กิจกรรม

บันทึกBOOKTALK : หนังสือคิดมากไปหรือเปล่า?

วันที่จัดงาน
31 ส.ค. 2018
สถานที่จัดงาน
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

บันทึก BOOKTALK : หนังสือคิดมากไปหรือเปล่า?

สรุปเนื้อหากิจกรรม BOOKTALK บรรยายโดยคุณศรศวัส มลสุวรรณ (นามปากกา คิดมาก)
1 กันยายน 2561 ณ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

 

"คุณเชื่อในพลังความคิดหรือเปล่า?"

คุณศร - ศรศวัส มลสุวรรณ หรือ คุณ "คิดมาก" นักเขียนบนโลกออนไลน์ที่มีแฟนๆติดตามในทวิตเตอร์ @kidmakk กว่า 1.7 ล้านราย เจ้าของผลงานเขียน "คิดมากไปหรือเปล่า?" เปิดกิจกรรม Booktalk FES the series เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยการ "ชวนคิด" เรื่อง "พลังความคิด"

คุณศรบอกว่ามนุษย์เรา "คิด" อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาหลับที่ความคิดแปลงร่างมาเป็นความฝัน 

ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเบ่งบาน การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน คุณศรบอกว่า ความคิดนี่แหล่ะคือ AI ของเราทุกคน

และเจ้าความคิดนี้ล้วนมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากมายเหลือเกิน

 

ความทุกข์เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนที่เรื่องราวยังไม่เกิด และหลายครั้งความทุกข์ก็ยังคงอยู่แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะผ่านไปแล้ว

ขณะที่ความทุกข์เปรียบเหมือนกับท้องฟ้าตอนกลางคืน ในความมืดมิดนั้นเราก็สามารถมองเห็นดวงดาวดวงเล็กๆได้หากเราเลือกที่จะมอง

ดังนั้นการจัดการกับความรู้สึก ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราไม่อาจครอบครองทุกสิ่งได้

ต้องรู้ว่าใคร สิ่งไหน เมื่อไหร่ที่เราควรต้องปล่อยไป

เมื่อสุข – เศร้าคือธรรมดาของชีวิต และในหลายๆครั้งความเศร้านั้นจริงยิ่งกว่าความสุข

การเผชิญกับความเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ต้องพยายามพาตัวเองออกมา แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะทุกความเศร้าทำให้เกิดบทเรียน ทำให้เราตกตะกอน ฉะนั้น...เศร้าให้พอแล้วให้ชีวิตได้ไปต่อ

ไม่มีความเศร้าใดในโลกใบนี้ที่สูญเปล่า ขณะเดียวกันกับที่ ไม่มีความรู้สึกใดคงอยู่ไปตลอดกาล

ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า...และแล้วสิ่งนั้นก็จะผ่านไป 

 

คุณศรแชร์ประสบการณ์ชีวิตที่เริ่มขึ้นก่อนที่เขาจะลืมตาดูโลก

คุณแม่คุณศรตั้งครรภ์คุณศรตอนอายุ 38 ปี ขณะตั้งครรภ์คุณแม่มีอาการเจ็บป่วยทำให้คุณศรที่คลอดออกมามีปัญหาขาซ้ายอ่อนแรงมาตั้งแต่กำเนิด ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินมาจนทุกวันนี้

แต่ความไม่พร้อมของร่างกายก็ไม่ได้ทำให้เด็กชายศรศวัสในวันนั้นหยุดฝันที่จะเป็นนักกฏหมายและนักเขียน

จนวันนี้เขาได้ทำ ได้เป็นทุกอย่างที่ฝันไว้

"ถ้าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็จะเห็นแต่ปัญหาและอุปสรรค

ต้องขีดฆ่าคำว่า เป็นไปไม่ได้ ออกไปเพราะชีวิตเราอยู่ที่ตัวเรา"

 

สูตรนี้เชื่อมโยงกับกฏของแรงดึงดูด (Law of Attraction) ถ้าเราโฟกัสที่เรื่องไหน เราก็จะเห็นแต่เรื่องนั้นๆ

เช่นเดียวกัน ถ้าเรามองแต่เรื่องลบๆ เราก็จะเห็นแต่เรื่องลบอยู่รอบตัว

คุณศรเล่าถึงคำอวยพรจากผู้ใหญ่ที่เขารักและเคารพ เป็นพรปีใหม่ที่เตือนใจคุณศรว่า

"หากเจอความมืด ขอให้เธอสว่างออกไป... แต่ถ้าเจอความสว่าง ขอให้เธอสว่างออกไปให้มากกว่า"

เราเลือกไม่ได้ว่าจะเจอกับอะไร แต่เราเลือกที่จะมองและรับมือกับเรื่องนั้นๆได้

 


เครื่องหมายไปยาลใหญ่ "ฯลฯ" เมื่อต่อท้ายประโยคไหน เราจะเข้าใจได้ว่ายังมี"อื่นๆอีกมากมาย"นอกเหนือจากที่กล่าวไว้แล้ว

ซึ่งวลีที่ว่า "อื่นๆอีกมากมาย" นี้ ชวนให้เขานึกถึงนิตยสารดังในอดีตอย่างนิตยสาร "ไปยาลใหญ่" รวมถึงบทเพลง "อื่นๆอีกมากมาย" ของวงเฉลียงที่แต่งโดยคุณประภาส ชลศรานนท์

   ...อาจจะจริงเราเห็นอยู่ 

   เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น...

ยิ่งย้ำชัดว่า แต่ละเรื่องนั้นมีอะไรให้มองได้หลากหลายมุม เพราะยังมี "อื่นๆอีกมากมาย" ที่เรา "ยังไม่เห็น"

 

 

มีการแสดงมายากลครั้งหนึ่งที่คาดเดาความคิดของผู้ชมด้วยการประมวลข่าวในหนังสือพิมพ์ช่วงเวลานั้น รวมถึงกลสะกดจิตคนป่วยให้รู้สึกว่าอาการดีขึ้นได้ชั่วขณะ

เหล่านี้ล้วนเป็นผลของการใส่ชุดความคิดชุดหนึ่งเข้าไปสู่การรับรู้

ดังนั้นตัวตนของเรา เราจะเป็นอะไรอยู่ที่เรานิยามตัวเอง

หาก "นิติกร" นิยามตัวเองว่าเป็น "ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น" การทำงานจะละเมียดลไมและเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่มากขึ้น

จงนิยามตัวเอง ไม่ใช่ให้ใครเขียนให้

 

การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ อีกเคล็ดลับสำคัญคืออย่าหยุดทำ ทำต่อเนื่องและต้องไม่รอโอกาส

แล้วสิ่งที่ทำจะผลิดอกออกผลในที่สุด

 


คุณศรฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ทุกคน 'คิดแบบไปยาลใหญ่ ทำแบบไม้ยมก'

คือคิดให้รอบด้านแล้วลงมือทำซ้ำๆ สม่ำเสมอ

คิดรอบด้านคือคิดแบบเห็นทั้งด้านบวก-ลบ แล้วเลือกหยิบเอามุมบวกมาเป็นพลังในการเดินหน้าต่อ

ทำซ้ำๆ คือทำต่อเนื่อง ไม่ยอมแพ้หรือละทิ้งไประหว่างทาง

   เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันสุข – ทุกข์

   พร้อมกับเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่กันและกัน 

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้