อาคารอนุรักษ์ดีเด่น เรือนแพ วังเทวะเวสม์ โดยช่างภาพ

เผยแพร่23 มี.ค. 2025

นับตั้งแต่ปี 2536 ที่วังบางขุนพรหม เคยได้รับรางวัล อนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ผ่านมาอีก 9 ปี ก็เป็นที่น่ายินดีอีกครั้งที่ อาคารเรือนแพ ของ ธปท. ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2544 ประเภทสถาบันและอาคารสาธารณะ โดยมี คุณอรุณศรี ติวะกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายธุรการ เป็นตัวแทน ธปท. เข้า เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รับพระราชทานรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา


หากกล่าวถึงความเป็นมาของ "เรือนแพ" ก่อนที่ ธปท. จะ เข้ามาครอบครองอาคารริมน้ำแห่งนี้ คงต้องคุยกับผู้ที่ดูแลรับผิดชอบการบูรณะเรือนแพในอดีต เพื่อถ่ายทอดความเป็นมาที่หลายคน อาจจะยังไม่เคยทราบมาก่อนว่าเรือนแพมีที่มาอย่างไร? ในโอกาสนี้ ทีมงานวารสารพระสยาม จึงได้ขอสัมภาษณ์ คุณอรุณศรี ติวะกุล (ผอส.สายธุรการ) พร้อมทั้งคณะผู้บริหารของสำนักก่อสร้างและเสริมสร้างปรับปรุง คุณสุวรรณี เจนพานิชการ (ผอ.), คุณชลิต อัคนิทัต (ผบส.), คุณมนตรี วีระวงศ์ (สถาปนิกเชี่ยวชาญ โครงการก่อสร้างอาคาร สนญ.), คุณขนิษฐา ราชพิทักษ์ (ผบ.ทีมงานก่อสร้าง 2), คุณบุญเลิศ ตระกูลขจรศักดิ์ (ผบ.ทีมซ่อมแซมอาคารและพัสดุ) ทุกท่านได้มาร่วมกันเล่าถึงที่มา กว่าที่เรือนแพจะมาเป็นอาคารที่สวยงามดังเช่นทุกวันนี้



การที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ คัดเลือก ให้ "เรือนแพ" ของ ธปท. ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2544 มีการพิจารณาองค์ประกอบอะไรบ้าง
คุณอรุณศรี ในการสรรหาอาคารต่าง ๆ เพื่อนำมาพิจารณาเพื่อการให้รางวัลนั้น ได้มาจากการสรรหาและเสนอชื่อโดยคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผนวกกับทางจังหวัดต่าง ๆ และหน่วยศิลปากรในแต่ละท้องที่ เสนอชื่อพร้อมประวัติตลอดจนภาพถ่ายอาคารมาให้พิจารณา โดยมีหลักเกณฑ์ คือ เป็นอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม โดยไม่จำกัดว่าจะมีรูปแบบในทางสถาปัตย์ศิลป์เป็นแบบของชนชาติใด เป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่นานปี นับย้อนได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ขึ้นไป โดยได้บำรุงรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีตลอดมา และได้ใช้ประโยชน์อาคารนั้นเป็นส่วนประสมกลมกลืนไปกับชีวิตในสังคมสืบต่อมาตราบจนทุกวันนี้


ท่านรู้สึกอย่างไรกับการที่ ธปท. ได้รับรางวัลในครั้งนี้
คุณสุวรรณี ต้องบอกว่าเราภาคภูมิใจมาก ในแง่ที่ว่าการเข้าไปวางระบบวิศวกรรม การวางแผนซ่อมแซม การเขียนแบบ ออกแบบตกแต่ง ตลอดจนการศึกษาข้อมูลและเลือกซื้ออุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ทำกันเองโดยส่วนงานช่างของธนาคาร

การบูรณะเรือนแพ เริ่มทำในสมัยท่านผู้ว่าการท่านใด ความเป็นมาของงานซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเรือนแพในอดีต เป็นอย่างไรบ้าง


คุณสุวรรณี ในสมัยท่านผู้ว่าการ (คุณวิจิตร สุพินิจ) ท่านมีดำริให้บูรณะเรือนแพอย่างเร็ว ด้วยเกรงว่าจะทรุดโทรมลงไปหนัก ตอนนั้นเราเพิ่งจะได้แลกเปลี่ยนที่ดินกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่ายังไม่ได้มีการเข้าไปใช้ได้ เนื่องจากว่ายังเป็นที่ของราชพัสดุ แต่ว่าเท่าที่ดูเรือนแพแล้วทรุดโทรมมาก ๆ เลย สมัยที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเอียง ทั้งอะไร หลาย ๆ อย่าง แต่ว่าด้านงานก่อสร้างเข้าไปดูแล้วเห็นว่าน่าจะทำให้สวยได้ ตอนนั้น ท่านผู้ว่าฯ วิจิตร เห็นว่าถ้าเราใช้เวลาในระหว่างที่เราแลกเปลี่ยนมันเป็นเรื่องที่ต้องทำไปตามกฎหมาย เราเข้ามาทำตรงนี้น่าจะได้ในรายละเอียดของการซ่อม อยากจะให้ทางทีมของคุณมนตรี เล่าให้ฟังสมัยที่ส่วนงานช่างเข้าไปสำรวจตั้งแต่ฐานรากของอาคาร มีงานในเรื่องที่เรามองไม่เห็นอยู่ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายกว่าที่จะมาเป็นเรือนนี้ได้ เดิมทีเดียวเรือนแพไม่แข็งแรงและมีระดับที่ค่อนข้างต่ำ ถ้าเราไม่ทำตรงนั้น เวลาที่น้ำท่วมเรือนนี้จะใช้ไม่ได้เลย


คุณมนตรี เราตั้งเป็น Project แบ่งงานเป็น 3 ช่วง คือ การซ่อมแซมฐานราก เราได้สำรวจดูฐานรากเดิมทรุดโทรม มีน้ำกัดเซาะ จึงคิดว่าควรทำ Project ที่ 1 ซ่อมฐานราก และยกระดับอาคารขึ้นมาให้พ้นน้ำ เราเรียกว่าวิธีแซมเข็ม โดยใช้เข็มเหล็กตอกแซมลงไป แล้วยกตัวอาคารขึ้นมา เราแซมเข็ม เปลี่ยนฐานรากแล้วทำตอม่อขึ้นใหม่ หล่อแทนเสาเข็มเดิมทุกอย่าง ทำคานรับพื้นใหม่ตามตำแหน่งฐานรากเดิม จนฐานเราแข็งแรง เพื่อให้พ้นน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ต่อมาก็เป็น Project ที่ 2 ซ่อมตัวอาคาร คือตัวอาคารเดิมโย้และชำรุดเพราะน้ำเซาะ เราจะยกขึ้นมา ใช้วิธีดีดยกขึ้นมา 1.20 เมตร ซ่อมให้เหมือนเดิมทุกอย่าง ถึงเวลาน้ำหลาก พอเรือด่วนมาน้ำจะกระฉอกเข้าพื้น เราป้องกันน้ำเพื่อไม่ให้เข้าตัวอาคารโดยวิธีเปลี่ยนพื้นไม่ใช้พื้นไม้ แต่เปลี่ยนพื้นเป็นคอนกรีต ทำระบบกันซึมกันอีกชั้นหนึ่ง แล้วค่อยมาปูพื้นไม้โดยใช้ไม้เดิม ที่เห็นเป็นพื้นไม้นี้เรามาปูทับอีกชั้น มีการซ่อมแซมผนังที่เอียงให้อยู่ในระนาบที่ถูกต้องและแข็งแรง โครงหลังคาเราซ่อมใหม่ให้แข็งแรง หลังคาที่กระทรวงซ่อมไว้นั้นเป็นลอนคู่ก็เปลี่ยนกลับเป็นกระเบื้องว่าว ซ่อมลวดลายฉลุไม้ (บริเวณช่องแสงเหนือประตู-หน้าต่าง) คือ เราได้รับนโยบายมาว่า ให้ทำเป็นห้องประชุมและเลี้ยงรับรอง แต่เดิมห้องภายในมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นห้องริมสุดที่เราจะต้องขยาย เราจึงตัดเสากลางออกเพื่อทำให้ห้องนั้นเป็นห้องกว้าง ที่เห็นกันตอนนี้เป็นห้องย่อย 3 ห้องนั้น ที่จริงของเดิมมี 4 ห้อง มาตัดทำเป็นห้องประชุมแทนส่วนอื่นเราก็รักษาสภาพปรับปรุง ให้มี Pantry สำหรับเลี้ยง ส่วนใน Project ที่ 3 เป็นเรื่องงานตกแต่ง ตอนที่ทำก็ดูแลตกแต่งผนัง ตกแต่งฝ้า ดูสีสัน ฝ้ามาจากพระที่นั่งอภิเษกดุสิต แล้วก็ใส่ระบบปรับอากาศเข้าไป ตรงตัวมุข ตัวปราสาทข้างหน้าและพวกเกล็ดบังแดด คุณบุญเลิศ ได้ design เพิ่มเข้าไป ถ้าดูจากรูปสมัยเดิมจะเห็นว่าไม่มี จะเป็นเพียงแผง เข้าใจว่าพวกกระทรวงเขาทำเพิ่มขึ้นมา พวกคันทวย พวกนี้เราก็ออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งนั้น บันไดขึ้นก็ทำขึ้นมาใหม่ด้วย ตอนขุดทำตรงนี้เจอเสาหินโบราณด้วย ถ้าดูตามประวัติแล้วในนี้เคยมีศาลเจ้าจีน 

คุณบุญเลิศ เข้าใจว่าเรียกว่าอับเฉาเรือ สมัยก่อนที่มากับเรือเป็นแท่งหินมีรูปแจกันสลักเสลาสวยเลยเป็นดอกไม้จีน หัวเสา เป็นลูกท้อ มาถึงตรงงานตกแต่งเราก็มี คุณกาบเงิน สมวัธน์ มัณฑนากรของเราและทีมงานทั้งหมดมาช่วยกันตกแต่ง มาเลือกม่าน เฟอร์นิเจอร์ ไฟและดวงโคม ในตอนแรกดวงโคมไม่มีเลย ทางสำนักพระราชวังมาช่วยสำรวจหาแหล่งให้

คุณสุวรรณี โคมในนี้จะต่างกับที่ตอนซ่อมแซมวังบางขุนพรหม คือ ในวังบางขุนพรหมเราจะดูของเก่าแล้วไปทำขึ้นมาใหม่ แต่ที่นี่คือชิ้นส่วนเก่าทั้งหมด เอามาจากที่โน่นดวง ที่นั่นดวงมาผสมกลมกลืนกันโดยเฉพาะตัวแก้ว ด้วยถือเป็นของเก่า ถ้า สังเกตตัวแก้วเป็นสี อย่างที่วังบางขุนพรหมทำได้แค่แก้วใส และแก้วขุ่น แต่ที่นี่เป็นแก้วสีเขียว สีชมพู สีฟ้า ไปตามซื้อมาจนครบทุกสี ตรงนี้ที่น่าภูมิใจคือ การซ่อมแซมเรือนแพนั้น ส่วนงานช่างได้ทำกันเองทั้งหมด ไม่ได้จ้างในเรื่องของการออกแบบหรือการดูแลระบบอะไรก็ออกแบบเอง ระบบปรับอากาศฝ่ายวิศวกรรมก็คิดเอง คือเรียกว่างานตรงนี้เบ็ดเสร็จด้วยคนของแบงก์

 

เรือนแพ บูรณะเสร็จในสมัยท่านผู้ว่าฯ (คุณเริงชัย) ได้เปิดใช้งานครั้งแรก งานอะไร และใช้ประโยชน์เป็นเรือนต้อนรับราชอาคันตุกะ ในงานใดอีกบ้าง

คุณชลิต ใช้งานแรกคือ ต้อนรับราชอาคันตุกะ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป พระสวามี เสด็จทอดพระเนตรขบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539

คุณขนิษฐา หลังจากนั้น ธปท. ได้ใช้อาคารเรือนแพเป็นที่ถวายการต้อนรับและต้อนรับราชอาคันตุกะ ในโอกาสสำคัญ ๆ อีก 3 ครั้งคือ

ฯพณฯ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายเจียง เจ๋อ หมิน และภริยา เพื่อชมกระบวนพยุหยาตรา ชลมารค (เมื่อ 3 กันยายน 2542)สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย เสด็จพระราชดำเนินชมเรือนแพ และเพื่อลงเรือพระที่นั่ง (เมื่อ 28 มีนาคม 2543)สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงนำสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จ พระราชดำเนินทอดพระเนตรเรือนแพ และเพื่อลงเรือพระที่นั่ง (เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2544)


พนักงาน ธปท. ควรจะมีส่วนช่วยอนุรักษ์อาคารเรือนแพ อย่างไรบ้าง

คุณอรุณศรี เรือนแพ เป็นเรือนที่เราได้ร่วมกันบูรณะอย่างดี จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลป์ สถาปัตยกรรมดีเด่น จึงอยากให้อยู่ไปได้อีกนาน ๆ การใช้งานถ้าใช้กันมากจนเกินไปจะทำให้สิ่งที่ประกอบกันอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องสุขภัณฑ์หรือเครื่องต่าง ๆ อาจจะชำรุดทรุดโทรมไปได้มาก เพราะว่าในแต่ละครั้งที่มีแขกมา เขาก็ต้องมีการดูบริเวณโดยรอบ ดูภายใน การดูแลรักษาก็ค่อนข้างจะสำคัญ ต้องดูแลให้สะอาดน่าใช้ และมีคุณค่าสมกับเป็นสิ่งที่เราได้อนุรักษ์ไว้ ดังนั้น ตามปกติจะไม่เปิดให้พนักงานได้เข้าไปใช้งานมากนัก เนื่องจากเป็นอาคารที่บอบบาง และมีข้อจำกัดในเรื่องการรับน้ำหนักได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะใช้ในการรับแขกระดับสูงระดับประเทศ หรือแขกของท่านผู้ว่าการ และท่านรองผู้ว่าการเป็นหลัก การที่ไม่เปิดทั่วไปให้หน่วยงานอื่น ๆ มาใช้ในการจัดงานรื่นเริง เนื่องจากมองว่าเราเคยใช้รับรองอาคันตุกะระดับสูง ก็จะคงสงวนไว้ใช้ในงานที่สำคัญ ๆ จะเหมาะกว่า นอกจากนี้การต่อเติมหรือกั้นห้อง และการเดินสายไฟ ต้องไม่ทำให้คุณค่าของความงามด้อยลง ไป 

ก่อนที่จะจบการสัมภาษณ์ คุณชลิต อัคนิทัต ยังได้ฝาก ข้อคิดมายังท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการใช้เรือนแพ ว่า ....

"อยากให้ใช้งานกันอย่างระมัดระวัง และอย่าไปเสริมสร้าง อะไรให้แปลกไปจากเดิม เพราะว่าเรือนแพนี้ จะต้องอยู่ต่อไปในอนาคต เป็นสมบัติของชาติ"

อ่านบทความจากต้นฉบับ : ช่างภาพ. (2545, กรกฎาคม - สิงหาคม). อาคารอนุรักษ์ดีเด่น เรือนแพ วังเทวะเวสม์, วารสารพระสยาม. 25 (4), 19-21


ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้