กิจกรรม

บันทึก BOOKTALK: ONLINE CODE เกมภาษีไม่หนีรัก

วันที่จัดงาน
22 ก.พ. 2019
สถานที่จัดงาน
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

 

บันทึก BOOKTALK: ONLINE CODE เกมภาษีไม่หนีรัก

สรุปเนื้อหากิจกรรม BOOKTALK บรรยายโดย ถนอม เกตุเอม
23 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

          หนังสือ ONLINE CODE เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ใน Series ที่ชื่อว่า THE CODE คือ Money Code, Tax Code และ Online Code

          ผมเป็นนักเขียนเรื่องการเงิน เขียนลงเพจ Website หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ปัญหาของนักเขียนที่เขียนบทความทางการเงิน คือมีแต่เฉพาะคนที่สนใจทางการเงิน หรือคนที่สนใจเรื่องภาษีเท่านั้นมาอ่าน แต่จะไม่มีคนที่ไม่ได้อยู่ในวงโคจรภาษีมาอ่าน ก็จะมีคนฐานเดิม ๆ รู้สึกว่าไม่เติบโต และควรจะเติบโตแบบไหนให้ผลงานไปในทางอื่นบ้าง เพื่อนผมชื่อ หมอนัท เป็นเจ้าของเพจคลินิกกองทุน เป็นนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มาชวนเขียนนิยายการเงิน ผมไม่เคยเขียนนิยายมาก่อน แต่มีเพื่อนชื่อ ปองวุฒิ เป็นนักเขียนนิยายชั้นนำ ผลงานประมาณสักเกือบร้อยเล่ม ชวนมาคุยกัน มาออกนิยายกัน นั่งคุย Project กัน หาคนที่เขียนแล้วสร้าง Impact ให้กับวงการนิยาย หรือวงการการเงิน คิดถึงพี่หนุ่ม Money Code เราก็ชวนพี่หนุ่มทำเล่มแรก ชื่อ เกมชนะหนี้ เป็นเรื่องของพี่หนุ่มแก้ไขหนี้ 18 ล้าน ถ่ายทอดในรูปแบบนิยายและมีการเปลี่ยนเนื้อหา เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นนิยาย ไม่ได้เป็นชีวิตจริงทั้งหมด ส่วนใหญ่ 80% เป็นชีวิตของพี่หนุ่ม โดยมีปองวุฒิ มาช่วยถ่ายทอด ตามด้วย เล่มของผม  เรื่อง คน-ลัก-ชาติ ลักเป็น ล. ลิง แปลว่าลักขโมย เล่มนี้มาจากเรื่องจริง เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีที่ถูกโกงไปในประเทศนึงที่มีคดีโกง Vat สี่พันล้าน แต่ไม่ได้เอาเรื่องจริงของคดี แค่เอาเนื้อหาในส่วนนั้นมาทำนิยายและเขียนออกมา เล่มนี้ เป็นเหมือน Inspiration เหมือนหนังสือสอบสวน  

          หลังจากผมเขียนเล่ม คน-ลัก-ชาติ มี Feed back ว่าเครียด เพราะเป็นเรื่องสืบสวนสอบสวน ลุ้นระทึก รู้ถึงความอำมหิตของมนุษย์ เล่มที่ 3 นี้จึงเปลี่ยนแนวเป็นนิยายโรแมนติคคอมเมดี้

 

 

         เรื่องย่อ ONLINE CODE เกมภาษีไม่หนีรัก สรุปได้ 5 บรรทัด ไม่ใช่ชีวิตจริงใครนะครับ เป็นเรื่อง setup เรื่องคือ ตุ๋ย เป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ได้รับคำสั่งให้เก็บภาษีแม่ค้า online มีเพื่อนร่วมทีมชื่อ แพรว สองคนนี้ทำหน้าที่เก็บภาษีแม่ค้า online ได้มาเจอกับผู้หญิงที่เป็นแม่ค้า online เป็น Net Idol ระดับ Top ของประเทศ ชื่อ มิกิ  และเพื่อนชาย อารมณ์จะเป็นซีรีย์เกาหลี คือมีชายหญิง 2 คู่ ตอนวางแผนไว้ ตุ๋ย ไม่รู้ว่าการไล่เก็บภาษีครั้งนี้จะทำให้ชีวิตเค้าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง นี่คือ Plot ของเรื่อง 

 

          เรื่องนี้ตัวละครมี 2 ด้าน ด้านซ้ายคือฝั่งเก็บภาษี ด้านขวาคือฝั่งขายของ ต่อสู้กัน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นความรัก แน่นอนว่าความรักมันสลับข้างกัน ผมเปิดไว้ให้แค่นี้ เล่าหมดเดี๋ยวไม่สนุก ส่วนเนื้อหามันเป็นเรื่องความรักที่มีภาษีเป็นเส้นเรื่อง

          ทำไมถึงคิดจะเขียนเรื่องนี้ จุดประสงค์แรกคือ อยากสนุก จุดประสงค์ที่ 2 คือ อยากให้ความรู้เรื่องภาษี ผมไปพูดเรื่องภาษีหลายที่จะรู้สึกว่า ถ้าเค้าไม่ได้เสียภาษี หรือไม่เกี่ยวข้อง ก็จะทำหน้าลอย จึงพยายามหยิบเอาเรื่อง ที่คิดว่าสำคัญมีผลกระทบมาทำ คือเรื่องภาษี การเงิน ธุรกิจ และใส่เรื่องจิตใจกับชีวิต ทั้งตลก เศร้า ปนหมดทุกเรื่อง คือจุดประสงค์ทั้งหมด ก็เลยมาเป็นหนังสือเล่มนี้

          เข้าเรื่องภาษีต่อ ภาษีเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน เกี่ยวกับกฎหมาย ทำให้เข้าใจยาก และรู้สึกไม่อยากเข้าใจ จึงเป็นเหตุผลที่เขียนนิยาย อยากให้คนที่ไม่เข้าใจลองมาอ่านดูอาจจะเข้าใจมากขึ้น

 

            

          - ตั้งคำถามขำๆ ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีไหม : ต้องเสียภาษีครับ

          - แล้วรายได้อะไรที่เราได้แล้วไม่ต้องเสียภาษีบ้าง : แต๊ะเอีย ไม่เสียภาษี

         ทำไมแต๊ะเอียไม่เสียภาษี คำว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าแยกคำออกมาจะมีคำว่า ภาษี มีคำว่า เงินได้ และมีคำว่า บุคคลธรรมดา ไม่ต้องเข้าใจเรื่องกฎหมาย เอาสามคำนี้มาแปลความก่อน มีคำว่าภาษี คือสิ่งที่เค้าจะเก็บเรา เงินได้คือรายได้ บุคคลธรรมดาคือคนธรรมดา นั่นมารวมกันคือภาษีที่เค้าจะเก็บจากบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ นั่นแปลว่าเราถ้าไม่ใช่บุคคลธรรมดา เราไม่ต้องเสียภาษี

          แต๊ะเอีย คือ ได้เงินมา กฎหมายถือว่าเป็นเงินได้ ฉะนั้นแต๊ะเอียควรจะเสียภาษี แล้วทำไมแต๊ะเอียไม่เสีย เพราะกฎหมายบอกว่ามีเงินได้บางประเภทยกเว้นภาษี คุณมีเงินได้ ถ้าเงินได้นั้นไม่ได้ยกเว้น ต้องเสียภาษี แต่ถ้ายกเว้น ไม่ต้องเสีย แต๊ะเอียยกเว้น เพราะเป็นเงินที่ให้ ถ้าพูดภาษากฎหมาย บอกว่าให้โดยผู้มีอุปการะธรรมจรรยา  ธรรมเนียมประเพณี โดยเสน่หา เงินพวกนี้ที่ให้กัน ตามเทศกาลบ้าง หรือตามเสน่หาที่เป็นเงินจำนวนที่ไม่มากเกินไป ปัจจุบันเพดาน คือ 10 ล้านบาท ถ้าเกิน 10 ล้านบาท ต้องเสียภาษี

          ภาษีเป็นเรื่องยาก แต่เราต้องเสีย เพราะเรามีรายได้ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้เรื่องภาษี ปัญหาคือเรื่องยากเราไม่อยากเรียนรู้ เราอยากให้มันง่าย ปัญหาอีกเรื่องคือไม่ใช่แค่ยาก แต่รู้สึกว่าเสียแล้วไม่ได้อะไรกลับมา ดังนั้นความรู้สึกของคนโดยปกติทั่วไป ก็รู้สึกไม่อยากจ่าย แต่สิ่งที่ต้องยืนยัน และรู้คือการที่ไม่เสียภาษีมันผิดกฎหมาย

          ผมจะพูดทุกครั้งเมื่อไปบรรยาย ทุกคนต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษี ถ้าคุณไม่เสีย แปลว่าคุณทำผิดกฎหมายอยู่ อันนี้คือสิ่งที่ผมย้ำ ผมบอกว่า สิ่งที่ต้องทำ คุณต้องทำ ถ้าคุณไม่ทำ คุณต้องยอมรับความเสี่ยงในการทำผิด คำถามที่ตามมาคือ จะโดนตรวจหรือไม่ ความเป็นจริงคือเราไม่รู้เลยครับ แต่ให้รู้ว่าถ้าโดนตรวจต้องเจอภาษี เจอเบี้ยปรับ เจออะไรเยอะ ผมอยากให้เรียนรู้เรื่องภาษี โดยการแยกความรู้สึกออกจากหลักการ และเหตุผล ไม่มีทางง่าย ๆ ครับ มีแต่ทางที่เราจะต้องไป และเราจะไปทางไหน ต้องเลือก

 

          ตัวละครในเรื่อง มิกิที่เป็น Net Idol ตั้งคำถามว่า การทำธุรกิจคือทำให้ธุรกิจมีกำไรมากที่สุด และมักจะลืมเรื่องภาษี อันนี้เป็นวิธีคิดของคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจเรื่องภาษี และจะตั้งคำถามคือ เสียไหม พอไม่ได้คำตอบที่ตรงใจก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่จะทำคือสร้างรายได้ให้เยอะ ๆ แล้วค่อยว่ากัน กับคนอีกกลุ่มนึง จะเป็นคนกลับด้านคือ ตั้งคำถามเรื่องภาษีก่อน ขายของ ทำธุรกิจ แบบไหนให้เสียภาษีน้อยที่สุด ภาษีเก็บจากการที่มีรายได้เยอะ ถ้าอยากเสียภาษีน้อย ก็มีรายได้น้อย จึงขัดกับธุรกิจที่ต้องการกำไรสูงสุด เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือขายของต้องเสียภาษี สิ่งที่ต้องทำต่อคือ บริหารจัดการอย่างไรให้น้อยที่สุด แบบถูกต้อง อันนี้คือหลักการที่ถูก อีกความคิดชุดนึงที่ผมได้รับกลับมาตลอด คือคนที่ไม่จ่ายภาษีคือคนเก่ง คนที่เลี่ยงภาษีได้คือคนเก่ง คนที่จ่ายภาษีถูกคือคนโง่ เลยกลายเป็นว่า ทำไงก็ได้ให้มีวิธีการแบบหลีกเลี่ยงได้ง่ายสุด ดังนั้นไม่เรียนรู้ ทุกคนเป็นแบบนี้ ตัวละครในเรื่องก็อารมณ์เดียวกัน พอเป็นเรื่องภาษีทุกอย่างในชีวิตจะบิดพลิ้ว ผิดเพี้ยนไปหมด

          กลับมาที่เรื่องต่อไป มีรายได้ต้องเสียภาษีหรือไม่ อันนี้พูดรวม ๆ ผู้มีรายได้ ผู้มีเงินได้ เสียภาษีหมด คำถามต่อไปคือ รายได้ประเภทไหน ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ถ้าไม่ยกเว้นต้องเสีย

 

          รูปนี้คือรูปที่กำลังจะพูดในเรื่องของธุรกิจ สมมติมีคนตั้งคำถามว่าทำธุรกิจต้องเสียภาษีอะไรบ้าง สิ่งที่ต้องคิดอันดับแรกคือ รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ต้องบอกต้นทุนได้ ตอบได้ว่ารายได้หักค่าใช้จ่าย และกำไร เพื่อจ่ายภาษี 

          ทำไมต้องให้ดูสามตัวแรกของบรรทัดแรกก่อน ถ้าไม่ได้อย่าเพิ่งไปต่อ เพราะไปต่อไม่ได้ คนที่ทำธุรกิจมีรายได้ พูดถึงฝั่งซ้าย รายได้ในหนึ่งปีเกิน 1.8 ล้านบาท คุณต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าธุรกิจขายของออนไลน์มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจด Vat กับกรมสรรพากร ถ้าไม่จดมีปัญหา ผิดกฎหมาย ส่วนพวกค่าใช้จ่าย ก็จะมีภาษียิบย่อยตามมา เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีโน่นนั่นนี่  ต้องเป็นเรื่องเรียนรู้ต่อ แต่หลักสำคัญ คือ ตอบให้ได้ก่อนว่ามันคืออะไรบ้าง หากเราตอบได้ตั้งแต่แรกก็จะรู้ว่าเราต้องว่าเราต้องทำอะไรต่อ

 

         ส่วนเรื่องของบุคคลธรรมดา ต้องรู้ว่ารายได้เป็นประเภทไหนบ้างทั้งแปดประเภท เพื่อยื่นภาษี ยกตัวอย่างข้อมูลของตัวผม เช่น มีเงินเดือน, บรรยาย, ขายหนังสือ (หนังสือมีลิขสิทธิ์), Event และมีดอกเบี้ยจากเงินปันผล  สรุปผมมีรายได้ประเภท 1 2 3 4 และ 8 ที่ต้องยื่นภาษี ซึ่งต้องรู้ว่ามีรายได้แต่ละประเภท เพื่อจะนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รายได้หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน แล้วค่อยไปวางแผน

 

         ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มนุษย์เงินเดือน เงินเดือนเดือนละหนึ่งแสนบาท 1 ปี มีรายได้ 1.2 ล้านบาท เงินเดือนเป็นประเภทที่ 1 ตามกฎหมายบอกว่า เงินได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 50% ของเงินได้แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ส่วนที่เหลือจาก 1.2 ล้านบาท ลบหนึ่งแสน ต้องนำไปหักลดหย่อน แต่ถ้าขายของและทำธุรกิจออนไลน์ มีรายได้ 1.2 ล้านบาท กฎหมายบอกว่า 1.2 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ 1) หัก 60% เป็นเงิน 72,000 บาท ไม่มีเพดาน ไม่มีจำนวนเงินสูงสุด 2) หักตามจริง สมมติรู้มีค่าใช้จ่ายตามจริงอยู่ 800,000 บาท ก็สามารถหักได้เลย หากไม่รู้สามารถหักแบบเหมา ก็จะมีเงื่อนไขในการคำนวณอีก ซึ่งสามารถเลือกได้ นี่คือวิธีคิดแบบคร่าวๆ ที่จะต้องตอบว่ามีรายได้ประเภทไหน และถ้ามี มีกี่ประเภทก็ต้องเอามารวมกัน เพื่อนำไปคำนวณ และก็ไปวางแผนลดหย่อนภาษี หลักการประมาณนี้

 

          ส่วนอัตราภาษีจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งรายได้สูงก็ยิ่งเสียภาษีมาก อยากเสียภาษีน้อยก็พยายามใช้ชีวิตอยู่ในฐานเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท คุณก็จะสบายใจที่ไม่ต้องเสียภาษีและผิดกฎหมายเลยแต่ถ้ารายได้เยอะ ต้องเสียภาษีเยอะ เช่น ถ้ารายได้ประมาณห้าล้านบาท ก็ต้องเริ่มมาวางแผนแล้วต้องลดทำอย่างไร ปัญหาส่วนใหญ่ของการทำธุรกิจ คือไม่มีการวางแผน ไม่รู้ว่า ต้องคำนวณภาษีอย่างไร และเรื่องอื่น ๆ ที่ตามมา

        

          ต่อมา รายการค่าลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ปี 2561 ที่ผ่านมา มีรายการเพิ่ม 2 รายการสำหรับการหักค่าลดหย่อนเพิ่มได้ 1) คนมีลูกคนที่สองสามารถหักค่าลดหย่อนเพิ่มได้อีก 30,000 บาท 2) คนท้องสามารถหักลดหย่อนเพิ่มอีกเป็น 60,000 บาท ปี 2562 มีค่าลดหย่อน คือ ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และลงทุน ก็ต้องวางแผน เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง

          การวางแผนค่าลดหย่อน สามารถนำไปหักจากรายได้ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อให้ฐานภาษีต่ำ เลือกวางแผนได้ สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องภาษี เพื่อ update ในการบริจาค สามารถลดหย่อนภาษีที่หักได้สองเท่า โดยปีนี้ต้องบริจาคผ่านระบบ E-donation และกรณีเงินบริจาคเพื่อการศึกษา ต้องมีการ register กับทางผู้รับบริจาค รวมทั้งบริจาคให้กับวัด ต่อไปจะบริจาคผ่าน QR Code ได้ และไม่ต้องรับใบอนุโมทนาบัตรแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลลดหย่อนภาษีตัวเองได้ใน Website กรมสรรพากร ข้อมูลที่ตรวจสอบได้อีกคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินเบี้ยประกันสุขภาพ สิ่งที่อยากให้สังเกตเรื่องการใช้ลดหย่อน ล้วนต้องมีส่วนหนึ่งที่มีตัวประกอบเสมอ คือ ต้องมีเงิน ต้องจ่ายไปเพื่ออะไรบางอย่าง ในการลดหย่อนภาษี

          อยากเสียภาษีน้อย คือทำค่าลดหย่อนให้น้อย ต้องทำรายได้ให้เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายตามกฎหมายกำหนด ให้หักได้แค่ไหนแค่นั้น จะทำให้หักภาษีได้เพิ่มขึ้น ลดหย่อนทุกตัว ส่วนใหญ่ที่ใช้คือเงิน จะซื้อ LTF ต้องใช้เงิน จะไปเที่ยว จะไปช้อปช่วยชาติ ต้องใช้เงิน 

          สำหรับบุคคลธรรมดา ผม update อีกเรื่องแถมท้าย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นคำถามที่ถามบ่อย และเป็นปัญหาอยู่เรื่อย ๆ

 

          ปีที่แล้ว ตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายน จนถึงสิ้นปี  มีร่างกฎหมาย National e-payment มีเงื่อนไข รายละเอียดหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องที่เป็นประเด็นมากที่สุดและช็อคกันมากที่สุดคือ มี Wording นี้ คือ ธนาคาร ต้องใช้คำว่าสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ก็คือผู้ให้บริการทางการเงินทั้งหมด ต้องส่ง ข้อมูลลูกค้าที่มียอดรับโอน คือยอดเงินเข้าบัญชีให้กับกรมสรรพากร ถ้าพูดให้รู้สึกเบา ๆ ตัดคำว่าตรวจสอบ คือลูกค้าที่มียอดรับโอนสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ซึ่งลูกค้าที่มียอดรับโอนทั้งปี 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงิน 2 ล้านบาท หรือไม่ดู 400 ครั้ง ไม่ดู 2 ล้านบาท จะดูจำนวนครั้งคือ 3,000 ครั้งต่อปี อันนี้คือ กฎหมายที่ทรงพลัง และคนตกใจและคนโมโห คนขายของออนไลน์บอกว่า ทำไมจะเก็บภาษีคนขายของออนไลน์ แค่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็ลำบากพอแล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่ประเด็นคือต้องกลับไปคำถามแรก ขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษีหรือไม่ คำตอบคือต้องเสีย แต่ไม่เคยเสีย เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมา กลับรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ตัวอย่างรายได้ที่ผมเล่ามา เงินเดือน, บรรยาย, ค่าลิขสิทธิ์หนังสือ, Event รวมเงินปันผลที่ได้มาจากการลงทุน อยู่ในระบบและถูกหักภาษีทั้งหมด ผมเชื่อว่าต่อให้ผมกับเค้ามีรายได้เท่ากัน ทุกอย่างผมอยู่ในระบบเสียภาษีถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เค้าไม่เคยเสียภาษี ผมแค่ตั้งคำถามว่า ผมทำอะไรผิดหรือครับ ถึงต้องเสียภาษีมากกว่าคนอื่นที่มีรายได้มากกว่าผม อันนี้คือสิ่งที่ผมตั้งคำถาม ที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้เอาเปรียบ คนที่ถูกเอาเปรียบมาตลอดเวลา ในการเสียภาษีคือมนุษย์เงินเดือน หักค่าใช้จ่ายก็ได้น้อย หัก ณ ที่จ่ายก็ทุกเดือน ยื่นภาษีขอคืนก็รอนาน แต่ไม่มีมนุษย์เงินเดือนคนไหน ออกมาเรียกร้องสิทธิ์อะไรเลย ในขณะที่ขายของออนไลน์มีกฎหมายฉบับนี้มา ทุกคนโกรธ โมโห แต่คำถามคือ กลับไปคำถามแรก ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีหรือไม่ คำตอบคือเสีย ถ้าไม่รู้ไม่แปลก ไม่รู้ก็ศึกษา

          ต่อไปมาเรียนรู้กฎหมาย ถามว่ารวมทุกธนาคารหรือไม่ เช่น ผมเปิดบัญชีกับธนาคาร 3 ธนาคาร เปิดกับธนาคาร A ธนาคาร A ต้องส่งข้อมูลของผม ทุกบัญชีที่ผมอยู่กับเค้า ธนาคาร A จะดูก่อนว่า มีกี่บัญชี สมมติว่ามี 10 บัญชีที่ธนาคาร A  ก็จะดู 10 บัญชี ว่ามียอดรับโอนเข้ามาเท่าไหร่ และนับว่าถึง 400 ครั้งมั้ย สมมติว่าถึง 400 ครั้ง มาดูเงื่อนไขต่อว่า 400 ครั้งนี่ยอดรับทั้งหมดถึง 2 ล้านบาทหรือไม่ ถ้า 400 ครั้ง ไม่ถึง 2 ล้านบาท จบ ยังไม่ส่ง แต่ถ้า 400 ครั้ง และถึง 2 ล้านบาทด้วย ต้องส่ง แต่ถ้าเกิน  400 ครั้ง แต่ยอดยังไม่ถึง 2 ล้าน จะวิ่งต่อว่า ถึง 3,000 ครั้งหรือไม่ ถ้าถึง 3,000 ครั้ง ไม่ต้องดูยอดเงิน ส่งได้เลย และธนาคารแต่ละธนาคารจะดูข้อมูลลูกค้าของตัวเอง ไม่ได้เชื่อมข้อมูล

          กลับไปคำแรกที่เราคุยกันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนทำผิดกฎหมายเป็นบุคคลธรรมดา แน่นอนเงินได้ ผิดกฎหมาย ไม่ยกเว้นภาษีนะครับ

       

          อีกประเภทของคำถาม ถ้าไม่เสียภาษี ถาม 2 เรื่อง "จะโดนตรวจหรือไม่" กับ "ถ้ามายื่นวันนี้ ที่ผ่านมา ไม่เคยยื่น จะโดนตรวจหรือไม่" ทั้งสองคำถามนี้ ตอบได้ว่ากรณีที่คนยื่นภาษี ปีที่ยื่นภาษี กรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบย้อนหลังได้ 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ตรวจย้อนหลัง 2 ปี สมมติว่าปีนี้ 2562 คุณต้องยื่นภาษีของปี 2561 ถ้ายื่นภายในรอบปีคือยื่นภายใน 9 เม.ย. 2562 อำนาจตรวจสอบย้อนหลัง จะอยู่ที่ 2 ปี เพราะคุณยื่นภาษีถูกต้อง ตามเวลา นอกจากว่าข้อมูลที่คุณยื่นภาษีไปผิดพลาดร้ายแรง หรือมีเหตุที่ทำให้เข้าใจว่าไม่เสียภาษี เช่น หากมีรายได้อยู่ 10 ล้านบาท คุณยื่นภาษีเพียง 3 ล้านบาท ผิดแบบให้อภัยไม่ได้ กรมสรรพากรมีอำนาจ ในการขยายเวลาการตรวจจาก 2 ปี เป็น 5 ปี แต่ถ้าเลือกว่าวันนี้จะไม่ยื่น กรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบได้ถึง 10 ปี ยืนยันว่า ยื่นดีกว่าไม่ยื่น ทั้งความรู้สึกและทั้งโอกาส เพราะถ้าไม่ยื่น โดนย้อนหลัง แต่ถ้ายื่น ปีที่ยื่นจะไม่โดนย้อนหลัง

          "ถ้าไม่อยากโดนตรวจต้องทำอะไรบ้าง" คำถามต่อ ถ้ายื่น / ไม่ยื่น จะโดนกรมสรรพากรตรวจสอบหรือไม่ ถ้าไม่อยากโดนตรวจ เราก็กลับไปคำตอบเดิม ต้องยื่น และยื่นให้ถูก และอยากถูกตรวจให้มีปัญหาน้อยสุด ข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุด ระบบภาษีบ้านเราเค้าเรียกระบบประเมินตัวเอง คือคุณมีหน้าที่ประเมินตัวคุณก่อน ถ้าไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะเป็นคนประเมิน ต้องเรียนรู้ เข้าใจและประเมินตัวเอง เพื่อยื่นภาษี คือสิ่งสำคัญ ถ้าไม่อยากถูกตรวจ ก็ยื่น จบ

 

          อีกคำถามท้ายสุด คือ "จดบริษัทดีหรือไม่" ผมไม่ได้พูดถึงวิธีคำนวณภาษี ให้ดูข้อมูลตรงนี้เทียบกันคือ กลุ่มเสียภาษีบุคคลธรรมดา สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือเป็นแบบเหมาจ่าย หรือจ่ายจริง ซึ่งจะมีผล ในการหักภาษีต่างกัน ถ้าหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ต้องเสียภาษี 51,500 บาท แต่ถ้าหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องเสียภาษี 9,000 บาท ถ้าจดนิติบุคคลก็น่าจะดีกว่า เพราะไม่เสียภาษี  แต่จะมีค่าใช้จ่ายบรรทัดล่าง คือค่าทำบัญชี หรือค่าตรวจสอบบัญชี อีก 46,000 บาท คำถามว่า 1 2 3 คุณจะเลือกวิธีไหน เลือกวิธี 2 คือจ่ายจริงจะเป็นตัวเลขที่จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยสุด คือ 9,000 บาท แต่ถ้าเราเอาภาษีเป็นที่ตั้ง เราจะเลือกวิธีนี้ ในมุมมองของภาษีจะคุ้มสุด แต่ถ้าเรามองในแบบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นิติบุคคลเสีย 46,000 บาท แบบจ่ายจริงเสีย 9,000 บาท จะเริ่มคุ้มกว่าในแง่การมองเป็นมุมของค่าใช้จ่าย ถ้าทำธุรกิจอยากมีกำไรสูงสุด ต้องลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด และข้อมูลนี้มันอาจไม่ถูกทีเดียว เป็นข้อมูล ณ วันนี้ ผมอาจจะเติมข้อมูลเพิ่มเข้าไปสั้น ๆ เช่น อนาคตหลังจากนี้ รายได้ของธุรกิจประมาณ 300 ล้านบาท ปีนี้ไม่กำไร ก็เลยไม่เสียภาษี ปีหน้ารายได้เพิ่มและได้กำไรมาก คำตอบอาจเปลี่ยนว่าจดบริษัทดีกว่า เพราะบริษัทเสียภาษีน้อยกว่าบุคคลธรรมดา ก็จะมีคำตอบที่เปลี่ยนไปจากข้อมูลที่เพิ่มเข้ามา ฉะนั้นสิ่งสำคัญ 2 เรื่อง คือ ดูตัวเลข กับดูข้อมูล เรื่องภาษีไม่มีอะไรสำคัญยิ่งกว่าข้อมูล ไม่มีเทคนิคไหนสำคัญเท่ากับข้อมูลที่คุณมี เพราะข้อมูลคือสิ่งที่ชี้ทุกอย่าง คิดในภาพกลับกัน ลองย้อนว่าตัวเองเป็นสรรพากร เจอคนสองคนระหว่างเข้ามาตรวจ แล้วเจอข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ทำบัญชีเอาข้อมูลให้ดูได้ กับคนที่ไม่มีอะไรเลย แม้แต่ Statement ยังไม่อยากให้ คุณจะคิดว่าคนไหนเลี่ยงภาษี คุณก็จะมีทัศนคติในใจว่า คนที่ไม่คิดทำอะไรพวกนี้คือคนเลี่ยง ดังนั้นข้อมูลทำให้คุณมีความชนะไปกว่าครึ่งแล้ว และการแบ่งกระเป๋าเงินและแบ่งมุมมองธุรกิจ ทำให้คุณจัดการการเงินได้ดีขึ้น คือสิ่งสำคัญนะครับ หรือว่าคุณอาจจะต้องจ้างคนทำบัญชีเพิ่มเติม

 

 

          จบด้วยคำถามนี้ ว่าในอนาคตกรมสรรพากรจะใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบภาษี และใช้ Big Data มาใช้ ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีและเรื่องต่าง ๆ ในอนาคตกำลังจะมา ในวันนี้คุณโอเคกับแบบนี้แล้ว แต่สิ่งที่คุณต้องรู้ เพื่อเตรียมตัวรับมืออนาคตว่ามีอะไร วันหนึ่งมีกฎหมายออกมาให้ส่งข้อมูลให้สรรพากร ก็ตกใจ อนาคตอาจจะให้ข้อมูลทั้งระบบต้องผ่านระบบกลางของกรมสรรพากร ก็ต้องตกใจอีก ทุกอย่างต้องตั้งคำถาม จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อเตรียมพร้อม หรือจะรอให้ถูกเปลี่ยน ถ้าเราเปลี่ยนเตรียมให้พร้อม ก็จะชนะ คนที่ทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อม เพราะวันที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนอาจจะมีปัญหา หลายคนบอกผมว่าขายของทุกวันนี้ อยู่ได้ เพราะไม่เสียภาษี ถ้าเสียภาษีแล้วไม่กำไร คำถามที่ผมถามคือ ถ้าธุรกิจที่เป็นแบบนี้ ความผิดคือไม่เสียภาษี หรือไม่มีกำไร มันคือสิ่งที่ต้องกลับไปถามตัวเอง ถ้าทำถูกต้องแล้วจะไม่มีกำไรเลย ไม่สามารถอยู่ได้ นั่นแปลว่าธุรกิจมีปัญหา ไม่ใช่ระบบภาษีมีปัญหา อันนี้คือสิ่งที่อยากให้ตั้งคำถามกลับไป ว่าธุรกิจควรจะแก้ไขอย่างไร จริงๆ แล้ว เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่าง ในฐานะคนตัวเล็กๆ ได้ เวลาคุณเจอคนไม่เสียภาษี สามารถเข้าไปแจ้งเบาะแสให้กรมสรรพากรได้ เข้าไปในเมนูระบบแจ้งข้อมูลของกรมสรรพากร สามารถเลือกได้ว่ากิจการอะไร ไม่ออกใบกำกับภาษี ไม่ออกใบเสร็จรับเงิน มีพฤติกรรมเลี่ยงภาษี โกง รวมถึงขั้นแชร์ Location ถ่ายรูป และอัปโหลดข้อมูลส่ง แต่คนส่วนใหญ่เข้าไปแจ้งแล้วจะตกใจ ทำให้ไม่อยากแจ้ง เพราะจะถูกถาม 3 ข้อมูล คือ ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ ก็จะหยุดแจ้ง เพราะกลัวเดือดร้อน เลยจบแบบนี้ สรรพากรไม่ได้บอกว่าจะเอาข้อมูลนี้ไปตรวจ แต่เป็นหนึ่งในข้อมูลที่จะพิจารณา

          ส่วนเรื่อง E-donation ทำไมต้องมีระบบ E-donation เพราะทุกวันนี้มีคนซื้อขายใบอนุโมทนาบัตร ทำให้เป็นปัญหาคือ คนนำไปโกงภาษี ไปกรอกตัวเลขเอง เพื่อลดภาษีจำนวนมากจากเงินบริจาค หรือบางที่บางแห่ง บริจาคจำนวนเงินสูงกว่าที่บริจาคจริง E-donation มาแก้ปัญหาในจุดนี้ พวกนี้คือระบบค่อยๆ ปรับเปลี่ยน

          สุดท้ายฝากไว้หนังสือที่เขียนมาเพื่อให้ความรู้ภาษี เพื่อเปิดให้เข้าสู่โลกของการเงิน เป็นความตั้งใจของทีมงาน ที่อยากจะทำออกมาให้ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น ให้คนได้ตระหนักมากขึ้น ความภูมิใจของผม คือมีงานหนึ่งผมไปบรรยาย คือเล่มคน-ลัก-ชาติ ผู้ฟังมาขอลายเซ็น แล้วบอกว่า ผมอ่านหนังสือของพี่แล้วผมไม่อยากหนีภาษีเลย นั่นแปลว่าความสำเร็จผม ผมว่าโอเคแล้ว ให้ทัศนคติที่ดีขึ้นและให้ความรู้เรื่องภาษีที่ไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้ฟังกันหนึ่งชั่วโมง ถามว่าได้อะไร สิ่งที่ได้ คืออยากให้ได้กรอบความคิดมากกว่า ผมไม่อยากให้ได้ว่า วิธีการคำนวณอย่างไร ให้ประหยัดสุด สูตรวิธีไหนดีที่สุด พวกนี้เป็นเทคนิค ซึ่งไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป แต่กรอบความคิดอยู่กับเราตลอดไป ฝากไว้ ขอบคุณครับ    

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้