ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

การจัดตั้งและการดำเนินงานในช่วงแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีสมาชิกที่สำคัญ คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ไทยภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ลงนามในกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นในทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ทำให้ไทยต้องตัดขาดออกจากประเทศที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรและติดต่อเฉพาะญี่ปุ่นและประเทศในที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่เท่านั้น ในด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาพันธไมตรี ไทยจึงอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ญี่ปุ่น โดยได้รับข้อเสนอจากทางญี่ปุ่น 3 ประการ คือ 1. การกำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน 2. ให้ชำระเงินระหว่างประเทศทั้งสองด้วยเงินเยน และ 3. ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ เป็นชาวญี่ปุ่น ข้อเสนอสองข้อแรกไทยไม่มีทางเลือกจึงต้องจำยอม ส่วนข้อสามนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมระบบการเงินในประเทศทั้งหมด ด้วยสภาวการณ์ดังกล่าวเป็นตัวเร่งรัดให้รัฐบาลไทยเร่งจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น โดยทางการไทยได้แจ้งญี่ปุ่นไปว่าได้เตรียมการที่จะจัดตั้งอยู่แล้ว และม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ทรงได้รับมอบหมายให้ร่างกฎหมายขึ้นจนเสร็จภายในสองเดือน นับแต่ฉบับร่างที่ส่งถึง พล. ต. เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น โดยบันทึกที่ 76/2485 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2485 เมื่อรัฐมนตรีฯ เห็นชอบแล้วจึงทรงร่าง พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ขึ้น (ดูเพิ่มเติมในเอกสารเลขที่ DAC002-000-001 เรื่อง ที่มาของการจัดตั้งธนาคารกลาง) โดยเป็นกฎหมายหลักที่ให้อำนาจรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งธนาคารกลาง ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ให้นำไปบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาในภายหลัง เมื่อมีการออก พ.ร.บ. เป็นหลักฐานแล้ว คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้เดินทางไปเจรจากับกับญี่ปุ่นในเดือน เมษายน 2485 ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้ทรงเจรจากับญี่ปุ่นจนสำเร็จจนสามารถป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจควบคุมระบบเงินตราและเครดิตของไทย ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับอำนาจในการประกอบกิจอันพึงเป็นของธนาคารกลาง คือ เป็นนายธนาคารของรัฐบาล และธนาคารพาณิชย์ ดูทุนสำรองเงินตรา และมีเอกสิทธิ์ในการออกธนบัตร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพันธกิจในเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินไม่ได้ถูกกล่าวถึง แต่เจตนารมณ์ในการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นปรากฏอยู่ในบันทึกร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกของ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-002 เรื่อง หลักการและเหตุผลการร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธสักราช 2485) ส่วนพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งกำหนดรายละเอียดหน้าที่และธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีการออกประกาศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2485 นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวยังมีคำสั่งการแบ่งส่วนงาน และระเบียบวิธีการปฏิบัติงานในธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก คือ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-005 เรื่อง คำสั่งการแบ่งส่วนงาน และระเบียบวิธีปฏิบัติการในธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยคำสั่งนี้ได้พิจารณาจากจดหมาย ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2485 เรื่อง การแบ่งส่วนงาน ธปท. Organization of the Bank of Thailand ที่มีแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการแบ่งส่วนงานของธปท. (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-006 เรื่อง การแบ่งส่วนงาน ธปท. Organization of the Bank of Thailand) ในวันรุ่งขึ้นคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องประชุมสำนักงานธนาคารชาติไทย ในพระบรมมหาราชวัง และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 มีพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีการทำกุญแจทองคำสำหรับมอบให้นายกรับมนตรีไขเปิดประตูขึ้นด้วย (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-004 เรื่อง การทำลูกกุญแจทองคำ) และเริ่มปฏิบัติงานในวันถัดไป (วันธรรมดา เวลา 9.00 – 19.00 น. และในวันเสาร์ เวลา 9.00 – 12.00 น.) วันที่ 12 ธันวาคม 2485 ได้มีจดหมายเรื่อง การขอมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบธุรกิจบางประเภท เพื่อถ่ายโอนบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ มาให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-008 เรื่อง การมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบธุระกิจบางประเภท) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีพนักงานทั้งหมดเป็นคนไทย และเปิดทำการที่ตึกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ซึ่งปิดกิจการลงเนื่องจากเป็นกิจการของอังกฤษประเทศคู่สงครามของญี่ปุ่น เนื่องจากที่ทำการเดิมของสำนักงานธนาคารชาตินั้นคับแคบไม่สามารถประกอบกิจการของธนาคารกลางได้ (ดูเพิ่มเติมในเอกสารเลขที่ DAC002-000-003 เรื่อง หนังสือสัญญาเช่าช่วงกัมสิทธิ์ที่ดินและตึกธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ จำกัด) ในระหว่างนี้ ได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การออกพระราชกฤษฎีกามอบกิจการกรมคลังบางส่วนให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-009 เรื่อง พระราชกริสดีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย) การแบ่งส่วนงานและตั้งตำแหน่งพนักงาน (ดูเพิ่มเติมในเอกสารเลขที่ DAC002-000-012 บันทึกเรื่อง การแบ่งส่วนงานและตั้งตำแหน่งพนักงานปี 2486) การออกพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2487 (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-013 เรื่อง พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พุทธสักราช 2487) การจัดทำงบดุลย์และบัญชีกำไรขาดทุน ของฝ่ายการธนาคาร (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-014 เรื่อง งบดุลย์และบัญชีกำไรขาดทุน ของฝ่ายการธนาคาร) การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ ผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 2485 – 2489 (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-010 เรื่อง การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ ผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย) ฯลฯ กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่วังบางขุนพรหมเป็นการชั่วคราว และในวันที่ 7 มิถุนายน 2504 ธนาคารแห่งประเทศไทยทำความตกลงกับกระทรวงการคลังซื้อบ้านมนังคศิลาแลกเปลี่ยนกับกรรมสิทธิ์ที่ดินวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีสำนักงานอยู่ที่นี้ถาวรสืบมา การปฏิบัติงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงแรกเป็นไปตามบริบทของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้กิจการเกี่ยวกับการออกธนบัตรและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-007 เรื่อง วิธีดำเนินการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน) ซึ่งจะกล่าวถึงอย่าละเอียดในบทต่อไป ภายหลังสิ้นสุดสงคราม โดยญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ไทยได้เผชิญกับภาระทางเศรษฐกิจแบบใหม่แทน คือ ภาระการเลี้ยงดูและร่วมมือกับทหารสหประชาชาติที่จะมาประจำการอยู่ในประเทศไทยเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น นอกจากนั้น ยังมีภาระชดใช้ค่าเสียหายทดแทน การส่งข้าวให้สหราชอาณาจักร และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม ความต้องการใช้ธนบัตรยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป มีการประกาศออกขายพันธบัตรทองคำทางวิทยุเพื่อให้รัฐบาลมีเงินทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (ดูคำประกาศฉบับเต็มในเอกสารเลขที่ DAC002-000-011 เรื่อง การออกพันธบัตรทองคำ) การประกาศเรื่องการขายทองคำในกรุงเทพฯ ปี 2489 (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-017 เรื่อง การขายทองคำในกรุงเทพฯ) การออกพระราชบัญญัติควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-015 เรื่อง พระราชบัญญัติควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน) การเข้าเป็นสมาชิกแห่ง International Monetary Fund และ International Bank For Reconstruction and Development ที่ Bretton Woods (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-018 เรื่อง ที่มาการเข้าเป็นสมาชิกแห่ง International Monetary Fund และ International Bank For Reconstruction and Development ที่ Bretton Woods) และกิจการที่สำคัญอีกอย่าง คือ การดำเนินนโยบายควบคุมการปริวรรตเงินตรา (ตามเอกสารเลขที่ DAC002-000-016 เรื่อง การควบคุมปริวรรต) ซึ่งจะนำไปสู่การสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศ จนในที่สุดได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ไทม์ไลน์ • ไทยร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นผู้มีบทบาทนำในทวีปเอเชีย • ตามสัญญากับญี่ปุ่นไทยต้องร่วมมือและให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งมีสัญญาข้อหนึ่งต้องการให้ไทยจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นโดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมดูแล • ทางการไทยจึงต้องเร่งร่าง พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อแสดงเจตจำนงว่าทางไทยกำลังจัดตั้งอยู่แล้ว และนำไปเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมระบบการเงินและเครดิตของประเทศ o DAC002-000-001 เรื่อง ที่มาของการจัดตั้งธนาคารกลาง o DAC002-000-002 เรื่อง หลักการและเหตุผลการร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธสักราช 2485 • พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ประกาศใช้ o DAC002-000-005 เรื่อง คำสั่งการแบ่งส่วนงาน และระเบียบวิธีปฏิบัติการในธนาคารแห่งประเทศไทย o DAC002-000-006 เรื่อง การแบ่งส่วนงาน ธปท. Organization of the Bank of Thailand • วันที่ 10 ธันวาคม 2485 มีพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีการทำกุญแจทองคำสำหรับมอบให้นายกรับมนตรีไขเปิดประตูขึ้นด้วย ที่ตึกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ o DAC002-000-004 เรื่อง การทำลูกกุญแจทองคำ o DAC002-000-003 เรื่อง หนังสือสัญญาเช่าช่วงกัมสิทธิ์ที่ดินและตึกธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ จำกัด o DAC002-000-008 เรื่อง การมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบธุระกิจบางประเภท • กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่วังบางขุนพรหมเป็นการชั่วคราว และถาวรในเวลาต่อมา • การดำเนินงานของธปท. ในช่วงสงครามและหลังสงคราม o DAC002-000-009 เรื่อง พระราชกริสดีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย o DAC002-000-012 บันทึกเรื่อง การแบ่งส่วนงานและตั้งตำแหน่งพนักงานปี 2486 o DAC002-000-013 เรื่อง พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พุทธสักราช 2487 o DAC002-000-014 เรื่อง งบดุลย์และบัญชีกำไรขาดทุน ของฝ่ายการธนาคาร o DAC002-000-010 เรื่อง การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ ผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย o DAC002-000-007 เรื่อง วิธีดำเนินการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน o DAC002-000-011 เรื่อง การออกพันธบัตรทองคำ o DAC002-000-017 เรื่อง การขายทองคำในกรุงเทพฯ o DAC002-000-015 เรื่อง พระราชบัญญัติควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน o DAC002-000-018 เรื่อง ที่มาการเข้าเป็นสมาชิกแห่ง International Monetary Fund และ International Bank For Reconstruction and Development ที่ Bretton Woods o DAC002-000-016 เรื่อง การควบคุมปริวรรต

เลขชุดเอกสาร
DAC002
ชื่อชุดเอกสาร
การจัดตั้งและการดำเนินงานในช่วงแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1942 1946
จำนวนแผ่นเอกสาร
1
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้