ธนบัตรหรือบัตรธนาคาร โดย ทหารเกณฑ์

เผยแพร่25 เม.ย. 2024

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ โดยจะออก "บัตรธนาคาร" มีมูลค่าตามที่ตราไว้ฉบับละ ๖๐ บาท จำนวน ๙,๙๙๙,๙๙๙ ฉบับ คิดเป็นมูลค่ารวม ๕๙๙,๙๙๙,๙๔๐ บาท บัตรธนาคารนี้จะมีขนาดและรูปแบบแตกต่างไปจากขนาดของธนบัตรทั่วไป คือ มีขนาด ๑๕๙ x ๑๕๙ มิลลิเมตร และบัตรธนาคารนี้ก็ถือว่าเป็นธนบัตรที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายด้วย


ความจริงเรื่องข้างต้นนี้ คงเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ แต่คงมีอีกหลายท่านที่ประหลาดใจหรือยังไม่เข้าใจในความหมายหรือลักษณะที่แท้จริงของคำว่า "ธนาคารบัตร" และ "บัตรธนาคาร" " ว่ามีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

คำว่า "ธนบัตร" เป็น ที่มีรากจากภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า ธน + บัตร มีความหมายตามพจนานุกรมว่า เป็นบัตรใช้แทนเงินตรา ส่วนคำว่า "เงินตรา" แปลว่า วัตถุที่มีตราของรัฐบาลใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ในกรณีของประเทศไทยก็คือธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในประเทศ จึงมีความหมายสมบูรณ์และถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมทุกประการ

ท่านผู้อ่านก็คงสงสัยใน คำว่า "ธนาคารบัตร" และ "บัตรธนาคาร" มีลักษณะเป็นอย่างไร ใช้เป็นเงินได้เช่นเดียวกับธนบัตรหรือไม่ ก็ขอชี้แจงว่า ธนาคารบัตร หรือบัตรธนาคาร เป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ เป็นบัตรของธนาคาร ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Bank note" ส่วนที่ว่าธนาคารบัตรจะมีสภาพเป็นเงินใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ก็คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัย สำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก ความถูกต้องตามกฎหมายในการที่ธนาคารนั้น ๆ จะออกธนาคารบัตร กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ธนาคารนั้นมีอำนาจตามกฎหมาย ในการออกธนาคารบัตรหรือไม่ และปัจจัยที่สอง ก็ขึ้นอยู่กับความยอมรับหรือความเชื่อถือของบุคคลทั่วไปต่อบัตรธนาคารนั้นเอง

ในกรณีของประเทศไทย ที่ผ่านมาเงินที่นำออกใช้และถือว่าชำระหนี้ได้ตามกฎหมายก็คือ ธนบัตรที่ออกโดยรัฐบาลไทย อย่างไรก็ดี ในมาตรา ๒๑ แห่ง พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ได้ให้อำนาจแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักรแต่ผู้เดียว นอกจากนี้ ในมาตรา ๒๓ ยังได้ให้การรับรองฐานะของบัตรธนาคารที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกใช้ ว่าเป็น "ธนบัตร" ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระบบเงินตราอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป อาจแยกแยะธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็น ๒ ประเภท คือ ธนบัตร และ บัตรธนาคาร หรือ ธนาคารบัตร ซึ่งจะสังเกตข้อแตกต่างระหว่างทั้ง ๒ ประเภทนี้ได้ โดยสังเกตว่า ตัวธนบัตร หรือเงินนั้น ออกโดยรัฐบาลหรือธนาคาร หากไม่ปรากฏชื่อธนาคารในส่วนสำคัญของธนบัตร คือ ตอนกลางบนหรือมุมบนมุมใดมุมหนึ่งของธนบัตร หรือเพียงแต่ระบุว่า "รัฐบาลไทย" หรือ "Singapore" แค่นั้น ก็พึงถือได้ว่เป็นธนบัตรของรัฐบาล แต่หากมีคำว่า "Bank of England" อยู่ตอนกลางบนของธนบัตรเช่นนี้ก็เป็นบัตรธนาคาร หรือธนาคารบัตร

ในโอกาสหน้าจะมีเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกในเรื่องเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ .... คาดว่าเรื่องเงินตราและเงินตราต่างประเทศ คงจะมีความน่าสนใจนะครับ สวัสดี


อ่านบทความจากต้นฉบับ : ทหารเกณฑ์. (2530, ตุลาคม). ธนบัตรหรือบัตรธนาคาร. พระสยาม, 10 (10), 14 – 15  


ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้