แนะนำ

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ปี 2540

เผยแพร่13 ธ.ค. 2018

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือเรียกทั่วไปในประเทศไทยว่า "วิกฤติต้มยำกุ้ง" เริ่มขึ้นในประเทศไทย และส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในเอเชีย

จาก "รายงานสรุปและเสนอแนะ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ" ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (ศสปป.) ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2545 ได้สรุปถึงสาเหตุการเกิดวิกฤตการณ์ฯ ดังกล่าวไว้ว่า เป็นผลมาจากหลายปัจจัยที่ทำงานร่วมกันได้แก่

  1. เศรษฐกิจมีความอ่อนแอเปราะบาง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และระบบการเงินที่ยังพัฒนาไม่เพียงพอแต่มีการเปิดเสรี
  2. เกิดความเสี่ยงใน 2 ด้านคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตค่าเงิน กับความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตในระบบการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจาการการทำงานร่วมกันของปัจจัย 2 ประการคือ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระบบการเงินที่ยังพัฒนาไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจมีความอ่อนแอเปราะบางในตอนแรกนั่นเอง
  3. ผลกระทบทางลบที่มีต่อเศรษฐกิจ จะทำให้ความเสี่ยงกลายเป็นวิกฤตอย่างแท้จริงขึ้นได้ โดยผลกระทบดังกล่าวที่สำคัญได้แก่ (1) การลดน้อยถอยลงของผลตอบแทน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการผลิตเพิ่มในอัตราถดถอยลงไปเรื่อย ๆ (2) มีปัญหาดุลการค้ามากขึ้น และ (3) เศรษฐกิจภายในขาดเสถียรภาพ
  4. ผลกระทบทางลบดังกล่าว จะทำให้เกิดวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะเป็นสาเหตุของวิกฤตสำคัญอีกประการหนึ่งด้วยคือวิกฤตสถาบันการเงิน
  5. วิกฤตของสถาบันการเงินนำไปสู่การล้มละลายของสถาบันเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนล้มตามไปด้วย

ลำดับเหตุการณ์สำคัญและมาตรการของทางการโดยสังเขป

2540

มีนาคม                      
ทางการประกาศว่ามีบริษัทเงินทุน 10 แห่ง จำเป็นต้องเพิ่มทุนภายในเวลาที่กำหนด มีการประมาณอย่างเป็นทางการว่าสถาบันการเงิน 2 แห่ง ประสบปัญหาและจะมีมาตรการช่วยเหลือโดยเพิ่มทุนจดทะเบียน

มีนาคม – มิถุนายน        
มีข่าวลือว่าบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 66 แห่ง รับเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยและข่าวเงินทุนต่างประเทศไหลออกอย่างชัดเจน

มิถุนายน                    
ทางการประกาศให้บริษัทเงินทุน 16 แห่ง หยุดดำเนินการ และประกาศรับประกันผู้ฝากและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่เหลือ

กรกฎาคม                     
ทางการประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทำให้เงินบาทลดค่าลงทันทีร้อยละ 15-20

สิงหาคม                      
ทางการประกาศให้บริษัทเงินทุนฯ อีก 42 แห่งหยุดดำเนินการ และประกาศมาตรการที่จะเสริมสร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงิน

สิงหาคม                       
รัฐบาลไทยได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือยามจำเป็นระยะเวลา 3 ปี (Three year Stand-by Arrangement) จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund)

ตุลาคม                         
ทางการประกาศกลยุทธ์รื้อปรับโครงสร้างภาคสถาบันการเงิน โดยตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) เป็นหน่วยงานที่จะช่วยแก้ไขและจัดการสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา

ตุลาคม                          
รัฐบาลออกพระราชกำหนดฉุกเฉินเพื่อเร่งให้มีการปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน

ธันวาคม                          
มีคำสั่งปิดกิจการบริษัทเงินทุนเป็นการถาวร 56 แห่ง จากทั้งหมด 58 แห่งที่ถูกทางการสั่งระงับกิจการชั่วคราว

2541

มิถุนายน                         
คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการ

สิงหาคม                          
ทางการประกาศโครงการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินขนาดใหญ่ รวมทั้งการอุดหนุนเงินทุนจากรัฐ  
ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการแทรกแซงธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง และบริษัทเงินทุนอีก 5 แห่ง ที่มีปัญหาให้มีการลดทุนหรือสัดส่วนผู้ถือหุ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแนวทางฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ถูกแทรกแซง โดยผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับชำระคืนเมื่อครบกำหนด

ธันวาคม                           
ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อบังคับตั้งสำนักงานคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (สปน.)

Resources in the Library

Recommended

 

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ. (2541). รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ. (2542). รายงาน ศปร. ฉบับสมบูรณ์ : รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษากรณีภาษีอันพึงต้องชำระให้แก่รัฐของบริษัทห้างร้านหรือบุคคลที่รับโอน/ โอนทุกช่วงอันเกิดจากการจำหน่ายสินทรัพย์ของ ปรส. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษากระบวนการจัดตั้งและการดำเนินงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.). กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษากระบวนการและวิธีการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษากระบวนการและวิธีการในการจัดการทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.). กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษาการสั่งให้สถาบันการเงิน 56 แห่ง ปิดทำการถาวร. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษาการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษาการโอนหนี้เอกชนมาเป็นหนี้สาธารณะ. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษาโครงการแทรกแซงกิจการธนาคารพาณิชย์ในช่วงวิกฤตการณ์ และนโยบายหาผู้ลงทุนใหม่. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานผลการศึกษาโครงการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน. กรุงเทพฯ: ศสปป.

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของ ประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ. (2547). รายงานสรุปและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: ศสปป.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2545). 60 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 – 2545. กรุงเทพฯ: ธนาคารฯ.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. สายปรับปรุงโครงสร้างหนี้. (2544). ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ : บทเรียนและประสบการณ์จากวิกฤติเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯ: ธนาคารฯ.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน. (2558).  30 ปี กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน. กรุงเทพฯ: บริษัท ฮีซ์

ลงทะเบียนรับข่าวสาร
ใส่อีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร
ธปท. จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของท่าน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. อนึ่ง ท่านมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ข้าพเจ้าให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวของข้าพเจ้าตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้