ตำนานแห่งวังเทวะเวสม์ โดย สันต์ชัย
ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสน์ ในวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ นี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านชมวังผ่านทางตัวอักษรและภาพถ่าย เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนสัมผัสของจริงในอีกไม่นานวันนี้แล้ว
ในฉบับนี้ให้ผู้อ่านชมตำหนักใหญ่ของวังเทวะเวสม์บางส่วนก่อน สำหรับรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์ตำหนัก จะได้เล่าในฉบับต่อไป
ที่มา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างวังเทวะเวสม์ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระมาตุลาของพระองค์แทนที่วังเดิมคือวังสะพานถ่านที่เสด็จอยู่มาแต่ พ.ศ. ๒๔๒๓ และคับแคบแล้ว วังเทวะเวสม์เริ่มก่อสร้างในปี ๒๔๕๗ แล้วเสร็จในปี ๒๔๖๑ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการและครอบครัวได้เสด็จมาประทับที่นี้ในปีเดียวกันนั้น โดยได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลขึ้นตำหนักใหม่ พร้อมฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมงานด้วยทั้งสองวัน สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการประทับที่วังแห่งนี้ตราบจนสิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๖๖
นำชมตำหนักใหญ่
ด้านหน้าตำหนักมีรูปปูนปั้นช้างทาสีดำตั้งบนแท่น รูปปั้นนี้ย้ายมาจากวังสะพานถ่าน สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยว่าช้างเป็นเครื่องหมายแห่งเจ้ากรมท่ามาแต่เดิม ทางเข้าตำหนักทำมุขยื่นออกมาเป็นเฉลียงของชั้นที่ ๒ พร้อมกับทำหน้าที่เป็นประทุน (Canopy) มีเสากลมรองรับทั้ง ๔ มุม ๆ ละ ๓ ต้น ขอให้สังเกตหัวเสาที่ม้วนปลายเป็นกันหอย เรียกว่า
เสาแบบไอโอนิก (Ionic) บนเฉลียงของชั้นที่ ๒ มีประตูและหน้าต่างเป็นกรอบไม้กรุกระจกสวยงาม ขนาบด้วยเสาอิงผนังข้างละสองต้น หัวเสาเป็นแบบประยุกต์แปลกตา มองถัดขึ้นไปบนเฉลียงของชั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นเฉลียงค่อนข้างแคบ มีจุดเด่น คือ ข้างประตูทั้งสองด้านเจาะผนังลึกลงไป ด้านบนตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเปลือกหอย ซึ่งถือว่าแปลกตาสำหรับที่นี่ เพราะปูนปั้นรูปเปลือกหอยนี้เป็นลักษณะเด่นของศิลปกรรมแบบอิตาเลียนบาโรก ทั้งนี้ เราจะเห็นปูนปั้นรูปเปลือกหอยได้หลายจุดที่วังบางขุนพรหม ข้างซุ้มเปลือกหอยมีเสาคู่อิงผนังสองข้าง หัวเสาเป็นลายปูนปั้นประยุกต์จากเสาแบบคอรินเธียน (Corinthian) เหนือหัวเสาทำเป็นเท้าแขนลายก้นหอยรองรับหลังคามุขหน้าจั่วแบบกรีก ถัดขึ้นไปเป็นชั้นที่ ๔ ซึ่งมีเพียงห้องใหญ่ห้องเดียว เดิมเป็นห้องพระและเก็บพระอัฐิ เหนือหลังคาเป็นดาดฟ้า มีกระถางต้นไม้ปูนปั้นวางบนราวระเบียง ๔ กระถาง ทั้งนี้ กระถางเดิมหมดสภาพแล้ว ปัจจุบันจึงต้องหล่อขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิม
บริเวณภายนอกยังมีจุดที่น่าชมอีก คือ ปีกตำหนักของมุขทั้งสองด้านตกแต่งด้วยหน้าต่างที่แตกต่างกัน ๓ แบบ คือ
ชั้นล่างเป็นหน้าต่างกันสาดแบบตรง
ชั้นที่ ๒ เป็นหน้าต่างกันสาดแบบหน้าจั่ว และชั้นที่ ๓ เป็นหน้าต่างที่มีช่องแสงแบบโค้ง มีเส้นลวดลายปูนปั้นโค้งเหนือหน้าต่าง ขณะเดียวกันขอให้สังเกตใต้หน้าต่างของชั้นที่ ๒ และ ๓ ซึ่งเจาะเป็นช่องระบายอากาศ มีลักษณะปูนปั้นโปร่ง ด้านในมีบานเลื่อนเพื่อเปิดและปิดได้ ทางทิศใต้ของตำหนักจะเห็นระเบียงไม้เล็ก ๆ ทาสีเขียว อันเคยเป็นห้องบรรทมท่านเจ้าของวัง จากมุมนี้จะเห็นหน้าต่างทั้งสามแบบไล่เรียงกันลงมาอย่างชัดเจน
ภายในตำหนัก
เริ่มจากบันไดทางขึ้นด้านหน้าเป็นหินอ่อน มีอยู่ ๖ ชั้น พื้นชั้นล่างยกระดับสูงจากระดับถนนประมาณ ๑.๓๐ เมตร
ประตูเป็นบานไม้ลูกฟักไม้สัก อันเป็นลักษณะบานประตูของทั้งตำหนัก เพียงแต่เป็นบานทึบหรือกรุกระจกใสลายนูนในเนื้อกระจกเท่านั้น ข้างประตูทั้งสองด้านตกแต่งด้วยเสาสี่เหลี่ยมคู่ติดผนัง รูปแบบศิลปะของเสาเป็นแบบทัสกัน
(Tuscan) เมื่อเข้าสู่ภายในตำหนักเป็นท้องพระโรงขนาดไม่กว้างเท่าไรนัก พื้นเป็นปาร์เกต์ไม้สักและไม้แดงสลับลายก้างปลาพื้นแบบนี้เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกห้อง ส่วนทางเดินในอาคารนั้นเป็นหินอ่อน มีการตกแต่งผนังด้วยเสาอิงแบบทัสกัน และใช้ซุ้มโค้งคล้าย
Palladian Style ตามแนวทางเดิน และขอแนะนำว่าตั้งแต่เข้าสู่ท้องพระโรงหน้าโปรดสังเกตดูฝ้าเพดาน ซึ่งเป็นปูนหล่อลวดลายแบบตะวันตก มีลายแบบต่าง ๆ กันถึง ๑๒ ลาย ลายเพดานนี้หากไปซมที่ตึกหม่อมลม้าย (อาคาร ๔) และเรือนแพ ก็ดูราวกับจะสร้างให้สวยงามกลมกลืนกัน
ภายในตำหนักใหญ่มีห้องสำคัญที่ควรกล่าวถึง ๕ ห้อง ห้องเหล่านี้ฝาผนังจะกรุด้วยไม้สักย้อมสีโอ๊คตั้งแต่บัวเชิงผนังขึ้นไปถึงใต้กรอบหน้าต่าง สูงราว ๗๐ ซ.ม. ช่องลมเหนือประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาแบบโปร่ง บ้างก็เป็นลายเรขาคณิต มีทั้งสิ้นถึง ๑๒ แบบ ชวนให้ชมได้เพลินเช่นเดียวกับลายเพดาน ส่วนห้องอื่น ๆ จะตกแต่งด้วยบัวเชิงผนังสูงราวหนึ่งคืบโดยรอบเท่านั้น
ชั้นที่ ๑ มีห้องสำคัญ ๓ ห้อง ห้องกลางของตำหนัก เดิมเป็นห้องรับแขก ธปท. ได้ปรับปรุงเป็นห้องรับรองมีชื่อห้องว่า "เทวะวงศ์วิศิษฏ์" ส่วนทางทิศใต้เดิมเป็นห้องบิลเลียด ธปท. ได้จัดเป็นห้องแสดงพระประวัดิท่านอดีตเจ้าของวัง ชื่อห้อง "เทพสถิตย์สถาพร" ห้องด้านทิศเหนือเดิมเป็นห้องเสวย จะจัดทำเป็นห้องอนุรักษ์โบราณสถานภายใน ธปท. ชื่อ "บุราณสถานบูรณะ" ทั้ง ๓ ห้องนี้ทาสีฟ้า
ชั้นที่ ๒ มีห้องที่ตกแต่งสวยงามที่สุดของตำหนัก เดิมใช้รับรองพระบรมวงศ์ ธปท. จึงจัดเป็นห้องรับรองแขกสำหรับบุคคลสำคัญชื่อห้อง "เทพไท้ประทานพร" ห้องนี้กรุผนังด้วยลูกฟักไม้สักตั้งแต่บัวเชิงผนังถึงกรอบช่องแสง สูง ๒.๑๒ เมตร ซุ้มประตูหน้าต่างก็ทำงามกว่าห้องอื่น และเป็นห้องที่ทาสีม่วงเพียงห้องเดียว อันเป็นสีวันประสูดิของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ห้องข้างๆ ชื่อห้อง "สบสมานหฤทัย" ใช้เป็นห้องสังสรรค์ผู้บริหารระดับสูง อีกห้องที่จะเป็นคลังแห่งปัญญาของวังเทวะเวสม์ คือ "ห้องสโมสรปัญญา" เพื่อใช้เป็นห้องบรรยาย เสวนา เป็นอาทิ
ชั้นที่ ๓ ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทมทาสีเขียวอ่อนเย็นตา เคยมีกระจกกรอบสี่เหลี่ยมบานใหญ่ติดผนังด้านทิศตะวันตก มีระเบียงไม้เล็ก ๆ อยู่ด้านทิศใต้ ใกล้ห้องบรรทมเป็นห้องทรงพระอักษร ทั้งใช้เป็นห้องสมุดด้วย โดยทาสีเขียวอ่อนเช่นกันห้องนี้เดิมมีกระจกเงาสองบานลักษณะเหมือนกันติดตั้งอยู่ตรงข้ามกัน บนชั้นนี้ยังอีกจุดหนึ่งที่มีความสวยงามแต่อยู่ลับสายตา คือ ประตูบานไม้ลวดลายแบบโปร่งกรุกระจกหน้าบันไดด้านทิศเหนือ
จากชั้นที่ ๓ มีช่องบันไดแคบ ๆ เป็นบันไดแบบเวียนขึ้นไปยังชั้น ๔ อันเคยเป็นห้องพระ ซึ่งเดิมเป็นห้องเดี่ยวโล่ง ๆ ไม่มีการตกแต่งใด ๆ พื้นเป็นพื้นไม้สักเข้าลิ้น ปัจจุบันได้ทำการย้ายช่องประตูใหม่ให้เข้ากับประโยชน์ใช้สอย แล้วแบ่งซอยออกเป็นสองห้อง ชั้นที่ ๓ และชั้นที่ ๔ จะเป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑ์ ธปท. จากชั้น ๔ มีบันไดไม้ขึ้นสู่ดาดฟ้า อันจะเห็นทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา ในมุมมองที่สวยที่สุดของวังเทวะเวสม์แห่งนี้ (โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)
บทความต้นฉบับ : สันต์ชัย. (2547, กันยายน-ตุลาคม). ตำนานแห่งวังเทวะเวสม์. พระสยาม, 27 (5), 14-15
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดตำหนักใหญ่วังเทวะเวสม์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยมีสมาชิกราชสกุลเทวกุล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เฝ้ารับเสด็จฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
"พระสยาม"" ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้นำผู้อ่านไปชมตำหนักใหญ่ของวังเทวะเวสม์บางส่วนไปแล้ว สำหรับฉบับนี้จะเล่ารายละเอียดของการออกแบบและการอนุรักษ์ของตำหนักใหญ่ให้ทราบ เพื่อเป็นคู่มือสำหรับการชมตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ในโอกาสต่อไป
สถาปัตยกรรม
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่วังเทวะเวสม์เป็นแบบ "คลาสสิกใหม่" (Neo-classic) ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่ได้รับความนิยมเรื่อยมานับแต่ศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ โดยเป็นการนำองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสมัยคลาสสิกของกรีก และโรมัน ที่ได้สิ้นสุดไปแล้วกลับมาประยุกต์ใช้กับงานสถาปัตยกรรมในยุคหลัง ซึ่งมีแนวคิดทางโครงสร้างและวัสดุที่แตกต่างออกไป
สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกใหม่นี้ มีที่มาจากสถาปนิกชาวอิตาเลียน คือ นายแอนเดรีย พาลาดิโอ (Andrea Palladio ค.ศ. ๑๕๐๘-๑๕๘๐) เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวความคิด และนำเสนอผลงานการออกแบบ ตลอดจนงานเขียนทางสถาปัตยกรรมในแนวทางนี้ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และเกิดเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า แบบพาลาเดียน (Palladian Style) ซึ่งมีพื้นฐานจากสถาปัตยกรรมในยุคคลาสสิกเป็นหลัก Palladian Style เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย ยึดความมีเหตุมีผล ลักษณะการตกแต่งอาคารราบเรียบ และต่อเนื่องกันตลอด เครื่องประดับอาคารมีน้อยที่สุดจนเกือบจะไม่มีเลย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ จึงมีความเรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง
อิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกใหม่ที่ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ นี้ ที่เห็นเด่นชัด คือ เสาแบบกรีก และโรมัน ที่มีลวดลายหัวเสาแบบต่าง ๆ รวมทั้งหน้าบันเหนือเฉลียงชั้นที่ ๓ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สร้างในตะวันตกให้เข้ากับการใช้สอย และภูมิอากาศแบบไทย เช่น กันสาดที่ยื่นออกมาเหนือหน้าต่างเพื่อกันแดดกันฝน มีช่องระบายอากาศจำนวนมาก เพื่อช่วยระบายความร้อนในอาคาร
ในเวลาเดียวกันได้ปรากฏรูปแบบการตกแต่งอาคารอีกหลายส่วนที่มิได้เป็นรูปแบบคลาสสิก อาทิ เท้าแขน หรือค้ำยันปูนปั้น (Buttress) ราวลูกกรง (Bullustrade) ไม้ฉลุลายเหนือช่องประตู รวมทั้งลวดลายฝ้าเพดานภายในอาคาร
สถาปนิก
ผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ เป็นสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Mr. Edward Healey) ซึ่งรับราชการในกระทรวงธรรมกาi (กระทรวงศึกษาธิการ) โดยในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง ผลงานสำคัญของนายฮีลีย์ คือ เป็นผู้ออกแบบตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสร้างร่วมสมัยกับ ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์
ตึกคณะอักษรศาสตร์เป็นอาคารแบบไทยประยุกต์ แต่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต่าหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์คือ มีระเบียงทางเดินในอาคาร (Corridor) โดยรอบเพื่อเชื่อมกับห้องต่าง ๆ และที่เพดานทำเป็นคานหลักคานซอยกับมีลวดลายฝ้าเพดานที่คล้ายกัน นอกจากนั้นยังมีผลงานของนายฮีลีย์ที่พบเห็นได้อีก เช่น บ้านมนังคศิลา โรงเรียนสตรีจุลนาค ตึกสยามสมาคม (ถนนอโศกมนตรี) เป็นต้น
วิศวกรรม
ในห้วงเวลานั้น ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี และวัสดุที่ทันสมัย ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ
บริษัท สยาม อาร์คิเตกต์ (Siam Architect) ของนายฮีลีย์เอง พื้นดินบริเวณตำหนักใหญ่ฯ ถมด้วยดิน ทราย เศษอิฐ แกลบข้าวเผาไฟ (เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำเจ้าพระยา ชั้นดินส่วนบน ๆ ประกอบด้วยดินตะกอนเล็ก ๆ และน้ำจำนวนมาก จึงทำให้พื้นดินมีลักษณะนิ่มและเหลวเหมือนโคลน ในทางวิศวกรรมถือว่าเป็นชั้นดินที่รับน้ำหนักได้น้อย การถมด้วยทราย เศษอิฐ แกลบข้าวเผาไฟ น่าจะเป็นการปรับสภาพดินให้มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น)
ฐานรากของอาคารมีวิธีการก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายกับปัจจุบัน โดยมีการตอกเสาเข็มซึ่งเป็นเสาไม้ และหล่อซีเมนต์ ในลักษณะเสาตอม่อเพื่อรองรับคาน นอกจากนี้ ยังพบการสร้างคานคอดินทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณ ๒๐ ซม. ยาวรับผนังอาคารตลอดทุกส่วน และสร้างฐานรากแผ่ชนิดต่อเนื่อง (Strip Foundation) เพื่อรองรับคานคอดินอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ จากเสาตอม่อ และคานแล้วจึงเป็นพื้นอาคารชั้นที่ ๑ ทำให้ตัวตึกมีความแข็งแรงมาก แม้จะได้เคยทรุดตัว แต่ปัจจุบันก็ไม่มีการทรุดตัวเพิ่มขึ้น
โครงสร้างอาคารของพื้นคานฐานรากเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผสมระบบผนังรับน้ำหนัก (Wall Bearing)และโครงสร้างไม้ กล่าวคือ พื้นอาคารชั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๔ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังของช่องบันไดด้านที่มีช่องแสงซึ่งบางกว่าผนังส่วนอื่นเป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนผนังของอาคารทั้งหมดก่ออิฐ รับน้ำหนักอาคารโดยเป็นผนังแบบสองชั้น ผนังนี้โดยเฉลี่ยมีความหนา ๓๐ ซม. ก่ออิฐมอญหนาด้านละ ๑๐ ซม. ทำให้มีช่องว่างตรงกลางผนังราว ๑๐ ซม. การที่มีช่องว่างกลางผนังนี้ทำให้ลดความชื้นในอาคารไปในตัว
โครงสร้างที่เป็นไม้ คือ ส่วนที่เป็นจันทัน (ตัวไม้เครื่องบนของเรือนที่อยู่ตรงกับขื่อ) และแป (ส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลังคาที่วางบนโครงสร้างอื่น ๆ) ไม้รองรับหลังคาทั้งหมด ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งสภาพดี หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าวแผ่นเรียบผลิตจากต่างประเทศเป็นซีเมนต์เสริมเส้นใย (Fibre Cement) ฝ้าเพดานเป็นปูนหล่อสำเร็จรูปนูนต่ำติดบัวโดยรอบ
งานสีทั้งภายใน และภายนอกอาคารนั้น ผู้ใช้งานเดิมได้ใช้ชนิดของสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบดั้งเดิมในสมัยแรกสร้างอาคาร ในปัจจุบันจึงได้ทำการลอกชั้นสีเพื่อหาสีเดิมเมื่อแรกสร้างเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการทาสีใหม่ให้คงตามสีเดิม (หากจำกันได้จะเห็นว่าก่อนบูรณะ ตำหนักใหญ่ฯ ทาสีภายนอกด้วยสีขาวทั้งหลัง) เมื่อบูรณะแล้วทาสีเหลือง ส่วนที่เป็นไม้ทาด้วยสีเขียว สำหรับภายในตำหนักใหญ่ฯ ก่อนบูรณะถูกทาทับด้วยสีขาวซึ่งได้เปลี่ยนไปใช้สีดั้งเดิมเช่นกัน เช่น ห้องรับรองชั้นที่ ๑ สีฟ้า ขั้นที่ ๒ สีม่วง ห้องสมุดบนชั้นที่ ๓ สีเขียว เป็นต้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่สำนักงานใหญ่ ได้แก่ วังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์ อย่างเป็นระบบ เนื่องจากอาคารแต่ละหลังล้วนมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่ถือเป็นมรดกสูงค่าทางวัฒนธรรมของชาติ
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีแนวคิดว่า จะต้องรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของอาคารไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องปรับปรุงอาคารให้สามารถสนองต่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ได้ อีกทั้งโบราณสถานที่ได้รับการอนุรักษ์ทั้งหมดนี้จะต้องใช้ประโยชน์ทั้งในงานของธนาคารแห่งประเทศไทยและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย
บทความต้นฉบับ :
สันต์ชัย. (2547, พฤศจิกายน-ธันวาคม). ตำนานแห่งวังเทวะเวสม์. พระสยาม, 27 (6), 10-11