พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย

เผยแพร่23 มี.ค. 2025

อันที่จริงความคิดที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นในธนาคารมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าการป๋วย อึ้งภากรณ์ และท่านผู้ว่าการ คุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ) โดยได้จัดให้มีพิพิธภัณฑ์เงินตราขึ้นที่สำนักงานสุรวงศ์ แต่เนื่องจากสถานที่ไม่อำนวย พิพิธภัณฑ์จึงมีขนาดเล็ก ไม่สามารถจัดให้สมบูรณ์แบบได้

ต่อมาในปี ๒๕๒๑ ธนาคารได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง มีท่านผู้ช่วยผู้ว่าการคุณสุพงศ์ เพ็ญจันทร์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของธนาคารขึ้นที่อาคารตำหนัก หลังจากที่ธนาคารย้ายที่ทำการไปอยู่ที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเวลานั้น การเตรียมงานส่วนใหญ่มุ่งไปในเรื่องการออกแบบบูรณะซ่อมแซมอาคารตำหนักซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้คงอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับของเดิมเท่าที่จะทำได้

จนกระทั่งในปี ๒๕๓๑ งานบูรณะซ่อมแซมจึงได้เริ่มขึ้น และเนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลและตำแหน่งในคณะทำงานชุดเดิมไปบ้าง ธนาคารจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่แทนคณะทำงานชุดเดิมเพื่อสานงานต่อโดยเฉพาะงานเกี่ยวกับการตกแต่งตำหนักและการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ธนาคาร

ตามโครงการการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ธนาคาร อาจแยกออกได้เป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการจัดแสดงวิวัฒนาการเงินตราไทย ซึ่งจัดอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคาร และส่วนที่สองจัดบริเวณชั้นบนอาคาร เป็นการจัดแสดงประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย


การจัดแสดงวิวัฒนาการเงินตราไทย

เป็นที่ทราบกันดีในวงการนักสะสมเหรียญกษาปณ์ว่า เงินตราไทยมีความหลากหลายในรูปพรรณสัณฐาน มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจที่สุด การจัดแสดงวิวัฒนาการเงินตราไทยจึงได้ย้อนอดีตไปตั้งแต่สมัยก่อนที่มนุษย์จะรู้จักใช้เงินตราและได้นำสิ่งต่าง ๆ มากมายหลายชนิดเช่น เปลือกหอย ลูกปัด กำไลหิน ขวานหิน ฯลฯ มาใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน สำหรับเงินตราในยุคแรกเริ่มที่ขุดพบในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เหรียญเงิน ฟูนัน ทวารวดี และศรีวิชัย และเงินร่วมสมัย คือ เงินล้านนาและเงินล้านช้าง เงินตราเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเงินตราก่อนมีการตั้งรัฐไทย จึงจัดอยู่ในห้องที่เรียกว่า "ห้องเงินตราโบราณ" จากลักษณะลวดลายที่ปรากฏบนเงินตราเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ได้มีชุมชนอาศัยอยู่ที่นี่กว่าพันปีมาแล้ว และได้รับอารยธรรมจากอินเดียบ้างจากจีนบ้าง


ครั้นถึงสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นอาณาจักรชาติไทย ได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้ เงินพดด้วงจึงถือได้ว่าเป็นเงินตราของไทยโดยแท้ มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร และใช้หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด คือประมาณกว่า ๖๐๐ ปี ตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา มาจนรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินพดด้วง ผลิตด้วยมือ ทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ทุบปลาย ๒ ข้างให้งอเข้าหากันมีรูปร่างคล้ายลูกปืนโบราณชาวต่างประเทศจึงเรียกว่า Bullet Coin ในสมัยสุโขทัย เนื่องจากยังมิได้ผูกขาดในการผลิต เงินพดด้วงสุโขทัยจึงมีความหลากหลายในเนื้อเงินที่ใช้ทำตลอดจนน้ำหนักและขนาด จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ทางการห้ามราษฎรผลิตเงินตราขึ้นใช้เอง เงินพดด้วงจึงได้มาตรฐาน และมีตราประทับ ๒ ดวงเป็นสำคัญคือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถค้นคว้าได้ว่าตราที่ประทับบนเงินพดด้วงเป็นตราประจำแผ่นดินใดหรือรัชกาลใด คงมีเพียงไม่กี่ตราที่ยืนยันได้ เช่น ตราพุ่มข้าวบิณฑ์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


ในห้องพดด้วงนี้ มีพดด้วงเถาพิเศษอยู่ ๒ เถาที่โดดเด่น เถาหนึ่งเรียกว่า พดด้วงพระแสงจักรพระมหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตขึ้นในโอกาสฉลองพระมหามณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคมในพระบรมมหาราชวัง ส่วนอีกเถาหนึ่งเรียกว่า พดด้วงพระแสงจักรจุลมงกุฎ – ช่อรำเพย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเสมอพระบรมราชชนนี เมื่อสิ้นพระชนม์ เงินพดด้วงทั้งสองเถานี้หายากมาก โดยเฉพาะชนิดราคาสูงสุดคือ ๑ ชั่ง ซึ่งมีขนาดเท่าผลส้มและมีน้ำหนักกว่ากิโลกรัม อันที่จัดแสดงอยู่นี้เล่ากันว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง (คงไม่ใช่โกโบริ) ถูกนายทหารอังกฤษยิ่งตกจากต้นไม้แถวชายแดนพม่า มีเสียงดังปุจึงเข้าไปค้นดู พบก้อนโลหะกลม ๆ หนัก ๆ อยู่ในกระเป๋า ทหารอังกฤษผู้นั้นจึงนำกลับไปให้ Antiques dealer ที่ลอนดอนดูว่าเป็นอะไร และก็ได้ทราบว่าเป็นเงินตราไทย จึงสั่งไว้ว่าไม่ให้ขายให้ใครนอกจากคนไทย เผอิญนักสะสมเหรียญชาวนอร์เวย์คนหนึ่งมีภรรยาเป็นคนไทยทราบเข้า จึงส่งภรรยาไปเจรจาขอซื้อไว้ ต่อมาเมื่อได้ข่าวว่า ธนาคารกำลังจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ จึงนำมาเสนอขายให้ห้องเงินพดด้วง

เงินพดด้วงแม้จะเป็นเงินตราของไทยที่หมุนเวียนอยู่เป็นระยะเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ต้องเลิกผลิตไปในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากหลังจากที่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าแล้ว การค้ากับต่างประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การผลิตเงินพดด้วงด้วยมือจึงไม่ทันต่อความต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรผลิตเงินตราแทน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกในการค้า พระองค์ได้ขอให้คณะทูตานุทูตที่ไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่กรุงลอนดอนติดต่อซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้ผลิตเงินจากบริษัทเทเลอร์และชาลเลน (Taylor & Challen Limited, Birmingham) และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า "โรงกษาปณ์สิทธิการ"


ในห้องกษาปณ์ไทย จึงได้จัดแสดงให้เห็นความเป็นมาในการเปลี่ยนจากการใช้เงินพดด้วง มาเป็นเหรียญกษาปณ์รูปกลมแบนตามสากลนิยม ผู้ชมจะได้เห็น "เหรียญเมืองไท" ซึ่งเป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นเพื่อทอดพระเนตรเป็นตัวอย่าง แต่ไม่ทรงโปรดจึงไม่ได้นำออกใช้นอกจากนี้มีเหรียญที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเงินตราไทยอีกหลายเหรียญ อาทิ เหรียญเงินตราพระแสงจักร -พระมหามงกุฎ - พระเต้า ซึ่งเป็นเหรียญแบนรุ่นแรก เหรียญเงินบรรณาการ ซึ่งผลิตจากเครื่องจักรที่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียถวายเป็นราชบรรณาการ เหรียญอัฐโสฬส ผลิตเพื่อเป็นเงินปลีกแทนเบี้ยหอย เหรียญนิเกิล ซึ่งผลิตออกใช้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หลังจากที่ได้ทรงปรับปรุงหน่วยเงินจากชั่ง/ตำลึง/บาท เป็น บาท/สตางค์ ฯลฯ

นอกจากนั้นยังมีเหรียญที่เป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมและเป็นของหายากมากอีก ๒ เหรียญ คือ เหรียญแต้เม้ง มาจากคำว่า "แต้เม้งทงป้อ" หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหรียญบาทจุฬาลงกรณ์สยามมินทร์ ร.ศ. ๑๒๗ หรือเรียกกันว่า "เหรียญหนวด" ทำจากโรงกษาปณ์ปารีส

บทบาทของเหรียญกษาปณ์ค่อย ๆ ลดลงเมื่อเศรษฐกิจการค้าขยายตัวจนมีการริเริ่มนำเงินกระดาษมาใช้

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ปรากฏว่ามีผู้ทำเงินพดด้วงปลอมกันชุกชุม จนเป็นปัญหาเดือดร้อนกันทั่วไป พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ "หมาย" ขึ้นใช้ นับเป็นเงินกระดาษชนิดแรกของระบบเงินตราไทย

ใน "ห้องธนบัตรไทย" เป็นการจัดแสดงให้เห็นวิวัฒนาการการใช้เงินกระดาษในระบบเงินตราไทยตั้งแต่ "หมาย" "ใบพระราชทานเงินตรา" "อัฐกระดาษ" "บัตรธนาคาร" "ตั๋วเงินกระดาษ" หรือ "เงินกระดาษหลวง" มาจนถึงธนบัตรที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้


เนื่องจากการจัดพิมพ์และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง จึงพูดได้ว่า การจัดแสดงธนบัตรของเราค่อนข้างจะสมบูรณ์ที่สุด ธนาคารสามารถรวบรวมธนบัตรได้ทุกรุ่น ทุกแบบ ทุกลายเซ็น และทุกยุคสมัย นอกจากจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของแบบสีสัน ระบบพิมพ์ วัสดุและเทคนิคในการพิมพ์แล้ว ผู้ชมยังจะได้เห็นธนบัตรที่ได้รับการขนานนามแปลก ๆ อาทิ "ธนบัตรหน้าเดียว" (แบบหนึ่งพิมพ์หน้าเดียว) "ธนบัตรแบบไถนา" (ด้านหลังเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ) "ธนบัตรไทยถีบหรือเล้งท่าฉาง" (แบบห้าพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่นขณะที่ลำเลียงรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ผ่านสถานีท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานีถูกคนร้ายถีบหีบลงจากรถไฟ) "แบงก์กงเต๊ก" (แบบพิเศษชนิดราคา ๑ บาท พิมพ์ที่โรงพิมพ์แผนที่ทหารบกระหว่างสงคราม) "ธนบัตรไว้ทุกข์" (แบบพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์เตรียมไว้ใช้ในสี่รัฐมลายู ชนิดราคา ๑ ดอลลาร์ และนำมาแก้เป็นชนิดราคา ๕๐ บาท โดยใช้หมึกดำและแดงพิมพ์ทับอักษรจีนและมลายู) "ธนบัตรแบบบุก" หรือ "Invasion Note" (ทางการทหารของอังกฤษจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเตรียมไว้ใช้จ่าย หากสามารถรุกเข้ายึดพื้นที่ในประเทศไทยได้) ฯลฯ

ในห้องธนบัตรไทยนี้ ยังจะได้เห็นธนบัตรบางฉบับที่มีราคาซื้อขายในปัจจุบันสูงเหลือเชื่อ ได้แก่ ธนบัตรแบบหนึ่ง ชนิดราคา ๑ บาท ออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่นำมาแก้ราคาเป็น ๕๐ บาท ราคาประมูลสิงคโปร์เมื่อประมาณ ๕ ปีที่แล้ว ประมาณ ๑,๓๕๐,๐๐๐ บาท ธนบัตรแบบหนึ่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ชนิดราคา ๑,๐๐๐ บาท ถ้าหมวดเลขหมายสวย จะได้ราคาถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และธนบัตรแบบห้า สมัยรัชกาลที่ ๘ ชนิด ราคา ๑,๐๐๐ บาท ราคาปัจจุบันในวงการนักสะสมประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท


ห้องจัดแสดงที่ไม่ควรพลาดอีกห้องหนึ่ง ในบริเวณชั้นล่างของอาคารพระตำหนัก คือ "ห้องทองตรา" คำว่า ทองตรา ซึ่งไม่คุ้นหูเท่าเงินตรา มาจากประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงมีพระราชดำริ ให้จัดทำเหรียญทองคำขึ้นใช้ควบคู่ไปกับเหรียญเงินความว่า

".....ตามอย่างเมืองอื่นที่เป็นเมืองแผ่นดินใหญ่นั้น ๆ หลายเมือง เมื่อทองคำมีมากขึ้น ผู้ครองแผ่นดินเมืองนั้น ๆ ก็คิดทำเป็นทองเหรียญมีตราหลวงเป็นสำคัญให้ราษฎรใช้ในการกำหนดราคานั้น ๆ ไม่ต้องเกี่ยงน้ำหนัก แลเนื้อทอง ตีราคากัน ผู้ใดได้ทองตรา ทองเหรียญไป เมื่อต้องการเงิน มาขอขึ้นเงินต่อคลังหลวง ฤาเศรษฐีเจ้าทรัพย์ก็ได้ ตามกำหนดซึ่งพิกัดไว้...."

เหรียญทองคำที่ได้จัดทำขึ้นตามพระราชดำริมี ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ราคา ๘ บาท เทียบเท่ากับเหรียญทองปอนด์สเตอร์ลิงก์ เรียกว่า "ทศ" ขนาดกลางราคา ๔ บาท เรียกว่า "พิศ" ส่วนขนาดเล็กราคาสิบสลึง เทียบเท่า ๑ ตำลึงจีนเรียกว่า "พัดดึงส์"

เหรียญทองคำและเหรียญที่ระลึกที่จัดแสดงในห้องทองตรา ส่วนใหญ่เป็นเหรียญที่จัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รวมถึงเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบสมเด็จฯ ซึ่งกำหนดออกในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ฯลฯ

นอกจากเหรียญทองคำและเหรียญที่ระลึกดังกล่าวแล้ว ยังมีเหรียญทองคำอยู่ชุดหนึ่งที่แม้แต่สมาชิกสมาคมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทยยังตกตะลึง เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน คือ "เหรียญเสือป่า" และ เหรียญทองคำรัชกาลที่ ๖ และ อีกชุดหนึ่งที่หาดูได้ยาก นั่นคือ "เหรียญพันธบัตรทองคำ" เรื่องราวมีอยู่ว่า ระหว่างสงคราม ประเทศเราประสบกับปัญหาภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงค่าของเงินตราต่ำลงเรื่อย ๆ จนไม่มีผู้ใดต้องการซื้อพันธบัตร รัฐบาลจึงหาทางออกพันธบัตรจำหน่ายให้กับประชาชนโดยมีเงื่อนไขว่า จะไถ่ถอนคืนเป็นเงินสดหรือทองคำในอัตราทองคำบริสุทธิ์ ๑ กรัมต่อ ๕.๕๗ เหรียญ พันธบัตรทองคำมีบาทมูลค่าต่าง ๆ กัน และทำเป็นแท่งก็มี

ในฐานะทองคำมีบทบาทสำคัญต่อระบบเงินตรามาแต่โบราณ ในศตวรรษที่ ๑๙ และต้นศตวรรษที่ ๒๐ ประเทศต่าง ๆ เทียบค่าเงินตราสกุลของตนไว้กับทองคำ หรือที่เรียกกันว่า ระบบ "มาตรฐานทองคำ" ในปัจจุบันประเทศเราก็ยังใช้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองเงินตรา ทางคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ขออนุมัติธนาคารแลกทองคำแท่งจากทุนสำรองเงินตรามาจัดแสดงไว้ในห้องทองตรานี้ด้วย ทองคำแท่งที่เรามีอยู่นี้ ถือว่าเนื้อทองบริสุทธิ์มาก บางครั้งกรมธนารักษ์จะมาขอซื้อไปทำเหรียญทองคำที่ระลึกที่ออกในโอกาสพิเศษ

เรื่องราวของเงินตราไทยจะยังไม่สมบูรณ์หากไม่กล่าวถึงเงินตราปลอมด้วย ดังนั้นจึงได้จัดห้องไว้ห้องหนึ่งแนะนำวิธีดูธนบัตรทั้งปลอมและชำรุด เป็นที่สังเกตว่า การทำเงินปลอมมีมาทุกยุคทุกสมัย แม้จะมีกฎหมายกำหนดโทษไว้อย่างแสนสาหัสก็ตาม ในสมัยที่ใช้เงินพดด้วงผลิตด้วยมือ กฎหมาย "ตราสามดวง"กำหนดบทลงโทษไว้ว่า

"ผู้ใดทำเงินทองแดง เงินพราง เงินรวง ทองพราง ทองแดง ทองอาบ และแกะตราปลอม ตอกตราพดด้วงเทียม พิจารณาเป็นสัจ ให้ตัดนิ้วมือเสีย อย่าให้กุมค้อนคีมได้..."

ผู้ที่เคยทำงานที่อาคารตำหนักคงจะจำได้ว่า ทางมุมอาคารด้านทิศเหนือ เป็นที่ทำการ "ส่วนหนี้สาธารณะ" ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าส่วนการกู้เงิน ธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น จึงได้จัดให้เป็นห้อง "พันธบัตรรัฐบาลไทย" แสดงพันธบัตรตั้งแต่รุ่นแรก ๆ จนถึงปัจจุบัน

การจัดแสดงประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย

ปีนี้เป็นปีที่ธนาคารดำเนินงานมาครบรอบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ แม้ว่าจะเก่าแก่ไม่เท่าธนาคารกลางในยุโรป (Bank of England เกือบ ๓๐๐ ปี Bank of France ๒๐๐ ปี และธนาคารกลางเยอรมันประมาณ ๑๐๐ ปี) แต่ก็นับได้ว่าเป็นธนาคารที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เมื่อเทียบกับธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน

การจัดแสดงในห้องประวัติธนาคารฯ มีวัตถุประสงค์จะให้ผู้ชมได้รู้จักธนาคารของเราอย่างลึกซึ้งขึ้น ปฏิทิน ๕๐ ปี ของธนาคารจะลำดับเหตุการณ์สำคัญ ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย การประกาศใช้ พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ การแต่งตั้งผู้ว่าการ การย้ายสำนักงาน และการเปิดสาขาธนาคารในภูมิภาค การออกกฎหมายทางการเงินและการดำเนินมาตรการทางการเงินที่สำคัญ ๆ

นอกจากบันทึกเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวยังได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ นำมาแสดงในจอคอมพิวเตอร์ อาทิ ประวัติธนาคาร บทบาทหน้าที่ การแบ่งส่วนงาน รายชื่อผู้บริหารระดับสูง ประวัติผู้ว่าการแต่ละท่าน และสถิติการเงิน การแสดงบนจอคอมพิวเตอร์นี้ เป็นวิทยาการที่ล้ำยุคมาก แต่ละหัวข้อเรื่องจะทำเป็น menu ใช้ระบบสัมผัสเรียกดูได้เฉพาะเป็นเรื่อง ๆ ทุ่นแรง ทุ่นเวลา เหมาะกับผู้ชมที่มีเวลาน้อยและเร่งรีบในยุคปัจจุบัน


เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับบรรยากาศเก่า ๆ ของธนาคารไปด้วย จึงได้นำตู้ โต๊ะทำงาน เก้าอี้ เครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงานเท่าที่อนุรักษ์ไว้ได้มาจัดแสดงประกอบ มีเครื่องคิดเลขรุ่นต่าง ๆ ตั้งแต่แบบลูกคิด แบบไฟฟ้า และแบบอิเล็กทรอนิค เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นต่าง ๆ พัดลม หีบบรรจุธนบัตร เครื่องนับเหรียญ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้นำเอกสารที่น่าสนใจมาจัดแสดงให้ดูด้วย เป็นต้น คำสั่งที่ ๑ ของธนาคาร รายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ ๑ สมุดบัญชีเล่มแรก รายงานเศรษฐกิจรายเดือน รายปีเล่มแรก ฯลฯ

เป็นที่น่าเสียดายว่า คณะกรรมการฯ ยังไม่สามารถติดตาม "กุญแจทองคำ" ซึ่งธนาคารได้จัดทำขึ้นและมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดธนาคารมาได้ ได้ทราบมาว่า ทายาทได้มอบให้โรงเรียนนายร้อย จปร.

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า งานของธนาคารฯ ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การพิมพ์ธนบัตร ใคร ๆ ก็รู้จักว่าธนบัตรคืออะไร เคยเห็น เคยจับต้อง และแน่นอนเคยใช้ แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบกรรมวิธีการพิมพ์ธนบัตร ?

ในห้อง "งานพิมพ์ธนบัตร" จะแสดงให้เห็นขั้นตอนการพิมพ์ธนบัตรนับตั้งแต่การออกแบบ การทำหมึกพิมพ์ การทำแม่แบบ การผลิต ตลอดจนการตัด/บรรจุ หลายคนเป็นห่วงว่า หากการจัดแสดงทำได้ดีเกินไป จะทำให้เกิดการปลอมแปลงธนบัตรขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่ขอยืนยันได้ว่า กรรมวิธีการผลิตของโรงพิมพ์ธนบัตรของเรานั้นคงไม่มีนักปลอมธนบัตรคนใดเลียนแบบแน่ ทั้งยุ่งยากทางเทคนิค ทั้งละเอียดประณีตทางศิลปะ ทั้งเรื่องมากทางธุรการ ทั้งเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย นักปลอมแปลงคงมีกรรมวิธีที่ง่าย คล่องตัว และรวดเร็วกว่านี้เป็นแน่

บริเวณชั้นบนตำหนัก ยังมีห้องอีก ๒ ห้อง ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อประวัติธนาคารฯ คือ ห้องผู้ว่าการและห้องประชุมเล็ก ห้องผู้ว่าการนี้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารพระองค์แรก ได้ทรงเลือกเป็นห้องทรงงานอาจเป็นเพราะห้องนี้เคยเป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สมพระชายา ซึ่งเป็นเจ้าพี่ของพระองค์ก็เป็นได้ และธนาคารได้ใช้เป็นห้องทำงานของผู้ว่าการท่านต่อ ๆ มา รวม ๑๐ คน จนกระทั่งย้ายมาที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ห้องนี้ถือว่าอยู่ในทำเลที่อากาศดีมาก เพราะยื่นออกมาทางทิศใต้ ได้รับลมทุกฤดูกาล จึงหอมดอกพิกุล ดอกแก้ว และดอกปีบ สลับกันไปตลอดทั้งปี ต้นพิกุล ต้นแก้ว และต้นปีบ ต้นเดิมยังคงให้ดอกอยู่จนทุกวันนี้ สำหรับห้องประชุมเล็กนั้น นัยว่าเป็นห้องเก็บเครื่องดนตรี แต่ธนาคารได้ใช้เป็นห้องประชุมพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของธนาคารมาโดยตลอด วัตถุประสงค์ในการใช้ห้องดูจะตรงกันข้ามกันเสียจริง



เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ผู้ให้กำเนิดวังบางขุนพรหม ธนาคารได้จัดห้อง "สีชมพู" และ ห้อง "ม้าสน" ในลักษณะเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์ท่าน ห้อง"สีชมพู" มีความงดงามมาก สมัยเมื่อเป็นวังใช้เป็นห้องรับแขกใหญ่ประดับด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรป ทาด้วยสีชมพู ม่านและเก้าอี้เบาะลายดอกไม้สีชมพูเข้ากัน ส่วนมากจะใช้รับแขกที่สำคัญจริง ๆ หรือมีพิธีเท่านั้น ส่วนห้อง "ม้าสน" ซึ่งเป็นห้องที่อยู่ตรงกันข้ามกับห้องสีชมพู พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดา ทรงบรรยายไว้ว่า "เป็นห้องรับแขกใหญ่ต่อตู้กระจกติดฝาตั้งถ้วยป่าน ถ้วยชามลายครามและลายสีแปลก ๆ มีถาดทองลงยาถาดทองกาไหล่ ถ้วยหยกบนไม้กี๋งา ชามลายครามสีเป็นลายไทย สั่งทำจากเมืองจีนแต่เก่าก่อน หลังตู้ตั้งแจกันลายคราม ฝาผนังตอนบนชิดเพดาน เขียนรูปม้าแบบจีนสีน้ำเงินเข้ากับของลายคราม มีต้นสนและเมฆหมอกกลางห้องปูพรมจีนสีน้ำเงินลายม้าสี่ตัว สีนวลและน้ำตาล มีต้นไม้ใบหญ้าสีเข้ากันกลมกลืนงดงามมาก..." โดยที่ตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม ของวังบางขุนพรหม จึงได้จัดห้อง ๆ หนึ่งไว้โดยให้ชื่อว่า "ห้องวังบางขุนพรหม" ผู้ชมจะได้เห็นภาพในอดีตของวัง เมื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ พร้อมทั้งขั้นตอนของการบูรณะและอนุรักษ์ตำหนัก ตำหนักวังบางขุนพรหมได้รับการยกย่องกันว่าเป็นตำหนักที่งามที่สุดในบรรดาวังในเมืองไทย การจัดแสดงจึงได้ พยายามเน้นจุดเด่นต่าง ๆ ของตำหนัก อาทิ งานปูนปั้น เพดาน ผนัง เสาบิดเกลียวแบบ Byzantine หน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยลายปูนปั้นรูปดอกแคทลียา ฯลฯ และได้รวบรวมโบราณวัตถุของวังบางชิ้นไว้ด้วย

การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ ธนาคารได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากรในการอนุมัติให้ นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต สถาปนิกผู้เชียวชาญในการออกแบบพิพิธภัณฑ์มาช่วยงานออกแบบจัดแสดง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสมาคมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทย

การจัดแสดงได้พยายามเปลี่ยนแนวคิดไปจากเดิม ซึ่งคิดกันว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาค้นคว้าของนักปราชญ์นักวิชาการ สูงเกินความเข้าใจ ไม่มีชีวิตชีวาและน่าเบื่อหน่าย คณะกรรมการเตรียมการฯ จึงได้เน้นแนวทางในการจัดแสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ สามารถให้ทั้งความรู้และความบันเทิงแก่ผู้เข้าชม ได้คำนึงถึงความสวยงามเพื่อให้กลมกลืนกับอาคารตำหนัก โดยใช้ภาพโบราณวัตถุและศิลปวัตถุประกอบการจัดแสดง ได้คำนึงถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมโดยการใช้แสง สี เสียง เทคนิคฉากละคร (dioramatechnique) ระบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ระบบ slide multivision ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้วางระบบต่าง ๆ เพื่อการสงวนรักษาวัตถุจัดแสดงและความปลอดภัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชา

พิพิธภัณฑ์ธนาคารฯ จะแล้วเสร็จและเปิดเป็นทางการได้ในวันครบรอบ ๕๐ ปีของธนาคาร

อ่านจากบทความต้นฉบับ : ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย. (2535, มิถุนายน). พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย. พระสยาม,15 (6), 29 - 41


ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้