ชุดเอกสารจดหมายเหตุ

วิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงินและการแก้ปัญหาหนี้เสีย ในช่วงปี 2537 - 2540

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2540 นั้น เปรียบได้กับวิกฤตศรัทธาต่อความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงิน ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการฝากเงินกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินไม่ให้กู้ยืมระหว่างกัน ดังนั้น เพื่อแก้ไขวิกฤตความเชื่อมั่น ทางการไทยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้รัฐบาลประกันเงินฝากเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติหลักเกณฑ์การประกันเงินฝาก โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 กล่าวคือ รัฐบาลประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นเงินบาท เฉพาะสถาบันการเงินที่มิได้ถูกระงับการดำเนินกิจการหรือถูกควบคุมก่อนกฎหมายนี้บังคับใช้ (DAC020-000-001 สถานการณ์และสภาพปัญหาในช่วงวิกฤต) เมื่อบริษัทเงินทุนจำนวน 58 แห่งถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว บริษัทเงินทุนเหล่านี้ต้องจัดทำและเสนอแผนฟื้นฟูเพื่อแก้ไขฐานะการดำเนินงาน ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูฯ ต้องมีการกำหนดวิธีแก้ไขฐานะการดำเนินงานโดยชัดเจน เช่น การจัดหาผู้ร่วมทุน การควบรวมหรือโอนกิจการ ภายในเวลาและขั้นตอนที่ระบุไว้ และเสนอให้แก่คณะกรรมการเฉพาะกิจที่ถูกตั้งโดยกระทรวงการคลังที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการกำกับการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงิน” (คคส.) คณะกรรมการนี้ทำหน้าที่พิจารณาแผนฟื้นฟูฯ และวางกระบวนการการฟื้นฟูสถาบันการเงินเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเฉพาะกิจนี้มีอำนาจเพียงชั่วคราวและสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ตามโปรแกรมการช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในส่วนของการฟื้นฟูสถาบันการเงินตามแผนฟื้นฟูภาคการเงิน (วันที่ 14 ตุลาคม 2540) มีการเสนอให้แยกสถาบันการเงินที่อ่อนแอออกจากระบบและเร่งดำเนินมาตรการเพื่อจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนที่ถูกปิดกิจการ กองทุนการเงินฯ ได้นำรูปแบบการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (Saving & Loans) ที่ถูกปิดกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ และแนะนำให้รัฐบาลไทยจัดตั้ง Financial Restructuring Authority (FRA) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและทำหน้าที่ประมูลขายสินทรัพย์ของบริษัทที่ถูกปิดกิจการ เพราะหากทิ้งเวลาไว้นานไป สินทรัพย์จะยิ่งเสื่อมราคาลง และจัดตั้ง Asset Management Company (AMC) ให้เข้ามาแข่งขันซื้อลูกหนี้จาก FRA เพื่อไม่ให้ถูกกดราคามากเกินไป และมีหน้าที่ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ดังนั้น องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 และวันที่ 5 สิงหาคม 2540 โดยมีวัตถุประสงค์คือ การแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ การช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และการชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 บริษัทเงินทุน 56 แห่งถูกสั่งให้ปิดกิจการ และเริ่มกระบวนการในการจัดการสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อชำระบัญชี และนำไปชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ หลังจากนั้นในกระบวนการขั้นสุดท้ายจะจัดการให้สถาบันการเงินเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมาย (DAC020-000-002 ผลกระทบและมาตรการแก้ปัญหา) วิกฤตการณ์ในระบบสถาบันการเงินในช่วงนั้นเป็นผลพวงจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านโครงสร้างทางกฎหมายที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างล่าช้าและไม่ทันการณ์ รวมถึงปัญหาในระบบเศรษฐกิจการเงินและธุรกิจภาคเอกชนที่มีการดำเนินงานอย่างไม่ระมัดระวัง หลังจากที่ทางการเข้าระงับการดำเนินการและควบคุมกิจการธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่มีปัญหาทางฐานะทางการเงิน ธปท. ได้ดำเนินการเร่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติทั้งสองฉบับ ถึง 2 ครั้ง ในปี 2540 เพื่อเป็นการให้อำนาจทางการในการเข้าไปแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ทันท่วงที โดยมีสาระหลัก คือ ให้ทางการสามารถเข้าไปสั่งให้ลดทุน เพิ่มทุน และเปลี่ยนผู้บริหาร ได้ทันที หากเห็นว่าฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินใด ๆ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน รวมถึงสามารถลุกลามไปถึงธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนฯ อื่นได้ นอกจากนี้ ตามคำแนะนำของกองทุนการเงินฯ ทางการยังมีมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดชั้นสินเชื่อและการกันสำรองให้เข้มงวดขึ้น รวมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงินเร่งเพิ่มทุนให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในส่วนของสถาบันการเงินนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การนับยอดคงค้างสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานให้เข้มงวดมากกว่าเดิม และการกำหนดมูลค่าหลักประกัน ส่งผลให้สถาบันการเงินบางแห่งที่มีฐานะแย่อยู่แล้วยิ่งทรุดลงไปอีก แต่เมื่อทางการเห็นว่าสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาในการเพิ่มทุนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีมาตรการในการช่วยเหลือทางฐานะตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน หรือมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 (DAC020-000-003 การให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินตามโครงการ 14 สิงหาคม 2541 DAC020-000-004 แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน DAC020-000-005 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับสถาบันการเงินที่ประสงค์จะขอเข้ารับความช่วยเหลือ DAC020-000-006 โครงการโอนกิจการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) และธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) DAC020-000-007 โครงการโอนกิจการของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)) ไทม์ไลน์ วิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงินและการแก้ปัญหาหนี้เสีย ในช่วงปี 2537 – 2540 • ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2540 นั้น เปรียบได้กับวิกฤตศรัทธาต่อความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงิน ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการฝากเงินกับสถาบันการเงิน o DAC020-000-001 สถานการณ์และสภาพปัญหาในช่วงวิกฤต • 6 สิงหาคม 2540 รัฐบาลประกันเงินฝากเป็นการชั่วคราว o ประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นเงินบาท เฉพาะสถาบันการเงินที่มิได้ถูกระงับการดำเนินกิจการหรือถูกควบคุมก่อนกฎหมายนี้บังคับใช้ • บริษัทเงินทุนจำนวน 58 แห่งถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว บริษัทเงินทุนเหล่านี้ต้องจัดทำและเสนอแผนฟื้นฟูเพื่อแก้ไขฐานะการดำเนินงาน เสนอให้แก่คณะกรรมการเฉพาะกิจที่ถูกตั้งโดยกระทรวงการคลังที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการกำกับการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงิน” (คคส.) โดย คคส. จะสิ้นสุดอำนาจวันที่ 11 ตุลาคม 2540 • 14 ตุลาคม 2540 โปรแกรมการช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในส่วนของการฟื้นฟูสถาบันการเงินตามแผนฟื้นฟูภาคการเงิน แนะนำให้ o แยกสถาบันการเงินที่อ่อนแอออกจากระบบและเร่งดำเนินมาตรการเพื่อจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนที่ถูกปิดกิจการ โดยนำรูปแบบการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (Saving & Loans) ที่ถูกปิดกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ o แนะนำให้รัฐบาลไทยจัดตั้ง Financial Restructuring Authority (FRA) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและทำหน้าที่ประมูลขายสินทรัพย์ของบริษัทที่ถูกปิดกิจการ เพราะหากทิ้งเวลาไว้นานไป สินทรัพย์จะยิ่งเสื่อมราคาลง จัดตั้ง Asset Management Company (AMC) ให้เข้ามาแข่งขันซื้อลูกหนี้จาก FRA เพื่อไม่ให้ถูกกดราคามากเกินไป และมีหน้าที่ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ • 24 ตุลาคม 2540 จึงมีการจัดตั้ง องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อ o แก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ o ช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ o ชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ • 8 ธันวาคม 2540 บริษัทเงินทุน 56 แห่งถูกสั่งให้ปิดกิจการ o DAC020-000-002 ผลกระทบและมาตรการแก้ปัญหา • วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เป็นผลพวงจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้ง o ปัญหาทางด้านโครงสร้างทางกฎหมายที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างล่าช้าและไม่ทันการณ์ ปี 2540 ธปท. จึงได้ดำเนินการเร่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ เพื่อเป็นการให้อำนาจทางการในการเข้าไปแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ทันท่วงที พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน o ปัญหาในระบบเศรษฐกิจการเงินและธุรกิจภาคเอกชนที่มีการดำเนินงานอย่างไม่ระมัดระวัง ปี 2540 ทางการ จึงได้ออกมาตรการมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดชั้นสินเชื่อและการกันสำรองให้เข้มงวดขึ้น กำหนดให้สถาบันการเงินเร่งเพิ่มทุนให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับที่เหมาะสม • แต่การกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในส่วนของสถาบันการเงินนั้นส่งผลให้สถาบันการเงินบางแห่งที่มีฐานะแย่อยู่แล้วยิ่งทรุดลงไปอีก o รัฐบาลจึงได้มีมาตรการในการช่วยเหลือทางฐานะ ตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ทำให้มีอีกชื่อว่าโครงการ 14 สิงหาคม 2541 DAC020-000-003 การให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินตามโครงการ 14 สิงหาคม 2541 DAC020-000-004 แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน DAC020-000-005 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับสถาบันการเงินที่ประสงค์จะขอเข้ารับความช่วยเหลือ DAC020-000-006 โครงการโอนกิจการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) และธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) DAC020-000-007 โครงการโอนกิจการของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)

เลขชุดเอกสาร
DAC020
ชื่อชุดเอกสาร
วิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงินและการแก้ปัญหาหนี้เสีย ในช่วงปี 2537 - 2540
ช่วงปีของชุดเอกสาร
1994 1998
จำนวนแผ่นเอกสาร
3
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้