กิจกรรม

บันทึก BOOKTALK: หนังสือ เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก]

วันที่จัดงาน
28 มิ.ย. 2019
สถานที่จัดงาน
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

บันทึก BOOKTALK : เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] (โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร)

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2562 เวลา 14.00 - 15.30 น.
ลาน Fin Square ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยชั้น 2

          สวัสดีครับ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานกันในวันนี้  ที่จะมาชวนคุยเรื่องของหนังสือ "เศรษฐศาสตร์[ฉบับทางเลือก]" แปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ Economics: The User's Guide และเพื่อให้เชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวัน เข้าใจเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกได้ง่ายขึ้น จึงย่อยเป็นหัวข้อใหม่ เป็นการชวนคุยกันในเรื่อง 7 หัวข้อ หรือ 7 ประเด็นที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับโลกเศรษฐกิจ 


          หนังสือเล่มนี้เสนอมุมมองใหม่ว่า ถ้าเราจะเข้าใจโลกเศรษฐกิจที่มันเคลื่อนไหวอยู่ทุกวี่วัน ในมุมที่ง่ายขึ้นและเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันมากขึ้น เราควรจะมีวิธีมองโลกเศรษฐกิจอย่างไร แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกหนังสือจะพาไปรู้จักกับความสำคัญของประวัติศาสตร์ก่อน ความหลากหลายของวิธีคิดในโลกเศรษฐศาสตร์ รู้ถึงวิธีนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการมองโลกเศรษฐศาสตร์อย่างไร จะเข้าใจทุนนิยมอย่างไร จะเข้าใจประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร เกาหลีใต้ ไต้หวันเติบโตมาอย่างไร จะจัดการกับเศรษฐกิจภาคธุรกิจอย่างไร เทคโนโลยีกับสังคมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ชวนคุยเป็น 7 เรื่องหลัก ที่มักเข้าใจผิดบ้าง ถูกบ้าง หรือถูกไม่ถึงครึ่ง


          เรื่องแรก คือ ที่เค้าว่าเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จริงหรือไม่


          อันนี้ก่อนที่ผมจะเข้ามาในแวดวงเศรษฐศาสตร์ ก็เหมือนกับทุกคน ภาพแรกที่จะแวบเข้ามาเป็นตลาดหุ้น สีเขียวบ้าง สีแดงบ้าง ไม่ก็เรื่องของ GDP ในเศรษฐกิจโลก ในประเทศไทย จริง ๆ แล้วไม่ผิด มันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้ว เศรษฐศาสตร์มีอะไรที่กว้างไกลกว่านั้น เพราะว่าพลังของประวัติศาสตร์มันเยอะมาก ถามว่า เวลาที่คนเรารู้สึกว่าสิ่งที่ประเทศควรจะดำเนินนโยบาย ควรจะไปทิศทางไหน ควรจะไปอย่างไร คนมักจะไม่รู้ตัวว่าจริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์ที่เราต้องมองประเทศเราเอง หรือมองประเทศอื่น มีผลมีพลังในการตัดสินใจในการโน้มน้าวคนเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง สมมุติว่ามีรายการทีวี หรือว่ามีการทำแบบสอบถาม เดินไปถามคนท้องถนนว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการค้าเสรีหรือไม่ คนส่วนใหญ่ก็จะพยักหน้า เอ๊ะ ก็น่าจะใช่ เพราะอะไร ถ้าถามต่อไป ทำไมคุณคิดว่าการค้าเสรีน่าจะเป็นคำตอบที่ทุกรัฐบาลเลือกใช้ คนส่วนมากมักจะตอบว่า ก็ประเทศที่ร่ำรวยขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ร่ำรวยมาได้เพราะการค้าเสรี ถ้าประเทศไทยอยากร่ำรวยก็ต้องเดินตามเส้นทางนี้ เราจะมาคุยกันต่อว่าจริงหรือไม่ หรืออีกเรื่อง สมมุติว่าเศรษฐกิจที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีคนทำแบบสอบถามและออกรายการทีวี ว่าประเทศควรจะจำกัดหรือลดถอนบทบาทของสหภาพแรงงานให้มากหรือไม่ เพื่อจะได้ให้ภาคธุรกิจมีอิสระในการดำเนินเศรษฐกิจ และประเทศก็จะพัฒนาต่อได้เอง คนจำนวนมากก็จะตอบว่าก็น่าจะเป็นอย่างนั้นสิ และถ้าถามต่อไปว่า แล้วทำไมถึงคิดอย่างนั้น ก็มักจะตอบว่าก็ประเทศที่เค้าร่ำรวยแล้วทุกวันนี้ เค้าก็ให้ภาคธุรกิจเป็นตัวนำหรือเป็นหัวหอกเศรษฐกิจทั้งนั้น และลดทอนบทบาทของสหภาพแรงงาน เศรษฐกิจจึงเติบโตได้ดี 2 เรื่องนี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ว่า เรานึกถึงนโยบายที่ดี ทิศทางเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น เราจะมีคำตอบในใจ แต่จริง ๆ แล้วถามว่ามาจากไหน มักมาจากประวัติศาสตร์ที่เราคิดไปว่า แล้วประเทศอื่นเค้ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ประเทศร่ำรวยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือถ้าเราไปลองดูประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผมพูดไป 2 ข้อนี่ ปรากฏว่ามันตรงข้ามกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

          ข้อแรกรัฐบาลควรสนับสนุนการค้าเสรีหรือไม่ และคนจำนวนมากเชื่อว่าควรสนับสนุนด้วยเหตุผลว่า ก็เพราะประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ร่ำรวยมาได้เพราะการค้าเสรี และตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะบอกได้ว่าประเทศควรดำเนินนโยบายการค้าเสรีหรือไม่ ก็คือกำแพงภาษี ว่าเค้านำเข้าสินค้า นำเข้ารถยนต์จากประเทศอื่น  ต้องตั้งกำแพงภาษีเท่าไหร่ ถ้าตั้งกำแพงภาษียิ่งสูง ก็แปลว่าราคาขายเข้ามาก็จะแพงมากขึ้น เราจะเรียกว่า มีการกีดกันทางการค้า ถ้าการค้าเสรีก็แปลว่าจะไม่ตั้งกำแพงเลย อาจจะเป็น 0 หรือต่ำมากแค่ 5% แล้วราคาก็จะเข้าแข่งขันในตลาดได้ คนซื้อก็จะได้ราคาถูกไป อย่างนี้เราเรียกว่าการค้าเสรี  ซึ่งถ้าไปดูประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ จะเห็นว่าอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าอุตสาหกรรมอังกฤษใช้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ย 45-55 % จนกระทั่งถึงกลาง ๆ ศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว แปลว่าจนถึงจุดที่เค้ากลายเป็นมหาอำนาจแล้ว จึงยอมเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายการค้าเสรี ส่วนสหรัฐอเมริกาค่าเฉลี่ยของภาษี 40-50% มาโดยตลอดจนกระทั่งก่อนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน ซึ่งถึงจุดนั้นสหรัฐอเมริกาก็ร่ำรวยแล้ว กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกไปแล้ว นี่เป็นตัวเลขทางประวัติศาสตร์ง่าย ๆ ที่ทำให้เราตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราเคยเชื่อ หรือคนจำนวนมากเคยเชื่อเกี่ยวกับมายาคติ

          ดังนั้น ถ้าดูจากตัวเลขนี้ ก็จะตอบได้ว่า การค้าเสรี ไม่ใช่นโยบายสูตรสำเร็จที่ทำให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษร่ำรวย เพราะเค้าตั้งกำแพงภาษีไว้สูงมาก มีการกีดกันการค้าค่อนข้างชัดเจน และในทำนองเดียวกัน ไม่ได้แปลว่า ต้องตั้งกำแพงภาษีสูง เพื่อจะเป็นประเทศร่ำรวย ลองดูประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ จะเห็นว่ามีนโยบายอัตราภาษีนำเข้าค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา ต่ำกว่าอังกฤษ ด้วยซ้ำ เมื่อรู้ประวัติศาสตร์แล้ว ว่าการค้าเสรีไม่ใช่สูตรสำเร็จ แปลว่าองค์ประกอบที่จะทำให้ประเทศหนึ่ง ๆ กลายเป็นประเทศร่ำรวย กลายเป็นประเทศมหาอำนาจมีอย่างอื่นเป็นองค์ประกอบด้วย นี่เป็นพลังของประวัติศาสตร์อย่างแรก


          ตัวอย่างที่ 2 ผมตั้งคำถามไว้ว่าสมมุติมีแบบสอบถาม หรือคนมาสำรวจแล้วถามท่านว่า เราควรจะให้สหภาพแรงงานมีบทบาทแค่ไหน คนจำนวนมากก็จะตอบว่า เราไม่ควรให้สหภาพแรงงานมีบทบาท เพราะว่าจะไปขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ต้องไปดูต่อในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะพบว่าประเทศในยุโรปตะวันตกจำนวนมาก โดยเฉพาะ สวีเดน ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี เค้ามองสหภาพแรงงาน เป็นหุ้นส่วนหรือเป็น Partner ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ มาตั้งโต๊ะเจรจากันเลย ตัวแทนของผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงาน ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมมาคุยกันว่านโยบายเงินเฟ้อในประเทศควรเป็นเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมควรเป็นอย่างไร เพราะประเทศเหล่านี้มองว่า ถ้าแรงงานเข้ามาคุยตั้งแต่แรก จะเป็นการลดความขัดแย้งของสังคมไปในตัว จะสามารถดำเนินนโยบาย และแต่ละฝ่ายก็จะตอบสนองขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ เรียกว่าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน ในสหรัฐอเมริกาอาจจะจริงที่บทบาทในสหภาพแรงงานน้อย แต่ในประเทศยุโรปตะวันตกไม่ใช่ ก็บอกต่อไปได้ว่า ทุนนิยมก็มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่แบบที่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างเดียว ซึ่งเราจะคุยกันต่อในเรื่องนี้ แต่ง่าย ๆ ก็คือ ประวัติศาสตร์จริง ๆ ถ้าเราเข้าไปดูแล้ว มีผลต่อวิธีคิดทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก


         ข้อที่ 1 ที่เค้าว่ากันว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับประวัติศาสตร์ จริงหรือไม่  ก็ต้องตอบว่า ไม่จริง เพราะว่าประวัติศาสตร์เป็นหัวใจของเศรษฐศาสตร์เลย การสร้างทฤษฎีส่วนใหญ่จะมีลักษณะเฉพาะว่าจะสร้างตอนไหนของประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลก และการที่ประวัติศาสตร์ที่คนเชื่อว่าเป็นอย่างไรในสังคม หรือในโลก ก็จะมีผลต่อการโน้มน้าวว่านโยบายที่ดี สังคมที่ควรเป็น ที่เรามองเห็นภาพฝันในอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีจุดกำเนิดจากความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์


          ข้อที่ 2 เค้าว่ากันว่าทุกปัญหาเศรษฐกิจมีทางออกที่ดีที่สุดเสมอ แต่แก้ไม่ได้เพราะการเมือง เพราะว่าเศรษฐศาสตร์ควรเป็นเรื่องทางเทคนิคที่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว แต่ที่แก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะเป็นเรื่องการเมือง จริงหรือไม่ คำตอบอยู่ในภาพนี้



          ภาพนี้คือนิยายจีนกำลังภายใน ดาบมังกรหยกไม่ว่าท่านจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนิยายกำลังภายใน แต่อย่างน้อยทุกท่านต้องเคยได้ยินคำว่า ยุทธภพ สำนักที่รู้จักมากที่สุด คือวัดเส้าหลินเป็นวัดที่มีชื่อ ที่มีที่ทางชัดเจน แต่จริงๆ ทุกท่านก็รู้ว่าหนังจีนในยุทธภพกำลังภายใน ไม่ได้มีแค่วัดเส้าหลิน มีสำนักอื่น ๆ อีกจำนวนมาก มีสำนักง้อไบ๊ สำนักบู๊ตึ้ง สำนักหัวซาน สำนักสราญรมย์ หรือแม้แต่เหล่าขอทานที่รวมตัวกันในนามพรรคกระยาจก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ในนิยายจีน ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังจีนหรือไม่ ทุกท่านก็รู้ว่าหนังจีนเต็มไปด้วยยุทธภพที่ทุกสำนักลงมาแข่งกัน แต่ละสำนักมีจุดอ่อน จุดแข็ง มีวิชาลมปราณเฉพาะตัวต่างกัน นี่ก็เป็นเรื่องเดียวกับวิชาเศรษฐศาสตร์เลย ซึ่งวิชาเศรษฐศาสตร์ก็เป็นเหมือนยุทธภพที่มีหลายสำนักลงมาแข่งขันกัน และแต่ละสำนักก็จะมีจุดเด่นต่างกัน มองโลกต่างกัน มีความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ต่างกัน หัวใจของระบบเศรษฐกิจคืออะไร ก็มองต่างกัน



          ปัจจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจคืออะไร ก็ต่างกัน อย่างน้อยที่ 4 เรื่องนี้ ทำให้ยุทธภพเศรษฐศาสตร์ มีการประลองกำลังภายใน ขอยกตัวอย่างบางสำนัก จุดกำเนิดของเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ที่เราเรียกกันเศรษฐศาสตร์สำนัก "คลาสสิก" ยุคอดัม สมิธ, เดวิด ริคาร์โด, โรเบิร์ต มัลธัส ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัว ตามกรอบ 4 เรื่อง ยุค อดัม สมิธ ตำราเศรษฐกิจยุคนั้น มองคนเป็นชนชั้น ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะนึกถึงประเทศอังกฤษ ในศตวรรษที่ 18 จะแบ่งเป็นชนชั้นชัดเจน จะมีชนชั้นแรงงาน เจ้าที่ดิน พ่อค้า เชื่อว่าแต่ละชนชั้นมีความเห็นแก่ตัว แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะของตัวเอง แต่ถูกกำหนดจากชนชั้น หมายความว่า เจ้าที่ดินก็มีแนวโน้มที่จะปกป้องที่ดิน ไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะว่าผลประโยชน์ของเค้าถูกกำหนดมาโดยชนชั้น หัวใจของระบบเศรษฐกิจของสำนักนี้คือ มองไปที่การผลิตเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ และสังคมจะเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีการสะสมทุน มีการลงทุน มีการแข่งขันในตลาดกันมากขึ้น


          สำนักที่จะต้องได้เรียนจากมหาวิทยาลัยในวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน คือ เศรษฐศาสตร์สำนัก "นีโอคลาสสิก" มาจากยุคของอัลเฟรด มาร์แชลล์, วิลเฟรโด พาเรโต เป็นต้น อันนี้จะต่างจากสำนักคลาสสิก หน่วยมองโลกจะไม่ใช่ชนชั้นแล้ว จะมองโลกผ่านแว่นตาปัจเจก หมายความว่าเค้ามองโลกประกอบไปด้วย ปัจเจกบุคคลย่อย ๆ แต่ละคนแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะของตัวเอง แต่จะมีเหตุมีผลในการตัดสินใจ ไม่ได้ขึ้นกับชนชั้น นี่เป็นเรื่องของปัจเจกแล้ว และเชื่อว่าหัวใจของเศรษฐกิจ อยู่ที่การแลกเปลี่ยน อยู่ที่การบริโภค การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จาก การแข่งขันจากการเลือกปัจเจกในระบบกลไกในตลาด ทำให้สำนักคลาสสิก ต่างจากสำนักนีโอคลาสสิกออกมา


          มีอีกหนึ่งสำนัก คือ เศรษฐศาสตร์สำนัก "มาร์กซิสต์" ที่นำโดยคาร์ล มาร์กซ์, วลาดิมีร์ เลนิน, หรือเดวิด ฮาร์วีย์ จริง ๆ มีลักษณะคล้ายกับสำนักคลาสสิกค่อนข้างเยอะ คือจะมองโลกเป็นชนชั้นเหมือนกัน มองว่าคนเห็นแก่ตัวเหมือนกัน โดยกำหนดชนชั้น เห็นความสำคัญของการผลิตว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ต่างจากสำนักคลาสลิก ของอดัม สมิธ ตรงที่มองว่า ชนชั้นทำให้เกิดความขัดแย้ง และจะนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งสำนักคลาสสิกก็มองสังคมเป็นชนชั้น และไม่เชื่อว่าชนชั้นจะต้องขัดแย้งกัน แต่สำนักมาร์กซิสต์ บอกว่าชนชั้นสุดท้ายจะต้องขัดแย้งกันในที่สุด ทำให้สำนักมาร์กซิสต์ที่คิดต่างออกมา มีกระบวนท่าเสนอนโยบายต่างเป็นในเรื่องการปฏิวัติสังคมกว่าสำนักคลาสสิก นี่เป็นแค่ 3 ตัวอย่างของสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์ ในยุทธภพเศรษฐศาสตร์ยังมีสำนักอื่น ๆ อีก อย่างน้อย 6 สำนัก คือ สำนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา สำนักออสเตรีย สำนักชุมเพเทอร์ เคนส์ สถาบันนิยม สำนักที่สนใจในเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ และในหนังสือเล่มนี้ก็จะชวนคุย และรู้จัก 9 สำนักนี้ ว่าแต่ละสำนักมีกระบวนท่าต่างกันอย่างไร มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร ซึ่งขอยกตัวอย่างของกระบวนท่า 2 สำนัก คือ



          ยกตัวอย่าง "สำนักนีโอคลาสสิก" ที่เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบัน มองโลกเป็นปัจเจก เชื่อว่ามนุษย์เสมือนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง มีการทำงานผ่านกลไกตลาดเป็นหลักตรรกะอันทรงพลังมาก และสามารถนำทุกอย่างมาประมวลเป็นตัวเลขได้ ผลได้ผลเสียต้นทุนต่าง ๆ นำมาเป็นตัวเลข ทำให้มีพลังในการอธิบายสิ่งที่เข้าใกล้กับสมมุติฐาน หมายความว่าในพื้นที่เศรษฐกิจที่คนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และดำเนินการทางกลไกตลาด เช่น ตลาดหลักทรัพย์ คนแต่ละคนแสวงหาผลประโยชน์ ดำเนินผ่านกลไกตลาด สนใจการเปลี่ยนแปลงของราคาเป็นหลัก สำนักนี้จะอธิบายได้ดี หรือการที่กลุ่มผลประโยชน์เข้าไปวิ่งเต้นกับรัฐบาล เพื่อให้อัตราภาษีสูง ๆ เกิดขึ้นเพราะอะไร สำนักนี้จะอธิบายได้ดี เพราะว่ามีสมมุติฐานแบบนี้ แต่ก็มีจุดอ่อนไม่ต่างจากสำนักอื่น เนื่องจากลดทอนปัจเจกมนุษย์ ชีวิตของมนุษย์เราเหลือเพียงแค่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่แสวงหาผลประโยชน์และละเลยการผลิต เชื่อว่าตลาดจะปรับตัวเองได้ จุดอ่อน เช่น แนะนำนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยากจนในระยะยาว จะไม่สามารถตอบได้ แต่จะอธิบายสิ่งที่เข้าใกล้กับสมมุติฐานได้ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจเกิดวิกฤตคนมักจะไม่มองหาสำนักนี้ คนมักจะมองหาจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ประโยคที่กลายเป็น motto สำคัญของสำนักเคนส์ คือ In the long run we are all dead คือถ้าเราปล่อยให้ตลาดปรับตัว อาจจะปรับตัวได้ในระยะยาว แต่ระยะใกล้ทุกคนก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ แต่ไอเดียและแนวคิดสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สำนักเคนส์มีจุดเด่นต่างจากสำนักนีโอคลาสสิก ก็คือการบอกว่าสิ่งที่ดีกับปัจเจก อาจจะไม่ดีกับส่วนรวมก็ได้ อันนี้สำคัญมาก เมื่อมองโลกแบบสำนักนีโอคลาสสิก หมายความว่ามองโลกเป็นหน่วยปัจเจกแล้ว ก็จะพาคิดไปด้วยว่า สิ่งที่ดีกับปัจเจก สิ่งที่ดีกับตัวเรา ก็น่าจะดีกับสังคมด้วย แต่เคนส์บอกว่าไม่ใช่ หลายอย่างที่ดีกับตัวเรา อาจไม่ดีกับสังคมก็ได้ ยกตัวอย่างตอนที่ประเทศอังกฤษเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดประมาณปี 2011 ที่เดวิดคาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรี และตอนนั้นเศรษฐกิจอังกฤษเริ่มมีหนี้เยอะ เดวิดคาเมรอนก็คิดตามกรอบนีโอคลาสสิกเลย ออกมาประกาศว่าคนอังกฤษ ช่วยกันจ่ายหนี้บัตรเครดิตตัวเองให้หมด ประเทศจะได้กลับมาดีอีกครั้ง เพราะว่า ถ้าเราคิดถึงปัจเจกจะรู้สึกดี เพราะว่าถ้าเราเป็นหนี้เยอะมันไม่ดีแน่นอน เราก็อยากจะผ่อนและไม่อยากเป็นหนี้ ชีวิตปัจเจกของเราย่อมดีกว่า แต่หลังจากเดวิดคาเมรอนพูดไป ไม่นานนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในทีมเศรษฐกิจของคาเมรอน ต้องรีบให้คาเมรอนออกมาขอโทษและเปลี่ยนคำพูดทันที เพราะถ้าเราลองนึกถึงการที่ทุกคนเก็บเงิน ออมเงิน เพื่อไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตของตัวเอง จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้ว เศรษฐกิจจะถดถอยไปยิ่งกว่าเดิม แปลว่าสิ่งที่ดีกับปัจเจกไม่ดีกับส่วนรวมเสมอไป เพราะว่ารายจ่ายของคนหนึ่ง คือรายรับของอีกคนหนึ่ง เงินจะไม่หมุนเลย ถ้าทุกคนไม่มีการใช้จ่าย เช่น ประเทศญี่ปุ่น เจอปัญหาในปัจจุบัน คนใช้จ่ายน้อยลงในระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็มีการหมุนลง เป็นต้น นี่เป็นหัวใจสำคัญของสำนักเคนส์ ที่บอกว่า สิ่งที่ดีกับปัจเจกอาจไม่ได้ดีกับส่วนรวม และทำให้สำนักเคนส์ได้รับการยอมรับในการกลับมาและเป็นแนวคิดในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ที่จะสนใจเรื่องนโยบายการคลังเชิงรุก เน้นการจ้างงาน การสร้างอุปสงค์ แต่ก็มีจุดอ่อนเช่นเดียวกัน เพราะเน้นแต่ตัวแปลมหภาค เน้นแก้ปัญหาวิกฤต แต่ไม่ได้เน้นสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ก็ไม่สามารถแนะนำประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจนได้ว่า ควรจะทำอย่างไรให้ผ่านพ้นวิกฤตให้ได้ นี่เป็นตัวอย่างของ 2 สำนักย่อย ๆ ในยุทธภพเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด ว่ามีจุดอ่อน จุดแข็ง มีวิธีในการมองกระบวนท่าอย่างไร และนี่คือโลกเศรษฐศาสตร์ที่หนังสือเล่มนี้อยากชวนให้มองว่าถ้าเรามองผ่าน 9 สำนัก น่าสนใจ หรือน่าสนุกแค่ไหนที่มองต่างกัน


           ดังนั้น ข้อ 2. ที่เค้าว่ากันว่าทุกปัญหาเศรษฐกิจมีทางแก้เสมอ แต่แก้ไม่ได้เพราะการเมือง ตอบว่า ไม่จริง เพราะว่ามีวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ คิดต่างกันอย่างน้อย 9 แบบ แต่ละแบบมีจุดอ่อน จุดแข็งต่างกัน เก่งกันคนละเรื่อง เก่งกันคนละสถานการณ์ และในสมมติฐานก็มีคุณค่า รวมถึงเรื่องการเมืองแฝงอยู่ ถ้าเชื่อในนีโอคลาสสิก ก็จะเชื่อว่ามนุษย์แสวงหาผลประโยชน์แต่ตัวเสมอ ซึ่งก็ต้องบอกว่าจริงบางกรณี ดังนั้น ก็มีการให้คุณค่าที่ต่างกัน ในหนังสือเล่มนี้ ชารล์ถึงกับเสนอว่า ในแง่ข้อถกเถียงกันทางเศรษฐศาสตร์ ก็ควรถูกนับว่าเป็นข้อถกเถียงทางการเมืองด้วย เพราะว่าถ้าสังคมให้คุณค่ากับบางอย่างก็จะทำให้มีการตัดสินใจว่าสิ่งนี้ดีกว่าทางเศรษฐศาสตร์เป็นทางหนึ่งเสมอ ไม่ได้แปลว่ามีคำตอบหนึ่งเดียวตายตัวเสมอไป ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่ให้และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญ นี่เป็นเรื่องที่สองที่อยากชวนคิดกันต่อ


          นี่เป็นในหนังสือส่วนแรกที่ชวนมาทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ และในยุทธภพเศรษฐศาสตร์มีหลายสำนักวิชาที่มีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้พอเริ่มเข้าใจและนำไปใช้มองทุนนิยม มองประเทศที่กำลังพัฒนา มองการจัดการเศรษฐกิจ เทคโนโลยีในมุมที่กว้างมากขึ้น

          เรื่องที่ 3 เค้าว่ากันว่าระบบทุนนิยม แผ่อิทธิพลไพศาลจนไม่มีประเทศใดต้านทานได้ จริงหรือไม่


          ก็ขอเล่าในเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ต อุดม แต้พาณิชย์ ที่เล่นมุกบนเวทีว่า ทุกวันนี้เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศไทยอยู่ในโลกที่ 3 ประเทศโลกที่ 1 มียุโรป เป็นประเทศที่เจริญและร่ำรวยแล้ว แต่ทำไมไม่มีใครเคยบอกว่า ประเทศโลกที่ 2 อยู่ที่ไหน แล้วเราจะไปโลกที่ 1 กันอย่างไร เราต้องผ่านโลกที่ 2 ก่อนหรือเปล่า ก็ฮากันทั้งฮอลล์


          ผมก็จะกลับมาชวนคุยกันที่รูปนี้ คำว่าประเทศโลกที่หนึ่ง โลกที่สอง โลกที่สาม ซึ่งมาจากยุคสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ ขั้วหนึ่งที่เรียกว่า โลกเสรี หรือประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ก็จะสนับสนุนทุนนิยมระบบของตัวเอง ณ เวลานั้นมีอีกซีกโลก ที่สนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต จีน ส่วนประเทศโลกที่สาม หมายความว่าประเทศอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนาที่ยังไม่ได้เป็นทางเลือก ที่ยังไม่ได้เลือกชัดเจนว่าจะไปทางไหน จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1980 ระบบคอมมิวนิสต์อ่อนกำลังลง การทลายของกำแพงเบอร์ลิน หรือการที่จีนต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจมาเป็นทุนนิยมมากขึ้น ทำให้ประเทศโลกที่ 1 ที่นำโดยประเทศเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ก้าวขึ้นมามีอำนาจ โลกที่ 2 ก็ค่อย ๆ ลดอิทธิพลลงไป โลกที่ 3 ก็เหมือนไม่มีทางเลือกก็เข้าสู่โลกทุนนิยม ทำให้ส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า ทุนนิยมแผ่ไพศาลจนเราไม่สามารถต้านทานได้แล้วจริงหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากการจบของสงครามเย็นเป็นต้นมา ก็ต้องตอบว่า จริง ๆ ถ้าเรากลับไปตั้งคำถามที่พื้นฐานของทุนนิยม ระบบทุนนิยมคืออะไร จริง ๆ แล้วมีกลไกไม่กี่ข้อ คือ เป็นการผลิตเพื่อกำไร ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้ผลิตเพื่อกำไร ให้เอกชนเป็นตัวดำเนินการหลักเป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีระบบกรรมสิทธิ์ การค้าขาย คนซื้อขายได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งของเหล่านั้น และมีการทำงานผ่านกลไกราคา


          หัวใจหลักของทุนนิยมมีหลักแค่ว่ามีการผลิตเพื่อกำไร เอกชนเป็นตัวดำเนินงาน มีระบบกรรมสิทธิ์ มีระบบราคาเป็นตัวกลาง และงานวิชาการก็สนใจคำถามนี้มาก โลกทุนนิยมไปทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งมีความสำคัญมากว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งโลกทุนนิยมเข้าไปก็ไม่มีทางเลือก อยากเป็นประเทศร่ำรวยก็ไปทางนั้น แต่งานวิชาการในช่วงระยะหลังไม่ใช่ มีหลายรูปแบบในหมู่ประเทศร่ำรวยในยุคปัจจุบัน กลุ่มหนึ่ง ใช้คำว่าทุนนิยมแบบตลาดเสรี ที่มีหัวใจเป็นการแข่งขัน การแข่งขันจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นึกถึงภาพอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เศรษฐกิจเหล่านี้ การแข่งขันจะเป็นหัวใจหลัก เครื่องมือทางการเงินส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนผ่านตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจ และภาคแรงงานยังคงเน้นเป้าหมายเข้ามาในระยะสั้น มีอำนาจในการต่อรองราคาสูง ถ้าสมมุติคุณเป็นแรงงาน คุณอยากจะเป็นมนุษย์เงินเดือนสหรัฐอเมริกา คุณจะพยายามหาทักษะที่เรียกว่า General skill ที่คุณสามารถจะย้ายไปลงทุนที่อื่น สามารถย้ายไปธุรกิจอื่นได้ และสามารถต่อรองราคาได้ นี่คือระบบเศรษฐกิจแบบแรก จะเก่งนวัตกรรมบางรูปแบบโดยเฉพาะ เช่น ไบโอเทค หรือเซมิคอนดักเตอร์ แต่จริง ๆ แล้ว ประเทศร่ำรวยยังมีทุนนิยมอีกแบบที่เรียกว่าทุนนิยมแบบตลาดประสานงาน คือมีตลาดเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วหัวใจของการแข่งขัน ไม่ได้รุนแรงเท่า แต่หัวใจอยู่ที่ความร่วมมือกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเดียวกัน นึกถึงประเทศเยอรมันนี ญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน มีการร่วมลงทุน มีการร่วมพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ทำให้แรงงานในประเทศเหล่านี้นี้มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมยาว ส่วนใหญ่จะยาวไปจนตลอดชีวิต ถ้าคุณเริ่มต้นทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มักจะปิดท้ายในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะว่าลักษณะเฉพาะในอุตสาหกรรม มีความร่วมมือกันสูง ประเทศกลุ่มนี้ก็จะเก่งในนวัตกรรมอีกแบบ นวัตกรรมที่ค่อยเป็นค่อยไป เช่น ยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้น ดังนั้น ที่บอกว่าทุนนิยมแผ่อิทธิพลก็จริง แต่ว่างานศึกษาพบว่าอย่างน้อยก็มี 2 แบบ การแข่งขันเป็นหัวใจ หรือความร่วมมือเป็นหัวใจ แล้วที่ทุกวันนี้ได้รับข้อมูลมากขึ้น ในการถกเถียงกันมากขึ้นกับรัฐสวัสดิการ งานวิจัยกลุ่มนี้พบว่า จริง ๆ แล้วสวัสดิการก็ นับเป็นกลุ่มในตลาดประสานงาน เพราะว่าหัวใจเป็นความร่วมมือ เน้นทักษะ ฝีมือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม แต่ว่ามีลักษณะเด่นขึ้นมาในแง่ของ 2 สูง คือ ภาษีสูง สวัสดิการสูงด้วย แต่จริง ๆ แล้ว คือ เป็นรูปแบบย่อย ๆ มีคำถามที่สำคัญมากว่า ประเทศตะวันตกมีทุนนิยมกี่แบบ


          ไปดูรายละเอียดอวัยวะภายในว่า ทุนนิยมทำงานกันอย่างไร ตลาดแรงงานสัมพันธ์กับตลาดการศึกษาอย่างไร สัมพันธ์กับตลาดการเงินอย่างไร ธนาคารยังเป็นหัวใจ ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น ธนาคารเป็นหัวใจหลักในการระดมทุน ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์ หรือการออก Bond เป็นหลัก อภัยวะภายในของทุนนิยมต่างกันทำให้การทำงานต่างกัน


          ดังนั้น ข้อ 3 ที่เค้าว่ากันว่า ระบบทุนนิยมแผ่อิทธิพลไพศาล จนไม่มีประเทศใดต้านทานได้ จริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าถูกครึ่งเดียว เพราะว่า ยังไม่มีโมเดลเศรษฐกิจไหนที่เป็นคู่แข่งที่ขึ้นมาทัดทานกับทุนนิยมได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เหมือนที่ครั้งหนึ่งคอมมิวนิสต์ มีพลังขึ้นมาสู้และพ่ายแพ้ไป แต่ทุนนิยมอยู่รอดได้ ไม่ใช่เพราะว่ามีสูตรสำเร็จที่เป็นอมตะ แต่เป็นเพราะว่าได้แพร่พันธุ์ไปในหลายรูปแบบในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นความหลากหลายของทุนนิยมที่เราพบแม้แต่ในโลกตะวันตก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการออกแบบของแต่ละประเทศ ผลของการดำเนินนโยบายการต่อรองในสังคมนั้น ๆ ดังนั้นที่บอกว่าทุนนิยมแผ่อิทธิพลไพศาลไม่มีประเทศใดต้านได้ก็ถูกอย่างมากแค่ครึ่งเดียว

          เรื่องที่ 4 เค้าว่ากันว่าประเทศอย่างเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ร่ำรวยได้เพราะมีผู้นำเก่งกาจ จริงหรือไม่



         เรื่องนี้อยู่ในเรื่องที่ชื่อหัวข้อว่า East Asian Miracle ปาฏิหาริย์เอเชียตะวันออก ที่เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกอยู่ ๆ ก็พุ่งพรวดขึ้นมา แซงหน้าประเทศอื่น มหัศจรรย์จริงหรือ ดูจากตัวเลข

  • ไต้หวัน ตอนที่เก็บตัวเลขปี 1961 มีรายได้ประชากรต่อหัว 122 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศชิลี ครึ่งหนึ่งของโคลัมเบีย และใกล้เคียงกับโมร็อคโค แต่ 40 ปีต่อมา ปี 2003 รายได้ต่อหัวของไต้หวัน กลายเป็น 13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าโมร็อคโค 10 เท่า สูงกว่าโคลัมเบีย 7 เท่า และสูงกว่าชิลี 3 เท่า
  • เกาหลีใต้ ปี 1961 มีรายได้ประชากรต่อหัวเพียง 82 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ถือว่าเกาหลีใต้ช่วงนั้นรายได้ต่ำเกือบครึ่งของไต้หวัน และกานา และพอ ๆ กับประเทศเคนยา แต่ 40 ปีต่อมา เกาหลีใต้ในยุคที่ทุกท่านหรือผมเด็ก ๆ ไม่มีใครใช้ของเกาหลี แต่ตอนนี้ในรุ่นลูกหรือหลาน ของเกาหลีเป็นอันดับต้น ๆ ปี 2003 เกาหลีใต้มีรายได้12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าเคนยา 30 เท่า และสูงกว่ากานาเกือบ 40 เท่า นี่แหละเป็นที่มาของ คำว่า East Asian Miracle หมายความว่าประเทศอื่น ๆ ก็โต แต่ East Asian โตกว่าประเทศอื่นแบบไม่เห็นหัวเลย ไกลริบมาก จึงได้คำจำกัดความว่าเป็น ปาฏิหาริย์เอเชียตะวันออก และนำไปสู่ข้อถกเถียงเป็นจำนวนมาก ในวงวิชาการและวงนโยบายว่าประเทศเหล่านี้รวยเพราะอะไร เดินตามตลาดเสรีที่เค้าแนะนำกันหรือ หรือระบบเผด็จการสร้างความเจริญเติบโตได้ดีกว่าประชาธิปไตย หรือประเทศเจริญได้เพราะว่ามีคนแบบปักจุงฮี, ลีกวนยู เป็นผู้นำ หรือประเทศพัฒนาต้องสร้างบริษัทระดับโลก แบบซัมซุงเป็นของตัวเอง เมื่อปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามงานวิจัยจำนวนมาก ในโลกนโยบายก็ปั่นป่วน เราจะให้คำตอบอธิบายอย่างไร ว่าจะมีผลต่อการแนะนำประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจน แม้แต่ทุกวันนี้ ถ้าได้ยินคำว่ากับดักรายได้ปานกลาง สุดท้ายก็ต้องกลับมาหาดูว่า East Asian โตได้อย่างไร ประเทศที่หลุดพ้นรายได้ปานกลาง East Asian ก็โดดเด่นเช่นกัน

          ถ้าจะให้ตอบแบบสั้น ๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่า โมเดลการพัฒนาเอเชียตะวันออก คืออะไร ต้องเรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบรัฐนำตลาด หรือ Governing the Market หมายความว่าตลาดยังมีอยู่นะ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่ไม่เอากลไกตลาด ตลาดยังมีอยู่ แต่เอารัฐเข้ามานำ มากำหนดทิศทางตลาด และผมมักจะบอกนักเรียนในคลาส และถ้ามีโอกาสก็มักจะพูดเสมอถึง East Asian Model ต้องเติม s ด้วย หมายความว่า เราไปดูเรื่องย่อย ๆ มีโมเดลเรื่องย่อยหลายอย่าง ไม่สามารถสรุปเป็นตัวเดียวแล้วเป็นสูตรสำเร็จได้


          ตัวอย่าง เกาหลีใต้ ถ้าจะสรุปแบบรวดรัดที่สุด หัวหอกของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ คือบริษัทใหญ่ที่เรารู้จักกันดี ซัมซุง ฮุนได แดวู ทั้งหลาย หัวหอกทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ เติบโตมาพร้อมกับประเทศ และจุดเด่นของการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้ เน้นอัตราการเติบโต ยอมให้เงินเฟ้อสูง เพื่อรักษาอัตราการเติบโต รักษาการจ้างงาน ซึ่งต่างจากประเทศอื่นอย่างไต้หวัน และสิงคโปร์ เราจะรู้ว่าต่างกับเกาหลีใต้ เมื่อถึงจุดที่เงินเฟ้อเริ่มสูง ท่านที่สนใจทางเศรษฐกิจย่อมรู้ดี เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงมาก เงินเฟ้อสูง ผู้กำหนดนโยบายจะมีทางเลือกลดความร้อนแรงลง ทำให้อัตราการเจริญเติบโตมีแนวโน้มลดลงด้วย แต่เกาหลีใต้จะยอมให้เงินเฟ้อสูงเพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้สูง ซึ่งต่างจากโมเดลประเทศอื่น และอีกจุดเด่น คือ เกาหลีใต้ จะกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านเงินกู้นโยบาย สิ่งที่ปักจุงฮี เข้ามา ทำสิ่งแรก ๆ คือ Takeover ให้ธนาคารเอกชนมาเป็นของรัฐหมด กำหนดเงินกู้ผ่านนโยบาย จะให้กู้โดยอุตสาหกรรมที่รัฐเกาหลีใต้กำหนดไว้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ให้เป็นอุตสาหกรรมระดับโลก และจะใช้ผ่านเงินกู้นโยบาย นี่เป็นลักษณะเด่นของเกาหลีใต้ แต่เป็นแค่โมเดลเดียวจึงเรียกว่า East Asian Model


          ไต้หวัน มีหัวหอกทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่ และไม่แปลกที่ไม่ค่อยได้ยินชื่อแบรนด์ของไต้หวัน แต่เป็นประเทศร่ำรวย เพราะหัวหอกเศรษฐกิจของไต้หวันเป็น SME เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ไต้หวันเน้นการเติบโตคู่กับการกระจายรายได้ตั้งแต่ต้น ต่างจากเกาหลีใต้ที่เน้นเติบโตเป็นหลัก Grow First สิ่งอื่นค่อยว่ากัน ค่อยตามแก้ปัญหากัน ไต้หวันจะเน้นตั้งแต่แรก เพราะพรรคก๊กมินตั๋ง ที่เป็นผู้นำพัฒนาอุตสาหกรรมไต้หวัน เป็นคนอพยพที่แพ้สงครามในเมืองจีน แพ้พรรคคอมมิวนิสต์ และได้ถอดบทเรียนจากการแพ้สงคราม เพราะไม่สามารถซื้อใจชาวนาได้ เมื่อยกพลมาที่เกาะไต้หวัน สิ่งแรก ๆ ที่ทำคือปฏิรูปที่ดินอย่าง Transformative คือต้องซื้อใจชาวนาให้ได้ เพื่อปฏิรูปภาคเกษตร และต้องกระจายรายได้ด้วย เนื่องจากพรรคก๊กมินตั๋งปล่อยให้เงินเฟ้อสูง ตอนที่อยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และแพ้สงคราม ทำให้คนไม่พอใจกับนโยบายมาก เมื่อมาที่เกาะฟอร์โมซ่า จึงปรับนโยบายใหม่ เน้นการเติบโตคู่กับการกระจายรายได้ตั้งแต่ต้น และอีกจุดเด่นของไต้หวัน ที่ดำเนินนโยบายแบบนี้เพราะต้องการสร้างสถาบันวิจัยที่เน้นเทคโนโลยีที่ธุรกิจขนาดเล็กนำไปใช้ได้ เทคโนโลยีที่บริษัทซัมซุงต้องการกับเทคโนโลยีธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME ต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้น รัฐจะต้องมีทิศทางการลงทุนในเทคโนโลยีให้เหมาะกับบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้เลย  


          สิงคโปร์ ยิ่งซับซ้อน หัวหอกเศรษฐกิจสิงคโปร์คือใคร ก็ต้องตอบว่ามี 2 ขา ขาแรกอย่างที่ทราบกันดี สิงคโปร์เปิดเสรีให้ต่างประเทศเข้าลงทุนได้ แต่มีอีกขาที่คนไม่ค่อยทราบคือ รัฐวิสาหกิจ หรือถ้าเรียกภาษาเทคนิค Government link Company เช่น Temasek ที่เป็น Holding มีอิทธิพลสูงมากในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ หรือการจัดการเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมหลัก ๆ อุตสาหกรรมน้ำ ไฟ ธนาคาร แอร์ไลน์ รัฐบาลสิงคโปร์จะดำเนินการผ่านตรงนี้ ดังนี้ ขาแรกคือการเปิดเสรีให้กิจการต่างชาติ แต่อีกขาเค้ารู้ว่าต้องใช้รัฐวิสาหกิจเข้าไปควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นการเติบโตคู่กับเสถียรภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง จุดเด่นอีกอย่างคือ สิงคโปร์จะเปิดเสรีแบบมียุทธศาสตร์เสมอ และเน้นเทคโนโลยีเชิงการผลิตเช่นเดียวกันกับไต้หวัน เราจะไม่ค่อยเห็นแบรนด์สิงคโปร์มาก แต่จริง ๆ เวลาที่เค้าจะดึงดูดให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุน เค้าจะมีเทคโนโลยีเชิงการผลิต ถ้าจะแบ่งเทคโนโลยีมีอยู่ 2 แบบ คือ เทคโนโลยีของ Product และเทคโนโลยีของ Process สิงคโปร์ช่วงแรกจะเน้นเทคโนโลยีด้าน Process เพื่อให้กิจการต่างชาติเข้ามาลงทุน แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีกันไปก็จะเกิดมูลค่าเพิ่ม เป็นอีกโมเดลของการพัฒนา ดังนั้น ที่เราเรียกว่า East Asian Model  ต้องเติม s ให้ เพราะว่ามีความหลากหลายข้างใน


          ดังนั้น เค้าว่ากันว่าข้อที่ 4 ว่าประเทศเกาหลีใต้ และสิงค์โปร์ ร่ำรวยได้เพราะมีผู้นำเก่งกาจ จริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าถูกไม่ถึงครึ่ง แน่นอนว่าการมีผู้นำเก่งดีกว่ามีผู้นำไร้ความสามารถ ไม่เคยมีประเทศไหนที่ร่ำรวยได้ด้วยการมีผู้นำที่ดีเพียงอย่างเดียว ผมย้ำเสมอว่าในทางนโยบายส่วนผสมที่ลงตัว สำคัญกว่าสูตรสำเร็จอย่างเกาหลีใต้ ถ้าพรรคก๊กมินตั๋งไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนพ่ายแพ้ ก็คงไม่อยู่ใน SME จริง ๆ แล้วการจะหนุนประเทศให้เป็นหัวหอกใหญ่ง่ายกว่า SME เพราะ SME มีเป็นจำนวนมาก ต้องใช้เทคโนโลยีอีกแบบเหมือนบริษัทใหญ่ที่เกาหลีใต้เลือกใช้ง่ายกว่า แต่ไต้หวันลงตัวเพราะเค้าระแวงทางการเมืองด้วย เพราะเค้าเป็นคนนอกอพยพมา มีแรงจูงใจทางการเมืองด้วย ดังนั้น จึงได้ส่วนผสมที่ลงตัวในแบบไต้หวันโมเดลอีกแบบ ดังนั้น ผมเลยเน้นว่าจริง ๆ แล้วต้องเข้าใจในส่วนผสมนโยบาย สำคัญกว่าที่จะมีสูตรสำเร็จเพียงบรรทัดเดียว ว่าควรจะพัฒนาด้วยอะไร


          เค้าว่ากันว่า ข้อที่ 5 ปล่อยให้ธุรกิจเอกชนทำอะไรก็ได้ แล้วประเทศจะพัฒนาเอง จริงหรือไม่ ประโยคนี้ภาคเอกชนชอบแน่นอน ถ้าเราคิดต่อว่าประโยคนี้แบ่งได้ออกเป็นกี่ส่วน จะพบว่าแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน 2 สมมุติฐาน


          ชุดที่หนึ่ง ปล่อยให้ธุรกิจเอกชนมีอิสระ เพราะธุรกิจเอกชนเค้าอยู่รอดได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากแข่งขันได้ หากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซง มายุ่งวุ่นวายก็คือการทำลายการแข่งขัน ดังนั้น ยิ่งปล่อยให้แข่งขัน ก็ยิ่งดีกับเศรษฐกิจ นี่คือวิธีคิดฐานคิดชุดที่หนึ่งของประโยคนี้ ส่วนชุดที่สองที่เป็นฐานคิดของวิธีนี้ก็คือ หากปล่อยให้เจ้าของธุรกิจหรือเศรษฐีมีเงินมากขึ้น สุดท้ายพวกเค้าจะลงทุนมากขึ้น ถ้าเค้าได้เงินมากขึ้น ก็จะบริโภคมากขึ้น ส่งผลดีกับเศรษฐกิจทั้งระบบ หรือในทางเทคนิค มีคำว่า Trickle-down economics หรือรายได้จะไหลจากบนลงล่าง โดยอัตโนมัติ ลดภาษีให้กับคนรวย แล้วคนรวยจะใช้จ่ายให้มากขึ้นจะดีกับเศรษฐกิจทั้งระบบ นี่เป็นวิธีคิดฐานคิดชุดที่สอง


          มาดูกันต่อว่ามีปัญหาอย่างไร สมมุติฐานชุดแรกที่บอกว่าเอกชนอยู่ได้เพราะมีการแข่งขันจริงหรือไม่ ต้องตอบว่า ไม่ใช่ เพราะว่ามีตลาดผูกขาดเต็มไปหมด ตลาดผูกขาดรายใหญ่เดิมอาจจะมีอิทธิพลทางการเมือง ได้รับประโยชน์บางอย่าง มีการกีดกันการค้าเรียกว่ามีอำนาจเหนือตลาด อำนาจเหนือตลาดคือสามารถกำหนดราคาได้ ถ้าเค้าสามารถได้รับสิทธิ์ในการผลิตสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งผู้เดียวในประเทศ ก็จะมีอำนาจในการกำหนดราคา กำหนดปริมาณ เพื่อที่จะมีอำนาจในการครอบครองตลาด แม้แต่เครือข่ายการค้า ทุกวันนี้ ประเทศอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นจุดกำเนิดของทุนนิยม จะพบว่าบริษัทเทคโนโลยีที่เราเรียกกันว่า Tech firm เช่น Google หรือ Facebook  มีอิทธิพลต่อการบริโภคสินค้าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สหภาพยุโรปเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญนำนโยบายการแข่งขันทางการค้าเข้ามาจัดการบริษัทเหล่านี้  มีการปรับเงินเป็นจำนวนมาก ทุกท่านคงเคยใช้มือถือเปิด Social Media ไว้ แล้วเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า มือถือก็ทักขึ้นมาว่า มีร้านน่าสนใจ หรือเข้าไปในสนามบิน ไม่ทันที่จะเดินเข้าไป มือถือก็ทักว่าในสนามบินมีบริการนี้ให้คุณ อย่างนี้แปลว่าอะไร แปลว่าเค้าเข้ามากำหนดพฤติกรรมการบริโภคของเราได้มากขึ้นแล้ว แทนที่เราจะเดินไปหาร้านค้าที่ราคาถูก หรือร้านที่เราตั้งต้นแต่เดิม เราอาจจะเบี่ยงไปร้านค้าใหม่ที่เค้าแนะนำมา บางทีถึงขั้นบอกว่า 3 วันที่แล้วเพื่อนคุณมาร้านนี้แล้ว นี่ยังไม่นับการคุยใน Massage สุดท้าย สมมติว่าผมคุยเรื่องซื้อรถกับเพื่อนใน Massage ยี่ห้อ A ปรากฏว่าวันต่อมา Feed รถยี่ห้อ B มาเต็มหน้าเลย ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะครับ ในสหภาพยุโรปพบแล้วว่า Tech firm พยายามทำอย่างนี้จริง และมันมีผลต่อการกีดกันทางการค้า ผู้เล่นรายใหม่จะเข้ามายากมาก นวัตกรรมมีโอกาสเกิดน้อยลง เพราะการแข่งขันไม่เป็นธรรม ดังนั้นในนามของการแข่งขันนี่แหละ ที่ทำให้ภาครัฐในนามของสหภาพยุโรปเข้ามาจัดการ เข้ามาควบคุม เข้ามาปรับเงิน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น Grap Taxi, Uber จะควบรวมกันทำง่ายที่สุดคือประเทศนี้ล่ะครับ ประเทศสิงคโปร์ที่ว่าเป็นการค้าเสรี ปรับเงินมโหฬาร ประเทศอย่างเวียดนามยังปรับเงินมโหฬาร ถือว่าคุณทำลายการแข่งขัน คุณอาจจะไปทำงานอย่างอื่นได้ ถือว่าคุณสร้างต้นทุนให้กับสังคมแล้ว ก็ต้องปรับเงินเพื่อเอาเงินมาส่งเสริมการแข่งขัน หรือเพื่อกระตุ้นผู้เล่นรายใหม่ อันนี้เกิดขึ้นแล้ว การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมมีในทุกตลาด เช่น ตลาดอาหารใน Street food เราจะเห็นการแข่งขันมโหฬาร แต่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือ Text frim การแข่งขันน้อยลง ดังนั้น เพื่อที่จะต้องการสนับสนุนการแข่งขัน รัฐโดยเฉพาะในยุโรปจึงเข้ามาจัดการให้รักษาการแข่งขัน กระตุ้นการแข่งขันให้เกิดขึ้น ดังนั้น สมมุติฐานชุดที่ 1 ยังมีปัญหา


          สมมุติฐานชุดที่ 2 ที่เค้า เรียกว่าเศรษฐกิจแบบไหลจากบนลงล่าง ถ้าเราช่วยให้คนรวยหรือเจ้าของกิจการได้รับการลดภาษี ได้รับเงินมากขึ้นแล้ว จะดีกับทุกคนเองจริงหรือไม่ ก็ต้องบอกแนวคิดนี้มีพลังสำคัญมากในการกำหนดนโยบาย ทิศทางของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยก็ 2 ทศวรรษ 1980 - 1992 แต่กลับพบว่าสร้างความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในประเทศ แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ก็ลดทอนการแข่งขันในภาคธุรกิจไปด้วยซ้ำ เพราะว่างานวิจัยจำนวนมากพบว่า ถ้าสมมติเราเปรียบเทียบสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใกล้ ๆ กัน อย่างประเทศญี่ปุ่น กับสหรัฐอเมริกา จะพบว่าประเทศที่เท่าเทียมกันมากกว่า อย่างญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า และมีแนวโน้มปัญหาทางสังคมน้อยกว่าด้วย มีงานวิจัยศึกษารองรับอย่างชัดเจน ถ้าขนาดเศรษฐกิจเท่า ๆ กันแล้ว ถ้าเท่าเทียมหรือเหลื่อมล้ำน้อยกว่า จะโตได้ไกลกว่าและปัญหาสังคมจะน้อยลงมาก อย่างอาชญากรรมของวัยรุ่น จิตเภท อัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น โลกอ้วน สูงตามไปด้วยในประเทศเหลื่อมล้ำสูง ถ้าเทียบกับประเทศเศรษฐกิจใกล้ ๆ กัน แต่เหลื่อมล้ำน้อยกว่า และยังพบว่าความเหลื่อมล้ำถ้าไม่มีรัฐเข้ามาดำเนินนโยบายบางอย่างจะไม่สามารถแก้ไขได้ ยากมากที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลงไปโดยธรรมชาติ ต้องมีนโยบาย ถ้าไม่มีความเหลื่อมล้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกสังคม เพราะว่าประเทศที่เรารู้สึกว่ารัฐเป็นสวัสดิการที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าเราดูอัตราภาษีก่อนที่จะหักภาษี ก็จะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ระบบภาษีเข้ามาแทรกแซง เพื่อมาทำให้เหลื่อมล้ำน้อยลง ให้เท่าเทียมกันมากขึ้น หลังจ่ายภาษีไปแล้ว คนรวยอาจจ่ายมากกว่าคนจนอย่างนี้เป็นต้น  ดังนั้น จำเป็นต้องมีนโยบายเข้ามา แน่นอนคือจัดการยาก แต่ก็อย่าลืมว่าปัญหาความยากจนเมื่อ 40 ปี 50 ปีก่อนก็เป็นปัญหาโลกแตกที่ทำไม่ได้เหมือนกัน ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาของศตวรรษนี้ แต่ก็คล้ายกับความยากจนที่เคยเป็นปัญหาโลกแตก แต่แน่นอนว่าต้องมีกลไกจัดการบางอย่าง ไม่งั้นจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหามากขึ้น


     ดังนั้นที่เค้าว่ากัน ข้อที่ 5 ปล่อยให้ธุรกิจเอกชนทำอะไรก็ได้ แล้วประเทศจะพัฒนาเอง จริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่จริง เพราะทุนนิยมที่ดีคือทุนนิยมที่มีการแข่งขัน และประเทศที่กำลังพัฒนามีปัญหาตลาดผูกขาดสูง รัฐบาลยังจำเป็นต้องมีบทบาทเข้ามาจัดการ และที่บอกว่าเศรษฐกิจไหลจากบนลงล่าง จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้สังคม สังคมที่เท่าเทียมเติบโตเร็วกว่า มีคุณภาพมากกว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำ


          เค้าว่ากันว่า ข้อ 6 จะสร้างไทยแลนด์ 4.0 ต้องสร้างคนอย่างสตีป จ๊อปส์ เยอะๆ ก็คือสร้างคนเก่งที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีเยอะ ๆ  จริงหรือไม่


          ยุคนี้เราจะได้ยินคำพวกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ  Start Up, Tech Firms, Disruption, ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็จะชวนกลับมาคิดว่าจริง ๆ แล้วมีรากฐานในการคิดมานานแล้ว ตั้งแต่นักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า โจเซฟ ชุมเพเทอร์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เป็นคนแรก ๆ ที่มาพูดถึงเรื่องนี้ เสนอว่าทุนนิยมถูกขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เป็นคนแรก ๆ ที่นำคำว่า นวัตกรรม มาอธิบายพลวัตของทุนนิยม และให้คำจำกัดความของคำว่าทุนนิยม Creative Destruction การทำลายล้างที่สร้างสรรค์ที่ใช้กันในอยู่ทุกวันนี้ และเป็น Motto สำคัญของวงการเทคโนโลยี ว่าจะต้องสนับสนุนให้เกิดการทำลายที่สร้างสรรค์ ถ้าบริษัทที่เข้ามาใหม่มีนวัตกรรมดีกว่าก็จะสามารถทำลายบริษัทเก่าได้ เพราะว่าจะดีกับสังคมและเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปได้ มาจากแนวคิดของชุมเพเทอร์ ซึ่งน่าสนใจมาก ชุมเพเทอร์นำเอาแนวคิดของมาร์กซ์มาต่อยอด คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่าทุนนิยมจะล่มสลาย ชุมเพเทอร์บอกว่าการแข่งขันด้านนวัตกรรมสำคัญมาก ไม่มีบริษัทใหญ่รายใดที่อยู่ได้ถาวร ต้องหันมาดูนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมคือหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ นวัตกรรมเกิดจากอะไร ชุมเพเทอร์บอกว่านวัตกรรมเกิดจากผู้ประกอบการที่มีพรสวรรค์ ที่กล้าเสี่ยง ที่กล้าลงทุน ที่กล้าทดลอง


         ชุมเพเทอร์พูดถูกหมด ผิดข้อเดียวคือการทำนายว่าสุดท้ายทุนนิยมก็จะล่มสลาย เพราะทุนนิยมพัฒนาไปเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง องค์กรต่าง ๆ มีแนวโน้มเป็นระบบราชการที่เคลื่อนไหวไม่ได้ คล่องตัวไม่ได้ คนจะไม่ค่อยกล้าเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น แม้ชุมเพเทอร์จะเห็นด้วยและสนับสนุนนวัตกรรมผู้ประกอบการที่มีพรสวรรค์ แต่ชุมเพเทอร์ฟันธงไปว่า สุดท้ายทุนนิยมจะล่มสลาย ซึ่งทำให้ชุมเพเทอร์ทำนายผิด ซึ่งไม่แปลกในบริบทของยุคนั้น ที่มองว่านวัตกรรมในอดีตเป็นเรื่องของพรสวรรค์ส่วนบุคคล ถ้าเรานึกถึงสิ่งประดิษฐ์ยุคแรก ๆ เช่น เครื่องจักรไอน้ำ เราจะได้ยินชื่อคนที่เป็นนักประดิษฐ์ของนวัตกรรมนั้น ๆ แต่ถ้ายุคหลัง ๆ เราจะได้ยินชื่อคนน้อยลงแล้ว แปลว่านวัตกรรมมันยังอยู่ ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่เปลี่ยนจากจุดกำเนิดที่เป็นเรื่องของพรสวรรค์ ของนักประดิษฐ์บางคน กลายเป็นเรื่องขององค์กร กลายเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม กลายเป็นเรื่องของเครือข่ายองค์กรนโยบายรัฐ แม้แต่การแข่งขันระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างง่าย ๆ สิ่งที่เราเรียกระบบ Just in time ในญี่ปุ่นก็นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญมาก Just in time  หมายความว่าแทนที่บริษัทรถยนต์จะต้องเก็บ stock อะไหล่รถยนต์ไว้จำนวนมาก เช่น ถ้าวันนี้จะผลิตโตโยต้ารุ่นนี้ ไม่ต้องเก็บ stock ก็ให้ supplier ที่ทำงานอยู่แล้วส่งชิ้นส่วนเข้ามา ก็จะลดต้นทุนมหาศาล ลดความสูญเสียที่เกิดระหว่างทาง นี่เป็นนวัตกรรมที่แทบจะไม่มีชื่อคนคิด หมายความว่าคือทำงานร่วมกันเป็นทีมมาก เกิดจากการทำงานตั้งแต่ระดับ Shop Floor ระดับคนที่ทำงานในโรงงาน มาระดมสมองกันแล้วคิดว่าแก้แล้วจะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ที่ว่า Just in time ได้อย่างไร แต่ถ้าถามว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนงานกับผู้จัดการ เป็นเพราะว่า supplier ทำงานกับโรงงานยาวนานมาเป็น 10 ปี รู้ใจกัน รู้คุณภาพไม่ต้องมาตรวจคุณภาพซ้ำ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีสินค้าเสียมากมาย เป็นต้น แปลว่ามันมีรากฐานของการทำงานเป็นทีมสูง และนี่คือที่มา ดังนั้นนวัตกรรม เทคโนโลยียุคใหม่ ยุคปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม เครือข่ายการผลิต เป็นเรื่องของสังคมแทบจะทั้งสังคม เพราะว่าเชื่อมโยงตั้งแต่การแข่งขันระดับโลก ว่าทำไมเราต้องปรับตัว ไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่า ความกล้าเสี่ยงของคนในสังคม สุดท้ายนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่คนกล้าเสี่ยง คนรู้สึกว่าลองดูหน่อยถ้าเสี่ยงไปแล้วเสียหมดตัว เค้ายังรู้สึกว่ามี safety ยังมีบางอย่างที่เค้าสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเค้าสามารถคิดค้นขึ้นมาและขายลิขสิทธิ์ได้ ก็จะร่ำรวยมหาศาล สังคมแบบนี้คนจะรู้สึกว่าพร้อมที่จะเสี่ยง ที่จะทดลอง พร้อมที่จะระดมสมองทำงานกันเป็นทีมมากขึ้น ดังนั้น ในปัจจุบันนวัตกรรมจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของพรสวรรค์ส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ชุมเพเทอร์ ทำนายผิด ชุมเพเทอร์เชื่อมั่นในนวัตกรรม แต่ไปผูกว่านวัตกรรมเกิดจากพรสวรรค์รายบุคคล จึงคิดว่าสุดท้ายทุนนิยมจะล่มสลายลง แต่จริง ๆ แล้วนวัตกรรมได้แปรรูปไปแล้วเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีมมากขึ้น


          ตัวอย่างที่ตอนนี้กลายเป็นที่สนใจในสังคมไทย ว่าในยุค  Disruption ทรศัพท์ Nokia และ Ericsson ปรับตัวไม่ได้ ตายจริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่จริง เพราะทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือที่ใช้ เป็นกระบวนการผลิตที่ข้ามชาติ โทรศัพท์มือถือของท่านเดินทางมาแล้วทั่วโลก อาจจะเริ่มต้นที่ประเทศนี้ ไปทำต้นแบบประเทศนี้ เอาชิ้นส่วนจากนี่ ไปประกอบที่โน่น ก่อนที่จะส่งมานี่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องของเครือข่ายระหว่างประเทศ เป็นห่วงโซ่การผลิต ตั้งระบบมาตรฐานพื้นฐาน มีงานวิจัยและการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ มีการผลิตชิ้นส่วนหลัก ไปจนถึงการประกอบขั้นสุดท้าย แต่ละโมเดลของมือถือใช้เครือข่ายทั่วโลกทั้งนั้น หาที่ที่ดีที่สุด หาที่ที่ลงตัวที่สุด แต่ละส่วนได้รับมูลค่าเพิ่มไม่เท่ากัน แน่นอนการประกอบขั้นสุดท้าย ได้เงินมโหฬาร แต่ว่าสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่คิดจากต้นทุนก็ยังต่ำ Apple ยังคงได้กำไรสูงอยู่ แต่ถามว่า Nokia และ Ericsson เราจะไม่ได้เห็นแล้ว ในนามของแบรนด์มือถือที่เราใช้กันเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ได้ผันตัวไปอยู่ในต้นน้ำ ไปทำระบบมาตรฐานพื้นฐาน อย่าง Ericsson ปัจจุบันเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สิทธิบัตรหลายหมื่นรายการ มีรายรับที่ผ่านมาปีละ 1,600 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากการครอบครองสิทธิบัตรต้นน้ำ เราจะไม่เห็นเค้าอยู่ที่ปลายน้ำ ไม่เห็นแบรนด์เค้า แต่จริง ๆ แล้วยังกุมเทคโนโลยี และปรับตัวไปสู่จุดนั้น ก็แปลว่าเทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณเห็นเป็นแบรนด์เท่านั้น จึงจะแปลว่าเค้าเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ขึ้นกับว่าเค้าอยู่จุดไหนและรักษามูลค่าเพิ่มในจุดนั้นได้ไหม


ดังนั้น ข้อที่ 6 เค้าว่ากันว่า จะสร้างไทยแลนด์ 4.0 ต้องสร้างคนอย่างสตีป จ๊อปส์ เยอะๆ ไม่น่าจะถูก เพราะว่าพรสวรรค์เฉพาะตัวมันก็ดี อาจจะประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์บางอย่างได้แน่นอน แต่ว่าการยกระดับเทคโนโลยีทั้งสังคม ประเทศเป็นเรื่องของสังคม เราต้องการสังคมเปิด กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ปัจเจกบุคคลกล้าเสี่ยง กล้าทดลอง และอย่าลืมว่านวัตกรรมที่เราพูดถึงกันมีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การมีแบรนด์ไม่ได้การันตีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับว่าคุณรักษามูลค่าเพิ่มจุดใดของเทคโนโลยีทั้งหมดได้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการพูดถึงนวัตกรรมในยุคปัจจุบัน

 


เค้าว่ากันว่า ข้อ 7 หนังสือเศรษฐศาสตร์อ่านยากทุกเล่ม จริงหรือไม่ เกือบจริง มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ถ้าคุณลองมองหาทางเลือก ถ้ามีคำว่าทางเลือกอยู่บนปก เพื่อความเป็นธรรมจะต้องมีดอกจัน จริง ๆ ก็ไม่ได้อ่านง่ายสักเท่าไหร่หรอกครับ แต่ว่าอ่านสนุกแน่นอน สนุกอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าเราต้องการความง่ายไปมากกว่านี้นะครับ แต่ว่าความสนุกทำให้ชีวิตมันเร้าใจขึ้นนะครับ


หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณสนุกไปกับการท่องโลกเศรษฐกิจมุมมองใหม่ อย่างที่ชวนคุยกันมา 6 เรื่อง ซึ่งสรุปพื้นฐานมาจากหนังสือทั้งนั้น ทำให้เรามองเศรษฐกิจในมุมมองใหม่ สนุกมากขึ้น เกี่ยวข้องกับตัวเรามากขึ้น นำไปใช้อธิบาย แม้แต่ทำเศรษฐกิจทำธุรกิจของเราได้มากขึ้น

ข้อ 1. ประวัติศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์

ข้อ 2.  มีวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ต่างกัน 9 แบบไม่ต่างอะไรจากยุทธภพในหนังจีนกำลังภายใน เศรษฐศาสตร์ก็มียุทธภพเศรษฐศาสตร์ที่มีหลายสำนักเหมือนกัน

ข้อ 3. ทุนนิยมอยู่รอดได้เพราะปรับตัวไปหลายรูปแบบ ไม่ใช่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มีอย่างน้อย ๆ 2 แบบประเทศร่ำรวย 2 โมเดล

ข้อ 4. เอเชียตะวันออก  ใช้รัฐนำตลาดจริง แต่ว่ามีหัวหอกและส่วนผสมต่างกัน คือเอารัฐนำตลาด แต่ว่านำไปคนละทิศทาง

ข้อ 5. รัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการแข่งขันในตลาด เราไม่สามารถปล่อยให้ธุรกิจเอกชนทำอะไรก็ได้ เพราะไม่ได้การันตีว่าการแข่งขันจะมากขึ้น นวัตกรรมมันจะมากขึ้น รัฐยังมีบทบาทสำคัญที่จะกระตุ้นและรักษาการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนทั้งสังคม

ข้อ 6. การยกระดับเทคโนโลยี เป็นเรื่องการปรับตัวทั้งสังคม เป็นเรื่องของการวางตำแหน่งของประเทศ ว่าประเทศในแต่ละอุตสาหกรรม ว่าประเทศเราควรจะอยู่ในจุดไหนของอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์ทุกอย่าง แต่จะอยู่จุดไหนที่มีมูลค่าเพิ่ม และรักษามูลค่าเพิ่มไว้ได้ อันนี้สำคัญกว่า 

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้