลัย แต่คงจะเห็นผมมาที่ธนาคารบ่อย ๆ เพราะความสัมพันธ์ที่มีต่อธนาคารและเพื่อนพนักงานเป็นเวลาถึง 35 ปี ยากที่จะจืดจางไปง่าย ๆ

 

อ่านจากบทความต้นฉบับ : (2518, เมษายน). สัมภาษณ์ท่านผู้ว่าการพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์. ธปท. ปริทรรศน์ 5 (2). 11 – 21


ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้