แล้วเราก็มีห้องสมุด โดย กัทลี สมบัติศิริ
มีผู้ถามดิฉันบ่อย ๆ ว่า มาเข้าทำงานตั้งแต่เมื่อไหร่ ถ้าเดาเจตนาว่าจะหลอกถามอายุก็พยายามตอบเลี่ยงไปเสีย แต่ถ้าเป็นคนกันเองก็ตอบไปตามจริงว่า ตั้งแต่ปี 2487 เมื่อได้รับคำตอบ ผู้ถามก็มักจะกล่าวเป็นเชิงรำพึงว่า "ผมเพิ่งเกิด" หรือที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็ว่า "ผมยังไม่เกิด คำพูดเหล่านี้ทำให้ดิฉันย้อนถามตัวเองบ้างว่า ช่างเป็นเวลานานถึงเพียงนั้นเทียวหรือ ไม่น่าเชื่อเลย
ส่วนค้นคว้า
ยังจำได้ เมื่อดิฉันเรียนจบได้เพียงเดือนเดียว ก็มาเข้าทำงานทันที ขณะนั้นยังเป็นเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำงานธนาคารยังอยู่ที่ตึกฮ่องกงแบงค์ ถนนเจริญกรุง และท่านวิวัฒน์ฯ (หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ หรือพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) เป็นผู้ว่าการ ท่านทรงกล่าวแก่ดิฉันว่า "เรียนอักษรศาสตร์มา ให้ไปอยู่กับคุณประหยัดเขาที่ส่วนค้นคว้า" ส่วนค้นคว้าสมัยนั้น (หรือฝ่ายวิชาการสมัยนี้) นอกจากคุณประหยัด บูรณศิริ ที่เป็นหัวหน้าส่วนแล้วยังมี คุณประยูร บูรณศิริ คุณประสาร คุณะดิลก และคุณอนันต์ ปัจฉิมานนท์ ดิฉันจึงเป็นคนที่ 5
งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำมีหลายอย่าง แต่งานที่นำความหนักใจมาให้คือ งานที่คุณประยูร ให้ช่วยทำ ได้แก่ การอ่านข่าวรอยเตอร์ที่พิมพ์บนกระดาษเก่า ๆ สีน้ำตาลแก่และมีคำว่า ...missing... เต็มไปหมด (เนื่องจากอากาศไม่ดีหรือมีคลื่นรบกวนทำให้ผู้บันทึกข่าวฟังไม่ชัด ต้องเว้นไว้ เนื้อความจึงไม่ติดต่อกัน) นอกจากนั้นยังอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อตัดรวบรวมข่าวสำคัญแยกไว้เป็นพวก ๆ ข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษต้องแปลและประมวลมาย่อเป็นภาษาไทย เสนอให้ท่านผู้ว่าการอ่านสัปดาห์ละครั้ง ดิฉันอดคิดคำนึงไม่ได้ว่า วิชาวรรณคดีที่ได้เรียนมาเป็นเวลาหลายปีนั้น ช่างไม่ช่วยในการทำงานนี้เลย
งานอื่นที่ดิฉันได้รับมอบหมายให้ทำอีกก็คือ การดูแลเก็บแฟ้มเรื่องราวและรายงานของธนาคารและองค์การเครดิตต่าง ๆ ส่วนมากเป็นบริษัทญี่ปุ่นชื่อจำยากหลายสิบแฟ้มที่ส่งมายังส่วนค้นคว้า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครดิตในภาวะขับขัน พ.ศ.2486 นอกจากนั้นบางครั้ง ก็ทำรายชื่อหนังสือตำราภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอยู่ไม่ถึง 100 เล่ม รวมทั้งวารสาร Economist และ Banker เก่า ๆ ที่ได้รับบริจาคจากพนักงานที่เคยไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เวลานั้นวารสารที่ได้รับเป็นประจำมีชนิดเดียวคือ Oriental Economist จากประเทศญี่ปุ่น
งานพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวาดแผนที่ยุโรปแถบที่กำลังมีการรบพุ่งระหว่างฝ่ายพันธมิตร มีอังกฤษ อเมริกา และรัสเซีย กับฝ่ายอักษะ มีเยอรมันและอิตาลี พร้อมทั้งทำธงชาติเล็ก ๆ ของทั้ง 2 ฝ่ายติดไว้กับเข็มหมุด เมื่อทำเสร็จแล้ว จะนำไปวางไว้บนโต๊ะในห้องท่านผู้ว่าการ ได้กล่าวแล้วว่ายังเป็นเวลาระหว่างสงคราม ฉะนั้นข่าวที่สนใจฟังกันพิเศษเป็นประจำทุกวัน จึงเป็นข่าวจากแนวรบด้านต่าง ๆ แทบทุกวันในตอนเช้า คุณประหยัดมักเข้าไปสนทนากับท่านผู้ว่าการ และช่วยกันปักธงเล็ก ๆ ลงบนแผนที่ตามข่าวที่ได้ฟังมาในตอนกลางคืน วิธีนี้เมื่อมองปราดเดียวทำให้ทราบได้ทันทีว่าในแนวรบด้านต่าง ๆ นั้นฝ่ายใดกำลังรุกหรือถอย
ที่กล่าวนี้เป็นสงครามในยุโรปที่อยู่ไกลตัว แต่สงครามที่เกิดขึ้นใกล้ตัวหรือถึงตัวก็ว่าได้เป็นเรื่องไม่สนุกเลย บ่อยครั้งในระหว่างนั่งทำงาน พวกเราต้องสะดุ้งทันทีเมื่อได้ยินสัญญาณภัยทางอากาศ เสียงโหยหวลเย็นเยือกและยาวนาน เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า "หวอมา" หน้าที่ของดิฉันเวลาหวอมาก็คือ คุมให้คนมาเก็บแฟ้มควบคุมเครดิตลงในหีบหวายสานใบใหญ่ และให้ 2 คน ช่วยกันหาบลงไปเก็บในห้องมั่นคงชั้นล่าง คุณประหยัดเป็นนักกีฬาใจกล้าหาญแท้ ๆ ท่านมักทำงานต่อไปโดยไม่ขยับเขยื้อน พวกลูกน้องเป็นห่วงเคยเตือนว่าหวอมาท่านตอบเสียงเป็นปกติว่า "ได้ยินแล้ว" แล้วก็ก้มหน้าทำงานต่อไป ขณะที่ทุกคนกำลังทะยอยกันลงไปห้องใต้ดินเพื่อหลบภัย
ในห้องใต้ดินกว้างขวางและสว่างไสวขณะที่พนักงานต่างมาชุมนุมกันระหว่างภัยทางอากาศ พวกผู้หญิงมักถือโอกาสไปนั่งอยู่ด้วยกัน สมัยนั้นธนาคารมีพนักงานสตรีอยู่ไม่กี่คน ที่รวมกลุ่มกันอยู่มี คุณประจวบจิตต์ โลจายะ คุณเสริมพันธุ์ อัศวรักษ์ คุณปรีดา สาระโกเศศ คุณมาริษา สิริพิพัฒน์ และคุณอนงค์ ศังขวณิช (เรียงตามลำดับเข้าทำงานก่อนหลัง) ทุกคนเอวบางร่างน้อยและมิได้ใช้นามสกุลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้
สถิติ
เมื่อธนาคารได้ย้ายมาอยู่ที่วังขุนพรหมในปี 2488 แล้ว ส่วนค้นคว้ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 ร่วมกับกระทรวงการคลัง ในตอนนี้จะขอเล่าประวัติวารสารของธนาคารสักเล็กน้อย ส่วนค้นคว้าได้เริ่มจัดทำสถิติเรียกว่า "Current Statistics" ประกอบด้วยตัวเลขที่พอหาได้และตามกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ในขณะนั้นแล้ว ได้พิมพ์ออกเป็นฉบับแรกในเดือนมิถุนายน 2490 ในรูปอัดสำเนาอีกปีกว่าต่อมาในเดือนธันวาคม 2491 ได้พิมพ์ "รายงานข่าวเศรษฐกิจและการเงิน" หรือ Current Statistics ฉบับปรับปรุงออกเป็นครั้งแรก ประกอบด้วยภาคประมวลเหตุการณ์ในประเทศและต่างประเทศ ภาคบทความ และภาคสถิติ แต่ยังพิมพ์ในรูปอัดสำเนาตามเดิม เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นรูปเล่มและออกเป็นรายสามเดือน โดยเรียกชื่อว่า "รายงานเศรษฐกิจไตรมาส" เมื่อปี 2502 อย่างไรก็ดี รายงานนี้กลับเปลี่ยนเป็นรายเดือนอีกเมื่อ พ.ศ. 2504 และให้ชื่อใหม่ว่า "รายงานเศรษฐกิจรายเดือน" มีทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษตามที่หน่วยข่าวสารจัดทำอยู่ในระหว่างปี 2491-2492 มีผู้มาร่วมงานที่ส่วนค้นคว้าอีกมากเรียงตามลำดับได้ดังนี้คือคุณกรองทอง ชุติมา คุณสมหมาย ฮุนตระกูล กับ คุณสุภาพ ยศสุนทร (ปัจจุบันคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร) ซึ่งย้ายมาจากส่วนการควบคุมปริวรรต คุณเผด็จ นิติสิริ คุณวารี พงศ์เวช คุณถวิล คูตระกูล และคุณป๋วย อึ้งภากรณ์
มีเหตุการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันยังจำได้เสมอในปี พ.ศ. 2492 คณะผู้แทนธนาคารโลกได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับการเจรจราขอกู้เงินของไทย ซึ่งมีคุณป๋วยเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและมีคุณกรองทองด้วย ได้ทราบว่าคณะผู้แทนธนาคารโลกเรียกร้องสถิติหลายอย่าง แต่ขณะนั้นตัวเลขต่าง ๆ ของไทยยังมีอยู่ไม่มากนัก ต้องอาศัยสถิติบางอย่างที่มีอยู่มาคำนวณหาตัวเลขใหม่ ๆ เช่น จากสถิติพยากรณ์รายปี และรายงานสถิติสินค้าและการเดินเรือของกรมศุลกากร เป็นต้น ในความควบคุมของคุณป๋วยและคุณกรองทอง พนักงานส่วนค้นคว้าได้ช่วยทำงานอยู่ด้วยกันจนมืดค่ำ เป็นเวลาแรมเดือนได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข สนุกสนานกันอย่างเต็มที่ไม่มีวันจะลืมได้
ห้องสมุด
อยู่มาวันหนึ่ง ในการประชุมของส่วนค้นคว้าดิฉันจำได้ว่า คุณป๋วย ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนค้นคว้า อยู่ในขณะนั้น เป็นผู้กำหนดมอบหมายหน้าที่งานให้แก่ทุกคนและให้ดิฉันรับผิดชอบงานห้องสมุดอย่างเดียวตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นคุณป๋วยมอบหนังสือให้เล่มหนึ่งชื่อ "British Library of Political and Economic Science...Guide to the Collections" และว่า "จัดห้องสมุดของเราอย่างนี้ก็แล้วกัน" เวลาที่กล่าวนี้ห้องสมุดมีหนังสือตำราและวาระสารวิชาการเพิ่มขึ้นมาก เพราะสามารถติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ได้แล้วหลังจากสงครามโลกได้ยุติลงเมื่อปี 2489
เมื่อนึกมาถึงเรื่องห้องสมุด ขอเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตบ้าง เพื่อให้มาต่อเนื่องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดนั้น นอกจากห้องสมุดต้องการจะทำหน้าที่ให้บริการผู้ใช้ให้ดีที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้เองด้วย ห้องสมุดธนาคารจึงได้มีโอกาสทำงานหลายอย่างตามคำจำกัดความที่ UNESCO ให้ไว้ในเอกสาร Standard for Library Service, 1971 ที่ว่า "The special library is a major source of Information in the organization it serves. It acquires, organizes, maintains, utilizes and disseminates materials germane to the Organization activities." เช่นห้องสมุดจัดทำ Clippings ก็เพราะผู้ใหญ่ประสงค์จะทราบเรื่องเกี่ยวกับธนาคารที่หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ นำไปลง และเจ้าหน้าที่ต้องการบทความและข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินและการธนาคารการทำย่อข่าวหนังสือพิมพ์ประจำวัน พนักงานทั่วไปได้ติดตามข่าวต่าง ๆ ให้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน (ปัจจุบันหน่วยข่าวสารจัดทำ) การออก"Monthly Library List" ก็เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงหนังสือและเอกสารใหม่ที่ห้องสมุดได้รับ ที่จัดทำ "Weekly List of Selected Articles in Periodicals" กับ "ดัชนีวารสารไทยรายเดือน" ก็เพราะผู้อ่านต้องการค้นหาบทความในวารสารวิชาการต่าง ๆ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ และการทำคู่มือกฎหมาย 3 เล่ม เกี่ยวกับการเงินการธนาคาร ก็เพราะหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการหนังสือกฎหมายที่ทันสมัยไว้ใช้อ้างอิงได้ทันที กล่าวโดยสรุป งานที่ห้องสมุดทำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา การอ่านเพื่อแบ่งแยกประเภทเรื่องในหนังสือวารสารและเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ก็เพื่อเผยแพร่ ให้ผู้อ่านทราบและเพื่อเตรียมไว้ให้พร้อมเมื่อผู้อ่านต้องการ
อย่างไรก็ดี เมื่อวิทยาการยังก้าวหน้าต่อไป ห้องสมุดย่อมต้องติดตามผู้อ่านต่อไปอีก วิชาการห้องสมุดเองก็มิได้หยุดยั้งอยู่เพียงเท่านี้ ยังมิทันที่เราจะนำโสตทัศนวัสดุเข้ามาใช้ในห้องสมุดธนาคาร Automation ก็เข้ามาในวงการห้องสมุดแล้ว ต่อไปนักวิชาการอาจขอร้องให้ห้องสมุดค้นคว้าเรื่องที่ยากยิ่งไปกว่า Econometric models และห้องสมุดก็คงจะต้องตอบสนองตามวิธีการใหม่ ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาคงจะตกเป็นภาระของเจ้าหน้าที่รุ่นหลังที่จะคิดจะทำต่อไป
ห้องสมุดธนาคารมิได้มีแต่หนังสือวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีหนังสือประเภทสำหรับให้พนักงานได้ผ่อนอารมณ์บ้าง คือหนังสือไทยจำพวกสารคดี และวรรณคดี ห้องสมุดได้จัดหนังสือเหล่านี้มาให้อ่านตั้งแต่ปี 2500 โดยเห็นว่าในเมืองไทย ประชาชนไม่มีห้องสมุดที่จะไปยืมหนังสืออ่านได้อย่างในบางประเทศ หนังสือประเภทนี้ทำให้พนักงานทั่วไปมายืมหนังสือจากห้องสมุดเพิ่มขึ้นหลายเท่า
ลำพังงานห้องสมุดเองดิฉันเห็นว่าไม่มีสิ่งใดน่าประทับใจเป็นพิเศษ แต่การติดต่อกับผู้มาใช้ห้องสมุดช่างเป็นงานที่น่าสนใจจริง ๆ เพราะทำให้ได้เรียนรู้ในอัธยาศัยได้รับไมตรีจิตและได้สร้างมิตรภาพ
เมื่อได้เล่าเรื่องเก่ามาจนถึงเรื่องใหม่ในปัจจุบันดังนี้แล้ว ก็จะขอยุติลงเพียงเท่านี้ ความจริงเรื่องเก่า ๆ ยังมีอีกมากแต่ยังไม่ถึงเวลาอันควรจะนำมาเปิดเผย ดิฉันจึงขอสงวนไว้ในความทรงจำต่อไป