ช่วง สเลลานนท์...สมบัติอีกชิ้นหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ โดย สุรพล เย็นอุรา

เผยแพร่23 มี.ค. 2025

เมื่อข่าวมรณกรรมของคุณช่วง สเลลานนท์ เป็นที่ทราบทั่วกัน พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะผู้เคยทำงานร่วมกับคุณช่วง สเลลานนท์ สมัยเมื่อสิบห้าปีมาแล้วหรือก่อนหน้านั้น ย่อมจะมีความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันว่า เป็นความสูญเสียทั้งอดีตเพื่อนพนักงานและอดีตช่างวิจิตรศิลปผู้มีฝีมือล้ำเลิศของธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาเดียวกัน


สำหรับวงการศิลปกรรมไทย การจากไปของคุณช่วง สเลลานนท์ ย่อมหมายถึงสมบัติอันมีค่ายิ่งในวงการนั้นอันพอจะหลงเหลืออยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ถึงกาลวิบัติไปแล้วอีกชิ้นหนึ่ง

ผู้ที่เคยประจักษ์ในผลงานของคุณช่วง สเลลานนท์ คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า คุณช่วง สเลลานนท์ เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เกิดมาเพื่ออุทิศชีวิตให้แก่งานสรรสร้างศิลปวัฒนธรรมของไทยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ย่อมมิใช่เพราะเหตุที่ปริมาณงานจำนวนมากหลายที่เกิดขึ้นมีขึ้นเพราะความคิดและฝีมือของคุณช่วง สเลลานนท์ หากเป็นเพราะผลงานของศิลปินผู้นี้มีระดับแห่งคุณค่าสูงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป เนื่องจากเต็มไปด้วยความประณีตวิจิตรบรรจงและมีความงดงามอย่างยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ ผลงานในลักษณะเช่นนี้แหละที่มีอิทธิพลพอที่จะสร้างความรู้สึกแก่คนไทยโดยทั่วไปให้บังเกิดความหยิ่ง ความภาคภูมิใจ และความหวงแหนในคุณค่าของศิลปและวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติของไทยเราแต่โบราณ

แม้ความสามารถของคุณ ช่วง สเลลานนท์ จะเห็นได้จากผลงานด้านศิลปไทยหลายต่อหลายแขนงก็ตาม แต่ที่นับว่าเด่นชัดและมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของบุคคลผู้นี้โด่งดังเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของทุกวงการก็ได้แก่ฝีมือและความนึกคิดอันละเอียดอ่อนในการเขียนและประดิษฐ์ลายไทย ลายไทยมิใช่ศิลปที่ยืนอยู่กับที่ด้วยการอาศัยเพียงแบบฉบับหรือแนวทางที่ผู้คนแต่เก่าก่อนจัดทำไว้ในความเข้าใจของคนบางคน หากการเขียนลายไทยนั้นก็ดุจเดียวกับวิชาการแขนงอื่น ๆ ซึ่งต้องมีการพัฒนาตัวเอง ต้องเจริญเติบโตและปรับตัวให้สอดคล้องต้องกับกาลสมัย ความสำเร็จของคุณช่วง สเลลานนท์ ในด้านนี้ขึ้นอยู่กับอัจฉริยภาพส่วนตนเป็นสำคัญประกอบกับเป็นผู้ไม่เคยหยุดยั้งในการแสวงหาความรู้ ดังปรากฏตลอดมาว่า คุณช่วงสเลลานนท์ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่แสวงหาความรู้จากลวดลายต่าง ๆ ที่ธรรมชาติจัดสรรให้ เช่น ลวดลายจากพืชพันธุ์ไม้ ดอกไม้ และใบไม้ต่าง ๆ ด้วยเป็นผู้มีความสังเกตละเอียดอ่อนละเมียดละไมอันเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้เป็นศิลปิน ลายไทยอันเกิดจากจินตนาการและความคิดของคุณช่วง สเลลานนท์ จึงมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา สามารถนำไปผนวกให้เข้ากับเรือนรูปของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมในทุกโอกาส

คุณช่วง สเลลานนท์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่างตามหลักสูตร 5 ปี หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างแล้วเมื่อ พ.ศ. 2463 ขณะอายุได้ 19 ปี ก็แสดงความสามารถเบื้องต้นด้วยการส่งงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียนและพาณิชย์ของพลเมือง งานที่ส่งเข้าประกวดได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชั้นที่ 2 ในหมวดศิลป โดยไม่มีผู้ใดได้รับรางวัลชั้นที่ 1 ในการประกวดครั้งนั้น

ชีวิตการทำงานของคุณช่วง สเลลานนท์ เริ่มต้นที่กระทรวงธรรมการ ผลงานที่นับว่าสำคัญก็ได้แก่ ตำราฝึกหัดเขียนและประดิษฐ์ตัวอักษร โดยเฉพาะแบบเรียน ก. ไก่ ข. ไข่ คุณช่วง สเลลานนท์ ได้จัดทำขึ้นโดยวาดภาพประกอบเป็นการจูงใจให้เด็กสนใจอ่าน และก็มีผู้เจริญรอยตามแบบอย่างเรื่อยมาตราบจนทุกวันนี้

ต่อมาคุณช่วง สเลลานนท์ ก็เข้าทำงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลขสมัยที่นายควง อภัยวงศ์ ที่เป็นอธิบดี ได้รับมอบหมายให้ออกแบบดวงตราไปรษณียากรเป็นหลายชุดหลายแบบ และโดยที่ขณะนั้นธุรกิจออมสินยังอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมไปรษณีย์โทรเลข คุณช่วง สเลลานนท์ ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบเผยแพร่กิจการออมสินด้วย ผลงานที่คุณช่วง สเลลานนท์ ฝากไว้เป็นสมบัติอันถาวรให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลขที่นับว่าสำคัญอีกชั้นหนึ่ง ก็ได้แก่ภาพวาดสีน้ำมันชุดทศกัณฐ์ลงสวน ซึ่งเป็นภาพขนาดใหญ่บรรจุศิลปวาดเขียนไทยไว้อย่างครบครัน

โดยที่กรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงคมนาคม คุณช่วง สเลลานนท์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบดวงตราประจำกระทรวง และดวงตราดังกล่าวก็คงใช้เป็นดวงตราประจำกระทรวงนั้นตราบจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ก็ยังเป็นผู้ออกแบบดวงตราประจำบริษัทขนส่ง จำกัด ของกระทรวงคมนาคมอีกด้วย

ในการจัดงานมหกรรมแห่งโลก ณ นครนิวยอร์คเมื่อปี พ.ศ. 2482 ประเทศไทยก็ได้ส่งสินค้าไทยไปแสดงในงานด้วย คุณช่วง สเลลานนท์ ได้ถูกยืมตัวให้ร่วมเดินทางไปกับคณะเจ้าหน้าที่ โดยทำหน้าที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพลับพลาไทยซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของศิลปและวัฒนธรรมไทย ผลปรากฏว่าพลับพลาไทยได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศเนื่องจากมีความวิจิตรงดงามเป็นที่ยิ่ง ผลตอบแทนอันน่าภาคภูมิใจที่คุณช่วง สเลลานนท์ ได้รับในครั้งนั้นก็ได้แก่ประกาศเกียรติคุณซึ่งคณะกรรมการจัดงาน ๆ เป็นผู้มอบให้ และในวาระเดียวกันนี้เองที่คุณช่วง สเลลานนท์ ได้พบคุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังปฏิบัติงานอยู่ในสำนักงานธนาคารชาติไทย จึงได้รับการชักชวนให้เข้ามาทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย

การเข้าทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยของคุณช่วง สเลลานนท์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2485 เป็นไปในลักษณะการยืมตัวจากกรมไปรษณีย์โทรเลขให้มาช่วยงานโดยทำงานแห่งละครึ่งวันเนื่องจากตัวอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขคือนายควง อภัยวงศ์ ขณะนั้นที่จะให้โอนตัวมา ต่อเมื่อนายควง อภัยวงศ์ พ้นจากตำแหน่ง คุณช่วง สเลลานนท์ จึงได้เข้ามาทำงานในธนาคารในธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเต็มตัว โดยประจำอยู่ในส่วนการกู้เงิน ฝ่ายการคลัง เพราะเหตุนี้ หากจะนับระยะเวลาที่คุณช่วง สเลลานนท์ เริ่มเข้าทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะก่อนหน้านี้เข้าด้วยแล้ว คุณช่วง สเลลานนท์ ก็จะเป็นพนักงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยซึ่งถือว่าเป็นพนักงานชุดบุกเบิกผู้หนึ่ง

ขณะทำงานในส่วนการกู้เงิน คุณช่วง สเลลานนท์ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบพันธบัตร และนับเป็นวาระแรกที่ลวดลายไทยได้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบตราสารทางการเงินต่อมาก็ได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบธนบัตรเป็นหลายรุ่น หลายแบบ ทั้งที่สั่งพิมพ์จากประเทศอังกฤษและที่จัดพิมพ์ขึ้นใช้เองภายในประเทศขณะที่เกิดความขาดแคลนธนบัตรในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา แนวทางการออกแบบของคุณช่วง สเลลานนท์ ดังกล่าว ทำให้ธนบัตรไทยเป็นที่ยอมรับว่าเป็นธนบัตรที่มีความสวยงามแบบหนึ่งของโลก และการออกแบบธนบัตรก็ได้อาศัยแนวทางนั้นปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

ระหว่างที่ทำงานอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวคือเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นอีกวาระหนึ่งที่คุณช่วง สเลลานนท์ ถูกยืมตัวให้ร่วมไปกับคณะเจ้าหน้าที่นำสินค้าไปร่วมในงานแสดงศิลปกรรมนานาชาติ ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พลับพลาไทยอันวิจิตรสวยงามของประเทศไทยภายใต้การออกแบบและควบคุมการก่อสร้างของคุณ ช่วง สเลลานนท์ ก็ได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศอีกครั้งหนึ่ง และก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่คุณช่วง สเลลานนท์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการจัดงานแสดงศิลปกรรมนานาชาติของประเทศนั้น


ผลงานที่นับว่ามีความสำคัญทั้งแก่ตัวคุณช่วง สเลลานนท์ และแก่พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยทุกคน ก็ได้แก่รูปปั้นพระสยามเทวาธิราชซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนชั้น 3 ของตัวพระตำหนักใหญ่ซึ่งพนักงานธนาคารแห่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันควรแก่การสักการะ คุณช่วง สเลลานนท์ ได้ออกแบบด้วยการดัดแปลงจากภาพนั้นพระสยามเทวาธิราชในท่ายืนซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โดยเปลี่ยนเป็นท่านั่งและเสริมสร้างองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะกับการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของธนาคารกลาง และในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเองก็ออกแบบดวงตราธนาคาร ซึ่งดวงตราดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นดวงตราประจำธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา

คุณช่วง สเลลานนท์ ทำงานอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยตราบจนเกษียณอายุ จึงออกไปรับบำนาญเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2505 เมื่อมีการก่อตั้งธนาคารกรุงไทย จำกัด ขึ้น ก็ได้รับมอบหมายจากคุณจำรัส จตุรภัทร อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของธนาคารนั้นให้เป็นผู้ออกแบบดวงตราประจำธนาคาร ทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบบรรดาตราสารเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้สอยภายในธนาคารแห่งนั้นอีกด้วย

ผลงานที่นับได้ว่าบรรจุฝีมือของคุณช่วง สเลลานนท์ มากเป็นพิเศษ ก็ได้แก่ลวดลายไทยที่คุณช่วง สเลลานนท์ เป็นผู้ออกแบบเพื่อนำไปใช้ประดับหน้าบรรณโบสถ์ วิหาร ตลอดจนประตูหน้าต่างของอารามต่าง ๆ หลายต่อหลายแห่งเกือบทั่วราชอาณาจักร ผลงานเหล่านี้นอกจากจะเป็นอนุสรณ์แห่งฝีมือของผู้ได้ชื่อว่าเป็นเอตะทัคคะในการเขียนลายไทยแล้ว ยังเป็นการฝากศิลปวัฒนธรรมไทยอันสูงด้วยมาตรฐานซึ่งจะปรากฏเป็นถาวรวัตถุสืบไปอีกด้วย

โดยที่ฝีมือในการประดิษฐ์อักษรของคุณช่วง สเลลานนท์ ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จึงมีเจ้าของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในยุคก่อน เช่น สยามราษฎร์ ประชาชาติ ฯลฯ ได้มอบหมายให้คุณช่วง สเลลานนท์ เป็นผู้เขียนชื่อหนังสือพิมพ์ให้ แม้แต่หนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่พวกเรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเคยร่วมทำงานกับคุณช่วง สเลลานนท์ ในธนาคารแห่งประเทศไทยมาก่อน ก็ได้ขอให้คุณช่วง สเลลานนท์ เป็นผู้เขียนชื่อให้เช่นกัน

ในการศึกษาวิชาวาดภาพหรือลายไทยนั้น ผู้ศึกษาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างเพียงพอในกายวิภาคของมนุษย์และสัตว์ สำหรับคุณช่วง สเลลานนท์ นั้นให้ความสนใจแก่วิชาการแขนงนี้เป็นพิเศษ โดยได้พยายามขวนขวายเรียนรู้อย่างจริงจังจนมีความรู้ความเข้าใจถึงระดับที่วงการแพทย์ในสมัยนั้นให้ความเชื่อถือ จึงเมื่อหลวงพิณภาคพิทยาเพท ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช  ก็ได้มอบหมายให้คุณช่วง สเลลานนท์ เขียนภาพขนาดใหญ่ให้นับจำนวนหลายสิบภาพ โดยอาศัยภาพจากตำราต่างประเทศเป็นแนวทาง ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นขั้นตอนและลำดับแห่งการให้กำเนิดทารก ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ตำราแพทย์ขณะนั้นหาได้ยากและมีราคาแพง อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวก็คงอำนวยประโยชน์ในการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ในแผนกสูตินรีเวชของโรงพยาบาลศิริราชตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

อาจมีหลายคนที่ประหลาดใจหากทราบว่า คุณช่วง สเลลานนท์ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีฝีมือในการเขียนและออกแบบลวดลายไทยแล้ว ยังเป็นผู้หนึ่งที่สอบได้ประกาศนียบัตรแพทย์แผนโบราณโดยมีใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปแผนโบราณด้วย การสนใจและศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้งทางกายวิภาคดังได้กล่าวข้างต้น คุณช่วง สเลลานนท์ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเจนจัดทางกายบำบัดผู้หนึ่งด้วยรู้ตำแหน่งแห่งที่ของเส้นสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย ยาแผนโบราณที่ปรุงขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้คุ้นเคยและผู้สนใจส่วนใหญ่ล้วนมีคุณสมบัติทางกายบำบัด และผู้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

จากผลงานต่าง ๆ นานาทั้งได้พรรณนาข้างต้น เชื่อว่าผู้ที่ไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยประจักษ์ในความสามารถของคุณช่วง สเลลานนท์ มาก่อนก็ คงจะยอมรับว่า บุคคลผู้นี้เป็นผู้ที่เกิดมาด้วยชีวิตอันมี "คุณค่า และใช้เวลาในชีวิตอย่าง "คุ้มค่า" ยิ่งผู้หนึ่ง โดยสามารถฝากผลงานไว้เป็นอนุสรณ์ให้แก่ตัวเอง และแก่คนไทยอย่างมากมายอย่างที่น้อยคนจะสามารถทำได้ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับคุณช่วง สเลลานนท์ เป็นอย่างดีและมีโอกาสได้ติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด ก็อาจจะแย้งว่า ยังมีผลงานอื่นๆที่สำคัญ ๆ ของคุณช่วง สเลลานนท์ เป็นจำนวนมาก ที่ผมมิได้นำมากล่าวถึง ก็ขอยอมรับว่าเป็นการโต้แย้งที่ถูกต้องเพราะสุดวิสัยที่จะรวบรวมแสวงหามากล่าวให้ครบถ้วนในที่นี้ได้

อันคำนิยมหรือคำยกย่องสรรเสริญในความสามารถของผู้ใด เป็นการแน่นอนว่า ย่อมยังความปิติและความภาคภูมิใตให้บังเกิดแก่ผู้นั้น แต่สำหรับผู้เป็นศิลปินโดยแท้จริงแล้วความชื่นชมและความภาคภูมิใจอันแท้จริงย่อมมาจากคำนิยมหรือคำยกย่องของผู้เป็นศิลปินด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่ดำเนินชีวิตในวิชาชีพเดียวกัน ด้วยนัยนี้ ผมจึงใคร่ขอถือวิสาสะนำจดหมายของพระยาอนุสาสน์พณิชยการ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ปรมาจารย์ผู้หนึ่งที่ได้ประสิทธิประสาทวิชาช่างศิลปะของไทยให้แก่คุณช่วง สเลลานนท์ มาประกอบข้อเขียนครั้งนี้ด้วย แม้ว่าจดหมายฉบับเดียวกันนี้จะได้เคยนำไปตีพิมพ์ใน "วิชาเขียนภาพไทย" อันเป็นตำราเขียนภาพและลายไทยซึ่งคุณช่วง สเลลานนท์ได้อุตสาหะจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 แล้วก็ตาม สาระแห่งจดหมายดังกล่าวจะยังความปิติปลาบปลื้มใจแก่คุณช่วง สเลลานนท์ เพียงใดก็ยากที่ผู้ใดจะล่วงรู้ แต่สำหรับผู้ซึ่งมิได้อยู่ในแวดวงของงานศิลปโดยตรง การมีโอกาสได้อ่านจดหมายฉบับนี้ ยอมจะได้รับคุณประโยชน์เช่นกันเนื่องจากบรรจุเนื้อหาสาระและสำนวนโวหารซึ่งยากจะหาอ่านได้จากจดหมายโดยทั่วไป.-

 ---------------------------

14 ตุลาคม 2494

ช่วง ที่รัก

ตัวอย่างตำราเรียนเขียนภาพไทยและลายไทยบางตอนที่ส่งมาให้ฉันดูนั้นได้เห็นตลอดแล้ว ข้อบกพร่องย่อมจะต้องมีบ้าง แต่ในชั้นนี้ฉันไม่ขอพูดถึง ข้อสำคัญขอให้ตำราของเธอได้ตีพิมพ์ออกมาเสียครั้งหนึ่งก่อน และเพียงเท่านั้นคุณค่าของมันก็ลบล้างข้อบกพร่องเล็กน้อยได้สิ้น

พูดถึงคุณค่าของการทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น ก็คล้ายกับมนุษย์เรามีภาษาพูดกันอยู่แล้ว และมีผู้มาแต่งไวยากรณ์ของภาษานั้นขึ้น ไวยากรณ์มีความสำคัญแก่ภาษาอย่างไร หนังสือของเธอก็มีความสำคัญแก่วิชาศิลปแขนงนี้ปาน ๆ กัน

ฉันเองอยากเห็นตราชนิดนี้เกิดขึ้นมานานแล้วด้วยความรักศิลปไทย ศิลปของเรานี้โดยเฉพาะลายไทย ไม่มีที่ไหนอีกแล้วจะงามเท่า เมื่อได้เห็นรัฐบาลประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 9 ว่า "ชนชาติไทยจะต้องยกย่องเคารพและนับถือภาษาไทยและต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย" ฉันเคยนึกว่าน่าจะรวมการยกย่องส่งเสริมศิลปลวดลายของไทยเราไว้ด้วย แต่แล้วก็นึกว่าบางทีท่านอาจบัญญัติขึ้นในฉบับต่อไปก็ได้ โบราณกล่าวว่า ศรีของภรรยาอยู่ที่สามี ศรีของรถอยู่ที่ธงที่งอนรถ และศรีของประเทศอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ฉันใด ศรีของชาติก็อยู่ที่ศิลปของชาติฉันนั้น

ศิลปของเราเกิดมาได้ด้วยยาก เกิดมาได้ด้วยโชคชะตาที่ดีอย่างยิ่ง คนไทยได้กลั่นกรองรูปร่าง ลวดลาย ทรวดทรง ฯลฯ ของศิลปไทยมานานหลายร้อยปี ด้วยการรู้จักประดิษฐ์ ดัดแปลง ด้วยความรู้สึกสวยงาม รู้จักการอ่อนโยน และด้วยความรู้จักความกลมเกลียวหรือกลมกลืนเข้าหากัน ตลอดจนการรู้จักหนักรู้จักเบา อันเป็นนิสัยอันดีงามของเรา จนได้มาเป็นศิลปของเราแท้ ๆ ขอให้ดูทรง ดูลาย แล้วนึกถึงนิสัยของเรา จะมีความละม้ายคล้ายคลึงปรากฏอยู่ในเราสิ่งนั้น ๆ ลายไทยนั้นวิจิตรดีอย่างพิเศษ ดีสองเท่าของลายอื่น ๆ ลายที่เป็นเพียงเช่นดอกไม้ใบไม้ ลายไทยยังก้าวไปอีก ก้าวหน้าคือต้องดัดแปลงดอกใบและกลีบให้วิจิตรออกไปอีกทอดหนึ่งให้ถึงใจ ที่ว่านี้หมายความถึงลายกนกต่าง ๆ ศิลปจะรุ่งเรืองก็ต้องมีผู้อุปถัมภ์ ศิลปของไทยได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ตลอดมา เมื่อพระประมุขทรงอุปถัมภ์แล้ว ผู้อื่นก็ย่อมจะเจริญรอย

เราจะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงอุปถัมภ์ศิลปของชาติตลอดมา ถึงกับควบคุมและทรงงานด้วยพระองค์เองก็มี ที่ทรงส่งเสริมด้วยพระปรีชาญาณต่าง ๆ ก็มี เหล่านี้มีหลักฐานเป็นองค์พยานอยู่มากมาย ศิลปที่พระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ทรงส่งเสริมอย่างใกล้ชิดย่อมดีถึงขนาดแม้แต่คนต่างชาติต่างภาษาก็ยังยอมรับว่างดงามจริง

ที่ฉันพูดในตอนนี้ เพื่อเป็นเหตุผลประกอบในการส่งเสริมการกระทำของเธอ คือเมื่อของ ๆ เราดีถึงขนาดเช่นนี้แล้ว เมื่อมีผู้มาสร้างเครื่องป้องกันการถอยหลัง การลืมเลือนของศิลปของเรา เราก็ควรช่วยส่งเสริมโดยเต็มสติกำลัง

ใช่แต่เท่านั้น ในระยะ 20 ปีกว่า ๆ มานี้ ฉันสังเกตเห็นว่าศิลปของเรางันไป เนื่องจากการกระทบกระเทือนจากเหตุภายในและภายนอก ทำให้การสนใจในศิลปของเราน้อยลงและถึงเขวไปก็มี เพราะฉะนั้น ที่เธอทำตำราขึ้นมาเหมาะแก่กาละ จึงเห็นว่าเป็นการสมควรทีเดียว

ถ้าทูลกระหม่อมของเรายังทรงพระชนม์อยู่ จะทรงดีพระทัยมากเป็นส่วนตัวกับช่วง เพราะเธอย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าท่านทรงพระเมตตากรุณาแก่เธอ มากเพียงไร และทั้งจะทรงยินดีที่จะมีตำราเป็นเครื่องส่งเสริมศิลปของเรา ซึ่งพระองค์ท่านอยากให้คนไทยได้เรียนรู้และให้แพร่หลายยิ่ง ๆ ขึ้น

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าศิลปของเรางันไป พอมหาสงครามเกิดขึ้น ก็เปลี่ยนจากงันกลายเป็นทรุด และในที่สุดบ่อเกิดสำคัญของช่างไทยคือเพาะช่างก็ได้รับเคราะห์ถึงฆาต

แม้โรงเรียนถูกทำลายลง ครูเก่าครูแก่แยกย้ายตายจากไป แต่โรงเรียนเพาะช่างก็ได้เพาะลูกหลานที่ดีไว้แล้ว ต้องนับว่าการช่างของเรายังไม่ถึงสูญสิ้น หากเพาะช่างไม่อุบัติขึ้น ป่านนี้ศิลปการช่างของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อนึกดูเช่นนี้ ก็ต้องร่าลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้พระราชทานกำเนิดแก่โรงเรียนเพาะช่างและล้นเกล้าฯ ผู้พระราชทานการสนับสนุนอย่างมาก พร้อมไปกับระลึกถึงพระองค์ผู้ทรงปลุกปล้ำคลุกคลีอยู่กับพวกเธอและครูอาจารย์ของเธอ เพื่อให้ศิลปการช่างของเรารุดหน้าไป

นี่แหละช่วง เมื่อมีหนังสืออย่างนี้ของเธอขึ้นมา ก็นับได้ว่าเธอได้ทำหลักเพื่อค้ำจุนศิลปแขนงหนึ่งขึ้น ทั้งนี้ ย่อมจะเป็นที่ยินดีด้วยกันทั่วไป หากจะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ตำราของเธอ ก็เชื่อว่าจะทำด้วยความปรานี แนะให้เจ้าของตบแต่งเพิ่มเติมให้หลักนั้น (คือหนังสือของเธอ) งดงามเหมาะสมที่จะประคับประคอง

ในที่สุดนี้ ฉันขอแสดงความยินดีในความคิดถูกและความสามารถของเธอ ฉันมีความภูมิใจมากในการกระทำของช่วงของฉัน

ด้วยความรักและคิดถึงเสมอ

อนุสาสน์พณิชย์การ

 ---------------------------

ด้วยเหตุนี้การที่กล่าวว่า การจากไปของคุณช่วง สเลลานนท์ เป็นการสูญเสียสมบัติมีค่าอีกชิ้นหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมิใช่เป็นการที่เกินความเป็นจริงเลย


อ่านบทความจากต้นฉบับ : สุรพล เย็นอุรา. (2519). ช่วง สเลลานนท์...สมบัติอีกชิ้นหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์, ธ.ป.ท. ปริทรรศน์  (3), 63-72


ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้