ตราสำคัญในธนบัตร โดย ธีระ คงพันธุ์

เผยแพร่23 มี.ค. 2025

ข่าวลือที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเก็บธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบใหม่ที่ธนาคารเพิ่งเริ่มนำออกใช้เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้ได้ยินได้ฟังพอสมควรทีเดียว

ธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบใหม่ ถือเป็นรายการแรกของทั้งหมด ๓ รายการ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

สำหรับการดำเนินการเพื่อผลิตธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบใหม่ ได้เริ่มการเตรียมการตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมาจนแล้วเสร็จเมื่อประมาณครึ่งหลังของปี ๒๕๓๐ และนำออกให้แลกใช้ก่อนพระราชพิธี ๑ เดือนเต็ม




ในกระแสของข่าวลือระบุว่าธนาคารจะเก็บธนบัตรที่ออกใหม่คืนทั้งหมด เนื่องจากมีความผิดพลาดในรายละเอียดของรูปจักรที่ปรากฏอยู่บนด้านหน้าของธนบัตร ข่าวนี้ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งขวนขวายหาแลกธนบัตร ชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบใหม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง บางรายถึงกับยอมแลกในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของธนบัตร โดยหวังไว้ว่าถ้าธนาคารเก็บธนบัตรที่ออกใหม่คืนไป ธนบัตรที่เหลือตกค้างอยู่ในมือประชาชนจะกลายเป็นธนบัตรหายากและมีราคาสูง โดยเฉพาะสำหรับนักสะสมถือกันว่าเป็นสิ่งมีค่า

เหตุที่ทำให้ประชาชนที่ได้ฟังข่าวลือเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า รูปจักรบนด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาทแบบใหม่ไม่ถูกต้อง เป็นเพราะพบว่ารูปจักรบนด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท และรูปจักรที่ปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ต่างหมุนตามเข็มนาฬิกาเช่นเดียวกัน ในขณะที่รูปจักรบนด้านหน้า ของธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบใหม่หมุนทวนเข็มนาฬิกา



เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องนี้ สมควรได้กล่าวถึงที่มาของรูปจักรและตรีศูลที่ปรากฏอยู่บนด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาทแบบใหม่ และธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาทไว้เพื่อให้สิ้นความสงสัย

รูปจักรและตรีศูลที่ปรากฏอยู่บนด้านหน้าธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาทแบบใหม่ คือ "ตรามหาจักรี" การที่ได้อัญเชิญตรามหาจักรีมาประดิษฐานไว้เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเป็นตราที่มีความสำคัญยิ่ง ตรานี้พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสร้างขึ้นในลักษณะที่เป็นรูปสัญลักษณ์ ก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากทรงดำริว่าสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกทรงมีตำแหน่งเป็นพระยาจักรี เมืองพิษณุโลก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและพระองค์เองก็ได้รับเป็นเจ้าพระยาจักรีในสมัยกรุงธนบุรี จึงทรงนำเอาคำว่า "จักรี" มาเป็นนิมิตหมายสร้างดวงจักรและตรีศูลขึ้นเป็นพระราชสัญลักษณ์ และตราประจำพระราชวงศ์


ตรามหาจักรีที่ทรงสร้างขึ้นทำด้วยเหล็กผสม

จักร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗๕ มิลลิเมตร บนเนื้อเหล็กคร่ำทอง เป็นลายจักรหมุนทวนเข็มนาฬิกา ที่คมของจักรเลี่ยมทองคำโดยรอบ ทองคำที่เลี่ยมไว้ถอดออกได้

ตรีศูล มีความยาววัดจากปลายสุดของพระแสงองค์กลางถึงปลายด้าม ๕๑๐ มิลลิเมตร ด้ามหุ้มทองคำสลักลาย ส่วนปลายของด้ามฝังทับทิม ที่คอพระแสงองค์ทั้งสองด้านมีรูปหล่อพระนารายณ์ทรงครุฑคร่ำทอง

จักรและตรีศูลจัดอยู่ในชุดพระแสงอัษฎาวุธ ประกอบด้วย

พระแสงหอกเพชรรัตน์ พระแสงดาบเชลยพระแสงตรีศูล
พระแสงจักร พระแสงดาบและเขนหรือดาบและโล่พระแสงธนูพระแสงของ้าวแสนพลพ่ายพระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้รับอัญเชิญจากบรรดาเสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งหลายทั้งปวงให้เสร็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว ต่อมาโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นโดยสังเขป ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ในการพระราชพิธีนี้ได้อัญเชิญ "ตรามหาจักรี" เข้ามณฑลพิธีด้วย ภายหลังเมื่อการสร้างพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะพระมหาปราสาทและวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จเรียบร้อย นับได้ว่าเป็นการสร้างพระนครใหม่อย่างสมบูรณ์ โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมบูรณ์แบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๘ ณ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เพื่อให้เป็นพระเกียรติยศและเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง

จากนั้นสืบมา ตรามหาจักรีได้ถูกอัญเชิญเข้าในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อ ๆ มา

ตรามหาจักรีที่โปรดให้สร้างขึ้นนี้ มีลักษณะและขนาดเท่ากับอาวุธจริง ดังนั้น ลักษณะของการจัดวางจึงเป็นการวางซ้อนทับกันตามธรรมดาเท่านั้น กล่าวคือ ตรีศูลวางทับอยู่บนวงจักร ในภายหลังเมื่อได้จัดทำเป็นแบบเขียนขึ้น ทำให้สามารถจัดรูปจักรและตรีศูลให้มีความประสานสัมพันธ์กันได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน โดยจัดให้ด้ามของตรีศูลสอดกลางวงจักรออกไปทางด้านหลัง แบบที่เขียนขึ้นจึงมีลักษณะเป็นรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบและมีความสง่างามอย่างยิ่ง

ตรามหาจักรีบนด้านหน้าธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาทแบบใหม่ มีรายละเอียดเท่าที่เป็นไปได้ตรงตามแบบที่กล่าวทุกประการ


สำหรับรูปจักรและตรีศูล บนด้านหน้าธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท นั้นมีที่มาต่างออกไป ต้นแบบ คือ "ตราจุลจักรี" ซึ่งอยู่ในชุดเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ที่เรียกนามตามพระราชบัญญัติอย่างพิสดารว่า "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์" ตราสำรับหนึ่งประกอบด้วย

ตรามหาจักรีกับสายสร้อยและสายสะพายตราจุลจักรี ดาราจักรี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนาเมื่อวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๕ พร้อมกับมีการสมโภชพระนครอมรรัตนโกสินทร์ เมื่อประดิษฐานมาได้ถึง ๑๐๐ ปี โดยทรงคำนึงถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นปฐมในพระราชวงศ์ได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครฯ เป็นราชธานี และปราบปรามหมู่ปรปักษ์ปัจจามิตรทุกทิศทุกทาง แผ่พระราชอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล แล้วทรงประดิษฐานพระบรมราชวงศ์ดำรงสยามประเทศปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสำราญสืบเนื่องมาถึง ๑๐๐ ปี สมควรจะเชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศ ให้สมกับพระบารมีที่เป็นเชษฐชนกาธิบดีแห่งพระราชอาณาจักร จึงทรงดำริสร้างเครื่องราชอิสริยาขึ้นสนองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาจักรีบรมราชวงศ์

ตราจุลจักรี เป็นรูปจักรและตรีศูลขัดกัน เช่นเดียวกับมหาจักรีในแบบที่เขียนขึ้น แต่ตรีศูล ย่อขนาดให้เล็กลงเพื่อความเหมาะสมในการทำเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กับเปลี่ยนให้จักรหมุนตามเข็มนาฬิกา ข้างบนเป็นเครื่องอัษฎาวุธและเครื่องพิชัยสงครามไขว้กัน ทำด้วยทองคำและมีคาถาภาษิตในวงจักรด้วย

รูปจักรและตรีศูลบนด้านหน้าธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท มีความใกล้เคียงกับแบบต้นฉบับคือ ตราจุลจักรี ในด้านของรูปแบบมากกว่าในด้านรายละเอียด

จากเรื่องราวความเป็นมาตามหลักฐานที่ปรากฏ ทำให้ทราบว่า เบื้องแรกตราสำคัญนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความมุ่งหมายให้เป็นพระราชสัญลักษณ์และตราประจำพระราชวงศ์ อีก ๑๐๐ ปี ต่อมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์และสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ ตราสำคัญนี้ได้ถูกถ่ายทอดแบบพร้อมกับปรับขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน แล้วสถาปนาเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง

จึงสรุปได้ว่า ลักษณะการหมุนของจักรไม่ว่าทวนเข็มนาฬิกา หรือตามเข็มนาฬิกาถือว่าถูกต้องทั้ง ๒ แบบ

ท่านผู้รู้ได้ให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า จักรที่หมุนทวนเข็มนาฬิกาแสดงถึงอิทธิฤทธิ์ หมายถึง อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ส่วนจักรที่หมุนตามเข็มนาฬิกานั้นแสดงถึงบุญ อันหมายถึงความสำเร็จด้วยบุญ


อ่านจากบทความต้นฉบับ : ธีระ คงพันธ์ (2531, กุมภาพันธ์). ตราสำคัญในธนบัตร. พระสยาม, 11 (2). 15 – 17

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้