8 ทศวรรษแบงก์ชาติกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในบทเพลง
ในวาระครบรอบ 80 ปี ของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ หอจดหมายเหตุแบงก์ชาติ ได้ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 8 ทศวรรษดังกล่าว ด้วยการจัดแสดงดนตรีและบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในบรรยากาศสบาย ๆ ยามเย็นของวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ณ ลานหน้าตึกศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ ในชื่องาน "ดนตรีหน้าตึก...ตึ่ก ตึ่ก ตึ่ก ตึ่ก"
บทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตที่นำมาแสดง เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคมระหว่างปี 2485 ซึ่งเป็นปีก่อตั้ง ธปท. มาจนถึงปี 2565 รวม 10 บทเพลง ซึ่งได้มาจากการศึกษาและคัดเลือกของ ดร.สัจภูมิ ละออ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพลงลูกทุ่ง และการให้ความเห็นและคำแนะนำในแง่มุมด้านเศรษฐกิจของ ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วงดนตรีที่บรรเลงในการแสดง "ดนตรีหน้าตึก...ตึ่ก ตึ่ก ตึ่ก ตึ่ก" คือ วง PGVIM Brass Ensemble ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา มี ผศ.ดร.อโณทัย นิติพน รองอธิการบดีของสถาบันฯ เป็นผู้อำนวยการแสดง และ ดร.คมสัน ดิลกคุณานันท์ คณบดีสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ของสถาบันฯ เป็นผู้ควบคุมวง สำหรับนักร้องผู้ขับร้องบทเพลงประกอบด้วย นักร้องของวงดนตรี นักร้องสมัครเล่นที่เป็นพนักงานและอดีตพนักงานของแบงก์ชาติ ร่วมด้วยนักเรียนจากโรงเรียนวัดสังเวชและโรงเรียนวัดอินทรวิหาร ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชนใกล้แบงก์ชาติ และพิธีกรของงานคือ ดร.วัชรกูร จิวากานนท์ จากแบงก์ชาติ ซึ่งดำเนินรายการและนำเข้าสู่การแสดงดนตรีและบทเพลงในแต่ละช่วง พร้อมทั้งเล่าถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในช่วงนั้น ๆ ได้อย่างสนุกสนาน
การแสดงดนตรี ได้จัดแบ่งเพลงตามยุคสมัยในช่วงเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมาของแบงก์ชาติ โดยเลือกเพลงที่เป็นตัวแทนของแต่ละทศวรรษมาจัดแสดง ดังนี้
เพลง : บ้านไร่นาเรา
คำร้อง : ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
ทำนอง : พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
เนื้อเพลงกล่าวถึงชีวิตคนไทยในสังคมกสิกรรม สะท้อนภาพชาวนาชาวไร่ที่ออกทำงานในไร่นาแต่เช้าตรู่ แฝงด้วยการให้กำลังใจชาวไร่ชาวนาในยุคสมัยนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการฉายภาพที่สวยงามของธรรมชาติ เพื่อให้เห็นว่าแม้ชาวไร่ชาวนาจะทำงานหนักอย่างไร ก็ยังเป็นการทำงานที่มีความสุขกับธรรมชาติที่สวยงาม
เพลง : กลิ่นโคลนสาบควาย
คำร้อง : ไพบูลย์ บุตรขัน
ทำนอง : ไพบูลย์ บุตรขัน
ทศวรรษนี้ ยังเป็นยุคสมัยที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงนำบทเพลงสะท้อนภาพชีวิตชาวนามาเป็นตัวแทนของทศวรรษ เนื้อหาเพลงเสมือนตัวแทนคำพูดของชาวนา บอกเล่าเรื่องราวของตนเองทั้งชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึก ฉายภาพชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิมที่ใช้ควายไถนา ใช้เคียวเกี่ยวข้าว บอกเล่าถึงความอดทนของชาวนาและความรู้สึกที่ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของชาวนา
รับฟังบทเพลง : กลิ่มโคลนสาบควาย
เพลง : ผู้ใหญ่ลี
คำร้อง : พิพัฒน์ บริบูรณ์
ทำนอง : ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
ได้นำเพลงผู้ใหญ่ลีมาเป็นตัวแทนของเพลงในทศวรรษนี้ เนื่องจากเป็นเพลงที่บันทึกเสียงลงแผ่น
ในปี 2507 ซึ่งอยู่ในช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) ใหม่ ๆ และเกิดปัญหาด้านการสื่อสารนโยบายระหว่างภาครัฐกับประชาชน ผู้นำท้องถิ่นส่วนหนึ่งไม่สามารถสื่อสารให้ชาวบ้านรู้และเข้าใจนโยบาย เพราะใช้ภาษาของทางการในการสื่อสาร ไม่ได้ใช้ภาษาที่ชาวบ้านคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ประกอบกับผู้นำท้องถิ่นเองบางส่วนก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของถ้อยคำในนโยบายของภาครัฐด้วย จึงเกิดเพลงนี้ขึ้นมาล้อเลียนปัญหาการสื่อสารดังกล่าว
เพลง : น้ำมันแพง
คำร้อง : สรวง สันติ
ทำนอง : สรวง สันติ
ในทศวรรษนี้ เศรษฐกิจและสังคมไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมันแพง โดยมีต้นเหตุมาจากสงครามระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอลในปี 2516 และการขึ้นราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปกในระยะต่อมา เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยคือทำให้ค่าไฟฟ้าและค่าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น จนรัฐบาลต้องขึ้นค่าแรงเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ รวมทั้งบางช่วงเวลาเกิดปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ เนื้อหาเพลงนี้กล่าวถึงประชาชนในชนบทห่างไกล ที่แม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยตะเกียงให้แสงสว่าง แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง เพราะน้ำมันที่ใช้จุดตะเกียงก็มีราคาแพงถึงขั้นขาดแคลนเหมือนกัน สะท้อนทั้งภาพความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤติราคาน้ำมันในครั้งนั้น และปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชาวบ้านในชนบท
เพลง : คึกฤทธิ์คิดลึก (คึกลิด คิดลึก)
คำร้อง : สงเคราะห์ สมัตถภาพงษ์
ทำนอง : สงเคราะห์ สมัตถภาพงษ์
ในทศวรรษที่ 4 นี้ มีนโยบายด้านการคลังของรัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นที่จดจำของประชาชนและรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อนโยบาย "เงินผัน" รัฐบาลได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินเพื่อพัฒนาชนบท ให้ทุกตำบลจัดทำโครงการพัฒนาท้องถิ่นของตนและมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นโครงการที่ใช้แรงงานคนในท้องถิ่น ทำให้เกิดโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ขึ้นมาในชนบททั่วประเทศไทย ดังที่มีการกล่าวถึงในเพลงคึกฤทธิ์คิดลึก หรือ คึกลิด คิดลึก
เพลง : เมดอินไทยแลนด์
คำร้อง : ยืนยง โอภากุล วงคาราบาว
ทำนอง : ยืนยง โอภากุล วงคาราบาว
บทเพลงนี้สะท้อนค่านิยมของคนไทยในยุคสมัยนั้น ที่นิยมสินค้าจากต่างประเทศจนทำให้มีคนที่หวังผลประโยชน์นำสินค้าไทยมาขายในราคาที่สูงขึ้นโดยแอบอ้างว่าเป็นของที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประเด็นนี้รัฐบาลไทยยุคนั้นก็ตระหนักดี จนมีโครงการรณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทยและร่วมใจส่งออก และผู้ประพันธ์เพลงนี้ได้ประพันธ์เพลงนี้ขึ้นก็เพื่อร่วมเชิญชวนให้คนไทยหันกลับมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศของตนเอง
เพลง : เศรษฐกิจหารสอง
คำร้อง : ไม่พบข้อมูล
ทำนอง : ไม่พบข้อมูล
ในทศวรรษนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ในปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า "วิกฤติต้มยำกุ้ง" วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทยและส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในเอเชีย สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ทางการต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท มีการปิดกิจการสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมทั้งบริษัทเอกชนจำนวนมากต้องล้มละลายเนื่องจากปัญหาหนี้สิน ทำให้พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ใช้แรงงานของธุรกิจเหล่านั้นต้องตกงาน และเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นลูกโซ่ ผู้ประพันธ์เพลงได้หยิบสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในช่วงนั้นมาสะท้อนในบทเพลงนี้ เนื้อเพลงกล่าวถึง ชายหนุ่มผู้หนึ่งถูกให้ออกจากงานเนื่องจากบริษัทที่ทำงานได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และเมื่อตกงานก็ต้องพบปัญหาในการดำรงชีพต่าง ๆ มากมาย
เพลง : โอท็อป
คำร้อง : ยืนยง โอภากุล วงคาราบาว
ทำนอง : ยืนยง โอภากุล วงคาราบาว
ทศวรรษนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ท้องถิ่น "พึ่งพาตนเอง" และผลิตสินค้าโดยวัสดุและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้สานรับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลได้ผุดนโยบาย สินค้า "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือที่เรียกกันติดปากว่า สินค้าโอทอป (OTOP) ขึ้นมา ให้แต่ละตำบลผลิตสินค้าขึ้นมาโดยใช้ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของคนในท้องถิ่น ร่วมด้วยการจัดการและคำแนะนำจากของหน่วยงานรัฐ เพื่อนำสินค้าดังกล่าวออกจำหน่ายทั้งในประเทศและตลาดโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย
เพลง : อะเมซซิ่งไทยแลนด์
คำร้อง : อภิชาต ดำดี
ทำนอง : ชินกร ไกรลาศ
ในทศวรรษที่ 7 นี้ รัฐบาลมีโครงการรณรงค์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ในปี 2540 โดยเฉพาะการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทย เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เนื้อเพลงนี้เป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนภาคต่าง ๆ ของไทย ซึ่งแต่ละภาคต่างก็มีเอกลักษณ์ด้านสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยผู้ประพันธ์เพลงนี้ได้นำชื่อโครงการรณรงค์การท่องเที่ยวของรัฐบาลมาใช้เป็นชื่อเพลง
รับฟังบทเพลง : อะเมซซิ่งไทยแลนด์
เพลง : โควิดซาสิมากอดเด้อ
คำร้อง : สลา คุณวุฒิ
ทำนอง : สลา คุณวุฒิ
ในปลายทศวรรษนี้ เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานทั่วโลก ในประเทศไทยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงทั้งในกรุงเทพมหานครและทั่วราชอาณาจักร ลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนทั้งประเทศ และในวงการเพลงได้มีผู้ประพันธ์เพลงปลอบใจผู้คนในสังคมขึ้นมาหลายเพลง รวมทั้งเพลงนี้ที่สะท้อนภาพสถานการณ์ได้ดีมากเพลงหนึ่ง
(อ่านเพิ่มเติม : สัจจภูมิ ละออ. (2565). เพลงสะท้อนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม.
https://services.botlc.or.th/BOTLCPublishFile/เพลงสะท้อนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม.pdf