ธนบัตรไทย
ก่อนที่จะมีการนำธนบัตรเข้ามาใช้ร่วมกับเงินตราชนิดอื่น ๆ ในระบบการเงินของประเทศ ชนชาติไทยได้ใช้หอยเบี้ย ประกับ (ดินเผาที่มีตราประทับ) เงินพดด้วง ปี้กระเบื้อง และเหรียญกษาปณ์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติและเปิดเสรีทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถผลิตเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราหลักในขณะนั้นได้ทันต่อความต้องการ ทั้งยังมีผู้ทำเงินพดด้วงปลอมออกใช้ปะปนในท้องตลาด จนเป็นปัญหาเดือดร้อนกันทั่วไป ในพุทธศักราช ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดแรกขึ้นใช้ในระบบเงินตราของประเทศ เรียกว่า หมาย
ต่อมาระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๕ - ๒๔๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดปัญหาเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาต่ำซึ่งเป็นเงินปลีกที่ทำจากดีบุกและทองแดงขาดแคลน ประกอบกับมีการนำ ปี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนเงินในบ่อนการพนันมาใช้แทนเงินตรา ในพุทธศักราช ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดราคาต่ำเรียกว่า อัฐกระดาษ ให้ราษฎรได้ใช้จ่ายแทนเงินเหรียญที่ขาดแคลน แต่อัฐกระดาษก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เช่นเดียวกับหมาย
เงินกระดาษชนิดต่อมา คือ บัตรธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศสามธนาคารที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน ได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๒, ๒๔๔๑, และ ๒๔๔๒ ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ทันต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ
บัตรธนาคาร มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดหนึ่งที่ใช้อำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ดังนั้น การหมุนเวียนของบัตรธนาคารจึงจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นต้องติดต่อธุรกิจกับธนาคารดังกล่าวเท่านั้น อย่างไรก็ดี บัตรธนาคารมีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้จักคุ้นเคยกับเงินที่เป็นกระดาษมากขึ้น และเนื่องจากมีระยะเวลาการนำออกใช้นานกว่า ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๔๕) ทำให้การเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ต หรือ แบงก์ ในขณะนั้น สร้างความเคยชินให้คนไทยเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังว่า แบงก์ จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
ขณะเดียวกันรัฐบาลในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าบัตรธนาคารที่สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศออกใช้อยู่ในขณะนั้น มีลักษณะคล้ายกับเงินตราที่รัฐบาลควรจัดทำเสียเอง ในพุทธศักราช ๒๔๓๓ จึงได้เตรียมการออกตั๋วเงินของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า เงินกระดาษหลวง โดยสั่งพิมพ์จากห้างกีเชคเก้ แอนด์ เดวรีเอ้นท์ (Giesecke & Devrient) ประเทศเยอรมนี จำนวน ๘ ชนิดราคา เงินกระดาษหลวงได้ส่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๕ แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของทางการในการบริหาร จึงมิได้นำเงินกระดาษหลวงออกใช้
จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๔๕ จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา
ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์
หมายเหตุ ข้อมูลจาก "วิวัฒนาการเงินตราไทย " บนเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Evolution_of_Thai_Banknotes.aspx
Resources in the Library
Recommended
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2542). 72 พรรษาภัทรกษัตริย์ธนบัตรรัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งพับลิชชิ่ง.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2530). วิวัฒนาการธนบัตรไทย. กรุงเทพฯ: ธนาคาร.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2545). 100 ปี ธนบัตรไทย 2445 – 2545. กรุงเทพฯ: ธนาคาร.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2539). เงินตราทองคำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ธนาคาร.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. ฝ่ายจัดการธนบัตร. (2550). รอบรู้เรื่องธนบัตรไทย. กรุงเทพฯ: ธนาคาร.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. โรงพิมพ์ธนบัตร. (2537). 25 ปี โรงพิมพ์ธนบัตร 2512-2537. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
สันต์ชัย วงศ์ศรวณีย์. (2561?). ธนบัตรไทย : รัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๘. กรุงเทพฯ : บริษัทพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทย.
สุมัยวดี เมฆสุต. (2560). ธนบัตร ร.๙ : ๗๐ ปีใต้ร่มพระบารมี. กรุงเทพฯ : บริษัทพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทย.
สุมัยวดี เมฆสุต, กมลวรรณ สาลีคงประยูร, สิริลักษณ์ สัมปัชชลิต, และ สุวพักตร์ พิริยโภคัย. (2555). ธนบัตรไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488. กรุงเทพฯ: ธนาคารแห่งประเทศไทย.
Web Resources
Recommended
การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศไทย. ชุดเอกสารจดหมายเหตุ. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000134674
การออกใช้ธนบัตรและทุนสำรองเงินตรา. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/BMD/Pages/manage_note.aspx
ธนบัตรแบบต่างๆ. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/All_Series_of_Banknotes.aspx
ธนบัตรหมุนเวียนมิได้มีเพียง 16 แบบ. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://services.botlc.or.th/th/Documents/CirculationBanknote.pdf
ธปท. กับธนบัตร. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/pagesBOT_and_Banknotes.aspx
ปัญหาธนบัตรขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง. ชุดเอกสารจดหมายเหตุ. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000134665
แผ่นพิมพ์ธนบัตรใบสุดท้าย. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://services.botlc.or.th/th/Documents/PrintingPlate.pdf
วิวัฒนาการเงินตราไทย . สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2561 จาก https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Evolution_of_Thai_Banknotes.aspx