กิจกรรม

บันทึก BOOK TALK : eBook วิกฤตฟองสบู่กับรูรั่วของโลกการเงิน

วันที่จัดงาน
12 ก.ค. 2019
สถานที่จัดงาน
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

บันทึก Book Talk : eBook วิกฤตฟองสบู่กับรูรั่วของโลกการเงิน

วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2562 เวลา 14.00 – 15.30 น

ชั้น 2 ลาน Fin Square ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

สวัสดีครับ พี่ ๆ ทุกท่าน ดูจากตรงนี้แล้วน่าจะเป็นรุ่นพี่ของผม ขอแนะนำตัวก่อน ผมปั้น จิตรกร แสงวิสุทธิ์ เจ้าของเพจนายปั้นเงิน และเป็น aommoney กูรูของ website aommoney.com ผมสนใจเรื่องการลงทุนและการเงิน เป็นนักลงทุนอิสระ เป็น blocker เขียนเรื่องการเงินการลงทุน มีใครยังไม่โหลด eBook บ้าง ผมแจกให้ฟรีผ่านทางหน้าเพจ หลังจบงานท่านใดอยากได้ add Facebook นายปั้นเงิน / กด Like เพจ  / แล้วทัก inbox มาขอ eBook  ผมจะส่ง Link ให้ทุกท่านไปโหลดกัน

วิกฤตฟองสบู่กับรูรั่วของโลกการเงิน เดิมทีผมได้แรงบันดาลใจจากการที่เป็นนักลงทุน รู้สึกว่าในอดีตเคยมีวิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นมากในหลายประเทศ วิกฤตเกิดขึ้นตลอดไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี วิกฤตแต่ละครั้งก็จะต่างกัน บางประเทศเกิดกับสินทรัพย์หนึ่ง บางประเทศก็เกิดกับอีกสินทรัพย์หนึ่ง วิกฤตที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดคือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นผมยังเด็กจึงไม่กระทบ แต่หลายท่านอาจมีประสบการณ์ผ่านวิกฤตช่วงนั้นมา ผมรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งต้องเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของวิกฤตเราจะต้องทำอย่างไร การที่ผมเข้าไปศึกษาทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วทุกวิกฤตสามารถหาทางรับมือได้ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจสาเหตุของการเกิดวิกฤต ซึ่งพอย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ในแต่ละครั้งก็รู้สึกว่าทุก ๆ วิกฤตมีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน และก็จะเกิดซ้ำ ๆ

เรามาดูกันก่อนว่าวิกฤตการเงินน่ากลัวแค่ไหน ใครรู้จัก Hamburger Crisis หรือวิกฤตซับไพร์มที่สหรัฐอเมริกาบ้าง Hamburger Crisis เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ผมจะเล่าให้ฟังความน่ากลัวของ Hamburger Crisis เป็นวิกฤตที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ คือมีการปั่นราคาในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บ้านพักถูกยึดกว่า 8 ล้านหลัง ผลกระทบหลังจากการยึดบ้านทำให้มีคนว่างงานเกิดขึ้น และอัตราการว่างงานของสหรัฐในช่วงนั้นพุ่งไปอยู่ที่ 10% ซึ่งการว่างงานทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะฝืดเคืองเป็นผลกระทบสืบเนื่องตามมาหลังจากเกิดภาวะฟองสบู่

ในขณะที่ Tom-Yum-Kung Crisis มีความเสียหายอยู่ 2 ด้าน คือระบบเศรษฐกิจ และระบบอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงนั้นหลาย ๆ ท่านอาจเคยสัมผัสมา หนังสือจะเขียนไว้ประมาณ 5-6 เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่เขียนคือญี่ปุ่น วิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นตอนนั้นมีชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "Baburu Keiki" Baburu มาจากคำว่า Bubble คือวิกฤตฟองสบู่ที่ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งแต่เดิมเคยเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นระยะเวลา 20 ปีที่เกิดเงินฝืด และเศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจของโลก คนญี่ปุ่นจะเรียก 20 ปีนั้นเป็น 2 ทศวรรษที่หายไป ความจริงก่อนหน้า Baburu Keiki ก่อนหน้า Tom-Yum-Kung และก่อนหน้าซับไพร์ม หรือ Hamburger Crisis เคยมีเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นมาบนโลกก่อนหน้านั้นประมาณปี 1900 หรือปี 1800 ก่อน

ทำไมต้องฟองสบู่คำว่า "ฟองสบู่" หลาย ๆ คนตอนเด็ก ๆ อาจจะเคยเล่นเป่าฟองสบู่กัน เวลาที่เป่าฟองสบู่ไปฟองสบู่จะลอยขึ้นเหนืออากาศแล้วก็จะแตก ทุก ๆ ครั้งที่เป่ามันก็จะแตก การที่สินทรัพย์เกิดฟองสบู่หมายความว่า ราคาของสินทรัพย์ถูกปั่นขึ้นไปให้ลอยเหมือนฟองสบู่ ทั้งที่มันเบาไม่มีพื้นฐานอะไรมารองรับ แต่ว่ามันเกิดจากอะไร ทุก ๆ วิกฤตฟองสบู่เกิดจากความเชื่อ ความเชื่อทำให้ราคาสูงขึ้นไป ในตอนท้ายจะสรุปให้อีกครั้ง สิ่งที่ผมได้จากการเรียนรู้วิกฤตเศรษฐกิจ คือจะเกิดอยู่ 2 ด้าน สินทรัพย์จะมีเรื่องของราคาและมูลค่า มูลค่าคืออะไร ถ้าผมบอกว่าบ้านหนึ่งหลังมูลค่ากับคุณค่าคือเป็นที่พักอาศัย ดังนั้นราคาจะต้องสะท้อนที่พักอาศัยนั้น หรือถ้าบอกเป็นตึก ตึกแถว ออฟฟิศ มูลค่าและคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับความต้องการหรือ demand ของผู้ที่อยากจะเช่าบริเวณนั้น ดังนั้นราคาจะต้องสะท้อนมูลค่า แต่ในบางกรณีที่มูลค่าต่ำ แต่ราคากับความเชื่อถูกผลักดันให้ไปสูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งภาวะฟองสบู่มักจะเกิดในช่วงที่คนทุกคนมีความเชื่อ ลองกลับไปอ่านหนังสือของผมและลองคิดดู ทุก ๆ ครั้งก่อนเกิดวิกฤตฟองสบู่นั้นภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างจะดีถึงดีมาก ๆ และทุกคนก็จะเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังดี ไม่ว่าเราจะทำอะไรทุกอย่างก็ดีหมด ถ้าเราไม่ซื้อตอนนี้เดี๋ยวราคาจะหนีไปก็จะเสียกำไรส่วนนั้น จะมีเรื่องของอารมณ์ ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการที่ฟองสบู่สูงขึ้นไปจะเกิดจากด้านความเชื่อคือด้านราคา แต่ในวันหนึ่งถ้าทุกคนตระหนักแล้วว่า แท้จริงแล้วมูลค่าหรือคุณค่าของสินทรัพย์นั้นอยู่ที่ตรงไหน ราคาก็จะไหลเข้าสู่พื้นฐาน ซึ่งไม่ว่าจะอสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ หรือว่าสินทรัพย์ใด ๆ ก็ตามจะมีมูลค่าของตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ มูลค่าและคุณค่าของสินทรัพย์นั้นอยู่ตรงไหน

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับวิกฤตทางการเงิน ขอนำเสนอกราฟของ SET Index ซึ่งเป็นหุ้น เป็นดัชนีหุ้นของไทยในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะเห็นว่าในช่วงปี 1994 กับ 1997 ปี 1997 เป็นช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตซึ่งจริง ๆ คือช่วงเดือนกรกฎาคมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากนั้นดัชนีหุ้นที่เคยขึ้นไปแตะ 1,800 จุด ถ้าเราลงทุนในกองทุนรวมดัชนีหุ้น 1ล้านบาท ห้าปีผ่านไปช่วงที่มันผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ จุดต่ำสุดของดัชนีหุ้นอยู่ที่ 200 กว่า ลดลงประมาณ 80% ดังนั้นถ้าเราลงทุน 1 ล้านบาท ห้าปีผ่านไปเราขาดทุน 80% นี่คือความสำคัญว่าทำไมเราถึงต้อง concern ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดกับเราหรือไม่ จริง ๆ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจกระทบกับภาพรวมในประเทศ หรือกระทบกับหลาย ๆ ตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นอัตราการจ้างงาน อัตราที่อยู่อาศัย ดัชนีผู้บริโภค แต่ที่สะท้อนให้เห็นชัด คือถ้าเราเข้าไปลงทุนหรือเข้าไปออมเงินก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงมีขนาดกว้างประมาณ 80% มันสามารถหายไปได้


สหรัฐอเมริกาในช่วงที่มีวิกฤตซับไพร์ม ก่อนหน้าช่วงวิกฤตซับไพร์มจริง ๆ จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจดีเริ่มประมาณปี 2002 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่น หลาย ๆ คนเข้ามาเล่นหุ้น จนกระทั่งดัชนีราคาหุ้นของดาวโจนส์ขึ้นไปสูงมาก และในช่วงปี 2008 เกิดวิกฤตดัชนีก็ตกลงมากว่า 80% เหมือนกัน ก็คือนักลงทุนก็จะมีความเสี่ยงเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราเข้าไปอยู่ในพายุของวิกฤตฟองสบู่ครั้งนั้น มีโอกาสที่จะสูญเสียเงินลงทุน ดังนั้นการรู้อดีตว่าเคยเกิดอะไรขึ้น เราจะสามารถหาทางรับมือและเอาตัวรอดจากวิกฤตได้


ผมขอเล่าตัวอย่างของวิกฤตฟองสบู่ ซึ่งในหนังสือเขียนไว้ประมาณ 5 – 6 เรื่อง แต่จะยกขึ้นมา 3 เรื่อง วิกฤตแรกเป็นวิกฤตฟองสบู่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นกับดอกทิวลิป ทำไมดอกทิวลิปถึงเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ หลายคนอาจสงสัยมีใครรู้จักทิวลิปเมเนีย (Tulip Mania) บ้างครับ ยังไม่เคยรู้จักกัน ผมจะเล่าเรื่องคร่าว ๆ ให้ฟัง ดอกทิวลิปเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ วิกฤตฟองสบู่เกิดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ในความเป็นจริงเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่ประเทศแรกที่ปลูกดอกทิวลิป ต้นกำเนิดของดอกทิวลิปอยู่ในเขตเปอร์เซีย อาณาจักรเปอร์เซียในสมัยก่อนคืออิหร่าน แคชเมียร์ อินเดีย ขณะนั้นดอกทิวลิปถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการสำหรับการทูต อาณาจักรออตโตมันจะให้ดอกทิวลิปกับประเทศฮอลแลนด์หรือฮอลันดาในสมัยนั้น ดังนั้นผู้ที่จะได้ครอบครองทิวลิปจะมีเฉพาะชนชั้นสูงในประเทศฮอลแลนด์ ดังนั้นดอกทิวลิปจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง (Status symbol) และเป็นความเชื่อเกิดขึ้น

เดิมทีดอกทิวลิปจะมีแต่สีพื้น ดอกทิวลิปบ้างก็มีสีแดง บ้างก็มีสีเหลือง เจ้าขุนมูลนายบ้านไหนปลูกดอกทิวลิปจะแสดงถึงความมั่งคั่ง ก็เริ่มมีคนอยากจะปลูกเพื่อเป็นการแสดงถึงความมั่งคั่งของผู้ปลูก หลังจากนั้นดอกทิวลิปเริ่มมีไวรัส (Mosaic Virus) เกิดขึ้น ไวรัสตัวนี้ทำให้ดอกทิวลิปที่มีสีพื้นเกิดลวดลายขึ้น สมัยนั้นการเกิดลวดลายของดอกทิวลิปเป็นสิ่งแปลกใหม่ คนเริ่มมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องพันธุกรรมของดอกทิวลิปที่จะสืบทอดกันเป็นรุ่น ๆ เป็นสิ่งสวยงามและทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงมีความเชื่อว่าดอกทิวลิปจะถูกสืบทอดไปเรื่อย ๆ แต่ความจริงแล้วเป็นแค่เชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วก็หายไป ไม่ได้ถูกสืบทอดอะไร แต่มีคนเชื่อว่าดอกทิวลิปจะถูกสืบทอดความสวยงามนี้ต่อไป ดังนั้นดอกทิวลิปจึงถูกปั่นราคาขึ้นไป คนก็เลยเริ่มซื้อขายดอกทิวลิปกันอย่างมาก ใครมีดอกมิวลิปที่มีลวดลายสามารถตั้งชื่อดอกทิวลิปเป็นสายพันธุ์ของตนเองได้ เช่น ผมชื่อปั้น สามารถตั้งชื่อดอกทิวลิปว่า "ปั้นเงิน"

ดอกทิวลิปมันจะออกดอกเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ดังนั้นเวลาซื้อขายดอกทิวลิปจะซื้อขายได้เฉพาะช่วงเดือนเมษายน คนที่อยากครอบครองดอกทิวลิปจะทำอย่างไร ดอกทิวลิปหลังจากออกดอกแล้วต้นจะล่วงลง หลังจากนั้นจะมีหน่อโผล่ขึ้นมา ซึ่งหน่อจะมีลักษณะคล้ายกับหัวหอม คนก็เลยเชื่อว่าหัวหอมนี้ถ้านำไปปลูกต่อก็จะกลายเป็นเจ้าของดอกทิวลิปในอนาคต ทำให้มีการซื้อขายหัวหอมนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นสีอะไรหรือเป็นแบบไหน หรือจะออกมาเป็นสีใหม่ แต่ทุกคนมีความเชื่อว่ามันจะต้องออกดอก ก็เลยมีการซื้อขายหัวหอมนั้นกันอย่างมากมาย ราคาของดอกทิวลิปก็ถูกปั่นขึ้นเรื่อย ๆ จนมีดอกทิวลิปบางสายพันธุ์ที่เชื่อว่ามันสวยมาก ๆ ชื่อว่า ไวซ์-รัวร์ (Vice-Roi) ตอนนั้นถูกซื้อขายกันที่ 3,200 กิลเดอร์ ในสมัยนั้น 3,200 กิลเดอร์สูงมาก เทียบค่าแรงของฝีมือแรงงานสมัยนั้น 1 คนต่อ 1 ปีเท่ากับ 120 กิลเดอร์เท่านั้น ต้องใช้เวลาทำงานประมาณ 30 ปีถึงได้ดอกทิวลิปนี้มา ดังนั้นก็กลายเป็นว่าดอกทิวลิปเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงอย่างแท้จริง คือถ้าใครไม่มีเงินซื้อดอกทิวลิปไม่ได้

กลับมาที่หัวดอกทิวลิปต่อ หัวดอกทิวลิปหลังจากที่ถูกปั่นราคาจนสูงแล้วก็ขาดตลาด ทำให้ไม่มีหัวดอกทิวลิปให้ซื้อ หลาย ๆ คนก็ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้นมา ถ้าคุณมีดอกทิวลิป เกษตรกรมีดอกทิวลิป จะขายดอกทิวลิปให้แต่ต้องขายเป็นหัวคือทำเป็นสัญญาไว้ ขณะที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สมัยนั้นออกกฎมาให้สามารถซื้อขายสัญญากันได้อย่างอิสระ โดยรัฐบาลสร้างตลาดให้สำหรับการเทรดสัญญานี้โดยเฉพาะ กลับมามองภาพรวมกันใหม่อีกครั้ง ตอนแรกเริ่มที่ดอกทิวลิป หลังจากนั้นมาที่หัวดอกทิวลิป และถูกปั่นราคาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายมาที่สัญญาซื้อขาย ซึ่งสัญญาซื้อขายไม่มีอะไรแตะต้องได้มีแค่สัญญา แต่ตอนนี้ราคาวิ่งเกินพื้นฐานของดอกทิวลิปไปมาก ทั้ง ๆ ที่ดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ที่จะออกดอกเพียงแค่ช่วงเดือนเดียวเท่านั้น แต่คนมีความเชื่อว่าดอกทิวลิปจะสร้างกำไรและความมั่งคั่งให้ได้ พอมีตลาดสัญญาซื้อขายดอกทิวลิป ดอกทิวลิปก็ถูกปั่นราคาง่ายกว่าพวกซื้อขายดอกทิวลิปที่เป็นกายภาพอีก สัญญาซื้อขายก็เหมือนการซื้อขายลมถูกปั่นราคาขึ้นไป ดอกทิวลิปที่สวยมาก ๆ ถูกซื้อขาย บางคนไม่มีเงินก็เอาที่ดินมาแลก ที่ดินสมัยนั้นหลายเอเคอร์ถูกเอามาแลกเป็นดอกทิวลิปแค่หัวเดียวเท่านั้น การซื้อขายเกิดอย่างมากมายซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงปีเดียว

หลายคนในช่วงนั้นเริ่มตระหนักได้ว่าเราทำอะไรกันอยู่ ซื้อขายอะไรกัน ดอกทิวลิปมีคุณค่าอะไรกับเราบ้าง ความจริงแล้วดอกทิวลิปถ้าพูดถึงพื้นฐานกับมูลค่าเป็นแค่สิ่งสวยงามกับเป็นเครื่องประดับให้ตัวเรา ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความเชื่อทำให้ราคาสูงขึ้น พอทุก ๆ คนรู้ตัว demand และ supply ในตลาดปั่นป่วนมาก คือ supply ถูกเทขายอย่างหนัก ดอกทิวลิปมูลค่ากลับมาสู่พื้นฐาน ช่วงนั้นมีเจ้าขุนมูลนายที่ล้มละลาย และเกษตรกรกลับฝั่งมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย เพราะรวยขึ้นเพราะกำไรจากดอกทิวลิป จะเห็นภาพชัดว่าคือฟองสบู่ที่เกิดขึ้นกับสินค้าหรือสิ่งของคือดอกทิวลิป และเห็นความโลภของคนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร

มาที่วิกฤตซับไพร์มกันต่อ ตามที่ได้กล่าวในตอนแรกว่าวิกฤตทำให้เห็นภาพมากขึ้น เพราะวิกฤตทำให้เห็นว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ดี ๆ มีความโลภเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ไม่ถูกจำกัดแค่สินทรัพย์เดียว ดอกทิวลิปเกิดขึ้นเฉพาะแค่ในวงแคบ ๆ ในวงของการซื้อขายดอกทิวลิปเท่านั้น แต่วิกฤตซับไพร์มเกิดขึ้นทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน วาณิชธนกิจ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ประเทศสหรัฐอเมริกาตอนนั้นล้มไม่เป็นท่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทล้มละลายไป หลาย ๆ ท่านอาจรู้จัก AIG (American International Group) ดี ขณะนั้น AIG เป็นบริษัทประกันที่มีชื่อ เมื่อ AIG ล้มละลาย Fed (Federal Reserve Bank) หรือธนาคารกลางของสหรัฐฯ ต้องเข้ามาอุ้มโดยใช้เงินมากกว่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Big Short ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ทราบว่าเกิดวิกฤตขึ้นในสหรัฐฯ ได้อย่างไร ซึ่งมีศัพท์ทางการเงิน หรือศัพท์ทางการลงทุนที่ค่อนข้างซับซ้อน

เดิมทีวิกฤตสหรัฐฯ เริ่มต้นในปี 2002 ขณะนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังซึม ดังนั้น Fed จึงออกมากระตุ้นนโยบายให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยการลดดอกเบี้ย การลดอัตราดอกเบี้ยช่วยให้คนสามารถลงทุนได้มากขึ้นโดยที่เสียอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเอกชน การลดอัตราดอกเบี้ยทำให้การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ใคร ๆ ก็สามารถกู้ได้ คือถ้าอยากมีบ้านสามารถกู้ได้เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ก็เริ่มเกิดที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะในขณะนั้นใครมีบ้านหลังแรกแล้ว สามารถซื้อบ้านหลังที่สอง สาม สี่ ได้โดยที่ผู้กู้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่ต้องเช็คประวัติผู้กู้ย้อนหลังมากมาย คือธนาคารก็อยากจะปล่อยกู้เพราะว่าต้องการได้ดอกเบี้ย ยิ่งปล่อยกู้มากก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยมาก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำก็ตาม เพราะต้องการเน้นปริมาณในการปล่อยกู้ มาตรฐานการคัดกรองลูกหนี้ของสหรัฐฯ ค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดลูกหนี้ชนิดหนึ่งขึ้นมาคือ subprime mortgage ซึ่งเป็นต้นเหตุของ subprime crisis

subprime mortgage คือ ทุกคนที่จะเข้ามากู้ไม่ต้องตรวจอะไรทั้งนั้น สามารถกู้ได้เลยซื้อบ้านหลังที่สองแล้ว บ้านหลังที่สามธนาคารก็ปล่อยให้ จนสุดท้ายลูกหนี้ไม่ถูกคัดกรองเลยจึงเรียกว่า "ลูกหนี้คุณภาพต่ำ" ที่มีโอกาสจะเบี้ยวหนี้สูง และลูกหนี้ subprime มีจำนวนมาก ซึ่งเกิดกับภาคอสังหาริมทรัพย์ก่อน และลามไปในภาคอื่น ๆ คือภาคการเงิน ภาคการเงินเกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากบริษัทหรือธนาคารท้องถิ่นปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ subprime ก็จะรวมชุดลูกหนี้กลุ่มนี้เข้าด้วยกัน และจำหน่ายให้ธนาคารหรือวาณิชธนกิจที่ใหญ่กว่า เช่น Goldman Sachs, Lehman Brother พอลูกหนี้ถูกรวมกันแล้วขายให้ IB (Investment Banking) และวาณิชธนกิจจะออกหลักทรัพย์หนึ่งมา โดยนักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนกับหลักทรัพย์นี้ได้ โดยมีลูกหนี้คุณภาพต่ำเป็นตัวค้ำประกัน หลักทรัพย์นี้คือ CDO (Collateralized Debt Obligations) ซึ่ง CDO จะมีลูกหนี้คุณภาพต่ำเหล่านี้ค้ำประกันอยู่ นักลงทุนที่ซื้อ CDO จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่ลูกหนี้คุณภาพต่ำยืมไป แต่ใน CDO จะถูกปะปนด้วยลูกหนี้คุณภาพต่ำซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีโอกาสไม่ได้รับชำระหนี้คืนสูง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง แต่นักลงทุนหลายคนก็คงจะไม่เชื่อมั่นว่า CDO นี้ถูกรับรองและมีคุณภาพจริง

ดังนั้นวาณิชธนกิจก็นำ CDO ไปให้บริษัท Credit Rating ออกเรตติ้งให้เป็นเรตติ้งที่ดี คือมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ คือถ้าเป็นเกรดที่ไม่ดีให้ออกเป็นเกรดที่ดีก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ เมื่อนักลงทุนรู้สึกว่าดีก็จะเข้าไปซื้อ CDO กัน กลายเป็นว่าเมื่อธนาคารได้เงินจากนักลงทุนก็นำเงินไปปล่อยกู้ต่อ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และการขอสินเชื่อบ้านในระยะเวลานั้น เป็นไปอย่างง่าย ๆ ทำให้ราคาบ้านสูงขึ้น ๆ โดยในขณะนั้นเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เพราะว่า FED ลดอัตราดอกเบี้ย และผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นและกล้าลงทุนมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น กลับมาที่ CDO วงจรไม่หยุดแค่นั้น วงจรยังเข้าไปสู่บริษัทประกันภัย เพราะบริษัทประกันรู้สึกว่าตัว CDO ยังมีความเสี่ยงอยู่ ถ้าซื้อประกันกับบริษัทโดยจ่ายเป็นเบี้ยประกันให้หมายความว่า ถ้า CDO เกิดเบี้ยวหนี้ขึ้นมา ผู้เอาประกันไม่ได้ผลตอบแทนไม่เป็นไร เพราะมีประกันความเสี่ยงกับบริษัทประกัน บริษัทประกันจะจ่ายค่าเสียหายให้ผู้เอาประกัน ทำให้บริษัทประกันภัยอยากเข้ามาร่วมวงจรอุบาทว์ บริษัทประกันก็จะขายประกันให้ บริษัทประกันไม่หยุดแค่นั้นพอได้ลูกหนี้มาก็ออกอนุพันธ์ตัวหนึ่ง เพื่อที่จะบอกว่า CDO ตัวนี้จะเบี้ยวหนี้หรือไม่ อนุพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ประกันความเสี่ยง พอนักลงทุนรู้สึกว่าลูกหนี้มีโอกาสจะเบี้ยวหนี้ นักลงทุนก็ซื้ออนุพันธ์คือจะซื้อแทงไปก่อนว่าลูกหนี้จะเบี้ยว แต่ความจริงแล้วในขณะนั้นไม่มีใครเชื่อว่าลูกหนี้จะเบี้ยวหนี้ เพราะเศรษฐกิจในเวลานั้นดี ใคร ๆ ก็ซื้อบ้าน ใคร ๆ ก็ทำอะไรไม่มีใครเบี้ยวหนี้เลย คนที่รวยจากการซื้อบ้านแล้วปล่อยเช่าต่อมีมากมาย บริษัทประกันก็เลยกล้าออกอนุพันธ์ตัวนี้ให้กับนักลงทุน ในภาพยนตร์ The Big Short จะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าความจริงแล้วพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้แน่นขนาดนั้น และค่อนข้างแย่เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่รู้สึกว่าภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหาแล้ว พอมันจบที่อนุพันธ์ตัวนี้ก็เลยกลับมาสู่สภาพปกติ

ในช่วงนั้นตลาดสหรัฐฯ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถูกปล่อยกู้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ถูกปั่นขึ้นไป ถามว่าในช่วงนั้นพอมีความร้อนแรงของเศรษฐกิจแล้ว FED จะต้องกลับมาทำอะไร สิ่งที่ FED ทำในสภาวะที่เศรษฐกิจซึม ๆ ก็คือการลดอัตราดอกเบี้ย แต่พอเศรษฐกิจเริ่มร้อนแรงเกินไป ภาวะเงินเฟ้อก็จะสูงเกินไป สิ่งที่ FED ทำคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทำให้ลูกหนี้ที่กู้เงินมาเพื่อไปซื้อบ้านหลายหลัง และการปั่นราคาเพื่อเข้าไปเก็งกำไร หลาย ๆ รายซื้อมาเพื่อไปใช้หนี้ และหนี้ที่กู้มาก็จะสูงขึ้นตามราคาบ้านที่ซื้อ ในขณะนั้นการที่คนซื้อบ้านมาโดยไม่ดูพื้นฐานหรือความต้องการของตลาด ทำให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากมาซื้อบ้าน ดังนั้นพอมีหนี้จำนวนมาก แล้ว FED ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายต่อปีสูงขึ้น เมื่อไม่มีความสามารถในการชำระหนี้และดอกเบี้ย สิ่งที่ลูกหนี้ทำคือทิ้งหนี้ก้อนนั้นไปคือไม่ชำระ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เป็น concept ของลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ชั้นต่ำ ก็คือเป็น subprime mortgage หลังจากที่ไม่มีเงินจ่าย ทำให้กระทบเป็น domino effect และไปกระทบกับ CDO ที่นักลงทุนไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ สำหรับนักลงทุนที่ซื้อประกันไว้ถือว่าโชคดี ส่วนนักลงทุนที่ไม่ได้ซื้อประกันไว้คือขาดทุน ที่ขาดทุนมากที่สุดก็คือบริษัทประกันที่เข้าไปรับความเสี่ยงตรงนั้น เพระสิ่งที่บริษัทประกันต้องจ่าย ด้านหนึ่งคือค่าความเสียหายที่มีผู้มาทำประกัน อีกด้านหนึ่งคืออนุพันธ์ที่ออกเพื่อประกันความเสี่ยงในกรณีที่ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ (เป็นการซื้อแทงไปก่อนว่าลูกหนี้เบี้ยวหนี้) ซึ่งไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นการพนัน และมีคนกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขนาดนั้นจริง ๆ ก็เข้าไปซื้ออนุพันธ์ บริษัทประกันต้องจ่ายความเสียหายให้กับผู้ที่มาซื้ออนุพันธ์ ทำให้บริษัทประกันล้มหลายบริษัทและถูกปิดไป แต่ AIG ถูก FED อุ้มไว้เพราะเป็นบริษัทประกันที่มีขนาดใหญ่ หลังจากเกิดวิกฤตนี้มีหลายบริษัทและธนาคารพาณิชย์ต้องปิดตัวลง กลายเป็นว่าช่วงนั้นวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดพิษเศรษฐกิจ มีคนว่างงานจำนวนมาก อัตราการบริโภคลดลง และ GDP ลดต่ำลง และตลาดหุ้นก็ได้รับผลกระทบเพราะผู้ลงทุนมีการซื้อขายหุ้นในราคาที่เกินความจริง ทำให้เห็นวิกฤตส่วนใหญ่เกิดจากพื้นฐานความโลภของมนุษย์ ทั้งสองตัวอย่างข้างต้นจึงเกิดจากความโลภของมนุษย์

ตัวอย่างที่สาม จะเป็นสิ่งใกล้ตัววิกฤตฟองสบู่ที่เป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง การที่ผมศึกษามาหลาย ๆ ครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานเศรษฐกิจมา ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นโดนสนธิสัญญา Plaza Accord ที่ทำกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเป็นเสือตัวใหม่ถูกบังคับให้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของญี่ปุ่น และมีเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ดเข้ามา นักลงทุนไม่ว่าใครก็ตามสามารถเข้ามาลงทุนในไทยได้เพราะไทยเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้ไทยเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย การย้ายเข้ามาของเงินลงทุนทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก หลาย ๆ อย่างก็เกิดขึ้นเหมือนที่เล่าไว้ในตอนต้น คือทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น มีการปล่อยกู้ มีการออกไปกู้เงินต่างประเทศแล้วนำมาปล่อยกู้ในประเทศ ทำให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์และหุ้นถูกปั่นขึ้นอย่างมาก จนมีคนเห็นว่าประเทศไทยราคาทุกอย่างที่ลงทุนสูงเกินความเป็นจริง เลยเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทของไทย ทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤต หลาย ๆ คนอาจโทษว่าเป็นความผิดของผู้ที่เข้าโจมตีค่าเงินบาทไทยทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นจากความโลภ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนไทย นักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนภูมิภาคที่ช่วยกันปั่นให้ราคาเกินความจริง


มีใครรู้จักบ้าง สาธรยูนีคทาวเวอร์ เป็นตึกที่ไม่ถูกทุบ ทั้ง ๆ ที่ถูกปล่อยร้างมานาน เป็นอนุสรณ์สถานแห่งวิกฤตต้มยำกุ้ง ตึกหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจในขณะนั้นดี และอสังหาริมทรัพย์ทุกอย่างก็จะดี ประเทศไทยได้รับผลเสียหายนี้ค่อนข้างมาก

นอกจากสามตัวอย่างที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น South Sea Bubble, Mississippi, วิกฤตดอทคอม สามารถเข้าไปอ่านได้ใน eBook วิกฤตฟองสบู่กับรูรั่วของโลกการเงิน


ที่นี้เรากลับมาดู วิธีการเอาตัวรอด ตั้งแต่ที่พูดไปตอนแรกผมชอบภาพนี้มาก เพราะความเป็นจริง เวลาที่จะซื้อของหรือจะลงทุนต้องดูมูลค่ากับราคาว่าเป็นไปอย่างยุติธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นไปอย่างยุติธรรมก็จะไม่ทำให้เกิดเสียหาย แต่ในกรณีที่ราคาต่ำแต่มูลค่าสูงแสดงว่าได้มูลค่าสูงกว่าราคาที่จ่ายไป วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า "Price is what you pay, value is what you get." ราคาเป็นตัวเลขที่คุณจะต้องจ่าย แต่คุณค่าคือสิ่งที่คุณจะได้รับ ถ้าวันหนึ่งราคาสูงกว่ามูลค่าจะทำให้เกิดความเสียหายเพราะสุดท้ายแล้วราคาจะวิ่งกลับเข้าหามูลค่า ถ้าจะลงทุนอะไรดูที่มูลค่าว่าความเป็นจริงแล้วของสิ่งนั้นมีมูลค่าเท่าไร ในกรณีที่เป็นนักลงทุนในหุ้นต้องใช้วิธีการประเมิน โดยประเมินบริษัท คิดลดกระแสเงินสดในอนาคต หรือใช้ตัวเปรียบเทียบอะไรก็ตาม กรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ความจริง demand และ supply เป็นอย่างไร ถูกสร้างขึ้นมา yield เป็นอย่างไร ถูกปั่นขึ้นมาหรือไม่ ต้องสังเกตให้ดี ๆ หรือถ้าซื้อของบางอย่างต้องดูว่าคุณค่าที่ได้รับควรจ่ายเท่าไร เพราะสุดท้ายสิ่งที่ได้รับคือมูลค่า ต่อให้เราจ่ายแพงแค่ไหนแต่ถ้ามูลค่าต่ำ เราก็จะได้มูลค่าแค่ตรงนั้น

 

 

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้